Skip to main content

เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด

\\/--break--\>
ภาพท้องทุ่งเขียวชอุ่มหลังจากสิ้นฤดูปักดำข้าวกล้า ต่อจากนั้นท้องทุ่งสีเขียวก็แปรเปลี่ยนเป็นสีทองอร่ามรอบรับหน้าหนาวที่กำลังเดินทางมาเยือน ในฤดูหนาวการวิ่งว่าวกำลังจะเริ่มขึ้น ว่าวปักเป้าตัวนั้น ผมยังจำได้ดี เพราะต้องใช้เวลาเลี้ยงควายแทนพ่ออยู่ถึงครึ่งค่อนวันจึงจะได้มา


พ่อมักมีข้อเสนอสำหรับผมเสมอเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ผมต้องการอยากจะได้สิ่งใด และต้องการให้พ่อทำสิ่งนั้นให้ ผมยังจำภาพของพ่อที่เดินถือมีดขึ้นไปตรงปลายนา เพราะตรงนั้นมีป่าไผ่ขนาดใหญ่ พ่อไปตัดไม้ไผ่มาลำหนึ่ง แล้วนำมาเหลาขึ้นโครงเป็นว่าวอย่างง่ายๆ แต่ดูประณีต หลังจากได้โครงแล้ว พ่อก็จัดการติดกระดาษหนังสือพิมพ์ลงไปบนโครงว่าว กาวที่พ่อใช้ติดกระดาษหนังสือพิมพ์กับโครงว่าวไม้ไผ่คือมะตูมแก่จัดลูกหนึ่ง พ่อบอกว่ายางมะตูมแก่จัดเหนียวและทนกว่ากาว ที่สำคัญเราไม่ต้องเสียเงินซื้อกาว


เมื่อกระดาษหนังสือพิมพ์ถูกนำไปติดกับโครงไม้ไผ่เสร็จเรียบร้อย ว่าวปักเป้าขนาดไม่ใหญ่มากก็พร้อมจะเฉิดฉายอยู่เหนือท้องทุ่งสีทอง ผมรับว่าวมาจากมือของพ่อแล้วเอาเชือกที่มีอยู่มัดติดกับเชือกด้านหน้าของว่าว จากนั้นก็พาว่าววิ่งไปตามคันนา ว่าวต้องลมค่อยสูงขึ้นๆ ยามที่ว่าว อยู่บนท้องฟ้ามันจะแกว่งไปแกว่งมา เมื่อได้ลมดีแล้ว ว่าวจะไม่เหินลงพื้นดินมันจะลอยอยู่อย่างนั้น บางทีอาจถึงข้ามคืน


ในขณะที่บางวันผมเบื่อการวิ่งว่าว พ่อมักจะทำปี่ซังข้าวให้เป่า ผมจะเป่าอยู่อย่างนั้นจนบางครั้งแม่รำคาญต้องไล่ให้ไปเป่าที่อื่น


หน้าหนาวสำหรับวัยเยาว์เช่นพวกเราแล้วมันสำคัญยิ่ง เพราะบางวันแม่จะจับให้อาบน้ำ ตอนที่อาบน้ำแม่มักจะใช้ตอซังข้าวที่พอหาได้นั่นแหละมาถูไปตามตัวของผม เพื่อขจัดคราบขี้ไคล้ ด้วยผิวที่แห้งแตก เมื่อโดนถูอย่างแรงความเจ็บแสบก็เพิ่มขึ้นทวีคูณ


ยามกลางคืนที่อาการหนาว ในตอนที่เราไม่ได้นอนอยู่ที่บ้าน เพราะต้องออกไปนอนอยู่ทุ่งนา ด้วยว่าการเดินทางไป-กลับจากบ้านและนาเป็นเรื่องเสียเวลา การนอนอยู่ที่ทุ่งนา และใช้ห้างนาเป็นบ้านจึงดูสะดวกสบายกว่า ทุกครั้งเมื่อฤดูนี้มาถึง ผมพบว่าโรงเรียนกำลังปิดเทอมพอดี


ยามค่ำคืนที่อากาศหนาว พ่อจะก่อไฟให้เราผิงพร้อมๆ กับการก่อไฟไล่ยุงให้ควายที่นอนอยู่ไม่ไกลจากห้างนา ควายตัวนี้ดูเหมือนว่ามันจะเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดสำหรับครอบครัวเรา แต่วันหนึ่งเมื่อเสร็จสิ้นหน้านา พ่อก็ตัดสินใจขายควายไป ในตอนนั้นที่ผมรู้ข่าว ผมดีใจมาก เพราะจะได้ไม่ต้องเลี้ยงมันอีกต่อไป ผมเองไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมพ่อตัดสินใจขายทั้งๆ ที่พ่อรักมันพอๆ กับรักผม แต่ผมได้ยินชาวบ้านคุยกันว่า พ่อขายควายซื้อรถไถนา


เมื่อได้รถไถนามา ผมดีใจมาก เพราะส่วนหนึ่งตัวผมเองไม่ต้องเลี้ยงควายอีกต่อไป แต่คนที่ไม่ดีใจกลับเป็นพ่อ เพราะบ้านเราต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทั้งค่าซ่อมบำรุงรถ ทั้งค่าน้ำมันรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมา ช่วงนี้ผมเห็นพ่อกับแม่ทะเลาะกันมากขึ้น


ก่อนเสร็จสิ้นหน้านา ผมว่าเด็กบ้านนอกหลายคนคงชื่นชอบกับช่วงเวลานี้ เพราะเราจะได้กินขนม และจะได้เล่นขี่ม้าก้านกล้วย สะพานปืนก้านกล้วยไล่ยิงกันไปตามที่ต่างๆ ช่วงเวลาเช่นนี้หมายถึงงานบุญกฐินกำลังเริ่มต้นขึ้น


ม้าก้านกล้วยที่ด้านปลายหางมีใบตองกล้วยติดอยู่นิดหน่อย ส่วนปืนก้านกล้วยนั้นวัดกันที่เสียงดัง ถ้าของใครเสียงดังกว่า คนนั้นต้องได้เป็นหัวหน้า ยามนี้พวกเราเด็กๆ ไม่ต่างอะไรจากคาวบอยผู้อยู่บนหลังม้าตัวที่มีฝีเท้าดีออกเดินทางค้นหาแผ่นดินใหม่ และช่วงชิงเอามา โดยมีลานหน้าบ้านเป็นสมรภูมิรบ


เวลายิ่งผ่านไปจากตอนนั้นถึงตอนนี้ ทุกครั้งเวลาที่คิดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ไร น้ำตาจะเอ่อเบ้าตาทุกครั้ง บางทีเมื่อคิดถึงเหตุการณ์เหล่านั้น ผมอยากกลับบ้าน แต่บางทีผมก็ไม่อยากกลับ เพราะบ้านที่เป็นอดีตในจินตภาพของผมจากไปแล้ว ตอนนี้มีแต่บ้านที่เป็นปัจจุบันซึ่งสังคมของหมู่บ้านทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปหมด ไม่หลงเหลือภาพฝันของวันเยาว์เอาไว้อีกแล้ว มาก้านกล้วยถูกแทนที่ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ ปืนก้านกล้วยถูกแทนที่ด้วยปืนจริงที่ยิงกันตายจริงๆ และแว่วว่าคนในหมู่บ้านก็ใช้ปืนยิงกันตายเพิ่มขึ้น แม้แต่เพื่อนในวัยเยาว์ของผมที่เราใช้ปืนก้านกล้วยยิงใส่กันทั้งวัน แต่เขาไม่เคยตายอย่างแท้จริง แต่ตอนนี้เขาตายไปแล้วด้วยการถูกยิงจากปืนจริงอันเป็นฝีมือของเพื่อนเล่นในวัยเยาว์ที่ใช้ปืนก้านกล้วยไล่ยิงกัน


ผมออกเดินทางจากบ้านมาหลายปีแล้ว และยังพยายามบอกกับตัวเองเสมอว่า ผมเป็นคนพเนจรที่ยังคิดถึงบ้านอยู่ตลอดเวลา แต่ในความคิดถึงนั้น ผมมิอาจกลับบ้านได้อีกแล้ว แม้ถนนทุกสายต่างนำคนพเนจรคืนสู่บ้าน ใช่ว่าผมจะไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเกิดจนไม่อยากเดินทางกลับไป แต่ทุกครั้งที่เดินทางไปบนถนนสายใหม่ ผมพบว่ามันเป็นถนนสายเดิมที่แปรเปลี่ยนจากทางลูกรังเป็นถนนลาดยาง และมีรถวิ่งมากขึ้นทุกวัน ผู้คนก็มากขึ้น ทั้งรถทั้งคนต่างพากันเดินทางสู่จุดหมายปลายทางของตัวเอง และบนถนนบางเส้น ผมยังคงนั่งนิ่งอยู่บนรถสักคัน


ถนนทุกสายแม้จะมีปลายทางต่างกัน แต่มีจุดเริ่มต้นที่เดียวกันคือ บ้านเกิดและเช่นกัน ถนนทุกสายล้วนนำคนพเนจรผู้เร่ร่อนแรมทางคืนสู่บ้านเกิด แต่หากว่าคนพเนจรเหล่านั้น เขายินดีเดินทางย่ำกลับไปบนเส้นทางเดิมหรือเปล่า คำตอบอยู่ที่ตัวคุณเอง...

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…