กระแสสังคมปัจจุบัน มักให้ความสำคัญต่อการหยิบยกความเป็นคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ต่างๆ ดังจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะและสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้น อันที่จริงอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากในหลายช่วงของประวัติศาสตร์คนรุ่นใหม่มักเข้ามามีบทบาทเสมอ เพียงแต่แต่ว่า เงื่อนไขสังคมที่ข้อจำกัดการสื่อสารถูกทำให้ไร้พรมแดน ได้เป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอทางความคิดที่รวดเร็วมากขึ้น
การทบทวนความเป็นรุ่นใหม่บนสื่อวัฒนธรรมมวลชนนิยม (Pop culture) ในฐานะภาพสะท้อนทางสังคมหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ในแง่อายุโดยตรง ขณะเดียวกันกลับมีผู้สนใจข้ามวัยอีกหลากหลาย คงเป็นอะไรที่พอเอามาเป็นประเด็นตัวอย่างให้พิจารณาร่วมกับการตีความคำว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมการเมืองได้บ้าง ก็ทำให้นึกถึงการ์ตูนอย่าง ‘วันพีช’ ในฐานะการ์ตูนประเภทโชเน็น ซึ่งมีความหมายในภาษาญี่ปุ่นว่าเด็กหนุ่มจนถึงผู้ชายวัยทำงาน ขณะที่กลุ่มผู้อ่านก็ดูเหมือนจะหลากหลายมากกว่าคำจำกัดความที่เข้าใจอยู่มาก
บางส่วนจากฉากในการ์ตูนชุดเรื่องวันพีช ลิขสิทธิ์ Toei Animation
วันพีช (One Piece) ผลงานของ เออิชิโร โอดะ เรื่องราวการผจญภัยของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางในการตามล่าหาสมบัติเพียงหนึ่งเดียวที่ราชาโจรสลัดทิ้งไว้ ผ่านการรวบรวมพวกพ้อง การต่อสู้ และการค้นพบเรื่องราวสำคัญต่างๆ ในเนื้อเรื่อง ทั้งนี้ เรื่องราวในการ์ตูนเรื่องวันพีช เป็นการดัดแปลงและขยายเนื้อหาจากมังงะ(การ์ตูนลายเส้นแบบญี่ปุ่น)เรื่องสั้นของโอดะ เรื่อง ‘Romance Down’ (รุ่งสางแห่งการผจญภัย) โดยมีปรากฏในรวมเล่มเรื่องสั้น Wanted! ของโอดะ
Eiichiro Oda เจ้าของผลงาน ‘วันพีช’
วันพีช ได้มีการตีพิมพ์รวมเล่มตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วทั้งสิ้น 88 เล่ม เป็นมังงะที่มียอดขายสูงที่สุดในโลกจากจำนวนการตีพิมพ์ 430 ล้านครั้ง ภายหลังรวมเล่มออกจัดจำหน่ายได้ 1 ปี มีการจัดทำเป็นอนิเมะออกมาจนถึงปัจจุบัน[1]
เมื่อปี 2014 Jiàn Zhì Jì ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัย Huagan ในไต้หวัน ได้นำการ์ตูนเรื่องวันพีชมาจัดทำเป็นเนื้อหาในการสอนปรัชญาแก่นักศึกษา โดยมีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเนื้อหาการสอนในชื่อ ‘The Philosophy Lessons from One Piece: Good and Dreams, The great routes to life’[2]
การปะทะระหว่างกลุมคนขนาดเล็กกับกลุ่มคนขนาดใหญ่
อูชิดะ ทัตสึรุ[3] อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญายุคปัจจุบัน แนวคิดสื่อภาพยนตร์และศิลปะการต่อสู้ ประจำมหาวิทยาลัยสตรีโคเบ ประเทศญี่ปุ่น ได้อธิบายถึงสภาพสังคมการปะทะสังสรรกันระหว่างกลุ่มตัวละครในเรื่องวันพีชว่า เป็นการปะทะกันระหว่างความเป็น ‘สาธารณภาคระดับจุลภาค’ ซึ่งเป็นกลุ่มคนขนาดเล็กในสังคมที่เชื่อมร้อยเข้าด้วยกันกับชุดคุณค่าบางอย่าง เช่น กลุ่มโจรสลัดต่างๆ กับ ‘สาธารณภาคระดับมหภาค’ ซึ่งเป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่ดำรงอยู่ในสถาบันทางสังคมที่มีความเป็นทางการและสร้างผลกระทบต่อสังคมได้ เช่น กองทัพเรือ รัฐบาลโลก เป็นต้น โดยกลุ่มที่สองจะปฏิบัติตนตามหลักการที่ถูกต้องแต่ไม่ได้คำนึงเรื่องของคุณค่า อย่างเรื่องมิตรภาพหรือความเป็นพวกพ้องแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่ควบคุมค่านิยมและระเบียบหลักทางสังคมไว้
อุชิดะ ยังอธิบายอีกว่า สำหรับกลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง โดยเฉพาะมังกี้ ดี ลูฟี่ นั้นถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มสาธารณะระดับจุลภาค ที่ยึดคุณค่าเรื่องความฝันที่ตนเองปรารถนาจะมีอิสระและได้ค้นพบสมบัติที่มีเพียงหนึ่งเดียว โดยลูฟี่ได้ตัดสินใจเป็นโจรสลัด กระนั้นการตัดสินใจดังกล่าวก็ขัดกับค่านิยมหลักทางสังคม การเป็นโจรสลัดเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมายและสังคมไม่อาจยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวของลูฟี่ไม่ได้ปฏิเสธสังคมที่ถูกจัดระเบียบที่มีรากฐานมาจากทหารเรือหรือรัฐบาลโลก แต่ลูฟี่ปฏิเสธสังคมที่โจรสลัดถูกจัดระเบียบ เพราะมองว่าสังคมที่เป็นอยู่ควรเปิดทางให้สายลมใหม่พัดเข้ามาเสียบ้าง
ณ ปัจจุบัน ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบเสรีนิยมใหม่ที่ก่อให้เกิดวิธีคิดแบบปัจเจกชนนิยม ก็ดูเหมือนว่าจะคล้ายคลึงกับการยึดถือค่านิยมอิสรภาพและทางเลือกมากยิ่งขึ้น อาจต่างกับวิธีคิดเรื่องสาธารณภาคระดับจุลภาคตรงที่แนวคิดปัจเจกชนนิยม (Individualism) ให้ความสำคัญกับตัวบุคคล แต่วิธีคิดเรื่องสาธารณภาคระดับจุลภาคให้ความสำคัญกับกลุ่มคนขนาดเล็กที่มีความตั้งใจร่วมกัน เช่นเดียวกับกลุ่มโจรสลัดต่างๆ ในเรื่องวันพีช
ทั้งนี้ ยังมีตัวละครอื่นในเรื่องที่มีแนวคิดต่างออกไปในเรื่องการปรับเปลี่ยนถึงระดับสังคม เช่น คณะปฏิวัติ โดยมองการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปถึงระดับรากฐาน (Radical) ซึ่งมี มังกี้ ดี ดราก้อน เป็นผู้นำ ขณะเดียวกัน มังกี้ ดี ดราก้อน ยังมีสถานะเป็นพ่อของลูฟี่ และเป็นลูกชายของมังกี้ ดี การ์ป ทหารเรือยศพลโท ฉายาวีรบุรุษแห่งกองทัพเรือ แน่นอนว่าการ์ปคือปู่ของลูฟี่ เห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวนี้เองมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่สำคัญบนความแตกต่างเหล่านี้จึงเป็นเรื่องของการเคารพต่อวถีชีวิตของแต่ละคน และลูฟี่เองก็เคารพในวิถีชีวิตของแต่ละคนในครอบครัว
การเป็นคนที่ใจกว้าง ขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่ตนเองยึดมั่นของลูฟี่นั้น ดูเหมือนว่าสิ่งที่สะท้อนตัวเขาออกมาได้อีกอย่างคือรูปแบบพลังที่เขาได้รับจากผลปีศาจโกมุ โกมุ ที่ลูฟี่กินเข้าไปแล้วทำให้เขากลายเป็นมนุษย์ยางยืด อาจสะท้อนความยืดหยุ่นทางความคิดของลูฟี่ออกมา ขณะเดียวกัน อุชิดะ อธิบายตัวตนของลูฟี่ไว้ว่าเป็น ‘ผู้ปกป้องความหลากหลายในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน’
จากซ้าย ลูฟี่, ดราก้อน และการ์ป ครอบครัว มังกี้ ดี
วันพีช กับคำอธิบายเรื่อง ‘อยู่เป็น’
จากตัวละครอย่างลูฟี่ก็พอจะพบได้ว่า การเดินทางในฐานะผู้คนของยุคสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดทางสังคมเชิงระบบที่ถูกจัดแจงโดยกลุ่มคนที่อยู่ในสาธารณภาคระดับมหภาคอย่างรัฐบาลโลก หรือกองทัพเรือ สถาบันทางการเมืองขนาดใหญ่คอยกำหนดความเป็นไปได้ในสังคม เมื่อมองกลับมายังภาพสังคมการเมืองไทยปัจจุบันเองก็พบว่า ในสังคมคนรุ่นใหม่ภายใต้การกำหนดความเป็นไปได้ทางสังคมและการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเอง ทำให้เกิดทางเลือกหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า ‘อยู่เป็น’ เป็นว่าหากจะให้ตนเองมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ถูกกำหนดความเป็นไปได้ทางการเมืองที่ดูอัตคัดนี้ ก็คงต้องตามน้ำกันไป อะไรผ่อนได้ก็ผ่อน อยู่ให้เป็น อย่าให้อดตายก็พอ กลายเป็นว่าสังคมก็ไปไม่ถึงไหน อยู่แบบครึ่งๆ กลางๆ สังคมไทยจึงติดกับอะไรกลางๆ ทั้งประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ หรือกับดักรายได้ปานกลาง บ้าง
ทั้งนี้ ไม่ได้ปฏิเสธว่าการประนีนอมจะเป็นเรื่องที่เสียหายอะไร หากแต่สิ่งสำคัญคือการคำนึงถึงอิสรภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ดังที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อธิบายไว้ ว่าในพื้นที่สังคมและการเมืองโดยกระทำผ่านสิ่งที่ตนเองทำได้ ไม่จำเป็นต้องผูกขาดการเมืองไว้ด้วยวิธการใดวิธีการหนึ่ง หากแต่ยังมีเครื่องมืออีกมากมาย การพูดคุย การเขียนหนังสือ กระทั่งสื่อสังคมออนไลน์ ต่างเปิดพื้นที่ให้เราขับเคลื่อนสังคมให้เป็นประชาธิปไตยร่วมกันได้ ผ่านรูปแบบการทำงานของตนเอง[4]
เกี่ยวกับมังกี้ ดี ลูฟี่ ในวันพีช นั่นคือสิ่งที่เขานำเสนอผ่านพื้นที่เขาเลือก และกระทำ ขณะเดียวกัน การเผชิญหน้ากับศัตรูที่แข็งแกร่งของลูฟี่เองก็ไม่มีการอ่อนข้อในการต่อสู้นั้น เพราะลูฟี่เชื่อในสิ่งที่ตนเองยึดถือและเปิดเผยมันอย่างตรงไปตรงมาต่อทุกคนว่า ‘ฉันจะเป็นราชาโจรสลัดให้ได้’ และในหลายๆ เหตุการณ์ เช่นภาคคุกนรกอิมเพลดาวน์ ลูฟี่ยังสามารถเปลี่ยนคนที่เคยเป็นศัตรูมาเป็นผู้ร่วมมือได้อีก และแม้ว่าคนที่เป็นศัตรูกับลูฟี่บางคนจะไม่ได้เป็นมิตรกับลูฟี่ แต่ศัตรูเหล่านั้นต่างเคารพในเกียรติความเป็นศัตรูของลูฟี่ภายหลังจากการต่อสู้จบลงเสมอ
ขณะเดียวกัน สำหรับสังคมการเมืองบางสังคมกลับพบว่าการนำเสนอตนเองอย่างตรงไปตรงมานี้นั้น ไม่พบในฟากฝั่งการเมืองอนุรักษ์นิยม เราจึงเห็นการผลัดเปลี่ยนคำพูดของผู้มีอำนาจบางคนว่าตนเองเป็นนักเมืองบ้าง เป็นทหารบ้าง เป็นพรรคสนับสนุนการรัฐประหารบ้าง เป็นพรรคต่อต้านเผด็จการทหารบ้าง ก็ไม่แน่ใจว่าคนในสังคมนั้นเบื่อหน่ายกับท่าทีทางการเมืองเช่นนี้ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าบ้างหรือเปล่า ?
ในวันพีช นอกเหนือจากจะมีกลุ่มตัวละครอย่างมังกี้ ดี ลูฟี่ แล้ว ยังมีตัวละครลักษณะอื่นที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างกลุ่มตัวละครที่ถูกเรียกว่า ‘เจ็ดเทพโจรสลัด’ คือกลุ่มโจรสลัดเจ็ดกลุ่มที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลโลกว่าเป็นโจรสลัดถูกกฏหมาย สามารถปล้นโจรสลัดด้วยกันได้ อีกทั้งยังทำหน้าที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลโลก โดยเจ็ดเทพโจรสลัดถือว่าเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีลักษณะเป็นพวก ‘ลูกผสม’(Hybrid) หากตีความตามศัพท์นโยบายการเมืองระหว่างประเทศของไทยตั้งแต่ยุคสงครามโลก ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นพวก ‘เหยียบเรือสองแคม’ หรือ ‘ไผ่ลู่ลม’ สุดแล้วแต่จะสรรหาคำอธิบาย
เจ้ดเทพโจรสลัดในเรื่องวันพีช
การคงอยู่บนพื้นที่การจัดสรรทางอำนาจในรูปแบบลูกผสมนี้เอง จึงมีผลในแง่ของการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มไว้ แต่ก็อาจถูกดูแคลนเรื่องแนวคิดอุดมการณ์ได้ สำหรับตัวละครเจ็ดทพโจรสลัดในเนื้อเรื่อง ต่างมีคุณค่าที่ตัวละครนั้นยึดถืออยู่ เช่น โจรสลัดมนุษย์เงือก จินเบ ซึ่งเป็นกัปตันของกลุ่มโจรสลัดมนุษย์เงือก เลือกรับข้อเสนอดำรงตำแหน่งแจ็ดเทพโจรสลัดเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยบนเกาะเงือกจากการรุกรานของมนุษย์ หรือมาร์เชล ดี ทีช กัปตันกลุ่มโจรสลัดหนวดดำ รับตำแหน่งเจ็ดเทพโจรสลัด เพียงเพื่อได้รับสิทธิบางอย่างในการเป็นบันไดสู่แผนการที่ตนและพวกวางไว้
ไม่ว่าจุดประสงค์แต่ละกลุ่มจะเป็นแบบใด ภายใต้อุดมการณ์แบบลูกผสมนี้เอง เราจะพบว่าในการเมืองไทยก็ประสบกับข้อถกเถียงต่อประเด็นดังกล่าว เช่นกรณีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าร่วมกับฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยยินยอมให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นทางผ่าน คุณจีรวัสส์ พิบูลสงคราม ปันยารชุน ลูกสาวของจอมพล ป. ได้อธิบายไว้ว่า สาเหตุที่จอมพล ป. ทำเช่นนั้น เพื่อไม่ให้ไทยตกอยู่สภาพที่ย่ำแย่ดังเช่นประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และเมื่อจอมพล ป. กล่าวถึงฝั่งทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ก็มักใช้สรรพนามเรียกว่า ‘มัน’ ตลอด[5]
แล้วความชัดเจนเรื่องวิธีคิดหรืออุดมการณ์แบบกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางจะรอดหรือเปล่าในพื้นที่ของการเมือง ?
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจต่อตัวละครเอกอย่างลูฟี่และกลุ่มของพวกเขา ไม่ใช่เรื่องความปรารถนาที่จะปกครอง แต่เป็นความปรารถนาที่จะเป็น ‘ผู้ที่มีอิสระที่สุดในท้องทะเล’ จากตอนหนึ่งที่อดีตมือขวาราชาโจรสลัด ซิลเวอร์ เรย์ลี่ ถามลูฟี่ว่าจะปกครองในทะเลกว้างใหญ่และบ้าคลั่งนี้ได้อย่างไร
ลูฟี่และกลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง จึงไม่อาจเทียบได้ในฐานะกลุ่มที่จะขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง แต่แนวคิดและการกระทำของพวกเขา ย่อมหลีกไม่พ้นที่จะส่งผลต่ออำนาจ โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจเก่าอย่างเผ่ามังกรฟ้าและรัฐบาลโลก ลูฟี่และกลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง จึงอาจไม่ใช่คำตอบเพื่อจะเป็นทั้งหมดให้กับการเป็นพรรคการเมือง แต่อาจสื่อถึงแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่กระจัดกระจายอยู่ในสังคม ทั้งที่ต้องการหลุดพ้นจากสถาบันครอบครัว ชุมชน หรือโรงเรียน ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเติบโตได้อย่างอิสระบนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ลูฟี่และกลุ่มหมวกฟาง จึงเป็นภาพสะท้อนของคนที่มีความฝันในโครงสร้างทางสังคมที่กลุ่มของพวกเขาเองต้องเข้าไปเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ห้าผู้เฒ่าแห่งรัฐบาลโลก หนึ่งในกลุ่มตัวละครชนชั้นนำในเรื่องวันพีช
เป้าหมายของสังคมรุ่นใหม่
การเสนอการปะทะกันระหว่างระบอบสังคมแบบคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ในเรื่องวันพีช จึงเห็นได้ว่าเป็นการปะทะกันโดยตรงระหว่างความต่างของช่วงวัย ความแตกต่างของชนชั้นและสถาบันทางสังคม ล้วนมีผลในการนิยามความคิดของแต่กลุ่มตัวละคร สำหรับวันพีช อาจเป็นความคิดเชิงนามธรรมที่ไม่อาจใช้เป็นข้อสรุปทางการเมืองของความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็ช่วยให้สังคมคนรุ่นใหม่ สามารถทำความเข้าใจได้ว่า ภายใต้ปัญหาสังคมการเมืองที่เผชิญอยู่ก็ไม่อาจเลี่ยงจากการปะทะกันระหว่างกลุ่มความเก่าและใหม่ และมันก็เป็นเช่นนั้นอยู่ตลอด เช่นเดียวกับคำว่าฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา พวกก้าวหน้าหรือล้าหลัง
อย่างไรก็ตาม วันพีชเองก็อธิบายว่าอันที่จริงแล้ว สังคมอาจซับซ้อนมากกว่าการแยกขั้วป็นสองฝั่ง เช่นเดียวกับตัวละครในวันพีชที่ไม่มีความชัดเจนว่าใครคือคนที่ดีที่สุดหรือเลวที่สุด มิตรสามารถแปรเปลี่ยนเป็นศัตรู และศัตรูสามารถแปรเปลี่ยนเป็นมิตรได้ โดยขึ้นอยู่ที่ว่าสถานการณ์หรือเงื่อนไขแบบใดที่ทำให้เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้คือตัวร้ายตามที่เราเข้าใจในเนื้อเรื่อง เช่น กิลโด เตโซโร (ตัวละครในภาคฟิล์มโกลด์) เดิมทีก็เป็นตัวละครที่ถูกกดขี่ข่มเหง และถูกพรากจากสิ่งที่ตนเองรัก ทำให้เขากลายเป็นตัวร้าย จากตัวละครนี้เองก็พอจะเข้าใจได้ว่า สังคมที่ไม่ดี ก็ย่อมสร้างคนที่ไม่ดีขึ้นมาได้และเป็นไปได้ว่าตัวละครอย่าง โจรสลัดหนวดดำ มาร์เชล ดี ทีช น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น
กิลโด เตโซโร ใน One Piece film Gold
รูปภาพ โจรสลัดหนวดดำในวัยเด็ก ปรากฏครั้งแรกใน end credit ภาค film Z
วันพีช จึงเป็นเนื้อหาที่เป็นมากกว่าการ์ตูน สิ่งที่ผู้เขียนถ่ายทอดผ่านผลงานของเขานี้ คงต้องการแสดงให้เห็นถึงความสมเหตุสมผลในรูปแบบที่ผู้อ่านเข้าใจได้ ภายในโลกที่เต็มไปด้วยความฝันของผู้คน ที่นับวันโครงสร้างทางสังคมได้สร้างความยากลำบากแก่ผู้คนที่มีความฝันมากยิ่งขึ้น เป็นไปได้ว่าคนมีความฝันอาจถึงขั้นถูกมองว่าเป็นคนโลภ มักใหญ่ใฝ่สูง และกลายเป็น ‘ตัวร้าย’ ไปโดยปริยาย
ทั้งที่ทุกคนมีสิทธิที่จะฝัน และไปให้ถึง มากกว่าการแวะข้องกับการอยู่รอด เพียงเพื่อ ‘อยู่เป็น’
เชิงอรรถ
[1] en.wikipedia.org/wiki/One_Piece
[2] onepiecepodcast.com/2014/06/13/one-piece-philosophy-class-in-taiwan/
[3] Oda, Eiichiro and Uchida, Tatsuru. 2560. One Piece strong words VOL.1 แปลโดย Yhunna. กรุงเทพฯ: สยามอินเตอร์คอมิกส์ไลท์
[4] อ้างคำอธิบาย ‘อยู่เป็น’จาก ประจักษ์ ก้องกีรติ ดูเพิ่มเติม thestandard.co/prajak-kongkirati
[5] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และณัฐพล ใจจริง. 2561. อยากลืมกลับจำ. กรุงเทพฯ: มติชน.