การย้อนอดีตหรือข้ามไปโลกอนาคตในการ์ตูนญี่ปุ่น ถือว่าเป็นวิธีการเล่าเรื่องรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เรื่องราวน่าดำเนินต่อไป ตามเนื้อหาการเล่าเรื่องตามแต่ประเด็นที่นำเสนอ ขณะเดียวกัน การเล่นกับเวลาของตัวละครในเนื้อเรื่อง ยังนำไปสู่กระแสตีกลับจากผู้ติดตามจำนวนไม่น้อย (หรือเรียกได้ว่าเป็นดราม่าสำหรับคนในกลุ่มสังคมแฟนตัวยง) ทั้งความไม่สมเหตุสมผล ความเลอะเทอะ หรือความเว่อวังเกินกว่าที่ผู้อ่านจะรับได้ โดยกระแสดังกล่าวนี้เอง ได้ดับความนิยมมาหลายต่อหลายเรื่อง
จากมังงะตอนล่าสุดในวันพีช หนึ่งในมังงะน้ำหมึกทองคำที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดย เออิชิโร่ โอดะ ซึ่งกำลังดำเนินเรื่องในภาคเกาะวาโนะ เผยถึงเนื้อหาสำคัญถึงกลุ่มตัวละครกลุ่มหนึ่งในภาคนี้ว่า เป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากอดีตเมื่อ 20 ปี ที่แล้ว โดยเหล่าบรรดาแฟน ๆ ยังคงตั้งข้อสันนิษฐานกันว่าเป็นความสามารถจากพลังผลปีศาจของใครสักคนในอดีต แม้ว่าจะเป็นข้อสันนิษฐานที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ย่อมเกิดขึ้นได้อยู่แล้วอย่างไม่ผิดแปลกโดยอ้างอิงถึงพลังผลปีศาจบางชนิดที่ยังไม่ถูกเปิดเผย กระนั้น ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่แฟนตัวยงว่า วันพีชกำลังออกนอกทะเล (แม้ว่าเนื้อหาจะเป็นการเดินทางของโจรสลัดอยู่ในท้องทะเลอยู่แล้วก็ตาม) ตลอดจนวิวาทะที่แสดงถึงความหวาดหวั่นว่าเนื้อหาต่อไปเกี่ยวกับวันพีช อาจเลอะเทอะถึงขั้นเละเทะ ขณะที่ โอดะ เคยให้สัมภาษณ์ไว้เกี่ยวกับภาควาโนะว่าเป็นภาคที่เขาอยากวาดออกมามากที่สุด ทั้งยังเป็นภาคที่ตระการตายิ่งกว่าภาคศึกมารีนฟอร์ด
หลุมฝังศพของกลุ่มซามูไรวาโนะที่เคยพบกับลูฟี่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งถูกเผยภายหลังว่าตายไปแล้ว
ส่วนที่ลูฟี่กับพรรคพวกเจอเป็นกลุ่มคณะที่เดินทางมาจากวาโนะในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก่อนที่พวกเขาจะตาย
แม้ว่าโอดะจะอธิบายถึงความตระการตาของภาคนี้ไว้เพียงใด แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถปิดกั้นความหวาดหวั่นของเหล่าแฟน ๆ มิให้เกิดขึ้นได้ กระนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะเกิดกระแสของความหวาดหวั่นนี้ที่ต่อให้เป็นการ์ตูนอย่างวันพีชก็ไม่อาจเลี่ยงได้ เนื่องจากการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่องที่กระแสดับไปก่อนหน้า มีสาเหตุมาจากเนื้อเรื่องที่เล่นกับเวลา การข้ามยุคจากอดีตไปสู่ปัจจุบัน หรือจากปัจจุบันไปโลกอนาคต โดยมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเรื่องราวต่าง ๆ
กระนั้น แนวทางการดำเนินเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และอาจไม่ใช่สาเหตุที่สำคัญหรือส่วนใหญ่ของการล้มหายตายจากของการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่องไปก่อนกาล เราพบว่าการ์ตูนที่มีชื่อเสียงอย่างโดราเอม่อน ซึ่งมีวิธีการดำเนินเรื่องที่เล่นกับเวลามาแต่แรกเริ่มกลับเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จนมีการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศไปทำต่อ หรือการ์ตูนเรื่องดราก้อนบอลที่มีเรื่องราวของทรังค์ที่เดินทางจากอนาคตเพื่อกลับมาต่อสู้กับเซลล์ในปัจจุบัน ก็ยังคงรักษาความนิยมและความน่าสนใจของเรื่องราวในขณะนั้นได้อยู่ ยกเว้นในภาคหลังอย่างดราก้อนบอลซูเปอร์ที่ส่วนตัวมีความเห็นว่า ‘มันควรจะจบไปตั้งแต่ภาคแซดแล้ว’
ทรังค์กับไทม์เมชชีนของเขา ในดราก้อนบอลแซด ของอากิระ โทริยาม่า
และหากมองออกนอกเหนือไปจากการ์ตูนญี่ปุ่น ก็พบว่ายังมีเรื่องราวอีกหลายเรื่องที่เล่นกับเรื่องราวเส้นเวลา อย่างเช่นซีรี่ย์ Doctor Who, The Flash และอีกหลายๆ เรื่องที่ไม่ได้กล่าว และหลายครั้ง เรื่องราวที่เล่นกับเส้นเวลาเหล่านี้ก็ทำเอาคนที่ติดตามปวดหัวกับไทม์ไลน์บรรดาภาคต่อต่าง ๆ อย่างเช่น X-men ที่ต้องมานั่งตรวจหาความสัมพันธ์ระหว่างภาคกันจากประชาคมในเว็บไซต์พันทิป อย่างไรเสีย เรื่องราวเหล่านี้ก็ไม่ได้มีทีท่าว่ากระแสจะดับหายตายไปจากอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงในปัจจุบันแต่อย่างใด
เมื่อกลับมายังสังคมวัฒนธรรมบันเทิงญี่ปุ่น โดยรากฐานแล้ว เรื่องราวที่กล่าวถึงการเล่นกับเส้นของเวลาไม่ใช่เรื่องใหม่ เรื่องราวทำนองนี้เคยมีปรากฏผ่านปรัมปราญี่ปุ่นโดยปรากฏครั้งแรกอยู่ในพงศาวดารญี่ปุ่น "นิฮงโชะกิ" เกี่ยวกับหนุ่มชาวประมงนามว่า อูราชิมะ ทาโร่ ได้ช่วยชีวิตลูกเต่าไว้จากการถูกรังแกโดยเด็กกลุ่มหนึ่ง หลังจากนั้นมีเต่าตัวใหญ่ได้ว่ายน้ำกลับมาขอบคุณและได้พาเขาไปยังวังมังกรริวงูโจ (竜宮城) ในโลกบาดาล เป็นวังที่ทำด้วยทองคำทั้งหมด อีกทั้งทาโร่ได้พบกับเจ้าหญิงโอโตฮิเมะ ธิดาพระองค์เดียวของเทพเจ้ามังกรริวจิน เขาใช้ชีวิตอยู่ในวังบาดาลแห่งนั้นอย่างมีความสุขเป็นเวลา 3 ปี เมื่อท่าโร่เริ่มคิดถึงบ้าน เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับ โดยก่อนกลับ เขาได้รับกล่องอัญมณีจากเจ้าหญิงโอโตฮิเมะ
เมื่อกลับมายังพื้นพิภพ เขาก็พบว่าเวลาบนโลกได้ผ่านไปแล้ว 300 ปี บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ไร้วี่แววผู้คนที่เขาเคยรู้จัก ทาโร่เดินกลับไปยังชายหาดด้วยความรู้สึกขมขื่น ขณะนั้นเอง เขานึกได้ถึงกล่องอัญมณีที่ได้รับเป็นของขวัญจากเจ้าหญิงแห่งโลกบาดาลจึงตัดสินใจเปิดออก ควันสีขาวได้ปรากฏออกมาจากกล่อง ตัวของทาโร่ค่อยๆ ชราลงและเสียชีวิตไปในที่สุด ซึ่งกล่องอัญมณีดังกล่าวคือภาชนะบรรจุอายุขัยของทาโร่นั่นเอง
อูราชิมะ ทาโร่ และเจ้าหญิงโอโตฮิเมะ วาดโดยมัตสึกิ เฮกิชิ (ค.ศ. 1899) จาก Wikipedia
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ปรากฏอยู่ในตำนานดังกล่าว ยังถูกนำไปใช้ประกอบในเรื่องวันพีชในภาคเกาะเงือก ไม่ว่าจะเป็นตัวละครอย่างเจ้าหญิงโอโตฮิเมะและราชวังริวงู ซึ่งมีปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่อง เป็นไปได้ว่าอาจารย์โอดะเองไม่ได้ทิ้งรายละเอียดจากตำนานดังกล่าวในการแทรกเข้าไปในเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะ ‘กล่องทามาเตะบาโกะ’ ที่เชื่อว่าเป็นสมบัติของราชวงศ์ริวงูในเนื้อเรื่องที่เคยตกไปอยู่ในมือของหนึ่งในสี่จักรพรรดิบิ๊กมัม และได้ระเบิดออกนระหว่างที่กลุ่มหมวกฟางได้ปะทะกับกลุ่มของบิ๊กมัม โดยเนื้อเรื่องเองยังไม่เปิดเผยว่าในกล่องดังกล่าวนั้นมีปริศนาอะไร และแน่นอนว่ากล่องดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับตำนาน กล่าวคือ กล่องอัญมณีที่ทาโร่ได้รับจากเจ้าหญิงโอโตฮิเมะตามตำนานญี่ปุ่นที่กล่าวมา ในลักษณะของการดึงมาใช้กับเรื่องราววันพีชของโอดะ
กล่องทามาเตะบาโกะและบิ๊กมัม
การรีบด่วนสรุปว่าวันพีชเป็นเรื่องราวที่อาจดูเลอะเทอะ ตลอดจนเละเทะ เนื่องจากเรื่องราวเริ่มมีการเล่นกับเส้นเวลา ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่สาเหตุหลัก (อาจเป็นเพราะการข้ามเส้นเวลาในโลกจริงยังเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ กระนั้น ความเหนือจริงในการ์ตูนก็ล้วนเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้เสียส่วนใหญ่) ทั้งสำหรับเรื่องวันพีชเอง หรือบันเทิงคดีในวัฒนธรรมญี่ปุ่นและอื่นๆ ที่ถูกลดความนิยมลง แต่อาจเป็นเรื่องความไม่เป็นเอกภาพบางอย่างในเนื้อหาที่เราเองก็ไม่อาจสรุปได้เป็นคำอธิบายที่ชัดเจน แต่หากติดตามไปได้สักระยะแล้ว ความรู้สึกของคนที่ติดตามคงพอจะตัดสินกันได้ว่าถึงที่สุดแล้วเหตุใด เสน่ห์ของเรื่องราวจึงขาดหายไปจนขาดความน่าที่จะติดตามต่อ
วันพีชเองถือเป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่ต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าถึงที่สุดแล้ว เสน่ห์ที่สะสมมาในการผจญภัยจะขาดหายไปเพียงเพราะเรื่องราวที่มีการเล่นกับเส้นของเวลาหรือไม่ และสำหรับแฟนตัวยงเองก็คงต้องกลับมาตั้งคำถามกันในแต่ละคนว่าอะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้วันพีชยังคงน่าติดตาม ซึ่งสำหรับตัวเรายังคงคิดว่าสิ่งที่ปรากฏในวันพีช คือเนื้อหาที่ประกอบสร้างอย่างมีที่มาที่ไปที่ท้ายที่สุดแล้วรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏในเรื่อง จะบรรจบกันที่จุดๆ เดียว จนกระทั่งความคาดไม่ถึงที่สร้างความบันเทิงแก่ผู้อ่านอยู่เสมอ
บล็อกของ Yeed Piriya
Yeed Piriya
จริงๆ คำว่า Buffer idea เป็นคำที่นึกต่อมาจากคำว่า Buffer state ที่เราแปลเป็นไทยกันว่ารัฐกันชน ดังนั้น Buffer idea แปลแบบง่ายๆ ก็คือ ไอเดียกันชน คือเป็นชุดความคิดที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ ทั้งในแง่ความคิดและพฤติการณ์ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมาเผชิญหน้ากันในนั้นด้วยคุณค่าบางอย่างที่อาจเหมือนหรือต่างกันในร
Yeed Piriya
สมัยที่ผู้เขียนเรียนมหาลัย มีอาจารย์ท่านหนึ่งในคณะเคยเสนอให้ผมลงไปออกแบบการเล่าเรื่องวิธีคิดในการสร้างสันติภาพแก่เด็กนักเรียนผ่านการ์ตูนเรื่องนารูโตะ ตอนนั้นผมยังเข้าใจว่า การ์ตูนเรื่องนารูโตะมันเน้นหนักไปทางปรัมปรา (Mythology) แบบญี่ปุ่น จนเมื่อไม่นานมานี้ ผมเริ่มเข้าใจว่าทำไมอาจารย์ท่านนั้นถึง
Yeed Piriya
ม.อ. หรือ ปอเนาะ ?
Yeed Piriya
ประมาณ10 นาฬิกา ของวันนี้ (2 สิงหาคม 2562) ขณะที่นั่งเลื่อนจอเฟซบุ๊คไปมาอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ข่าวการพบวัสดุต้องสงสัยที่คาดว่าเป็นระเบิดตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วบนฟีดข่าว การจับจ้องของอัลกอริทึมเพื่อนำเสนอความตื่นตระหนกดัง
Yeed Piriya
เป็นเรื่องดีไม่น้อยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในปีการศึกษานี้ ได้ต้อนรับขับสู้น้องใหม่สงขลานครินทร์ถิ่นตานี ด้วยกิจกรรมสร้างเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรมผ่านสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเมืองปัตตานี โดยจุดสำคัญต่าง ๆ เหล่านั้น ล้วนมีความสำคัญในฐานะความทรงจำทางวัฒนธรรมของชุมชนและประวัติศาสตร์ใ
Yeed Piriya
กระแสสังคมปัจจุบัน มักให้ความสำคัญต่อการหยิบยกความเป็นคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ต่างๆ ดังจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะและสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้น อันที่จริงอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากในหลายช่วงของประวัติศาสตร์คนรุ่นใหม่มักเข้ามามีบทบาทเสมอ เพียงแต่แต