Skip to main content
Comfort zone คงเป็นคำที่ใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยรอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 20 – 21 คำว่า Comfort zone เหมือนว่าจะเป็นคำที่มีผลต่อค่านิยมเกี่ยวกับการกำหนดและนิยามตัวตนบางอย่างของคนในสังคม ประหนึ่งว่าเป็นพัฒนาการของการก้าวข้ามจากความอ่อนด้อยไปสู่ความเข้มแข็ง จนหลายครั้ง คำว่า Comfort zone ก็กลายเป็นทั้งคำแนะนำหรือคำตักเตือน เช่นว่า “เธอควรออกจาก Comfort zone ได้แล้วนะ” อะไรประมาณนี้
หรือแม้กระทั่งการใช้คำว่า Comfort zone ไปตัดสินคนอื่นผิดๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ เช่นว่า เราเข้าใจ(ไปเอง)ว่า สิ่งที่คนอื่นทำเป็น Comfort zone เพียงเพราะมันดูไม่ Hard work แบบเรา ซึ่งอาจเป็นการแสดงอำนาจระหว่างบุคคล เพียงเพื่อบอกอีกฝ่ายว่า “ฉันแข็งแกร่งกว่าเธอนะ” อะไรประมาณนี้ อย่างไรก็ตาม โลกทัศน์หรือมุมมองจากประสบการร์ของตัวเราก็ไม่อาจวัดทั้งหมดของอีกฝ่ายได้ เช่นเดียวกับการเติบโตของเหล่า 3 พี่น้องของโลกวันพีช ผู้กระโดดออกจากชีวิต Comfort zone ในวัยเยาว์ สู่การเผชิญหน้ากับอุปสรรคที่ออกมาจาก Comfort zone ก่อนพวกเขาเสียอีก คำอธิบายเรื่อง Comfort zone ผ่านวิถีชีวิตของ เอส ซาโบ้ และลูฟี่ 3 พี่น้องแห่งโลกวันพีช ทำให้เกิดข้อค้นพบบางอย่าง
Comfort zone เป็นระดับหนึ่งในทางจิตวิทยา โดยมีอีกสองระดับ ได้แก่ Optimal performance zone (พื้นที่ของการมีประสิทธิภาพ) และ Danger zone โดย Comfort zone นั้น เกี่ยวข้องกับบุคลิกที่มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ และต้องการคงสภาพตัวเองไว้ในพื้นที่ชีวิตที่ตัวเองพอจัดการได้มากกว่าการเผชิญหน้า โดยสิ่งที่ต้องเผชิญหน้านั้น คนทั่วไปให้ความเข้าใจว่าเป็นเรื่องของโลกภายนอก (อันที่จริงอาจมีเรื่องภายในที่ต้องจัดการและก้าวข้ามไปก่อนก็เป็นได้ - ผู้เขียน)
เมื่อผ่านระดับนี้ไปแล้วก็จะเข้าสู่ระดับที่สามารถควบคุมตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นก็เป็นผลจากการผลักดันตัวเองด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่คาดหวัง หรืออาจเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องของความต้องการ เพียงแต่คงไว้ในระดับพอดี กระนั้น การเดินไปสู่พื้นที่ที่ความรู้สึกที่ต้องการมากเกินไป อาจทำให้เข้าสู่ระดับที่น่าเป็นห่วงได้
จากที่สังเขปมา พบว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นกับ 3 พี่น้องแห่งวันพีชทั้งสิ้น
เอส ซาโบ้ และลูฟี่ เป็น 3 พี่น้องร่วมสาบานที่มีชีวิตในวัยเด็กอยู่ในป่าบนเกาะดาวน์ ที่ตั้งของอาณาจักรโกอา และเกรย์เทอร์มินัล พื้นที่สำหรับทิ้งขยะขนาดใหญ่ โดยเอส เป็นลูกชายของอดีตราชาโจรสลัด โกลด์ ดี โรแจอร์ ที่การ์ป ปู่ของลูฟี่ ได้ฝากดาดันให้ช่วยเลี้ยง จนกระทั่งลูฟี่ได้พบกับเอส เนื่องจากการ์ปต้องการฝึกให้ลูฟี่มีเพื่อนและได้ใช้ชีวิตเพื่อฝึกฝนตนเอง เพราะการ์ปหวังไว้ว่าหากลูฟี่เติบโต เขาจะต้องเป็นทหารเรือที่ดีและแข็งแกร่ง ขณะที่ซาโบ้เป็นลูกชายของชนชั้นสูงในอาณาจักรโกอาที่หนีออกจากความคาดหวังของครอบครัวที่จะให้ซาโบ้เป็นชนชั้นสูงที่สร้างชื่อแก่วงศ์ตระกูล เพื่อต้องการใช้ชีวิตอย่างที่ตนเองต้องการ จนกระทั่งทั้งสามได้เป็นพี่น้องร่วมสาบาน
สิ่งหนึ่งที่พบว่าเกิดขึ้นกับทั้งสามคือ ความคาดหวังจากคนอื่น เอส กลัวความคาดหวังและมีความเกลียดกลัวในสายเลือดของราชาโจรสลัด ลูฟี่ถูกปู่คาดหวังให้เติบโตเป็นทหารเรือ ซาโบ้ถูกครอบครัวคาดหวังให้เป็นคนที่ต้องเรียนเก่งและสร้างชื่อเสียงแก่ครอบครัว เราจึงพบว่า ความคาดหวังจากคนอื่น หรือสิ่งที่คนอื่นประดาไว้ให้ นั่นแหละ คือการสร้าง Comfort zone ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ ที่เราจะเชื่อได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง

ไม่ใช่เพียงครอบครัวที่สร้างพื้นที่ของความสุขสบายด้วยความคาดหวังนี้เท่านั้น แต่ยังมีสถาบันอันมากหลายในสังคมที่ก่อกำเนิดความคาดหวังอันมากมายให้ผู้คนแบกรับ โดยสถาบันเหล่านั้นมักเป็นสถาบันที่ไม่เชื่อหรือไร้การให้เจตจำนงค์เสรีแก่มนุษย์ หรือการไม่เชื่อว่าคน ๆ หนึ่งจะสามารถเจริญเติบโตบนความชอบหรือถนัดส่วนตัวได้
เอส ลูฟี่ และซาโบ้ จึงตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อกระโดดออกมาและสัญญาว่าจะไม่กลับไปยัง Comfort zone ด้วยการสาบานว่าจะเป็นพี่น้องกันและจะออกเรือเป็นโจรสลัด ในวัย 17 ปี (สาเหตุที่ต้องออกเรือในวัย 17 ปี เนื่องจากชนชั้นสูงถือว่าวัยที่บรรลุนิติภาวะคือ 18 ปี ทั้งสามอาจต้องการรุดไปก่อนเส้นแบ่งวุฒิภาวะของชนชั้นสูงเพื่อเผชิญหน้ากับศัตรูในท้องทะเล)
กระนั้น ก็มีซาโบ้คนเดียวที่ออกทะเลก่อนเอสและลูฟี่ ในวัย 10 ปี เนื่องจากสถานการณ์ ทำให้เขาต้องรีบเป็นโจรสลัด ด้วยระยะเวลาที่เร็วเกินไป ความเป็นเด็กที่ไม่สามารถควบคุมความไร้ปราณีของท้องทะเลทำให้เขาสูญเสียความทรงจำอันเป็นตัวแทนชีวิตในวัยเด็ก และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของคณะปฏิวัติ

ความพร้อมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่ทำให้เด็ก ๆ บนโลกสูญสิ้นความเป็นเด็ก ภัยสงคราม การค้ามนุษย์ ได้ทำลายความเป็นตัวเองของพวกเขา เขาสูญสิ้นความเป็นตัวเองมากกว่าจะเรียกว่าเขาออกจาก Comfort zone

เมื่อเอส ตามด้วยลูฟี่ได้ออกทะเล จนกระทั่งวันหนึ่ง เอสพ่ายแพ้แก่โจรสลัดหนวดดำ ด้วยเหตุผลเพื่อล้างแค้นให้แก่ซัจ พี่น้องร่วมกองเรือหนวดขาวที่ถูกหนวดดำสังหารเพื่อแย่งชิงผลปีศาจ การขาดความยั้งคิดของเขา ทำให้เขาพ่ายแพ้แก่หนวดดำ นำไปสู่สงครามมารีนฟอร์ด หรือแม้กระทั่งลูฟี่ที่เสียใจจากการตายของเอสในสงครามมารีนฟอร์ด จนกระทั่งขาดสติ คิดจะทิ้งความฝันการเป็นราชาโจรสลัด ทั้งหมดนั่น ล้วนมาจากความคาดหวังหรือความต้องการที่มากเกินไปจนเกิดเป็นผลเสีย

จนกระทั่งตอนนี้ ลูฟี่พบว่าตนเองสามารถก้าวข้ามความกลัวและความเศร้ามาได้ เพราะยังมีเพื่อนพ้อง เช่นกันกับซาโบ้ ที่ได้ความทรงจำกลับคืนมา แม้ต้องแลกด้วยความเศร้า แต่เมื่อผ่านไปได้ก็ย่อมทำให้เข้มแข็งขึ้น คงมีเพียงเอส ที่ก้าวข้ามชีวิตไปสู่ความตาย เพียงเพื่อให้ผู้อื่นมีชีวิตอยู่อย่างเข้มแข็งต่อไป
การก้าวข้ามล้วนใช้ความอดทน จะช้าหรือเร็วก็เป็นเรื่องแต่ละบุคคล ตัดสินกันไม่ได้
สำคัญคือไม่ว่าจะเป็นลูก เพื่อน หรือรุ่นน้อง การให้แต่ละคนได้มีอิสระในการพัฒนาคนเองนั้น สำคัญมาก เราไม่ควรคาดหวังให้คนอื่นเป็นหรือรีบสำเร็จตามที่ตนต้องการ ทุกอย่างยังต้องใช้เวลา
แม้กระทั่งทุกวันนี้ สถาบันทางสังคมที่ใช้ระบบการสั่งสอนผู้คนด้วยอำนาจนิยม กลับเข้าใจผิดว่าการทำเช่นนั้นคือากรนำคนออกจาก Comfort zone ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วมันคือการผลิตซ้ำ มันจะผลิตคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หากไม่มีระบบอุปถัมป์ มันจะคอยปกป้องซึ่งกันและกัน แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่มีเหตุผลก็ตาม
ซึ่งมันเป็นคนละอย่างกับ สิ่งที่เอส ซาโบ้ และลูฟี่มีร่วมกัน เพราะไม่มีใครมาบังคับให้พวกเขาต้องเป็นพี่น้อง นั่นคือการเคารพในความรักอิสระที่มีร่วมกัน
แม้กระทั่งสังคมการเมืองที่ไม่ยอมเปลี่ยนผ่าน เป็นสังคมการเมืองที่ยังคงยอมรับที่จะอยู่ใน Comfort zone ก็เป็นได้ ซึ่งจะพร้อมหรือไม่ สำหรับช่วงชีวิตคนคงไม่ต้องรอถึงแปดสิบกว่าปีเพื่อเปลี่ยนผ่าน
comfort zone สำหรับ 3 พี่น้องแห่งวันพีช จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
 

 

บล็อกของ Yeed Piriya

Yeed Piriya
จริงๆ คำว่า Buffer idea เป็นคำที่นึกต่อมาจากคำว่า Buffer state ที่เราแปลเป็นไทยกันว่ารัฐกันชน ดังนั้น Buffer idea แปลแบบง่ายๆ ก็คือ ไอเดียกันชน คือเป็นชุดความคิดที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ ทั้งในแง่ความคิดและพฤติการณ์ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมาเผชิญหน้ากันในนั้นด้วยคุณค่าบางอย่างที่อาจเหมือนหรือต่างกันในร
Yeed Piriya
สมัยที่ผู้เขียนเรียนมหาลัย มีอาจารย์ท่านหนึ่งในคณะเคยเสนอให้ผมลงไปออกแบบการเล่าเรื่องวิธีคิดในการสร้างสันติภาพแก่เด็กนักเรียนผ่านการ์ตูนเรื่องนารูโตะ ตอนนั้นผมยังเข้าใจว่า การ์ตูนเรื่องนารูโตะมันเน้นหนักไปทางปรัมปรา (Mythology) แบบญี่ปุ่น จนเมื่อไม่นานมานี้ ผมเริ่มเข้าใจว่าทำไมอาจารย์ท่านนั้นถึง
Yeed Piriya
ประมาณ10 นาฬิกา ของวันนี้ (2 สิงหาคม 2562) ขณะที่นั่งเลื่อนจอเฟซบุ๊คไปมาอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ข่าวการพบวัสดุต้องสงสัยที่คาดว่าเป็นระเบิดตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วบนฟีดข่าว การจับจ้องของอัลกอริทึมเพื่อนำเสนอความตื่นตระหนกดัง
Yeed Piriya
เป็นเรื่องดีไม่น้อยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในปีการศึกษานี้ ได้ต้อนรับขับสู้น้องใหม่สงขลานครินทร์ถิ่นตานี ด้วยกิจกรรมสร้างเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรมผ่านสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเมืองปัตตานี โดยจุดสำคัญต่าง ๆ เหล่านั้น ล้วนมีความสำคัญในฐานะความทรงจำทางวัฒนธรรมของชุมชนและประวัติศาสตร์ใ
Yeed Piriya
พอสืบสาวลงไปถึงพลวัตระหว่า
Yeed Piriya
กระแสสังคมปัจจุบัน มักให้ความสำคัญต่อการหยิบยกความเป็นคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ต่างๆ ดังจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะและสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้น อันที่จริงอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากในหลายช่วงของประวัติศาสตร์คนรุ่นใหม่มักเข้ามามีบทบาทเสมอ เพียงแต่แต