Skip to main content

22 พ.ค. 2557 ของ 4 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากชีวิตระดับมัธยมศึกษาไปสู่มหาวิทยาลัยของผมและอีกหลายคนที่มีจำนวนหนึ่งจากหลายคนในประเทศนี้ที่ต่อมาได้เป็นเพื่อนกัน ช่วงเย็นภายหลังข่าวการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แพร่สะพัดไปทั่วจอโทรทัศน์ เป็นช่วงเวลาที่ผมขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านไปยังร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่หมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับที่เรียนว่าชีวิตนักศึกษาจะไปลงเอยที่ไหน ขณะนั้น ผมสนใจว่าจะเรียนต่อสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์

นอกเหนือจากเรื่องเรียน ผมก็ใช้เวลาสำหรับการอ่านข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับรัฐประหารในวันนั้น จนกระทั่งกลับบ้านช่วงหัวค่ำ ผมยังใช้มือถือสำหรับการติดตามข่าวการรัฐประหารอยู่เรื่อยๆ โดยก่อนหน้า ก็พอพบเห็นความตึงเครียดสถานการณ์ก่อนรัฐประหาร จากข่าวการบุกสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งมี อ.โคทม อารียา ร่วมให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ออกอากาศในรายการเกาะติดสถานการณ์การเมือง ณ ขณะนั้น ถูกเข้าระงับยุติการออกอากาศ

ผมอาจตื่นเต้นและหวาดเสียวกับช่วงเวลาแห่งการรัฐประหาร พอๆ กับช่วงเวลาที่ต้องหาที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

อย่างไรก็ตาม จากข่าวการบุกสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อยุติออกอากาศรายการเกาะติดรายงานพิเศษ ซึ่งมี อ.โคทม อารียา ร่วมให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ออกอากาศ แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดผ่านสถานการณ์สื่อก่อนหน้า จนกระทั่งระดับความตึงเครียดได้จบลงด้วยการรัฐประหาร

มันคงไม่มีเหตุผลอะไรมากเกี่ยวกับสิ่งที่จะกระทบตัวเรา ณ เวลานั้นจากการรัฐประหาร เราไม่ใช่คู่อริทางการเมืองกับคณะผู้ก่อการ หากแต่เป็นแค่วัยรุ่นที่ไม่ประสีประสากับบ้านเมืองนี้ในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกบอกเราว่าเรากลัว ทั้งที่ความกลัวตอนนั้นอาจไม่จำเป็นเพราะมันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเรา นั่นคือสิ่งที่เราคิด ณ เวลานั้น

มันคงเป็นความรู้สึกกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นต่อไปข้างหน้า คลับคล้ายคลับคลาว่าอนาคตของบางสิ่งจะมืดบอดบอดไปเพียงใช่ช่วงขณะ

--------------------------------------------

ผมได้มีโอกาสรับรู้การรัฐประหารครั้งแรกในสังคมไทย เมื่อครั้งรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สมัยนั้นผมน่าจะเรียนอยู่ชั้นประถม 3 สำหรับเรื่องการเมืองในช่วงเวลานั้น ผมเองคงเด็กเกินกว่าจะเข้าใจถึงการเมืองไทยได้ แม้กระทั่งเวลานั้น คำที่ผมได้ยินหรือที่สังคมในชุมชนรู้จักส่วนใหญ่ไม่ใช่คำว่ารัฐประหาร แต่เป็นคำว่าปฏิวัติ เมื่อเกิดการรัฐประหาร บทสนทนาของผู้ใหญ่เกี่ยวกับการเมืองในหมู่บ้าน ณ เวลานั้น จึงกล่าวถึงการรัฐประหารว่า “ทหารปฏิวัติแล้ว” ถ้าให้กล่าวว่ารู้จักคำว่ารัฐประหาร(coup deta)จริงๆ สำหรับผมคงเป็นตอนเรียนมหา’ลัยแล้ว

ไม่ว่าผมจะประสีประสากับบทบาททหารในพื้นที่การเมือง ณ ช่วงเวลานั้นเลยหรือไม่ สิ่งที่ผมรับรู้และจดจำได้อย่างแม่นยำคือความเป็นไปโดยคร่าวๆ ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ว่าไม่สามารถกลับมาประเทศนี้ได้ แต่นั่นไม่สำคัญพอ เท่ากับเรื่อง ‘โน๊ตบุ๊ค’

ประถม 3 เป็นช่วงเวลาแรกเริ่มที่ผมและเพื่อนๆ ในโรงเรียนเดียวกันได้จับ/ใช้คอมพิวเตอร์ แต่ก็ไม่บ่อยมาก ส่วนใหญ่วิชาเรียนคอมพิวเตอร์มักเรียนในรูปแบบ ‘คอมแห้ง’ คือเรียนผ่านเอกสารประกอบการเรียนและการอธิบายบนกระดาน ไม่มีคอมพิวเตอร์จริงๆ ให้ลองใช้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนที่ผมเรียน ณ ตอนนั้นไม่มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ หากแต่จำนวนคอมพิวเตอร์ยังคงมีน้อย แม้จะเป็นโรงเรียนเอกชนชั้นนำในอำเภอก็ตาม

บทสนทนาหนึ่งในวัยเด็กที่ผมกับลูกพี่ลูกน้องที่มีอายุอ่อนกว่าผมเพียงปีเดียว เคยกล่าวถึงเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้พอควรคือเรื่องโน๊ตบุ๊ค จากข่าวที่มีการรับรู้กันในช่วงนั้นว่า นักเรียนโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทยจะได้ใช้โน๊ตบุ๊คฟรีในยุคที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาล เนื่องจากบ้านของพวกเรายังอยู่ในชุมชนที่เป็นชนบทอยู่มาก การได้มีอุปกรณ์ไอทีใช้ฟรีๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น สำหรับช่วงเวลาที่เราเพิ่งเริ่มรู้จักคอมพิวเตอร์

แต่ดูเหมือนว่ารัฐประหาร 19 กันยา 49 ได้เปลี่ยนความตื่นเต้นนั้นไป

เมื่อนึกกลับไปถึงความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องที่ผลจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สิ่งที่ผมกับลูกพี่ลูกน้องคิดต่อ ณ เวลานั้นจึงเป็นความเสียดายที่มีร่วมกัน ว่าจะไม่ได้ใช้โน๊ตบุ๊คฟรีอีกแล้ว

--------------------------------------------

ก่อนรัฐประหาร 2557 กลุ่มคนที่มีความทรงจำร่วมเป็นอย่างมากก็คงเป็นกลุ่ม กปปส. เนื่องด้วยละแวกหมู่บ้านรวมทั้งจังหวัดที่ผมอยู่ มีแนวคิดทางการเมืองเอียงไปฝั่งที่คล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ แถมยังเป็นฐานเสียงพรรคใหญ่ในภาคใต้ บรรยากาศก่อนหน้ารัฐประหารจึงคึกคักไปด้วยม๊อบลายไตรรงค์ธงไทย

ช่วงที่กระแสม๊อบระบาดหนัก ผมยังคงใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง กระแสม๊อบบุกสั่งพักการเรียนการสอนจึงเข้าไม่ถึง เช่นเดียวกับที่กระแสม๊อบเข้าไม่ถึงจนไม่เกิดเป็นความสนใจใคร่ปฏิบัติอะไรแก่คนในโรงเรียน ครูทุกคนยังคงมาสอน และนักเรียนยังคงเข้าเรียนตามปกติ อาจมีสติ๊กเกอร์ลายธงชาติไทยติดมากับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนตร์บุคลากรในโรงเรียนบ้าง จะด้วยความชอบส่วนตัวหรือเหตุผลอะไรก็ตาม

สำหรับยามโรงเรียนที่ผมเรียนอยู่ แกให้เหตุผลการติดสติ๊กเกอร์ที่รถจักรยานยนต์ของแกกับผมว่า “เป็นเครื่องหมายกันม๊อบ” ประมาณว่าเป็นยันต์กันฝูงชนก่อกวน ขณะที่เรื่องการเมืองแกก็เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าส่วนตัวแกสนับสนุนแนวความคิดแบบพรรคเพื่อไทย

ซึ่งที่บ้านผมก็ต้องหาเครื่องหมายธงไตรรงค์มาผูกไว้ที่กระจกข้างรถยนต์ เพื่อกันฝูงชนก่อกวนเช่นกัน เนื่องด้วยข่าวที่ลือกันในช่วงเวลานั้นว่ามีการปิดถนนเข้าออกตัวเมืองโดยกลุ่ม กปปส. และหากรถคันใดไม่มีเครื่องหมายไตรรงค์ ก็จะถูกดัก กดดัน หรือสอบถามต่างๆ นานา

คิดอีกที บ้านเมืองตอนนั้นราวกับต้องเผชิญหน้ากับมวลมหาประชาชน ที่เป็นราวกับคลื่นซอมบี้ที่เห็นกันในซีรี่ย์ต่างประทศ

--------------------------------------------

ศักราชของวิกฤตทางการเมืองระลอกใหม่ กลายเป็นช่วงเวลาของการต้อนรับผมและเพื่อนๆ เข้าสู่มหาวิทยาลัยในฐานะนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ขณะนั้น ผมไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าถึงที่สุดแล้วการเรียนการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จะนำผมไปสู่การกลับมาทำความเข้าใจสังคมการเมืองในประเทศที่ตนอาศัยอยู่ มากไปกว่าจุดมุ่งหมายที่ผมตั้งต้นไว้ถึงความใฝ่ฝันที่จะเป็นข้าราชการ

ผมคิดว่าวิกฤตทางการเมืองในปี 2557 เป็นจุดตัดสำคัญจากความไม่ประสีประสาทางการเมืองในวัยเยาว์สู่การเริ่มตั้งคำถามและหาคำตอบให้ตัวเอง จากความรู้สึกที่เคยเกลียดกลัวคนเสื้อแดงจากเหตุการณ์เผาเมืองเมื่อพฤษภา 53 จนกระทั่งพบว่ามีศพจำนวนมากที่สังเวยให้กับอาชญาการรมของรัฐ เพียงแต่ความไร้เดียงสาทำให้มองไม่เห็นร่องรอยและราคาเลือด มากไปกว่าตึกและห้างที่ถูกเผา หรือแม้กระทั่งกรณี เงินกู้ 2 ล้านล้าน และคดีจำนำข้าว สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ล้วนเป็นความเข้าใจที่ได้รับจากการสื่อที่นำเสนอ จนกระทั่งได้รับความกระจ่างในภายหลัง

เท่าที่ผ่านมา ผมคิดว่าผมรับรู้เรื่องการเมืองไทยโดยใช้ความรู้สึกมาโดยตลอด จนกระทั่งการเคลื่อนไหวของ กปปส. จากพรบ.นิรโทษกรรม ขยายผลถึงการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สถานการณ์นั้นได้ให้ความรู้สึกที่ทำให้ผมต้องมองการเมืองไทยอย่างสงสัย และคิดว่าสิ่งที่เคยคิดไว้ อาจไม่ใช่อีกต่อไป

ผมเดินเข้าคณะรัฐศาสตร์ในปี 2557 จนกระทั่งผมจบการศึกษาในปีการศึกษา 2560 ใช้เวลาเรียนครบ 4 ปี ตามหลักสูตร พร้อมกับช่วงเวลาที่ คสช. ดำรงสถานะเป็นรัฐบาลครบ 4 ปี หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คงเป็นช่วงเวลาของการครบวาระและจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่

ผมเดินเข้าคณะรัฐศาสตร์ ภายหลังกระแสม๊อบต้านเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ผมจบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ใกล้เคียงกับอีกช่วงเวลาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

ผ่านมาแล้วนับ 4 ปี สำหรับชีวิตนักศึกษา ที่ดำเนินไปพร้อมกับการบริหารประเทศโดยรัฐบาล คสช.

ทุกวันนี้ สำหรับผม ไม่มีโน๊ตบุ๊คฟรีจากรัฐบาลใด มีเพียงโน๊ตบุ๊คเก่าๆ ที่หลุดรอดจากการตกเป็นอะไหล่ในร้านซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของพี่ชายไว้ใช้งาน การใช้ชีวิตอยู่ตามอัตภาพ ยังคงเป็นคำที่วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันเสมอ

อย่างไรก็ตาม การได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายในทุกวันนี้ ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ตัวผมมากมาย

โลก 4.0 ทำให้ผมรู้ว่าจริงๆ แล้ว การเมืองไทยเต็มไปด้วยเรื่องที่ถูกทำให้สูญหาย

โดยเฉพาะเรื่องความสุขที่ไม่เคยได้คืน อย่างที่ใครสัญญา

บล็อกของ Yeed Piriya

Yeed Piriya
จริงๆ คำว่า Buffer idea เป็นคำที่นึกต่อมาจากคำว่า Buffer state ที่เราแปลเป็นไทยกันว่ารัฐกันชน ดังนั้น Buffer idea แปลแบบง่ายๆ ก็คือ ไอเดียกันชน คือเป็นชุดความคิดที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ ทั้งในแง่ความคิดและพฤติการณ์ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมาเผชิญหน้ากันในนั้นด้วยคุณค่าบางอย่างที่อาจเหมือนหรือต่างกันในร
Yeed Piriya
สมัยที่ผู้เขียนเรียนมหาลัย มีอาจารย์ท่านหนึ่งในคณะเคยเสนอให้ผมลงไปออกแบบการเล่าเรื่องวิธีคิดในการสร้างสันติภาพแก่เด็กนักเรียนผ่านการ์ตูนเรื่องนารูโตะ ตอนนั้นผมยังเข้าใจว่า การ์ตูนเรื่องนารูโตะมันเน้นหนักไปทางปรัมปรา (Mythology) แบบญี่ปุ่น จนเมื่อไม่นานมานี้ ผมเริ่มเข้าใจว่าทำไมอาจารย์ท่านนั้นถึง
Yeed Piriya
ประมาณ10 นาฬิกา ของวันนี้ (2 สิงหาคม 2562) ขณะที่นั่งเลื่อนจอเฟซบุ๊คไปมาอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ข่าวการพบวัสดุต้องสงสัยที่คาดว่าเป็นระเบิดตามจุดต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วบนฟีดข่าว การจับจ้องของอัลกอริทึมเพื่อนำเสนอความตื่นตระหนกดัง
Yeed Piriya
เป็นเรื่องดีไม่น้อยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในปีการศึกษานี้ ได้ต้อนรับขับสู้น้องใหม่สงขลานครินทร์ถิ่นตานี ด้วยกิจกรรมสร้างเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรมผ่านสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเมืองปัตตานี โดยจุดสำคัญต่าง ๆ เหล่านั้น ล้วนมีความสำคัญในฐานะความทรงจำทางวัฒนธรรมของชุมชนและประวัติศาสตร์ใ
Yeed Piriya
พอสืบสาวลงไปถึงพลวัตระหว่า
Yeed Piriya
กระแสสังคมปัจจุบัน มักให้ความสำคัญต่อการหยิบยกความเป็นคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ต่างๆ ดังจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะและสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้น อันที่จริงอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากในหลายช่วงของประวัติศาสตร์คนรุ่นใหม่มักเข้ามามีบทบาทเสมอ เพียงแต่แต