Skip to main content

ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์

การที่รัชกาลที่ ๑ โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลพงศาวดารมอญภายหลังการขึ้นครองราชย์เพียง ๓ ปี ทั้งที่น่าจะมีพระราชภาระด้านอื่นที่สำคัญกว่า แม้เค้าโครงเรื่องจะมีมูลความจริงอยู่มาก แต่ได้มีการคัดเลือกเฉพาะช่วงตอนที่มอญมีชัยเหนือพม่า เพื่อเป็นการปลุกเร้าขวัญและกำลังใจพลเมืองและทหารให้ฮึกเหิม ลืมอดีตอันเจ็บปวดเมื่อคราวเสียกรุง สำนวนโวหารคมคายชวนอ่าน ตามขนบการเขียนวรรณคดี ซึ่งหากพิจารณาในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองจะพบว่า วรรณกรรมเรื่องราชาธิราชและเรื่องอื่นๆ ที่โปรดฯให้แปลขึ้นในยุคเดียวกัน เป็นโลกทัศน์ทางการเมืองของชนชั้นนำในสมัยนั้น เพื่อประโยชน์ทางการเมืองและยอพระเกียรติ์ เนื้อหานำเสนอคุณสมบัติเชิงอุดมคติของผู้ที่ขึ้นครองราชย์ ที่ไม่จำเป็นต้องสืบเชื้อสายกษัตริย์ เช่น มะกะโท และพระเจ้าธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นผู้มีปัญญาและบุญญาธิการสามารถสถาปนาราชวงศ์ใหม่ เป็นความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ เป็นที่ยอมรับของราษฎร ขุนนาง และเสนาบดีทุกหมู่เหล่า


บุษบา ตระกูลสัจจาวัตร ศึกษาและวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า แปลและเรียบเรียงขึ้นจากเอกสารทางประวัติศาสตร์มอญอย่างน้อย ๒ ฉบับ คือ
Razadarit Ayedawpon และ นิทานธรรมเจดีย์กถา เป็นพงศาวดารที่มีเนื้อหาและรายละเอียดเฉพาะกษัตริย์บางรัชกาล คือ รัชกาลพระเจ้าราชาธิราช รองลงมาคือ พระเจ้าธรรมเจดีย์ และพระเจ้าฟ้ารั่ว ส่วนฉบับตัวพิมพ์เป็นเรื่องที่เกิดจากการชำระต้นฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และเพิ่มเติมลักษณะทางวรรณศิลป์ มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างพงศาวดารกับบันเทิงคดี คุณค่าของแต่ละฉบับจึงแตกต่างกันตามลักษณะของเรื่อง

ราชาธิราชฉบับภาษามอญที่แพร่หลายในเมืองไทยนั้น เชื่อว่าแปลมาจากฉบับเจ้าพระยาพระคลัง
(หน) ที่ผ่านการปรุงแต่งวรรณศิลป์แล้ว โดยมอญในเมืองไทย มีการดัดแปลงบางส่วน ผนวกรวมเข้ากับจดหมายเหตุและพงศาวดารมอญต้นฉบับตัวเขียนใบลานที่บันทึกไว้ในสมัยพระนางเจ้าตะละเจ้าท้าว (เช็งสอบู) และพระเจ้าธรรมเจดีย์ ซึ่งเชื่อว่าไม่เคยมี “ราชาธิราช” ในลักษณะการเดินเรื่องอย่างฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่จัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ มาก่อน
 
ภูมิหลังพงศาวดารราชาธิราช

ต้นฉบับราชาธิราชฉบับภาษามอญในประเทศพม่ามีประมาณ ๕ ฉบับ ซึ่ง ๒ ใน ๕ ฉบับในนั้น คือ ฉบับโรงพิมพ์วัดแค พระประแดง สมุทรปราการ เรียกกันโดยทั่วไปว่า
“ฉบับปากลัด”พิมพ์เป็นชุด ๒ เล่มต่อเนื่องกัน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ และ ๒๔๕๕ ตามลำดับ อีกเล่มหนึ่ง คือ คัมภีร์ราชาวังศะกถา (ฉบับหลวงพ่ออุตตมะ)พิมพ์โดยวัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี พ.ศ. ๒๕๔๐

เชื่อกันว่าพงศาวดารภาษามอญ เขียนขึ้นในสมัยพระนางเจ้าตะละเจ้าท้าว (พระนางเช็งสอบู) และ พระเจ้าธรรมเจดีย์ ได้แก่ อุปันสุวรรณภูมิอารัมมกถา สุธัมวดีราชาวังศะ และสีหราชาธิราชาวังศะ ส่วนต้นฉบับภาษามอญในเมืองไทยที่ค้นพบทั้งสิ้น ๕ ฉบับ ได้แก่
๑. Razadarit Ayedawpon (ออกเสียงตามพม่า)
๒. ราชวงศ์ (โดย อาจารย์อะเฟาะ พระมอญเกิดเมื่อราว พ.ศ. ๒๒๔๒ ที่เมืองหงสาวดี)
๓. สุธรรมวดีราชาและสีหราชาธิราชวังศะ (ฉบับปากลัด)
๔. นิทานธรรมเจดีย์กถา (ฉบับปากลัด)
๕. คัมภีร์ราชาวังศะกถา (ฉบับหลวงพ่ออุตตมะ)

อย่างไรก็ตามต้นฉบับราชาธิราชที่พบในพม่าเกือบทั้งหมดได้รับการบันทึกและดัดแปลงแก้ไขขึ้นในภายหลัง โดยมากนำต้นฉบับไปจากเมืองไทย เนื่องจากต้นฉบับภาษามอญในประเทศพม่าส่วนใหญ่ถูกเผาทำลายทั้งจากทางการพม่า และชาวมอญที่กลัวในอำนาจพม่า
 
ต้นฉบับราชาธิราชภาษามอญ ภาษาไทย ภาษาพม่า และฉบับคัดย่อดัดแปลงต่างๆ
รวมทั้งงานวิเคราะห์วิจัยว่าด้
วยเรื่องราชาธิราช
 
เปรียบเทียบราชาธิราชฉบับภาษาไทยและภาษามอญ ต่างมุมมองผู้แปล (พญาทะละ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และฉบับปากลัด)  

ต้นฉบับราชาธิราชภาษามอญในเมืองไทยค้นพบ ๒ ฉบับ คือ ฉบับปากลัด ๒ เล่ม และฉบับหลวงพ่ออุตตมะ ตามข้อจำกัดในระยะเวลาของการศึกษา การเข้าถึงหลักฐาน และการกล่าวถึง
“ราชาธิราชฉบับภาษามอญ” ที่รับรู้ของคนทั่วไปคือราชาธิราช “ฉบับปากลัด” เทียบกับฉบับฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่รู้จักกันโดยทั่วไปและราชาธิราชฉบับพญาทะละฉบับภาษาพม่า ซึ่งเนื้อหาในราชาธิราชทั้ง ๓ ภาษา มีโครงเรื่องคล้ายกัน แต่ต่างมีรายละเอียดหลายส่วนที่เหมือนและต่างกันปนเปอยู่ในทั้ง ๓ ฉบับ ในแง่มุมที่แตกต่างกันทั้งตัวตน บริบทแวดล้อม นำมาซึ่งมุมมองที่แตกต่างในการมองเรื่องเดียวกันแต่ต่างจุดยืน ของผู้แปลราชาธิราชทั้ง ๓ ฉบับ

พระยาทะละ
ผู้แปลราชาธิราชยุทธนา ขุนนางมอญ ภายหลังรับราชการอยู่กับบุเรงนอง ซึ่งรัชกาลก่อนหน้า คือ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทรงแต่งตั้งเจ้าหญิงมอญเป็นเอกอัครมเหสี แต่งตั้งขุนนางมอญในตำแหน่งสูงสุดทั้งฝ่ายราชสำนักและกองทัพ ส่วนพระเจ้าบุเรงนองนั้นก็มีพระสนมเป็นมอญด้วยเช่นกัน เพราะกษัตริย์พม่าทั้ง ๒ มีนโยบายประนีประนอม ยอมรับวัฒนธรรมมอญเพื่อผสมกลมกลืนชนชาติ ป้องกันการก่อกบฏ ทำให้ขุนนางมอญรับราชการกับพม่าจำนวนมากจวบจนทุกวันนี้ ปัจจุบันมีข้าราชการพม่าเชื้อสายมอญที่เกษียณแล้วได้เข้ามาฝักใฝ่อยู่กับ “พรรคมอญใหม่” หลายท่าน (ในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน) ดังนั้นการแปลพงศาวดารมอญเป็นภาษาพม่าจึงต้องคำนึงถึงพระราชอัธยาศัยของกษัตริย์พม่า ที่จะต้องส่งผลต่อหน้าที่การงานและแม้แต่ชีวิต เนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความกลัว ขลาดเขลา และมีนัยยะในทางดูหมิ่นเย้ยหยันกษัตริย์พม่าก็คงต้องละไว้

เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
แปลราชาธิราชออกเป็นภาษาไทยสนองพระราชโองการรัชกาลที่ ๑ ซึ่งไม่ต่างจากการทำหน้าที่ของพญาทะละ แต่วัตถุประสงค์นั้นเพื่อให้ผู้คนทั่วไปเลิกหวาดกลัวพม่า ดังแสดงให้เห็นว่า บางยุคสมัยพม่าก็ขลาด เสียรู้ และก็พ่ายแพ้ได้เช่นเดียวกัน รวมทั้งเน้นพระราชกิจของกษัตริย์ให้โดดเด่นเป็นสมมุติเทพ ไม่จำเป็นต้องสืบวงศ์มาแต่กษัตริย์ แต่ขอให้มีสติปัญญาและบุญบารมี เป็นการรับรองความชอบธรรมของรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเคยเป็นสามัญชนมาก่อน ดังนั้นราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จึงถูกแต่งเติมให้เกินจริงอย่างพิษดาร

ฉบับปากลัด
ได้รับอิทธิพลราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทย ด้วยเป็นวรรณคดีที่อ่านสนุก กระตุ้นสำนึกรักชาติ ผู้แปลฉบับปากลัดจึงมุ่งเน้นการแปลราชาธิราชจากภาษาไทยกลับไปเป็นภาษามอญอย่างที่คาดว่าไม่เคยมีราชาธิราชที่มีเนื้อหาอย่างในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาก่อน เพื่อปลูกฝังความรู้สึกรักชนชาติ ร่วมหวงแหนมรดกของบรรพชน มีนัยยะนำไปสู่การต่อสู้เพื่อชนชาติ

ต่างเนื้อหา
 เริ่มเรื่องของราชาธิราชฉบับปากลัดขึ้นต้นด้วยบทบูชาพระรัตนไตรตามคติงานเขียนของมอญ ต่อด้วยการอารัมภบทพุทธประวัติโดยย่อ กระทั่งได้พระราชทานพระเกศาธาตุ ๘ เส้นให้ตะปุสสะภัลลิกะ ๒ วานิชมอญ ก่อนจะกล่าวถึง “ควัมปติ” พระอรหันต์ชาวเมืองสะเทิม ดังความเริ่มเรื่องในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ส่วนเนื้อหาโดยรวมใกล้เคียงกัน กล่าวถึงอภินิหาร ยอพระเกียรติกษัตริย์ เน้นสงครามระหว่างพระเจ้าราชาธิราชและพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง การเรียงลำดับเหตุการณ์ในฉบับปากลัดมีสับสนอยู่หลายแห่ง เช่น การตายของพ่อขวัญเมือง การลงทัณฑ์พระมหาเทวี และการทำสัตย์ต่อกันระหว่างพระเจ้าราชาธิราชและพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง หากเปรียบเทียบสำนวนทั้งสองฉบับ จะเห็นได้ชัดว่าฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เดินเรื่องประณีตอลังการกว่าฉบับปากลัด เนื้อหาของฉบับปากลัดจบลงที่พระนางตะละเจ้าท้าวขึ้นครองราชย์ ส่วนฉบับพระยาพระคลัง (หน) จบลงเมื่อพระเจ้าธรรมเจดีย์ถวายพระเพลิงศพพระนางตะละเจ้าท้าว และปกครองบ้านเมืองด้วยความผาสุข ส่วนฉบับพญาทะละจบลงตรงที่พระเจ้าราชาธิราชสวรรคต

รายละเอียดและการขยายความในหลายแห่งต่างกันอย่างสิ้นเชิง เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากความผิดพลาด แต่เกิดจากการจงใจที่จะสร้างรายละเอียดให้แตกต่างกัน เช่น

พระเจ้ากรุงสุโขทัย ต้องการเสี่ยงทายเมืองที่จะส่งช้างเผือกลูกช้างฉัททันต์ไปให้ ด้วยการนำฟ่อนหญ้าเมืองต่างๆ มาเสี่ยงทาย หากช้างเผือกรับหญ้าเมืองไหนก็จะส่งไปให้เมืองนั้น ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีฟ่อนหญ้าเสี่ยงทาย ๓ ฟ่อน ได้แก่ เมืองสุโขทัย เมืองเมาะตะมะ และเมืองเชียงใหม่ ฉบับปากลัดว่า ๔ ฟ่อน ได้แก่ เมืองเชียงใหม่ เมืองและกอนปิตยา เมืองอยุธยา และเมืองเมาะตะมะ ส่วนที่เหมือนกันก็คือช้างเผือกเลือกรับหญ้าเมืองเมาะตะมะ

วันเดือนที่พระยาน้อยแจ้งว่าจะเดินทางจากเมืองตะเกิงที่ตั้งมั่นอยู่ไปไปเข้าเฝ้าพระบิดา (พญาอู่) และเสด็จป้า (พระมหาเทวี) ที่เมืองพะโค ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่าเดือน ๙ แต่ฉบับปากลัดว่าเดือน ๑๐ คาดว่าคงคำนวณต่างกันทางจันทรคติและสุริยคติ

จำนวนเงินที่มะกะนาย (ฉบับปากลัดชื่อ ตะละขะวาเตอปะตอย) ยืมเจ้าหนี้ไปลงทุนค้าสำเภาขาดทุนไม่มีใช้คืนต้องติดคุกอยู่นั้น พระเจ้าราชาธิราชต้องการชดใช้แทน ไถ่ตัวไปช่วยรบ เจ้าหนี้ในฉบับปากลัดว่าติดค้างอยู่ ๑๐๐ ชั่ง ยกให้ ๕๐ ชั่ง ขอจากพระเจ้าราชาธิราช ๕๐ ชั่ง ส่วนฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่าเป็นหนี้อยู่ ๒๐ ชั่ง
“...ขอถวายไว้ใต้ฝ่าพระบาท จะได้แจกทแกล้วทหารซึ่งมีความชอบ ข้าพเจ้าจะขอพึ่งบุญบารมีพระองค์สืบไป”

ต่างนิมิตเทพอุ้มสม
   เช่น ในตอนปราบดาภิเษกพระยาน้อย เสนาบดีและราชปุโรหิตทั้งปวงได้กล่าวอธิษฐานหากชื่อ “สมเด็จพระเจ้าสีหราชาธิราช” นั้นเหมาะกับพระยาน้อยแล้ว ให้เศวตฉัตรที่หุบอยู่นั้นกางขึ้น ซึ่งก็เกิดมหัศจรรย์จริงดังคำอธิษฐาน ส่วนในฉบับปากลัดไม่ได้กล่าวถึง อีกครั้งหนึ่งเมื่อพระเจ้าราชาธิราชยกทัพออกไปรบกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เกิดนิมิตพิษดาร ในฉบับปากลัด เศวตฉัตรเพียงแต่ต้องลมโค่นลงดิน ส่วนฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถูกลมหอบขึ้นฟ้า “...กระทำเป็นทักษิณาวนถ้วนสามรอบแล้ว ก็กลับลงมาประดิษฐานอยู่ดังเก่า...”

ต่างภาษา
  ราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไม่มีการวางรูปแบบการแปลชื่อบุคคลและสถานที่ บางชื่อแปลความหมาย เช่น เม้ยมณิก (แมะเนิจ์ก แปลว่า มณี) บางชื่อทับศัพท์เช่น สมิงพ่อเพ็ชร (เป่อเปิด แปลว่า อัญมณี) พระเจ้าฟ้ารั่ว หากถอดตามเสียงไทยด้วยอักษรมอญก็จะได้ สะวารัว และเป็น วาโร ตามเสียงมอญ

ชื่อผู้ชายสามัญชน มอญใช้ แมะ ไทยออกเสียง มะ นำหน้าเพศชาย เช่น มะกะโท มาจากภาษามอญว่า แมะกะตู แปลว่า พ่องอบ และ มิ ไทยออกเสียงว่า เม้ย นำหน้าเพศหญิง ดังนั้นชื่อผู้หญิงสามัญชนในราชาธิราชจึงมีเม้ยนำหน้า เช่น เม้ยสะดุ้งมอด มาจากภาษามอญว่า มิขะโดงหมอด แปลว่า แม่ดวงตา

ได้มีการค้นพบว่าต้นฉบับราชาธิราช ฉบับที่มีผู้แปลถวายสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า
“ฉบับวังหน้า” ชื่อตัวละครใกล้เคียงภาษามอญมากกว่าฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่ทั้งนี้ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้แปลฉบับวังหน้าจะรู้ภาษามอญและไทยดีกว่าคณะของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แม้จะไม่มีกรรมการที่เป็นผู้รู้แตกฉานภาษามอญและไทย (ในคนเดียวกัน) ก็สามารถหาผู้รู้มาบอกภาษาได้ เพียงแต่ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่รัชกาลที่ ๑ โปรดฯให้แปลนั้นคงไม่ต้องการเน้นให้ชื่อบุคคลตรงตามเสียงภาษามอญเพราะออกเสียงยาก หรือแม้แต่ได้พยายามแล้วก็ยังสามารถได้ยินเพี้ยน เช่น จอน กาลาฟัด (John crawfurd) กัมมาจล (Commercial) เป็นต้น ตัวอย่างชื่อบุคคลในราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่แตกต่างจากภาษามอญอย่างมาก เช่น อะมาดตินแมะเนิจ์กหรอด ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า อำมาตย์ทินมณีกรอด ที่เป็นการแยกพยางค์ภาษามอญผิด

ชื่อเมือง (
Mawlamyine) หรือเมืองมองมะละที่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับ เมาะลำเลิง นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการกล่าวแยกไว้อย่างชัดเจนระหว่างเมือง มอดแมะเลิ่ม และ มองแมะและ

ต่างเหตุการณ์และข้อเท็จจริง
  ในฉบับปากลัดและฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องสิ้นพระชนม์หลังพระเจ้าราชาธิราช ส่วน “ฉบับพระยาทะละ” พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องสิ้นพระชนม์ไปก่อน (หลักฐานทางฝ่ายฝ่ายพม่า พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องครองราชย์ ๒๑ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๔๔-๑๙๖๕ ส่วนพระเจ้าราชาธิราชครองราชย์ ๓๘ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๖๖)

เครื่องบรรณาการของกษัตริย์มอญแด่กษัตริย์พม่าในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มักมีผ้าแดงโมรี แต่ฉบับปากลัดไม่มี มีเพียงครั้งเดียวที่กล่าวถึงผ้าแต่เป็นผ้าขาว เนื่องจากคนมอญมีความเชื่อเรื่องผีบรรพชน ผีปู่ย่าตายายของมอญนั้นนิยมผ้าแดง ฉะนั้นจึงมีธรรมเนียมห้ามลูกหลานแจกจ่ายข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นสีแดง โดยเฉพาะผ้าแดงให้คนนอกผีอย่างเด็ดขาด

อัฐิของขุนนางเสนาบดีผู้ใหญ่ฝ่ายมอญทุกคนที่เสียชีวิต พระเจ้าราชาธิราชโปรดฯให้เผาแล้วเก็บอัฐิไว้ ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ให้ไปเก็บไว้ในพระเจดีย์มุเตา ส่วนในฉบับปากลัดให้ไปเก็บในใน
“บริเวณ” พระเจดีย์มุเตา แม้จะต่างกันเพียงคำเดียว แต่ความหมายนั้นห่างกันราวฟ้ากับดิน ด้วยเจดีย์ตามคติของคนมอญนั้นมีไว้สำหรับบรรจุพระธาตุพระพุทธเจ้าเท่านั้น ปุถุชนธรรมดาแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ไม่สามารถนำอัฐิไปบรรจุได้
 
สรุป

วรรณกรรมที่แปลและคัดลอกต่อๆ กันมา แม้พยายามต้องการคัดลอกให้เหมือนเดิมแต่ย่อมผิดพลาดได้ โดยเฉพาะในยุคที่ยังคัดลอกด้วยมือ หรือแม้แต่เข้าสู่ระบบการพิมพ์แล้วก็ตาม ทั้งนี้ในสมัยที่ผู้ผลิตงานวรรณกรรมที่มิได้เคร่งครัดในรายละเอียด จึงได้มีการแต่งเติมสีสันไปตามความนิยมของตน จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม บางครั้งอาจจงใจคัดลอกดัดแปลงวรรณกรรมนั้นๆ ให้เข้ากับบริบทแวดล้อมของตนเพื่อประโยชน์บางอย่าง ดังนั้นผู้อ่านงานวรรณกรรมจึงต้องแยกแยะคัดกรองระหว่างข้อเท็จจริงและสิ่งเจือปนแทรกอยู่ระหว่างบรรทัดเสมอ
 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนเราต่างเกิดมาพร้อมข้อมูลส่วนบุคคล สามารถสืบย้อนโคตรวงศ์กลับไปได้ไม่รู้จบ ผิวพรรณ ฐานะ และเชื้อชาติของผู้ให้กำเนิดย่อมเป็นข้อมูลที่เกิดรอล่วงหน้า เป็นมรดกสืบสันดานมาต่อไป ส่วนศาสนาและการศึกษาถูกป้อนขณะอยู่ในวัยที่ยังไม่อาจเลือกเองเป็น หลังจากนั้นหากต้องการแก้ไขก็ทำได้เองตามชอบ ศัลยกรรมทำสีผิว ผ่าตัดแปลงเพศ หรือแม้แต่เปลี่ยนศาสนา กระทั่งสัญชาติก็เปลี่ยนกันได้ ยกเว้น “เชื้อชาติ” ที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยน ในงานเสวนา “มอญในสยามประเทศ (ไทย) ชนชาติ บทบาท และบทเรียน” เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวถึงความล้าหลังคลั่ง “เชื้อชาติ” ว่า…
องค์ บรรจุน
ภาสกร อินทุมาร ๑ จำได้ว่าเมื่อตอนที่ผมริเป็นนักดนตรีไทยใหม่ๆ ในวัยเด็ก และได้ฟังเพลง “ราตรีประดับดาว” เป็นครั้งแรกนั้น ผมรู้สึกว่าเพลงนี้ช่างเพราะเหลือเกิน เพราะทั้งทำนองและเนื้อร้อง โดยที่เนื้อร้องมีอยู่ว่า… วันนี้                                 แสนสุดยินดี พระจันทร์วันเพ็ญ ขอเชิญสายใจ                       …
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย ข้าพเจ้าทราบข่าวว่าในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ได้เกิดพายุไซโคลนนาร์กีส จากอ่าวเบ็งกอร์  อันที่ได้สร้างความเสียหายทางด้านชีวิต และทรัพย์สินแก่ประชาชนชาวพม่า ที่อาศัยอยู่ในเขตตอนล่างของประเทศจีน จนถึงกลุ่มชนมอญ กระเหรี่ยง เป็นจำนวนมากโดยเป็นตัวแทนรัฐบาล ประชาชน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจ และเห็นใจมายังท่าน และประชาชนชาวพม่า จะสามารถฟื้นฟูเขตที่เกิดความเสียหายจากภัยพิบัติในครั้งนี้ด้วยความเคารพและนับถืออย่างสูงนครหลวงเวียงจันทน์ วันที่ 5 พฤษภาคม 2551  ข้างต้นนี้เป็นสาส์นแสดงความเสียใจที่ฯพณฯท่านบัวสอน บุบผานุวง นายกรัฐมนตรีแห่ง…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน“มอญอะไร นุ่งผ้าถุงลายนี้ มีผ่าหลังด้วย มอญเค้าไม่มีกันหรอก” นักวิชาการมหาวิทยาลัยเปิดแถวเมืองนนท์ชี้ให้ดู“มอญของแท้ต้องโสร่งแดง นุ่งลอยชายแบบพระประแดงนั่นน่ะมอญแปลง เอาแบบกรมศิลป์มาใส่...” พิธีกรสุดเริ่ดดอกเตอร์หมาดๆ รายการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ข้างตำราพูดเสียงยาวแล้วยังจะอีกพะเรอเกวียน ตำหนิ ติ บ่น ก่น ด่า ถากถาง ตั้งความฝัน คาดหวังให้เป็น ขีดเส้นให้ตาม- - - - - - - - - - -จิตรกรรมฝาผนังวัดบางแคใหญ่ สมุทรสงคราม สมัย ร. 2 เป็นภาพสาวมอญนุ่งผ้าแหวกผ่านกลุ่มชายหนุ่ม และถูกเกี้ยวพาราสี
องค์ บรรจุน
ภาสกร อินทุมาร๑เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่คนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างน้อย ๒ กลุ่ม คือ จีนและมอญ  มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ผูกโยงอยู่กับ “อัตลักษณ์” (identity) ของชาติพันธุ์แห่งตน นั่นก็คือ “วันตรุษจีน” หรือการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ตามคติจีน ที่รวมถึงการรำลึกถึงบรรพชนของตน และ “วันรำลึกชนชาติมอญ” ที่คนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญจากหลายจังหวัดทั่วประเทศมารวมตัวเพื่อกันทำบุญให้แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ และร่วมกันจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม คนจีนและคนมอญได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณาบริเวณที่เรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบันตั้งแต่ก่อนการสถาปนาความเป็น “รัฐชาติ” (nation state) มาเนิ่นนาน…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัยอากาศช่วงนี้ช่างร้อนระอุได้ใจยิ่งนัก แม้ว่าฝนจะตกลงมาอย่างหนักในบางที แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้หายร้อนแต่ประการใด ร้อนๆ แบบนี้พาให้หงุดหงิดง่าย แต่พ่อฉันมักจะสอนว่า “นี่คือธรรมชาติที่มันต้องเกิด เราต้องเข้าใจธรรมชาติ คนที่ไม่เข้าใจและโมโห หงุดหงิดกับธรรมชาติคือคนเขลา และจะไม่มีความสุข” *******************
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิดในช่วงเวลาของการแสวงประสบการณ์ ผู้เขียนมีความใฝ่ฝันมานานแล้วว่าครั้งหนึ่งในชีวิตขอให้ได้มีโอกาสทำงานโบราณคดีในภาคเหนือสักครั้ง  ดังนั้น เมื่อราวกลางปีพ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้เขียนจึงเดินทางขึ้นเหนือและ เริ่มต้นงานแรกที่จังหวัดลำปาง คืองานบูรณะซ่อมแซมวิหารจามเทวี วัดปงยางคก ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง จากนั้นอีกไม่กี่เดือนเมื่องานที่ลำปางเสร็จสิ้นลง ก็เดินทางต่อมาที่เชียงใหม่ เพื่อทำการขุดศึกษาทางโบราณคดีที่เจดีย์เหลี่ยม หรือ กู่คำ เจดีย์สำคัญของเวียงกุมกาม ตลอดเวลาที่มองเห็นซากปรักหักพังของวัดร้างในเวียงกุมกาม น่าแปลกใจที่ตอนนั้นยังไม่ได้มีความคิดเกี่ยวกับมอญเท่าไรนัก…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนวงดนตรีพื้นเมืองของแต่ละชาติย่อมมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แต่กระนั้นวงดนตรีที่อยู่ในภูมิภาคใกล้เคียงกัน ไม่ว่าพม่า มอญ ไทย ลาว เขมร ย่อมมีความคล้ายคลึงกันเพราะต่างได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะดนตรีมอญกับไทยมีความใกล้เคียงกันมาก ทั้งเครื่องดนตรีและทางดนตรี เหตุเพราะไทยรับเอาอิทธิพลของดนตรีมอญมาไม่น้อย ในเมืองไทยจึงมีเพลงมอญเก่าแก่หลงเหลืออยู่มากมาย เช่น แประมังพลูทะแย กชาสี่บท ดอมทอ ขะวัวตอฮ์ เมี่ยงปล่ายหะเลี่ย เป็นต้น [1] รวมทั้งครูเพลงมอญในเมืองไทยยังได้มีการแต่งเพลงไทยสำเนียงมอญขึ้นมาอีกมากมาย เช่น มอญรำดาบ มอญดูดาว (เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มอญอ้อยอิ่ง มอญแปลง…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัยสมาชิกชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพรื่นเริงบันเทิงใจและปลาบปลื้มชื่นชม...เคยมีคนบอกกับฉันว่า ฉันไม่ควรไปร่วมงานวันชาติมอญในเมืองมอญเพราะฉันต้องเคารพความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมและความเป็นชนชาติของชาวมอญ จึงทำให้ฉันไม่แน่ใจว่าการใช้คำ “รื่นเริงบันเทิงใจ” หรือ “ปลาบปลื้มชื่นชม” จะเป็นการสมควรหรือไม่ แต่นั่นก็คือความรู้สึกที่ฉันได้รับจากการไปงานวันชาติมอญครั้งที่ 61 ที่จัดขึ้น ณ หมู่บ้านบ่อญี่ปุ่น (ปะลางเจปาน) ด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านมอญที่อยู่นอกพรมแดนประเทศไทย งานวันชาติมอญนี้จัดกันหลายที่ทั่วโลกที่มีชุมชนมอญอยู่ ทั้งในไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ อังกฤษ แคนาดา สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา…
องค์ บรรจุน
ภาสกร อินทุมาร“วันรำลึกชนชาติมอญ” ที่จัดขึ้นทุกปีนั้น ปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒-๓ กุมภาพันธ์ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยความร่วมมือของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ วัดบ้านไร่เจริญผล และพี่น้องชาวมอญจากหลายๆ พื้นที่ก่อนงานจะเริ่ม พวกเรา-คณะเตรียมงาน ประมาณ ๑๐ คน ได้เดินทางไปยังสถานที่จัดงานตั้งแต่วันที่ ๑ เพื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ ตั้งแต่การตกแต่งบริเวณงานด้วยธงราวรูปหงส์ที่พวกเราทำขึ้น, การผูกผ้าและจัดดอกไม้, การตกแต่งเวที, การติดตั้งนิทรรศการเคลื่อนที่, การเตรียมสถานที่สำหรับทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนมอญ ฯลฯ…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิดและแล้วสิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจนได้....เมื่อเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ วันแรกของการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดย วัดและชุมชนมอญบ้านไร่เจริญผล ร่วมกับชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าตื่นขึ้นพร้อมกับเสียงตระหนกของเพื่อนคนหนึ่งที่วิ่งกระหืดกระหอบนำข่าวของเช้านี้มาบอก “....เร็วๆมาดู อะไรนี่ ...ยกโขยง มากันเป็นร้อยเลยว่ะ...เต็มวัดไปหมด .....”  ในทันทีนั้นข้าพเจ้าจึงชะโงกหน้ามองจากหน้าต่างชั้นบนของศาลาการเปรียญที่พวกเราอาศัยซุกหัวนอนกันตั้งแต่เมื่อคืนเพื่อมาเตรียมจัดงาน…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน“ทะแยมอญ” เป็นการละเล่นพื้นบ้านของมอญอย่างหนึ่ง สำหรับท่านที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน คงหลับตานึกภาพไม่ออก แต่อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า เป็นการแสดงที่ให้อารมณ์คล้ายๆ การแสดงลำตัดของไทย เป็นการร้องโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวี มีทั้งเรื่องธรรมและเกี้ยวพาราสีของนักแสดงชายหญิงประกอบวงมโหรีมอญ คนที่ฟังไม่ออกก็อาจเฉยๆ แต่หากเป็นคนมอญรุ่นที่หิ้วเชี่ยนหมากมานั่งฟังด้วยแล้วละก็ เป็นได้เข้าถึงอารมณ์เพลง ต้องลุกขึ้นร่ายรำตามลีลาของมโหรี หรือบางช่วงอาจเพลินคารมพ่อเพลงแม่เพลงที่โต้กลอนกันถึงพริกถึงขิง อาจต้องหัวเราะน้ำหมากกระเด็นไปหลายวาทีเดียวทะแยมอญบ้านเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ถ่ายเมื่อราวปี…