Skip to main content

รุ่งเช้าตื่นมา อากาศเย็นค่อนไปถึงหนาว ในขณะที่คณะที่มาด้วยกันยังนอนหลบกันอย่างเมามันจากอาการเพลียเพราะการเดินทาง ผมเดินลงไปในห้องครัวเผื่อเจออะไรที่ทานได้บ้าง หน้าห้องครัวเจ้าของบ้านได้ติดรูปคนในครอบครัว รูปลูกชายสองคน ที่ผมแปลกใจคือมีรูปหนึ่งที่ไม่ใช่รูปของผู้ชาย เป็นรูปคล้ายนางฟ้ามีข้อความเขียนว่า Bless this home”  ทำให้นึกถึงบ้านคนไทยที่มีการเขียนหน้าบ้านต่างๆหลายอย่างเช่น “มั่งมีศรีสุข” บ้าง “บ้านนี้อยู่แล้วรวย” บ้าง

 


นางฟ้าและข้อความในบ้าน

 

สักพักทีมงานฝ่ายสวัสดิการตื่นและลงมาทำอาหารในห้องครัว เมื่อมีการสำรวจเครื่องใช้เครื่องครัวแล้วปรากฏว่า หม้อหุงข้าวมีขนาดเล็กเกินกว่าคณะของเราจะกินอิ่ม จึงต้องมีการหาหนทางที่จะหาภาชนะที่จะหุงข้าวซึ่งมีเพียงหม้อที่ไม่ใช่หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ซึ่งไม่มีใครหุงด้วยแก๊สเป็น ผมจึงอาสาเป็นคนหุงข้าวเนื่องจากมีประสบการณ์ในการหุงข้าวด้วยฟืนมา ผมจึงมีตำแหน่งเป็นคนหุงข้าวประจำของคณะโดยอัตโนมัติ

 

พี่ทอด์ด ทองดี ได้บรรยายให้ฟังเพิ่มเกี่ยวกับเมืองสแครนตัน ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับเรื่องของถ่านหิน ถ่านหินสามารถแยกชนิดใหญ่ ๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ แบบนิ่ม Bituminous Coal จะเป็นสีออกเทาๆ ซึ่งพบได้หลาย ๆ ที่มากในโลกนี้ แบบที่สอง เป็นแบบแข็ง Anthracite Coal สีดำเข้ม ซึ่งพบได้มากในสองแห่งคือที่เมืองสแครนตัน กับตอนใต้ของประเทศจีน

 

ทำให้ในอดีต สแครนตันเป็นเมืองมีความสำคัญในการเดินรถไฟของอเมริกา นอกจากเป็นชุมทางแล้วถ่านหินจากเมืองนี้เป็นพลังงานให้แก่รถไฟได้เดิน ปี 1959 หรือ 50 ปีก่อนมีพ่อค้าเหมืองที่สัมปทานได้จากรัฐมาอยู่กันมากกลายเป็นย่านคนรวยของเมือง ทำให้สแครนตันช่วงนั้นมีคนเข้ามารับจ้างเป็นคนงานในเหมืองถ่านหินมาก แต่หลังจากที่บ่อเหมืองถ่านหินเริ่มหมดไป สแครนตันก็กลับมาเงียบสงบอีกครั้ง

 

เหมืองถ่านหินได้ก่อเกิดอาชีพหนึ่งในเมืองเหมืองคือ Bracker boys เป็นเด็กรับจ้างที่ต้องคอยคัดแยกขนาดของหิน รวมถึงคุณภาพของถ่านหิน หลังจากนั้นไม่นาน Bracker boys ทุกคนป่วยเป็นโรคปอดดำและเสียชีวิตสองในสามคน จึงทำให้เกิดกฎหมายแรงงานเด็กเกิดขึ้นทั่วโลกจากเหตุการณ์นี้

 

ลอร์รี่ ซึ่งเป็นพี่สาวของพี่ทอด์ดและทำงานในสถานที่ดูแลคนชรา  ทำกิจกรรมนันทนาการร่วมกับคนชราเพื่อไม่ให้เป็นโรคเหงาซึม เนื่องจากที่อเมริกาคนชราจะเป็นโรคซึมเศร้ากันมากอันเกิดมาจากการที่บางคนอยากทำงานอยู่ แต่อายุงานต้องเกษียณแล้ว บางคนลูกหลานไม่สามารถมาดูแลอยู่ใกล้ชิดได้ ทำให้เกิดความเครียดนำไปสู่โรคซึมเศร้า บางคนกินไม่ได้นอนไม่หลับ บางคนถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตายก็มี

 

ลองนึกถึงที่ดีใจที่สุดในชีวิตคืออะไร” ลอร์รี่ถามสมาชิกคนชรา

ตอนที่ลูกเรียนจบมหาวิทยาลัย” คนหนึ่งตอบ

ตอนที่แฟนมาขอแต่งงาน” อีกท่านหนึ่งตอบ

...................ฯลฯ” ต่างคนต่างตอบนานา ลอร์รี่ได้เห็นชายคนหนึ่งยกมือขึ้น แล้วนิ้วที่มีอยู่ทุกนิ้วงอหมด

ผมดีใจที่สุดในชีวิตคือตอนที่มีการปิดเหมืองครับ”  อดีต Bracker boys ตอบ

ลอร์รี่นำกิจกรรมนันทนาการ มีบทเพลงที่ได้เล่าเรื่องชีวิตของคนงานเหมืองล่องลอยผ่านหุบหิน

 

แบกน้ำหนักวันละ 16 ตัน

ทุกวันผ่านไปสิ่งที่ได้คือแก่ลงอีกวัน

ติดหนี้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกนิด

นักบุญปีเตอร์ ท่านอย่าเพิ่งเรียกตัวกลับสวรรค์เลย

ฉันยังติดหนี้ในร้านค้าเจ้าของเหมืองอยู่.....” (บทเพลงชีวิตคนเหมือง จากคำบอกเล่าของ ทอด์ด ทองดี)

 

หลังจากปิดเหมือง บริษัทและพ่อค้าเหมืองทยอยออกจากเมือง คนสแครนตันเริ่มมีความหวังว่าบ้านเมืองของพวกเขาจะกลับมาสงบอีกครั้ง

 

แต่ในระยะเวลาสิบห้าปีที่ผ่านมา คนจากภายนอกที่เบื่อกับความวุ่นวายของเมืองใหญ่ ๆ และมองหาเมืองเล็ก ๆ ที่สงบ เริ่มทยอยกลับมาหาเมืองสแครนตัน อีกครั้งหนึ่ง มีแก๊งต่าง ๆ เริ่มเข้ามา มีทั้งแก๊งค้ายา ที่น่ากลัวมาก มีแก๊งขับมอเตอร์ไซด์ Big bike คันใหญ่ ๆ เสียงดังรอบกรุง

 

ปัญหานี้มันเหมือนกำลังจะเกิดขึ้นที่ชุมชนปกาเกอะญอแห่งป่าสนมูเจะคี บ้านเกิดของผม เพียงพื้นที่จะยกระดับเป็นอำเภอ ความวุ่นวายที่ไม่คาดคิดก็ค่อยมาเยือนทีละอย่าง คนแปลกหน้าเข้ามามากขึ้นๆ คนที่คุ้นเคยเริ่มทำตัวแปลกขึ้น

 

เมื่อฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนดั้งเดิมในสแครนตัน ผมเองไม่มีอะไรอะไรจะเสนอ เพราะรู้สึกว่าต้องกลับไปฟัดกับสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน แต่กับสแครนตันผมมีแต่คำว่า “Bless this home

 



เกาะรั้วสนามดูเด็กแข่งเบสบอล



เด็กเอาจริงเอาจังกับการแข่งขัน



โลโก้ป้ายของผู้สนับสนุน

 

 

บล็อกของ ชิ สุวิชาน

ชิ สุวิชาน
รุ่งเช้าวันที่ 10 กันยาฯ ทีมทั้งหมดเริ่มซ้อมเพื่อทบทวนกระบวนท่าฟ้อน ท่ารำ ท่วงท่าทำนอง จังหวะจะโคน ก่อนตระเวนออกศึก การซ้อมเริ่มต้นด้วยเพลงในอัลบั้มหิมพานต์ 2nd World ของพี่ทอด์ด ทองดี ต่อด้วยเพลงของ ซอ สมาชิกวง the sis ตามด้วยเพลงของลานนา คัมมินส์ รวมทั้งเพลงของมือระนาดและมือโปงลาง หมอแคน จนมาปิดท้ายที่เพลงของผม
ชิ สุวิชาน
บรรยากาศจากเทือกเขาสแครนตัน   หลังจากที่นักดนตรี นักร้อง นักรำมาถึงกันครบองค์ทั้งหมดแล้ว จึงเริ่มมีการแกะกล่องสัมภาระที่ขนเครื่องดนตรีและเครื่องไม้เครื่องมือประกอบการแสดงที่มาจากเมืองไทย ผมเริ่มแกะพลาสติกกันกระแทกที่ห่อเตหน่ากูไว้ เตหน่ากูได้โผล่ออกมารับแสงรับลมอีกครั้ง
ชิ สุวิชาน
รุ่งเช้าตื่นมา อากาศเย็นค่อนไปถึงหนาว ในขณะที่คณะที่มาด้วยกันยังนอนหลบกันอย่างเมามันจากอาการเพลียเพราะการเดินทาง ผมเดินลงไปในห้องครัวเผื่อเจออะไรที่ทานได้บ้าง หน้าห้องครัวเจ้าของบ้านได้ติดรูปคนในครอบครัว รูปลูกชายสองคน ที่ผมแปลกใจคือมีรูปหนึ่งที่ไม่ใช่รูปของผู้ชาย เป็นรูปคล้ายนางฟ้ามีข้อความเขียนว่า “Bless this home”  ทำให้นึกถึงบ้านคนไทยที่มีการเขียนหน้าบ้านต่างๆหลายอย่างเช่น “มั่งมีศรีสุข” บ้าง “บ้านนี้อยู่แล้วรวย” บ้าง
ชิ สุวิชาน
การรอคอยที่ไทเปสิ้นสุดลง เมื่อประตูสู่นิวยอร์กได้เปิดออกให้ผู้โดยสารเดินเข้าไปในเครื่องบิน ระยะทางกว่าสิบสี่ชั่วโมง ผมอยู่กับเพลง World Music ซึ่งเป็นเมนูที่มีให้เลือกจากสายการบิน บางเพลงมีเสียงระนาด ขลุ่ย และมีจังหวะหมอลำปะปนด้วยได้กลิ่นไอดนตรีไทยเป็นอย่างสูง ผมจึงยกหูฟังให้พี่สานุ นักดนตรีและโปรดิวเซอร์จากกรุงเทพฟัง เขาฟันธงเลยว่าเสียงทั้งหมดเป็นการ Samp มาทั้งนั้น ไม่ใช่เสียงจริงดั้งเดิมที่คนเล่นมา แต่ถึงอย่างไรก็เป็นการฆ่าความน่าเบื่อของการอยู่บนเครื่องเป็นเวลานานได้เป็นอย่างดี  
ชิ สุวิชาน
ก่อนเดินทางมีการแถลงข่าวที่กรุงเทพ มีผู้สนับสนุนทั้งกระทรวงการต่างประเทศและบริษัทบุญรอดฯมาร่วม หลังงานแถลงข่าวมีการสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนที่มาในงาน
ชิ สุวิชาน
ความจริงแล้วผมมีกำหนดการนัดสัมภาษณ์ขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปประเทศอเมริกาในวันที่ 2 กันยายน 2552 ขณะที่กำหนดการในการเดินทางไปประเทศดังกล่าวคือเช้าวันที่ 3 กันยายน 2552 หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ แผนกำหนดการเดินทางอาจมีปัญหาได้ ฉะนั้นทางบริษัท ลาเวลล์ เอนเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งเป็นผู้ประสานและเป็นผู้อำนวยการการเดินทางในครั้งนี้ ได้ขอทำเรื่องเร่งรัดการสัมภาษณ์ให้เกิดขึ้นก่อนการสัมภาษณ์เดิม
ชิ สุวิชาน
  บรรยากาศงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คำรบที่สาม เป็นไปอย่างเรียบง่ายเล็กๆ กะทัดรัด ตามประเด็นหัวข้อที่นำเอาเรื่องของ "การจัดการทรัพยากรบนพื้นที่สูงในรูปแบบโฉนดชุมชน" ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้อาวุโสชนเผ่าทางภาคเหนือต่างมากันอย่างครบครันเช่นเดิม
ชิ สุวิชาน
เขาเดินลงไปท้ายหมู่บ้าน พร้อมกับบทเพลง" อย่าให้น้ำตาไหลริน"ของ ฉ่า เก โดะ ที  แม่จ๋า อย่าปล่อยให้น้ำตาได้มีโอกาสไหล            บัดนี้อายุลูกครบ สิบหกบริบูรณ์แล้วดั่งกฎของชายชาติทหารทุกประทศมี                  ลูกต้องทำหน้าที่เพื่อการปฏิวัติพ่อได้สละชีพจนแม่เลี้ยงลูกอย่างกำพร้า             อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่ลำเค็ญ แม่ทนถึงคราวลูกชายคนโตต้องไปทำหน้าที่ต่อ     …
ชิ สุวิชาน
สงครามตามชายแดนไทย-พม่าริมแม่น้ำเมยได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง ทางการพม่าออกมาปฏิเสธไม่มีส่วนกับสงครามที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยบอกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชนเผ่ากะเหรี่ยงด้วยกันเอง คือระหว่างกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) ผลของการสู้รบทำให้ประชาชนชาวกะเหรี่ยงด้วยกันเองที่อยู่ในพื้นที่การสู้รบ ต้องหนีภัยจากการสู้รบ หลายชุมชนต้องฝ่าเสียงกระสุนปืน หลายชุมชนต้องฝ่าดงและเสียงระเบิด ในขณะที่เดินฝ่าความตายเพื่อหนีตายนั้น ต้องทำด้วยความเงียบ ความรวดเร็ว ต้องเก็บแม้กระทั่งเสียงร้องไห้
ชิ สุวิชาน
เพลงต่อเพลง ถูกเล่น ถูกร้อง ถูกเล่า ถูกถ่ายทอดออกมาล้วนมีที่มาที่ไปไม่แตกต่างจากเจตนารมณ์ของพ้อเหล่ป่าที่ทำตอนที่ยังชีวิตอยู่ เวลาผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง อาจารย์ลีซะกับพี่นนท์ก็โยนเวทีมาให้ผม ขณะที่ผมกำลังอยู่ในอาการสับสนเพราะไม่รู้จะเล่นเพลงอะไรดี สิ่งที่เตรียมเล่นเตรียมพูดในขณะที่เดินทาง เล่นไม่ได้พูดไม่ได้ มันเป็นประเด็นเปราะบางสำหรับพื้นที่นี้ งานนี้อีกครั้งหนึ่ง!
ชิ สุวิชาน
จังหวะที่ผมลุกขึ้นและตามเจ้าของบ้านเพื่อไปกินข้าว สายตาผมแวบไปมองเห็นผู้เฒ่าคนหนึ่งเหมือนคุ้นเคยกันมานาน ทั้งที่ผมไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน เขาก็จ้องหน้าผมเหมือนรู้จักมักคุ้นกับผมเป็นอย่างดี  "โพโดะ (หลาน) คืนนี้มีการขับธาไหม?" เขาถามผมเหมือนรู้ว่าใจผมต้องการอะไร แต่สีหน้าเขาเหมือนแสดงอาการไม่มั่นใจในบางอย่างออกมา"โอ้โห ต้องมีซิ" ผมตอบโดยไม่ต้องเดาว่าเขาคือโมะโชะคนหนึ่งแน่นอน
ชิ สุวิชาน
ทุกครั้งที่เดินทางผ่านหมู่บ้านแม่แฮใต้ ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม ไม่มีครั้งไหนที่เลยผ่านร้านขายของชำเล็กๆริมทาง ที่มีผู้เฒ่าปากแดงด้วยน้ำหมากนั่งเฝ้าอยู่ มีของที่จำเป็นพื้นฐานสำหรับชีวิตคนภูขายซึ่งมักเป็นอาหารแห้ง ขนมขบเคี้ยวและยารักษาโรคเบื้องต้น  แต่ร้านขายของชำเล็กๆ ถึงเล็กมากแห่งนี้มีมากกว่านั้น มีเรื่องเล่าให้หัวเราะ ให้อมยิ้ม ให้ขบคิด และมีบทธาให้เก็บเกี่ยวมากมาย