Skip to main content

 

อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน

 

สิ่งที่ลูกเป็น สิ่งที่ลูกทำ อาจไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเราต่างก็รู้ว่าลูกพยายามสงบนิ่งอยู่กับการทำสมาธิตามคำสอนของหลวงพ่อ แต่มีบางอย่างที่แม่อ่านพบในบันทึก และคิดว่าลูกเองก็คงประหลาดใจเช่นกัน ว่าสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และในเวลาต่อมา ลูกสามารถใช้จิตดวงนั้นให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการเยียวยาตนเองตามที่หลวงพ่อสอนไว้

 

การเฝ้าดูจิต จนกระทั่งจิตเฝ้าดูกายทำงานอย่างต่อเนื่องตามธรรมชาติของมัน น่าจะเป็นอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ลูกทิ้งไว้ให้เรารู้คือ การบันทึกในรายละเอียดการพิจารณากายแต่ละขณะ หลังจากที่มีการพอกยาไปแล้ว

 

วันที่ 4 สิงหาคม

บันทึกเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ มีเรื่องราวซ้ำเดิม คือ อาหารการกิน กินยา และอาบน้ำสมุนไพร มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นคือ ทำยาพอก สูตรของแม่ชีถนอมศรี


 

10.45 . บูชาพระรัตนตรัย ก่อนจะเริ่มทำยา (ยาพอก) แม่ชีถนอมศรี บอกว่าสรรพคุณยาทำให้เจ้ากรรมนายเวรกลัว แล้วออกไป (สรรพคุณนี้เป็นความลับระหว่างลูกกับแม่ชี)

11.56 . พอกท้อง พอกหัว

12.30 . พอกท้อง พอกหัวเสร็จ

เย็นทั่วท้องและหัว

หายใจสบายขึ้น

เย็นไปถึงตับ

เย็นไปถึงสมอง

รู้สึกเหมือนมีอะไรมาดูดที่ตับ

โล่ง เบาสบาย

12.41 . กินน้ำต้มสมุนไพร หญ้าคมปาว

ตอนพอกยา ตั้งจิตอธิษฐานเปิดร่างกาย อุทิศบุญ และอโหสิกรรมให้เจ้ากรรมนายเวร

กำหนดลมหายใจเข้าออก ท่อง พุท-โธ

 

ในบันทึกของวันนี้ นอกเหนือจากกินอาหาร กินยา นวด อาบแดด ยังมีการบันทึกว่า เปิดร่างกายให้หมอเทวดามารักษา อุทิศบุญ และภาวนาพุท-โธ ซึ่งกลายเป็นกิจกรรมหลัก ที่ลูกทำอยู่ตลอดเวลา

 

16.24 . พอกท้อง และหัว ด้วยรากพรหมราชา

แผ่เมตตาจิต

กำหนดลมหายใจเข้า-ออก

ท่อง พุท-โธ

16.53 . พอกท้องและหัวเสร็จ

หายใจโล่ง สบาย

เย็นหัวและท้อง

ขาสั่น

รู้สึกมีอะไรมาดูดที่ท้อง

สมองปลอดโปร่ง

 

จากนั้นเป็นบันทึกถึงกิจกรรมเดิมๆ รวมทั้งสวดมนต์ทำวัตรเย็น และเปิดร่างกาย ภาวนาพุท-โธ

 

วันที่ 5 สิงหาคม

ลูกตื่นมาทำวัตรเช้า ตั้งแต่ 05.40 . และพอกท้องพอกหัว เวลา 06.33 . เสร็จในเวลา 06.51 .

ในบันทึกเริ่มมีความละเอียดของอาการทางกาย ที่เกิดจากการพอกยามากขึ้น

 

06.51 . พอกท้องและหัวเสร็จ

เย็นท้อง และหัว

เย็นไปถึงกระดูก

รู้สึกมีอะไรมาดูดที่ท้อง

หายใจโล่งสบายท้อง

เย็นทั่วหัว

เย็นไปถึงหน้าผาก

โล่ง เบาสมอง

 

ช่วงเที่ยง มีการพอกยาที่ท้องและหัวเหมือนเดิม ในบันทึก มีรายละเอียดของอาการทางกายเพิ่มมากขึ้น

 

12.50 . พอกหัวและท้องเสร็จ

เย็นทั่วหัวและท้อง

เย็นถึงสะดือ

เย็นถึงกระดูกซี่โครง

เบาท้อง รู้สึกโล่ง

หายใจสะดวกขึ้น

รู้สึกมีอะไรมาดูดที่ท้อง

เบาหัว โล่งสมอง

เย็นถึงหน้าผาก

เย็นถึงตา

เบา สบายทั้งตัว

 

อีกทั้งอาการของร่างกายภายนอก ลูกยังเขียนว่า มือทั้งสองข้าง สีแดงลดลง เป็นสีปกติมากขึ้น

บันทึกในวันต่อๆมา แสดงให้เห็นถึงการทำงานของจิตที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ แม่ดูจากบันทึกที่ว่าอวัยวะต่างๆตอบสนองการพอกยาอย่างไรบ้าง น่าจะหมายถึงว่า ในทุกขณะจิต ลูกได้เฝ้าดูการทำงานของมันตลอดเวลา

 

วันที่ 6 สิงหาคม

17.10 . พอกท้องและหัวเสร็จ

เย็นทั่วท้องและหัว

หายใจสะดวกมากขึ้น

โล่ง เบาท้อง

เย็นที่ตับมากขึ้น

ดูดทั่วท้อง

ดูดถึงปอด

ดูดถึงคอ

เย็นถึงต้นขา

เย็นถึงกระดูกสันหลัง

เย็นถึงกระดูกซี่โครง

โล่งเบาหัวสมอง

เย็นถึงหน้าผาก

เย็นถึงตา

เย็นถึงจมูก

เบา สบายกายขึ้นมามาก

รู้สึกว่าก้อนจะอ่อน

 

เป็นไปไม่ได้เลย ที่แม่จะมองข้ามการทำงานของจิตลูกในแต่ละวัน นั่นเป็นเพราะว่า บันทึกในแต่ละวันต่อจากนี้ คือความละเอียดอ่อน และวันเวลาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการเป็นนักบวชของลูก กับการเยียวยาความป่วยไข้ของตนเอง

 

วันที่ 7 สิงหาคม

07.00. พอกท้องและหัวเสร็จ

เย็นทั่วท้อง

เบา โล่งท้อง

หายใจสะดวก โล่ง

เปล่งเสียงได้ดีขึ้น

เย็นถึงกระดูกสันหลัง

เย็นถึงกระดูกซี่โครง

เย็นถึงต้นขา

เย็นถึงต้นแขน เล็กน้อย

เย็นถึงตับ มากขึ้น

ดูดถึงปอด

ดูดถึงคอแรงขึ้น

ดูดถึงตับแรงขึ้น

รู้สึกว่าท้องอ่อนมากขึ้น

เบา โล่งหัวสมอง

เย็นถึงหน้าผาก

เย็นถึงตา

เย็นถึงหู

เย็นถึงริมฝีปาก

เย็นที่กลางกระหม่อมมากขึ้น

โล่ง เบาสบายตัว

 

ลูกแม่ บันทึกแต่ละวัน แม่เห็นถึงการดูกายที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ หลังการพอกยา ด้านภายนอกร่างกาย ลูกบอกว่าสีแดงที่ฝ่ามือลดลง เสียงที่พูดมีพลังมากขึ้น และการหายใจก็ช้าลง

 

วันที่ 8 สิงหาคม

13.28 . พอกท้องและหัวเสร็จ

เย็นทั่วหัวและท้องมากขึ้น

เย็นลึกลงไปทั่วหัว และท้องมากขึ้น

เบา โล่งท้องมากขึ้น

เย็นทั่วท้องมากขึ้น

เย็นถึงตับมากขึ้น

เย็นถึงปอดมากขึ้น

เย็นถึงคอมากขึ้น

เย็นถึงต้นขามากขึ้น

เย็นถึงต้นแขนมากขึ้น

เย็นถึงลำคอมากขึ้น

เย็นถึงต้นคอมากขึ้น

ตับทำงานดีขึ้น

ปอดทำงานดีขึ้น

ปอดขยายใหญ่ขึ้น

หายใจสะดวกขึ้น

เริ่มหายใจปกติ ไม่หายใจเร็ว

ดูดถึงตับมากขึ้น

ดูดถึงท้องแรงขึ้น

ดูดถึงปอดแรงขึ้น

ดูดถึงคอแรงขึ้น

โล่ง เบาสมองมากขึ้น

เย็นทั่วหัวสมองมากขึ้น

เย็นถึงตามากขึ้น

เย็นถึงหน้าผากมากขึ้น

เย็นถึงจมูกมากขึ้น

เย็นถึงริมฝีปากมากขึ้น

เย็นถึงปากมากขึ้น

เย็นลึกไปถึงรูหูมากขึ้น

เย็นถึงหูมากขึ้น

เย็นถึงแก้มมากขึ้น

ดูดที่หัวแรงขึ้น

เย็นถึงกลางกระหม่อมมากขึ้น

ดูดถึงตา

เบา สบายกายมากขึ้น

มีกำลังมากขึ้น

มีพลังแขนมากขึ้น

มีพลังขามากขึ้น

มีจุดแดงที่มือลดลง

ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น

ทุกระบบเริ่มทำงานได้ดี

 

ทุกๆวันมีการพอกยา 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งมีพัฒนาการของร่างกายที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากการเฝ้าสังเกตโดยใช้สมาธิจิต ในบันทึกมีเรื่องราวเดิมๆ และชื่อคนที่มาเยี่ยมทุกคน

 

วันที่ 9 สิงหาคม

ลูกพอกยา 3 ครั้ง เช้าตรู่ เที่ยง และเย็น วันนี้ลูกได้ไปสวดมนต์ นั่งสมาธิที่ถ้ำด้วย

18.47 . พี่เลย์อุ้มไปที่ถ้ำ

18.56 . เริ่มสวดมนต์ ทำวัตรเย็น ออกเสียงได้ดี นั่งสวดมนต์

19.10 . นั่งสมาธิ ตั้งจิตอธิษฐาน อุทิศบุญ อโหสิกรรมให้เจ้ากรรมนายเวร แผ่เมตตา กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ท่อง พุท-โธ

19.48 . นั่งสมาธิเสร็จ (ใช้เวลา 38 นาที)

20.01 . พี่เลย์อุ้มกลับมากุฎิ

20.18 . พ่อกลับมา ได้ของมาเยอะ พ่อบอกว่า ยอดรัก สลักใจ เสียแล้ว เสียอย่างสงบ

 

บันทึกวันต่อๆมา บอกถึงอาการของร่างกายที่ปรับสภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่จิตเฝ้าสังเกตอาการได้ลึก กระทั่งเห็นก้อนในตับอ่อนที่นิ่มมากขึ้นและเลื่อนต่ำลงเรื่อยๆ ในทุกวัน

 

เย็นถึง ตับ ปอด คอ ก้อน(เนื้อ)

เย็นถึง ต้นคอ ลำคอ สะบัก

เย็นถึง แขน ต้นแขน ศอก

เย็นถึง มือ ฝ่ามือ นิ้วมือ

เย็นถึง ขา ต้นขา เท้า

เย็นถึง ฝ่าเท้า นิ้วเท้า ก้น

เย็นถึง ก้นกบ กระดูกสันหลัง

เย็นถึง หลัง ซี่โครง ไหล่

เย็นถึง กระดูกแขน

เย็นมากขึ้น เย็นลึกขึ้น

ดูดถึง ตับ ปอด คอ ก้อน(เนื้อ)

ดูดถึง ต้นคอ ลำคอ สะบัก

ดูดถึง แขน ต้นแขน ศอก

ดูดถึง มือ ฝ่ามือ นิ้วมือ

ดูดถึง ขา ต้นขา เท้า

ดูดถึง ฝ่าเท้า นิ้วเท้า ก้นกบ

ดูดถึง ก้น กระดูกซี่โครง

ดูดถึง หลัง สันหลัง ไหล่

ดูดถึง กระดูกแขน

ดูดแรงขึ้น ดูดลึกขึ้น

ตับทำงานดีขึ้น

ปอดทำงานดีขึ้น

ปอดขยายใหญ่ขึ้น

หายใจสะดวกขึ้น

หายใจเป็นจังหวะ

หายใจลึกขึ้น

เปล่งเสียงได้ชัด

ตับ ก้อน ก้อนนิ่มขึ้น

ก้อนเลื่อนลงต่ำ

โล่ง เบาสมอง

 

เย็นถึง กระหม่อม หน้าผาก ตา

เย็นถึง จมูก รูจมูก ปาก ริมฝีปาก

เย็นถึง แก้ม คาง ท้ายทอย

เย็นถึง หู รูหู กระโหลก หลอดลม

เย็นมากขึ้น เย็นลึกขึ้น

 

ดูดถึง กระหม่อม หน้าผาก ตา

ดูดถึง จมูก รูจมูก ปาก ริมฝีปาก

ดูดถึง แก้ม คาง ท้ายทอย

ดูดถึง หู รูหู กระโหลก หลอดลม

ดูดมากขึ้น ดูดลึกขึ้น

 

โล่ง เบาสบาย

ทุกระบบเริ่มทำงานดีขึ้น

ผายลมบ่อยขึ้น

ฉี่ ถ่ายปกติ

ถ่ายง่าย เป็นก้อน

อาหารถูกดูด นำไปใช้มากขึ้น

 

มือ เท้า ศอก เข่า อุ่นขึ้น

มือมีจุดแดงลดลง

มีกล้ามเนื้อ

มีเนื้อ มีหนัง

มีกำลังมากขึ้น

มีกำลังแขน กำลังขามากขึ้น

อารมณ์ดี กินได้

ไม่เหนื่อย โล่ง เบาสบาย มีกำลัง

 

วันที่ 16 สิงหาคม

พ่ออุ้มลูกไปที่ถ้ำ ระหว่างที่รอหลวงพ่อและคนอื่นๆ ลูกยังต้องนอนรอ และลุกนั่งเมื่อการสวดมนต์เริ่มขึ้น และลูกยังนั่งสมาธิ ใช้เวลานาน 30 นาที

ลูกจบบันทึกของคืนนั้นว่า

พระจันทร์เต็มดวง สวยมาก

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล