Skip to main content
เมื่อต้นเดือนเมษายน 2551 หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงข่าวว่า "พลังงานเผยไทยผลิตน้ำมันดิบสูงกว่าบรูไน คุยทดแทนนำเข้าปีนี้มหาศาล" (ไทยรัฐ 2 เมษายน 2551)   


สาเหตุที่ผู้ให้ข่าวซึ่งก็คือข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานได้นำประเทศไทยไปเทียบกับประเทศบรูไน ก็น่าจะเป็นเพราะว่าคนไทยเราทราบกันดีว่าประเทศบรูไนเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายหนึ่งของภูมิภาคนี้ ดังนั้นเมื่อประเทศไทยเราผลิตน้ำมันดิบได้มากกว่าก็น่าจะทำให้คนไทยเราหลงดีใจได้บ้าง  นาน ๆ คนไทยเราจะได้มีข่าวที่ทำให้ดีใจสักครั้ง  

หลังจากอ่านข่าวนี้แล้ว ผมก็ได้ค้นหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตก็พบว่า ตัวเลขผลผลิตของไทยสูงกว่าของบรูไนเพียงเล็กน้อย คือยอดผลิตของทั้งสองประเทศประมาณกว่าสองแสนบาร์เรลต่อวันเพียงเล็กน้อย  แต่จำนวนประชากรของบรูไนมีไม่ถึง 4 แสนคน ในขณะที่จำนวนประชากรไทยเรามีถึง 64 ล้านคนหรือจำนวนประชากรของไทยมากกว่าเกิน 160 เท่าตัวของประเทศบรูไน

น้ำมันที่บรูไนผลิตได้ส่วนใหญ่ส่งไปขายต่างประเทศ นอกจากนี้บรูไนยังส่งก๊าซธรรมชาติเหลวได้มากเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วย รายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทำให้สวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพของชาวบรูไนดีที่สุดในเอเชีย

มีการคาดกันว่าแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองในบรูไนจะใช้(รวมทั้งขายด้วย)ได้นานถึง 25 และ 40 ปี ตามลำดับ

กลับมาที่การผลิตน้ำมันดิบในประเทศไทยตามข่าวดังกล่าวอีกครั้ง

หากพิจารณาตามตัวอักษรที่ปรากฏในข่าวก็พบว่า ข้อความในวรรคแรกคือ "ผลิตน้ำมันดิบได้สูงกว่าบรูไน" นั้นไม่มีอะไรผิดพลาด   แต่เจตนาที่อยู่เบื้องหลังของผู้ให้ข่าวนั้นน่าจะมีปัญหาดังที่กล่าวแล้ว คือทำให้คนรับข่าวเข้าใจผิดหรือเกิดความรู้สึกที่ดีเกินความจริงกับหน่วยงานของตน

ผมว่าการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเช่นนี้เป็นอันตรายอย่างหนึ่งที่สังคมไทยควรต้องระวังและรู้เท่าทัน

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาสำคัญของข่าวนี้ก็สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่าประเทศไทยเรามีแหล่งพลังงานปิโตรเลียมเป็นจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 100 ล้านล้านบาท  ถ้ารัฐบาลสามารถจัดการได้อย่างโปร่งใส ถูกต้องและเป็นธรรม ก็จะสามารถนำรายได้มาสร้างสวัสดิการด้านต่าง ๆ ให้กับคนไทยได้ดีเช่นเดียวกับประเทศบรูไนด้วย

ข่าวการผลิตน้ำมันดิบข้างต้น เป็นเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน  แต่อีกหกเดือนต่อมา (ปลายเดือนกันยายน)  ได้มีข่าวใหม่ขึ้นมาว่า  มีบริษัทน้ำมันรายหนึ่งกำลังจะขุดเจาะน้ำมันที่แหล่งใหม่ชายฝั่งจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นแหล่งใหม่ที่คนไทยเราส่วนมากไม่เคยทราบมาก่อน เป็นแหล่งที่ยังไม่เคยขุด เป็นแหล่งที่ไม่ได้นับรวมกับที่ทำให้ "ไทยผลิตได้มากกว่าบรูไน"

ชะลอยประเทศเราจะมั่งคั่งในเร็ววันเสียแล้วจริง ๆ   

ข่าวชิ้นหลังนี้ดังขึ้นมาให้คนไทยรับทราบได้กัน ก็เพราะว่าชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลารวม 4 อำเภอได้ประท้วงบริษัทที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะด้วยการปิดอ่าวและท่าเทียบเรือ  การปิดอ่าวเกิดขึ้นนานถึง 5-6 วัน สร้างผลกระทบทางการขนส่งสินค้าพอสมควร

ท่านผู้อ่านคงเริ่มตั้งคำถามแล้วซิว่า ทำไมชาวประมงพื้นบ้านจึงต้องประท้วงกับสิ่งที่เป็นข่าวดี ๆ เช่นนี้ด้วยเล่า?  เป็นพวกถ่วงความเจริญหรือเปล่า?

เราลองมาดูเหตุผลของทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายบริษัทที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะ กับฝ่ายชาวประมงพื้นบ้านที่ทำการประท้วง

ฝ่ายบริษัทที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะคือบริษัทนิวคอสตรอล ประเทศไทย จำกัด (Nucoastal-Thailand)  ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ บริษัทนี้เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2546 โดยมีบริษัทแม่ชื่อ Coastal Energy ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน  การสัมปทานได้รับการอนุมัติสมัยรัฐบาลทักษิณ

จากเอกสารประกอบการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น (ไม่ระบุวันที่) ของบริษัทได้บอกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้มี 4 ข้อ หนึ่งในนั้นก็คือ "เพื่อลดการนำเข้าพลังงาน ส่งผลให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศ" ซึ่งก็สอดคล้องกับวรรคสองข่าวข้างต้นคือ "คุยทดแทนนำเข้าปีนี้มหาศาล"  ทางบริษัทวางแผนจะขุดให้หมดภายในเวลา 16 ปี

ฝ่ายชาวประมงพื้นบ้านใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาได้ให้เหตุผลการประท้วงว่า พื้นที่ที่จะขุดเจาะน้ำมันนั้นอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเพียง 14-30 กิโลเมตรเท่านั้น พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งทำการประมงของพวกเขา (ดูแผนที่ประกอบ- แปลง G5/43) การขุดน้ำมันนอกจากจะก่อให้เกิดมลพิษที่สัตว์น้ำไม่สามารถอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้แล้ว พวกเขายังไม่สามารถแล่นเรือเข้าไปในบริเวณนั้นเป็นระยะทางรัศมี 1.6 กิโลเมตรจากแท่นเจาะอีกด้วย



พูดง่าย ๆ ก็คือ บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ชาวประมงทำมาหาเลี้ยงชีวิตมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด แต่อยู่ ๆ บริษัทต่างชาติที่ได้รับสัมปทานก็มาถือสิทธิไล่พวกเขาออกไป

เคยมีผู้รู้ได้โพสต์ลงเว็บไซต์ผู้จัดการว่า "ในสหรัฐอเมริกาเขาจะไม่ยอมให้มีการขุดน้ำมันในระยะที่ห่างจากชายฝั่งไม่เกิน
80 กิโลเมตร เพราะในทะเลมีผลกระทบมากกว่าบนบก"

ถ้าท่านผู้อ่านเป็นรัฐบาล ท่านจะจัดการกับความขัดแย้งนี้อย่างไรดีครับ 

สมมุติเหตุการณ์ให้แคบลงมากว่านั้นอีกนิด  ถ้าท่านมีลูกสองคนที่ขัดแย้งกันอย่างนี้ ท่านจะทำอย่างไร ลูกคนหนึ่งอ่อนแอ ไปหากินไกล ๆ ไม่ได้เพราะเรือเล็ก ลูกอีกคน(ความจริงไม่ใช่ลูกตนเอง) มีฐานะมั่นคง  ปีกกล้าขาแข็งไปหากินที่ไหนก็ได้

เอ๊ะ! หรือว่าผมเปรียบเทียบแบบลำเอียง ท่านอาจจะคิดว่า ผมมีคำตอบอยู่ก่อน แล้วสมมติเหตุการณ์ให้ได้คำตอบที่ตามผมต้องการ ถ้าท่านคิดอย่างนั้น "ก็แล้วแต้ว๊ะ!"

การจะตัดสินใจเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เราต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมที่ครบถ้วน อย่างน้อยเราต้องตั้งคำถามว่า ประโยชน์ที่อ้างว่า  "เพื่อลดการนำเข้าพลังงาน ส่งผลให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศ" นั้นเป็นไปได้จริง ๆ หรือ?

ข้อมูลสองชิ้นต่อไปนี้จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ครับว่า โครงการขุดเจาะน้ำมันที่สงขลานั้นเพื่ออะไรกันแน่  

ข้อมูลชิ้นแรกเป็นภาพรวมของการผลิต-การใช้น้ำมันในประเทศไทย  ส่วนข้อมูลชิ้นที่สองเป็นโครงการสร้างท่อน้ำมันจากตอนเหนือของประเทศมาเลเซียมายังจังหวัดสงขลา เพื่อมารับน้ำมันดิบจากสงขลาไปกลั่นที่มาเลเซีย แล้วส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปขายต่อให้กับประเทศญี่ปุ่นและจีน

เรามาว่ากันทีละชิ้นอย่าย่อ ๆ พอเข้าใจครับ

การผลิตและการใช้น้ำมันในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมาอย่างที่คนทั่วไปคิด คือผลิตได้เองในประเทศเท่าใดก็ใช้ภายในประเทศให้หมดถ้ายังไม่พอก็ให้นำเข้าจากต่างประเทศมาเพิ่มเติม

แต่ความจริงหาเป็นเช่นนี้ไม่

กล่าวเฉพาะ 3 เดือนแรกของปี 2551 ประมาณ 1 ใน 5 ของน้ำมันดิบที่เราผลิตได้เองถูกส่งไปต่างประเทศ  ครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ส่งออกไปประเทศเกาหลี  ร้อยละ 28 ไปสหรัฐอเมริกาไกลลิบโน่น  เหตุผลที่ทางราชการอ้าง (วารสารนโยบายพลังงานฉบับ ม.ค.-มี.ค.2551) ก็คือ "น้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศมีสารโลหะหนักปนอยู่มาก ซึ่งไม่ตรงกับคุณสมบัติที่โรงกลั่นภายในประเทศต้องการ"

น้ำมันดิบที่เรานำเข้า เราอาจคิดว่าก็สั่งเข้ามากลั่นในประเทศให้เพียงพอกับส่วนที่ยังขาดอยู่ จะได้ประหยัดค่าขนส่ง แต่ความจริงพบว่า เราสั่งมามากกว่าความต้องการที่ยังขาดอยู่  ร้อยละ 18 ของน้ำมันที่เรากลั่นได้ภายในประเทศนั้นถูกส่งออกไปขายต่างประเทศ

ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะความสามารถของโรงกลั่น (ที่มีอยู่ทั้งประเทศจำนวน 7 โรง) มีความสามารถในการกลั่นรวมกันประมาณ 1.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เราใช้ภายในประเทศเพียง 0.731 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ที่เหลือก็ต้องส่งออก

แผนผังและตัวเลขการเคลื่อนย้ายน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปข้างล่างนี้จะช่วยให้ท่านที่สนใจจริง ๆ สามารถเข้าใจได้มากขึ้น สำหรับท่านที่สนใจในระดับธรรมดา ๆ ก็โปรดมองผ่านไปเลยจะได้ไม่สับสนมาก



จากข้อมูลดังกล่าว ขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า ประมาณร้อยละ 20 ของน้ำมันดิบที่เราขุดได้ภายในประเทศนั้นเราส่งออกไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเพียงแค่นี้ ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า เราจะตัดสินความขัดแย้งระหว่าง "ลูกคนที่อ่อนแอ" กับบริษัทต่างชาติที่อ้างว่า  "นำพลังงานมาให้คนไทยใช้"  อย่างไร

ลองมาดูข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งครับ ข้อมูลนี้ผมเชื่อว่าคนไทยเรายังไม่ได้รับทราบกัน คือ ทางรัฐบาลมาเลเซีย (โดย ดาโต๊ะ ชรี โมฮัมหมัด นาจีบ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ได้ให้ทางบริษัทในมาเลเซียร่วมทุนกับบริษัท ปตท. จำกัด ทำโครงการท่อส่งน้ำมันจากสงขลาไปยังทางตอนเหนือของมาเลเซียในรัฐเคดะห์

เมื่อสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า ทางบริษัท SKS Refinery Pte   Ltd  กำลังก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาดกำลังผลิตกว่า  2.5 แสนบาร์เรลต่อวัน  คาดว่าโรงกลั่นนี้จะสร้างเสร็จในปี 2553 หรืออีกสองปีข้างหน้า โดยที่น้ำมันดิบส่วนใหญ่จะมาจากประเทศอิหร่าน และส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปประเทศญี่ปุ่น

ทาง ปตท.ได้ศึกษาความเป็นได้ของโครงการท่อส่งน้ำมันแล้วเห็นด้วยที่จะร่วมทุนในโครงการนี้เพื่อให้สงขลาเป็น "คลังส่งออก" (export terminal)

คำถามก็คือว่า เขาจะสร้างท่อส่งน้ำมันจากสงขลาไปรัฐเคดะห์ทำไม ถ้าไม่ใช่เพื่อเอาน้ำมันสงขลาไปกลั่นที่มาเลเซีย  

ครั้นจะเอาน้ำมันสำเร็จรูปมาขายเมืองไทยผ่านทางท่อนี้ ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะโรงกลั่นในประเทศไทยก็กลั่นได้มากกว่าปริมาณที่เราบริโภคตั้งเยอะ

ผมสอนนักศึกษาอยู่เสมอว่า นักสิ่งแวดล้อม นักเคลื่อนไหวสีเขียว ควรจะเลือกบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ เสื้อผ้าหรือขนมบ้านๆ ทั้งนี้นอกจากจะเพื่อสนับสนุนคนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการประหยัดพลังงานในการขนส่งอีกด้วย แต่มาเจอกับกิจการผลิตและใช้น้ำมันแล้ว ผมไม่ทราบว่าจะตอบนักศึกษาว่าอย่างไรดีครับนอกจากว่า

มันเป็นทุนนิยมสามานย์จริง ๆ ครับ สามานย์ตั้งแต่การโน้มนาวข่าวให้เกิดความเข้าใจผิดเลยทีเดียว

           

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
เคยมีคนไปถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ว่า “ท่านคิดว่าสิ่งประดิษฐ์ใดของมนุษย์ที่มีอำนาจในการทำลายล้างมากที่สุด” ผู้ถามคงจะคาดหวังว่าไอน์สไตน์น่าจะตอบว่า “ระเบิดนิวเคลียร์” เพราะเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการประดิษฐ์คิดค้นอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย แต่ไอน์สไตน์กลับตอบว่า “สูตรดอกเบี้ยทบต้น”
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2552 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในงานนี้ได้มีโอกาสฟังปาฐกถาจากประธานศูนย์ศึกษาประเทศภูฎาน คือท่าน Dasho Karma Ura
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ “รักเจ้าจึงปลูก” เป็นชื่อโครงการที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังครุ่นคิดเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ผมเองได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มา 2 ตอนแล้ว
ประสาท มีแต้ม
  1. คำนำ       ภาพที่เห็นคือบริเวณชายหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จังหวัดสงขลา (ถ่ายเมื่อพฤศจิกายน 2552) หาดนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากของชาวเมืองสงขลา อยู่ทางตอนใต้ของหาดสมิหลาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักดีประมาณหนึ่งกิโลเมตร สิ่งที่เห็นในภาพที่มีถุงทรายสีขาว ยางรถยนต์เก่ายึดด้วยไม้หลักปักทราย รวมทั้งรูปต้นสนล้ม คงสะท้อนทั้งความรุนแรงของปัญหาและความพยายามแก้ปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
ประสาท มีแต้ม
1. ความเดิม ในตอนที่ 1 ผมได้นำข้อมูลที่มาจากงานวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการที่พบว่า นักเรียนทุกระดับชั้นของประเทศไทย ทั้งระดับ ป.6 , ม.3 และมัธยมปลายมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งทุกวิชา โดยวิชาที่สอบได้คะแนนน้อยที่สุดคือวิชาคณิตศาสตร์ ได้เพียงร้อยละ 29.6 เท่านั้น ในตอนที่ 2 นี้ ผมจะกล่าวถึงปัญหาที่ได้ตั้งไว้ในชื่อบทความ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาเราตกต่ำ นอกจากนี้ ผมได้นำเสนอความคิดเห็นและความพยายามของผู้บริหารระดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยด้วย
ประสาท มีแต้ม
๑. คำนำ ผมขอเรียนกับท่านผู้อ่าน “ประชาไท” ตามตรงว่า ผมใช้เวลานานมากในการคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี เขียนทิ้งเขียนขว้างไปหลายชิ้น ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะว่าผมสับสนในตัวเอง ไม่ทราบว่าจะนำเสนออะไรดีให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง
ประสาท มีแต้ม
๑. ปัญหาในภาพเล็ก ที่ภาควิชาที่ผมทำงานอยู่คือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังคิดทำโครงการที่จะพัฒนานักศึกษานอกเหนือจากรายวิชาและกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ทำกันอยู่ตามปกติแล้ว โครงการยังไม่เป็นรูปเป็นร่างดีนัก แต่ชื่อโครงการก็ค่อนข้างจะเห็นตรงกันคือ “โครงการรักเจ้าจึงปลูก” ที่มาจากเนื้อเพลง “อิ่มอุ่น” ของ ศุ บุญเลี้ยง
ประสาท มีแต้ม
ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวิชาบังคับให้นักศึกษาต้องเรียนอยู่วิชาหนึ่งจำนวน 3 หน่วยกิต ชื่อว่า “วิชาวิทยาเขตสีเขียว (greening the campus)” วัตถุประสงค์หลักของวิชานี้ก็คือ ให้นักศึกษาลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาสาธารณะที่อยู่ในวิทยาเขตของตนเอง แต่โดยมากมักจะเน้นไปที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาขวดน้ำพลาสติกที่มีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ปัญหาการประหยัดพลังงาน และกระดาษ เป็นต้น
ประสาท มีแต้ม
ทั้ง ๆ ที่ประเทศเรากำลังประสบกับวิกฤติหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นต้น แต่สื่อกระแสหลักก็ให้ความสำคัญกับข่าวความขัดแย้งในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่มีอะไรใหม่สร้างสรรค์ให้กับสังคม
ประสาท มีแต้ม
ในขณะที่กระแสสังคมส่งสัญญาณไม่พอใจกับราคาน้ำมันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ลดการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนของ ดีเซล ลิตรละ 2 บาท
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำขณะนี้หลายท่านคงจะรู้สึกกังวลร่วมกันว่า ราคาน้ำมันกำลังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจถึงหรือสูงกว่าเมื่อกลางปี 2551 (ดูกราฟประกอบ-ต่ำสุดเดือนธันวาคม 2551 ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จนมาถึงเกือบ 80 ในเดือนสิงหาคมปีนี้)   ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่เรามากน้อยแค่ไหนก็คงพอจะนึกกันออก
ประสาท มีแต้ม
ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อ"ชี้แจงแสดงความคิดเห็น" เรื่อง ค่าการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อ 1 กรกฎาคม 52 คนนอกที่นอกจากผมแล้วก็มีอีก 6 -7 ท่าน ได้แก่ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนบริษัทบางจาก, บริษัท ปตท. นายกสมาคมผู้ค้าน้ำมันแห่งประเทศไทย, คุณรสนา โตสิตระกูล และนักวิชาการปิโตรเลียม เป็นต้น