Skip to main content

ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อ"ชี้แจงแสดงความคิดเห็น" เรื่อง ค่าการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อ 1 กรกฎาคม 52

คนนอกที่นอกจากผมแล้วก็มีอีก 6 -7 ท่าน ได้แก่ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนบริษัทบางจาก, บริษัท ปตท. นายกสมาคมผู้ค้าน้ำมันแห่งประเทศไทย, คุณรสนา โตสิตระกูล และนักวิชาการปิโตรเลียม เป็นต้น

ในเรื่องค่าการกลั่น ประธานในที่ประชุมได้เปิดประเด็นว่า อยากจะฟังความคิดเห็นของทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ประกอบการกลั่นน้ำมัน และฝ่ายที่บอกว่าค่าการกลั่นนั้นสูงเกินไป รวมทั้งฝ่ายข้าราชการประจำด้วย

ประเด็นเรื่องราคาน้ำมันในบ้านเรานั้นมีอะไรน่าสนใจหลายอย่าง แต่ที่ผมอยากจะกล่าวถึงในวันนี้คือ ระบบการค้าที่มีผลกระทบต่อสถานีจำหน่ายน้ำมันหรือที่เราเรียกกันว่าปั๊มน้ำมัน และกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคด้วย

ผมขอลำดับเรื่องราวเพื่อความเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

1. ประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันจำนวน 7 โรง มีกำลังการผลิตรวมกันวันละ 1.227 ล้านบาร์เรลต่อวัน (หรือ 195 ล้านลิตร ใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์) โดยที่ 85% ของกำลังการผลิตทั้งหมดเป็นของบริษัทที่มีบริษัท ปตท. จำกัด (ที่เคยเป็นของรัฐทั้งร้อยเปอร์เซนต์) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

2. การกำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น มีการอ้างว่า "เป็นไปตามกลไกการตลาดที่สิงคโปร์" แต่ผมได้นำเสนอข้อมูลที่ผมศึกษาเอง (แต่ใช้ข้อมูลของทางราชการ) พบว่า "ค่าการกลั่น" ในประเทศไทยสูงกว่าของประเทศสิงคโปร์และประเทศยุโรปเยอะเลย

3. ผู้แทนบริษัทบางจากและผู้แทนกระทรวงพลังงาน ได้แย้งผมว่า การคิดค่าการกลั่นจะนำข้อมูลเพียงวันเดียวมาใช้ไม่ได้ ต้องใช้ก็มูลทั้งปี ผมได้เรียนต่อที่ประชุมก่อนแล้วว่า "เดิมทีกระทรวงพลังงานนำเสนอข้อมูลค่าการกลั่นมาตลอด แต่หลังจากปลายปี 2551 เป็นต้นมา กระทรวงฯได้ตัดทิ้งไปเฉยๆ การนำเสนอข้อมูลก็ยากต่อการค้นหามาวิเคราะห์ ข้อมูลที่ผมนำมาเสนอจึงเป็นการสุ่มทั้งเดือน "

หลังจากเลิกประชุม ผมกลับมาสุ่มข้อมูลเพิ่มเติมทั้งปี จำนวน 105 วัน พบว่าในปี 2550 ค่าการกลั่นในประเทศไทยอยู่ที่ 9.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ประเทศยุโรปอยู่ที่ 5.3 เท่านั้น เมื่อแปลงเป็นหน่วยที่คนไทยคุ้นเคยแล้วพบว่า ค่าการกลั่นของไทยแพงกว่าลิตรละเกือบหนึ่งบาท

4. การกำหนดราคาน้ำมัน รัฐบาลไทยไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแต่ประการใด คงใช้คาถาเดิมว่า "เป็นตามกลไกการตลาด" แต่ความเป็นจริงแล้วกลับแพงกว่าตลาดของโลกเสียอีก

การที่รัฐบาลไทยปล่อยให้บริษัทที่มีกำลังการผลิตอยู่ในมือถึง 85% เป็นผู้กำหนดราคาเอง แล้วคาดหวังว่าจะให้เป็นตลาดเสรีนั้น เป็นไปได้หรือ

นี่คือ "ระบบทุนนิยมผูกขาด" ชัดเจนครับ

ทั้งผู้แทนบริษัทน้ำมันและผู้แทนกระทรวงพลังงานกล่าวตรงกันว่า การกำหนดราคาน้ำมันแบบ "บวกต้นทุน (cost plus)" นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะแต่ละโรงกลั่นซื้อน้ำมันมาจากหลายแหล่ง แต่ละแหล่งราคาไม่เท่ากัน และถ้ามีการกำหนดราคาขายต่ำกว่าในตลาดโลก ผู้ค้าก็จะส่งออกไปขายต่างประเทศ ทำให้คนไทยไม่มีน้ำมันใช้ได้

น่าสงสารจริง ๆ คนไทยเรา
ต่อไปเป็นปัญหาของปั๊มน้ำมันครับ

5. ผมได้เรียนต่อที่ประชุมเชิงตั้งคำถามว่า "ในบางเดือนค่าการตลาดอยู่ที่ 1.42 บาทต่อลิตร แต่บางเดือน (ขอย้ำว่าทั้งเดือนไม่ใช่บางวัน) ค่าการตลาดสูงถึง 3.10 บาท โดยไม่มีกลไกใดๆ มาควบคุมเช่นกัน ถ้า 1.42 บาทต่อลิตรมีกำไร แล้ว 3.10 บาทต่อลิตรจะเรียกว่าอะไร แต่ละเดือนมีการใช้น้ำมันเกือบ 100 ล้านลิตร คิดเป็นเงินเท่าไหร่"

ค่าการตลาด คือรายได้ของผู้ค้าน้ำมัน(ทั้งรายใหญ่ขายส่งและเจ้าของปั๊มรวมกัน) โดยไม่หักค่าใช้จ่ายด้านค่าแรง ค่าลงทุน เป็นต้น

6. ปัญหาของปั๊มน้ำมันที่นำเสนอโดยนายกสมาคมผู้ค้าน้ำมันฯ (คุณสมภพ ธนะธีระพงษ์) ว่า "ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศในขณะนี้เป็นหนี้รวมกันกว่า 3 หมื่นล้านบาท" ท่าทีของคุณสมภพต้องการจะให้โรงกลั่นลดค่าการกลั่นลงมา พร้อมกล่าวขอบคุณฝ่ายที่เห็นว่า "โรงกลั่นสร้างปัญหา" ให้กับปั๊ม

เท่าที่ผมทราบ เจ้าของปั๊มน้ำมันจะมีรายได้จากการขายน้ำมันลิตรละประมาณ 30-40 สตางค์ต่อลิตร ในขณะที่ต้องลงทุนสร้างปั๊มสูงถึง 10 ถึง 30 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยอย่างเดียวก็ปาเข้าไปเท่าไหร่แล้ว ทางออกของเจ้าของปั๊มจึงอยู่ที่การขายอย่างอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน เช่น น้ำ ขนม กาแฟ ข้างแกง เป็นต้น

ผมเดาใจท่านนายกสมาคมฯว่า คงต้องการให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่รวมทั้งโรงกลั่นลดกำไรของตนเองลงบ้าง แล้วมาเพิ่มรายได้ให้เจ้าของปั๊มมากขึ้นกว่าเดิม ท่านคงไม่ได้ตั้งใจจะให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นหรอก

ผมสนใจปัญหาของเจ้าของปั๊มครับ จึงลงมือค้นข้อมูลทั้งของไทยและของประเทศอังกฤษ พบว่า

7. ประเทศไทยมีจำนวนปั๊มน้ำมันมากเกินไป เข้าทำนอง "ใครใคร่ค้า ค้า" หรือ "แข่งขันโดยเสรี" ส่งผลให้ปั๊มจำนวนหนึ่งอยู่ไม่ได้

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษพบว่า คนไทยทั้งประเทศใช้น้ำมันประมาณ 1 ใน 3 ของคนอังกฤษ แต่มีปั๊มน้ำมันมากกว่าถึง 2 เท่าตัว

ถ้าคิดให้อังกฤษเป็นมาตรฐาน คนไทยเราก็ควรจะมีปั๊มเพียง 1 ใน 5 ของปัจจุบันก็พอ ถ้าเป็นอย่างนี้ รายได้ของปั๊มก็สูงขึ้น

ผู้บริโภคน้ำมันก็น่าจะจ่ายน้อยลง

พูดถึงจำนวนปั๊มในอังกฤษ ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ที่หายไปส่วนมากเป็นของผู้ค้าอิสระ ในขณะที่เจ้าของซุปเปอร์มาร์เก็ตกลับมีจำนวนมากขึ้น

 

 

8. ส่วนแบ่งการตลาดของน้ำมันในบ้านเราประมาณ 80% เป็นของ 6 บริษัท คือ ปตท. (34.9%) เอสโซ่ (12.3%) เชลล์ (11.5%) เชฟรอน (11.3% คาลเท็กซ์เดิม) และบางจาก (7.6%)

ถ้าคิดภาพรวม นับจากปี 2549 ถึง 2552 จำนวนปั๊มน้ำมันในประเทศไทยหายไป 136 ปั๊ม (ปัจจุบัน 18,857 ปั๊ม) แต่ถ้าจำแนกเป็นประเภทอิสระได้หายไปถึง 311 ปั๊ม

นี่คือ ผลลัพธ์ของ "การแข่งขันโดยเสรี" โดยแท้ครับ

9. คุณรสนา ได้ตั้งคำถามโดยไม่หวังคำตอบว่า "จริงหรือไม่ที่ขณะนี้ประเทศไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้คิดเป็นมูลค่ามากกว่าข้าวที่เป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศ"

ผมเช็คดูแล้วพบว่า มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในปี 2551 คิดเป็นมูลค่าถึงกว่า 2 แสน 6 หมื่นล้านบาท ถ้ารวมน้ำมันดิบที่ขุดได้ในบ้านเราเข้าไปอีก 56,575 ล้านบาท ก็กว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว

10. ในปี 2551 ประเทศไทยผลิตน้ำมันสำเร็จรูปได้ 5 หมื่นล้านลิตร โดยที่มีการใช้ภายในประเทศประมาณ 4 หมื่นล้านลิตร ส่วนต่างก็คือการส่งออก (ดูกราฟประกอบ)

 

 
11. โดยสรุป ในขณะที่คนไทยใช้น้ำมันคิดเป็นมูลค่าปีละประมาณ 1 ล้านล้านบาท (ประมาณ 11% ของรายได้ประชาชาติ) แทนที่รัฐบาลจะมีกลไกมาควบคุมพ่อค้ารายใหญ่ให้ค้าขายอย่างเป็นธรรม กลับปล่อยให้มีการผูกขาดอย่างเสรี

ขณะเดียวกัน แทนที่จะดูแลคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย กลับปล่อยให้มีการแข่งขันอย่างเสรี แบบใครดีใครอยู่

เราจะเรียกว่า "หนึ่งประเทศ สองระบบ(เลว ๆ)" ได้ไหมนี่

 

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
เคยมีคนไปถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ว่า “ท่านคิดว่าสิ่งประดิษฐ์ใดของมนุษย์ที่มีอำนาจในการทำลายล้างมากที่สุด” ผู้ถามคงจะคาดหวังว่าไอน์สไตน์น่าจะตอบว่า “ระเบิดนิวเคลียร์” เพราะเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการประดิษฐ์คิดค้นอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย แต่ไอน์สไตน์กลับตอบว่า “สูตรดอกเบี้ยทบต้น”
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2552 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในงานนี้ได้มีโอกาสฟังปาฐกถาจากประธานศูนย์ศึกษาประเทศภูฎาน คือท่าน Dasho Karma Ura
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ “รักเจ้าจึงปลูก” เป็นชื่อโครงการที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังครุ่นคิดเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ผมเองได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มา 2 ตอนแล้ว
ประสาท มีแต้ม
  1. คำนำ       ภาพที่เห็นคือบริเวณชายหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จังหวัดสงขลา (ถ่ายเมื่อพฤศจิกายน 2552) หาดนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากของชาวเมืองสงขลา อยู่ทางตอนใต้ของหาดสมิหลาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักดีประมาณหนึ่งกิโลเมตร สิ่งที่เห็นในภาพที่มีถุงทรายสีขาว ยางรถยนต์เก่ายึดด้วยไม้หลักปักทราย รวมทั้งรูปต้นสนล้ม คงสะท้อนทั้งความรุนแรงของปัญหาและความพยายามแก้ปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
ประสาท มีแต้ม
1. ความเดิม ในตอนที่ 1 ผมได้นำข้อมูลที่มาจากงานวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการที่พบว่า นักเรียนทุกระดับชั้นของประเทศไทย ทั้งระดับ ป.6 , ม.3 และมัธยมปลายมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งทุกวิชา โดยวิชาที่สอบได้คะแนนน้อยที่สุดคือวิชาคณิตศาสตร์ ได้เพียงร้อยละ 29.6 เท่านั้น ในตอนที่ 2 นี้ ผมจะกล่าวถึงปัญหาที่ได้ตั้งไว้ในชื่อบทความ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาเราตกต่ำ นอกจากนี้ ผมได้นำเสนอความคิดเห็นและความพยายามของผู้บริหารระดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยด้วย
ประสาท มีแต้ม
๑. คำนำ ผมขอเรียนกับท่านผู้อ่าน “ประชาไท” ตามตรงว่า ผมใช้เวลานานมากในการคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี เขียนทิ้งเขียนขว้างไปหลายชิ้น ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะว่าผมสับสนในตัวเอง ไม่ทราบว่าจะนำเสนออะไรดีให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง
ประสาท มีแต้ม
๑. ปัญหาในภาพเล็ก ที่ภาควิชาที่ผมทำงานอยู่คือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังคิดทำโครงการที่จะพัฒนานักศึกษานอกเหนือจากรายวิชาและกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ทำกันอยู่ตามปกติแล้ว โครงการยังไม่เป็นรูปเป็นร่างดีนัก แต่ชื่อโครงการก็ค่อนข้างจะเห็นตรงกันคือ “โครงการรักเจ้าจึงปลูก” ที่มาจากเนื้อเพลง “อิ่มอุ่น” ของ ศุ บุญเลี้ยง
ประสาท มีแต้ม
ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวิชาบังคับให้นักศึกษาต้องเรียนอยู่วิชาหนึ่งจำนวน 3 หน่วยกิต ชื่อว่า “วิชาวิทยาเขตสีเขียว (greening the campus)” วัตถุประสงค์หลักของวิชานี้ก็คือ ให้นักศึกษาลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาสาธารณะที่อยู่ในวิทยาเขตของตนเอง แต่โดยมากมักจะเน้นไปที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาขวดน้ำพลาสติกที่มีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ปัญหาการประหยัดพลังงาน และกระดาษ เป็นต้น
ประสาท มีแต้ม
ทั้ง ๆ ที่ประเทศเรากำลังประสบกับวิกฤติหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นต้น แต่สื่อกระแสหลักก็ให้ความสำคัญกับข่าวความขัดแย้งในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่มีอะไรใหม่สร้างสรรค์ให้กับสังคม
ประสาท มีแต้ม
ในขณะที่กระแสสังคมส่งสัญญาณไม่พอใจกับราคาน้ำมันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ลดการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนของ ดีเซล ลิตรละ 2 บาท
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำขณะนี้หลายท่านคงจะรู้สึกกังวลร่วมกันว่า ราคาน้ำมันกำลังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจถึงหรือสูงกว่าเมื่อกลางปี 2551 (ดูกราฟประกอบ-ต่ำสุดเดือนธันวาคม 2551 ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จนมาถึงเกือบ 80 ในเดือนสิงหาคมปีนี้)   ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่เรามากน้อยแค่ไหนก็คงพอจะนึกกันออก
ประสาท มีแต้ม
ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อ"ชี้แจงแสดงความคิดเห็น" เรื่อง ค่าการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อ 1 กรกฎาคม 52 คนนอกที่นอกจากผมแล้วก็มีอีก 6 -7 ท่าน ได้แก่ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนบริษัทบางจาก, บริษัท ปตท. นายกสมาคมผู้ค้าน้ำมันแห่งประเทศไทย, คุณรสนา โตสิตระกูล และนักวิชาการปิโตรเลียม เป็นต้น