Skip to main content

ภาพของชายชราวัย ๗๕ ปี กำลังก้มๆ เงยๆ อยู่บริเวณระเบียงกระท่อมแจ่มชัดขึ้นเมื่อเข้าไปใกล้ กุ้งสีชมพูขนาดนิ้วก้อยหลายสิบตัวนอนนิ่งอยู่ในจานเบื้องหน้าของชายชรา ถัดจากจานกุ้งไปเป็นถ้วยน้ำพริกปลาร้าที่กินเหลือจากเมื่อวาน

รายการอาหารที่กล่าวมาทั้งหมดคืออาหารมื้อเย็นสำหรับชายชรา     ลูกแมวสองตัว ตัวหนึ่งสีน้ำตาล ตัวหนึ่งสีขาว หมอบคลอเคลียอยู่ด้านข้าง นานครั้งมันจะเดินมาหยอกล้อเล่นกัน พอหยอกล้อกันจนหนำใจมันก็กลับไปนอนนิ่งอยู่ที่เดิม บนท้องฟ้าอาทิตย์อัสดงลงไปไม่นานนัก ท้องฟ้าที่เคยกระจ่างเป็นสีฟ้าเริ่มกลายเป็นสีดำ

หลังจากอิ่มหนำสำราญ ชายชราก็จัดแจงเก็บกระติ๊บข้าวไว้บนกล่องโฟมที่ห้อยแขวนลงมาจากด้านบนของกระท่อม ในกล่องโฟมมีทั้งพริก เกลือ หัวหอม กระเทียม เมื่อจัดแจงเก็บของทุกอย่างเสร็จสิ้น ชายชราก็ลุกไปดื่มน้ำ และกลับมานั่งที่เดิม จากนั้นก็ควักยาเส้นจากกระป๋องมาม้วนดูด เนิ่นนานที่ควันบุหรี่ลอยหายไปในความมืด หลังแสงไฟวูบสุดท้ายจากปลายบุหรี่แดงขึ้น ชายชราก็ดีดบุหรี่มวนนั้นทิ้งออกไปในความมืด

พูดเรื่องบุหรี่แล้ว ชายชราคิดมาหลายครั้งว่าจะเลิก และก็ลองทำดูแล้ว แต่เอาเข้าจริงแกก็ไม่เคยทำสำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว หาปลาว่ายากแล้ว แต่การเลิกบุหรี่ยังยากกว่าเป็นหลายเท่า

นอกกระท่อมตอนนี้ความมืดโอบคลุมทุกทิศทุกทางไว้ด้วยอ้อมแขนอันมหึมาแห่งรัตติกาล...

หลังดาวประจำเมืองปรากฏ แสงไฟจากไส้ตะเกียงก็สว่างวูบขึ้น ความมืดที่รัศมีของแสงไฟส่องถึงจางหายไป แต่ความสว่างของมันก็กินบริเวณไม่กว้างมากนัก หากมีคนหรือวัตถุสิ่งใดผ่านมาคงไม่อาจรับรู้ได้ หากเจ้าสิ่งแปลกปลอมนั้นไม่เข้ามาในรัศมีของแสงไฟ

ลูกแมวทั้งสองตัวเดินวนรอบตะเกียง ๒-๓ รอบ และเดินกลับไปนอนนิ่งอยู่ริมระเบียงกระท่อมด้านนอก สายลมหนาววูบใหญ่พัดมาเย็นเยือก ชายชรานั่งนิ่งเหม่อมองออกไปนอกกระท่อมอย่างไร้จุดหมายปลายทาง...

พระจันทร์เสี้ยวข้างแรมห้อยแขวนอยู่มุมหนึ่งของท้องฟ้า ดาวดวงน้อยกระพริบพร่างพรายระยิบระยับ หลังดีดก้นบุหรี่ก้นที่สองทิ้งไป เสียงกระแอมไอก็ดังขึ้น ในห้วงอารมณ์นั้น ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าชายชราคิดเรื่องใดอยู่ในใจ

ลูกแมวทั้งสองตัวที่นอนนิ่งสะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อชายชราขยับที่นอน เสื่อผืน หมอนใบ และมุ้งสีขาวเก่าซีดจนความขาวของมันมลายหายไป เครื่องนอนทุกอย่างถูกจัดวางในตำแหน่งเดิมเช่นทุกวันที่ผ่านมา หลังผูกหูมุ้งเรียบร้อย แสงไฟจากตะเกียงก็ดับวูบลง อาณาบริเวณรอบกระท่อมจึงเดินทางไปสู่ความมืด

แม้ว่าชายชราจะไม่ใช่ผู้ทรงศีล และวิถีทางที่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่วิถีทางของผู้ทรงศีล แต่ก่อนจะล้มตัวลงนอน ชายชราก็ไม่ลืมสวดมนต์ไหว้พระ

ในความดึกสงัดของค่ำคืนมีเพียงแมลงกลางคืนระงมร้องขับกล่อมรัตติกาล...

เนิ่นนานที่ชายชราเดินทางไปสู่การหลับ หลังจากพระจันทร์ข้างแรมเดินทางมาถึงครึ่งขอบฟ้า แกก็ขยับตัวลุกขึ้น และเดินออกมานอกกระท่อม แสงไฟจากไฟฉายสาดส่องไปตามทางเดินเล็กๆ ลงไปสู่ท่าน้ำ  ตรงท่าน้ำมีเรือลำหนึ่งจอดสงบนิ่งอยู่ หลังปรับสายตาให้คุ้นชินกับความมืดได้แล้ว ชายชราก็แก้เชือกที่ผูกเรือไว้กับเสาไม้ไผ่ริมฝั่ง ก่อนจะก้าวขึ้นไปนั่งบนเรือ และค่อยๆ พายออกไปจากท่า

เสียงไม้พายกระทบกับสายน้ำดังฝ่าความมืดมา หากไม่เพ่งมองให้แจ่มชัดก็ยากจะรู้ได้ว่าในความมืดนั้นมีคนกับเรือ ชายชราบังคับเรือไม่ให้ไกลจากริมฝั่ง โดยเรือมุ่งหน้าล่องตามน้ำลงไป ไม่นานนักก็ถึงจุดหมาย ห่างออกไปจากริมฝั่งประมาณ ๑ เมตร ตรงนั้นมีเสาไม้ไผ่ขนาดย่อมปักอยู่ในน้ำ บริเวณโคนเสามีเชือกผูกกับกิ่งไม้ติดอยู่ เมื่อไปถึงชายชราก็ยกกิ่งไม้ขึ้น จากนั้นก็ใช้สวิงช้อนเข้าด้านใต้ของกิ่งไม้ และใช้มืออีกข้างหนึ่งเขย่ากิ่งไม้อย่างแรง เพื่อให้กุ้งที่เข้าไปอาศัยในกิ่งไม้หล่นลงในสวิง เมื่อแน่ใจว่ากุ้งในกิ่งไม้หล่นลงในสวิงหมดแล้ว แกก็พายเรือไปสู่เป้าหมายใหม่ต่อไป
เวลาในการทำงานของชายชราผ่านไปเรื่อยๆ จากนาทีเป็นชั่วโมง เมื่อไปถึงเป้าหมายสุดท้าย เสียงไก่ขันครั้งแรกของค่ำคืนก็ดังข้ามมาจากอีกฟากฝั่งน้ำ...

ชายชราเบนหัวเรือให้กลับมาทางเดิมอีกครั้ง เมื่อมาถึงเสาต้นเดิมก็จัดแจงผูกเรือเข้ากับเสาไม้ไผ่ หลังจากผูกเรือเสร็จก็เอากุ้งใส่ลงในกระชังแช่ไว้ในน้ำ หลังภารกิจเสร็จสิ้น ชายชราก็เดินกลับขึ้นมาตามทางเดิม แสงไฟจากไฟฉายส่องสว่างน้อยลงกว่าเดิม เพราะแบ็ตเตอรี่เหลือน้อยเต็มที แม้ว่าแสงสว่างจะมีน้อย แต่หาได้เป็นอุปสรรคไม่ เพราะทุกตารางเมตรบนพื้นที่แห่งนี้ ชายชราย่ำเหยียบมาหลายร้อยหลายพันครั้ง หากเปรียบเทียบระยะทางเดินขึ้น-ลงจากกระท่อมไปท่าน้ำในแต่ละวัน ชายชราคงเดินทางไกลไม่ต่ำกว่า ๗-๘ กิโลเมตรต่อวัน

เมื่อมาถึงกระท่อม แมวสองตัวก็ส่งเสียงร้องทักออกมาพร้อมกับเดินเข้ามาหา หลังจากนั่งลงบนพื้นกระท่อมเรียบร้อย แสงไฟจากตะเกียงก็สว่างวูบขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกันกับแสงไฟจากปลายบุหรี่ที่วูบแดงขึ้นเป็นครั้งคราว เมื่อชายชราสูดควันเข้าปอด

หลังจากแสงไฟจากตะเกียงดับลง เสียงไก่ขันครั้งที่ ๒ ของค่ำคืนก็ดังฝ่าความมืดข้ามฝั่งน้ำมา สิ้นเสียงไก่ขัน ชายชราก็ล้มตัวลงนอน และเดินทางไปสู่การหลับ ในห้วงแห่งการหลับไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้ว่า ชายชราฝันถึงเรื่องราวใด แต่หากลองสันนิษฐานดูแล้ว สำหรับคนหาปลา ในห้วงเวลาแห่งการหลับไหล คนหาปลาจะฝันถึงสิ่งใด นอกจากปลาตัวโตติดเบ็ด เพราะปลาที่ได้จะเดินทางออกจากแม่น้ำ เพื่อไปแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นกลับมาสู่ผู้เป็นเจ้าของเบ็ด

มีคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า คนแก่นอนน้อยและตื่นเช้า คำกล่าวนี้คงเป็นจริง เพราะก่อนฟ้าสาง แม้ว่าจะหนาวเหน็บ ชายชราก็ลุกขึ้นมาก่อไฟนึ่งข้าว หลังจากคดข้าวใส่กระติ๊บเรียบร้อย แสงแรกของวันก็เริ่มโผล่พ้นขอบฟ้า หลังจากจัดการทุกอย่างเสร็จสิ้น ชายชราก็มุ่งหน้าสู่ท่าน้ำ เพื่อเอาเรือออกเก็บกู้เบ็ด กู้มอง-ตาข่ายที่ใส่ไว้ตั้งแต่ตอนเย็นเมื่อวาน

เมื่อขึ้นไปนั่งบนเรือเรียบร้อย ชายชราก็ติดเครื่องยนต์เรือ หลังเครื่องยนต์ติดเรียบร้อย ชายชราก็บังคับเรือทวนน้ำขึ้นเหนือ สายน้ำแตกกระเซ็นเป็นสายเข้ามาในเรือทุกครั้ง เมื่อชายชราเร่งเครื่องยนต์เรือ การขับเรือในช่วงหน้าแล้งขับยากกว่าในช่วงหน้าน้ำหลาก เพราะช่วงหน้าแล้งแก่งที่จมอยู่ใต้น้ำจะโผล่พ้นน้ำ คนขับเรือต้องคอยหลบแก่งให้ดี ที่สำคัญน้ำตรงใกล้แก่งจะไหลแรง บางแห่งก็ไหลวน ถ้าบังคับเรือไม่ดีแล้วก็มีสิทธิพลิกคว่ำได้ตลอดเวลา หาการทำสมาธิหมายถึงการนิ่งและตั้งใจแน่วแน่ คงไม่แปลกนักถ้าจะกล่าวว่า

การขับเรือก็คือการทำสมาธิอย่างหนึ่งสำหรับชายชรา
การขับเรือก็ไม่ต่างอะไรจากการขับรถ เพราะเรือต้องถูกบังคับให้วิ่งไปตามร่องน้ำที่เคยวิ่ง เช่นกันรถก็ต้องถูกบังคับให้วิ่งไปตามเลนของถนนที่กำหนดไว้ แต่หากว่าออกนอกเส้นทางเมื่อไหร่ก็ยากจะเป็นการคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ว่ากันว่าคนที่ขับเรือเก่งๆ ในสายน้ำสายนี้ กลางคืนไร้แสงไฟ พวกเขาสามารถพาเรือกลับถึงหมายปลายทางได้โดยปลอดภัย การขับเรือในเวลากลางคืน คนขับเรือจะอาศัยจดจำทิวทัศน์สองฟากริมฝั่งน้ำเป็นเครื่องหมายในการเดินเรือ ช่วงวัยหนุ่ม ชายชราเป็นคนหนึ่งที่ขับเรือในเวลากลางคืนได้ดี แต่เมื่อสังขารเดินทางมาถึงช่วงปลายของการดำรงอยู่ในสภาพความเป็นมนุษย์ การขับเรือในเวลากลางคืนจึงเป็นสิ่งถูกยกเว้นสำหรับชายชรา

หากย้อนกลับไปเมื่อวานตอนเย็น หลังจากเรือลำสุดท้ายบนสายน้ำเงียบเสียงลงในตอนค่ำ แม่น้ำก็เหมือนจมอยู่กับความเงียบ เช้านี้แม่น้ำจึงถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาจากความเงียบงันอีกครั้ง...

หลังบังคับเรือฝ่าลมหนาวมาประมาณ ๑๐ นาที ชายชราก็ข้ามมาอยู่อีกฝั่งหนึ่งของสายน้ำ ตรงที่ชายชราจอดเรือคือพื้นที่วางเบ็ดที่แกเคยวางเป็นประจำ จากจุดนี้มองกลับไปข้างหลังสามารถมองเห็นกระท่อมที่เพิ่งจากมาได้

พระอาทิตย์ยามเช้าค่อยสูงขึ้นเป็นลำดับ โมงยามของวันเริ่มเคลื่อนย้ายไปตามการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของโลก หากลองเปรียบเทียบระหว่างชายชรากับพระอาทิตย์ ในตอนนี้ชายชราไม่ใช่พระอาทิตย์กำลังขึ้น แต่กลับกัน ชายชราคือ พระอาทิตย์ที่กำลังคืบคลานสู่ห้วงยามอัสดง

แม้ว่าพระอาทิตย์ยามเช้าของฤดูหนาวจะงดงามเพียงใด ชายชราในวัย ๗๕ คงไม่มีเวลามานั่งชื่นชมความงามของยามเช้ามากนัก คงเพราะชายชราเห็นพระอาทิตย์ขึ้นมาหลายปีแล้ว และยามเช้ามีความสำคัญสำหรับชายชรามากกว่าการมานั่งดูความงาม เพราะการขึ้นมาของพระอาทิตย์ เป็นเครื่องมือเร่งรัดในการทำงานสำหรับชายชราให้เร็วขึ้นกว่าเดิม...

หลังพระอาทิตย์พ้นยอดเขาทางทิศตะวันออก นกฝูงหนึ่งก็โผบินจากเหนือลงใต้ เช่นกันเมื่อฟ้าเป็นของนก น้ำก็ย่อมเป็นของปลา นกอพยพมักเดินทางกันเป็นฝูง ปลาก็เช่นเดียวกัน การอพยพขึ้น-ลงของปลาก็ไปเป็นฝูง จะมีปลาบางชนิดเท่านั้นที่อพยพเคลื่อนย้ายเพียงลำพัง การอพยพของปลาไม่ได้อพยพเพียงชนิดเดียว แต่มีปลาหลายชนิดอพยพขึ้นเหนือพร้อมๆ กัน นอกจากปลาจะอพยพขึ้นมาพร้อมกันหลายชนิดแล้ว ปลายังอพยพขึ้นมาพร้อมกับสัตว์ชนิดอื่นด้วย มีเรื่องเล่าจากคนหาปลาว่า ปลากับนกบางชนิดเป็นสิ่งคู่กัน โดยเฉพาะปลาบึกกับนกนางนวล ทุกครั้งเมื่อคนหาปลาจะลงมือจับปลาบึก พวกเขาต้องสังเกตว่านกนางนวลบินขึ้นมาหรือยัง หากนกนางนวลบินขึ้นมาจากทางใต้แล้ว วันต่อมาปลาบึกก็จะขึ้นตามมาหรือบางทีนกนางนวลก็บินมาพร้อมกับปลาบึก หากเห็นนกนางนวล คนหาปลาก็จะลงไหลมองจับปลาบึก

เรื่องเล่าเกี่ยวกับการอพยพของปลากับนกหาได้มีในเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศลาวตรงสีพันดอนยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปลาและนกอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องเล่าที่ว่านี้เป็นเรื่องเล่าของนกสีดาและปลาข่า หากวันใดปลาข่าจะขึ้นมา นกสีดาก็จะขึ้นมา คนเฒ่าคนแก่บอกว่า ในภพชาติที่แล้วปลาข่ากับนกสีดาเป็นคู่รักกัน เมื่อสิ้นภพสิ้นชาติด้วยความมั่นคงในความรัก ในภพชาติปัจจุบันพวกมันจึงเป็นสิ่งเกื้อหนุนกัน เพราะเมื่อปลาข่าขึ้นมา ปลาอีกหลายชนิดก็จะว่ายตามมาด้วย เมื่อปลาข่าว่ายขึ้นมาปลาเล็กๆ ชนิดอื่นก็จะว่ายตามขึ้นมาด้วย พอนกนางสีดามองเห็น มันก็จะคอยไปจับกินปลาอยู่ใกล้ๆ ปลาข่า ธรรมชาติต่างเกิดมาเพื่อเกื้อหนุนสรรพสิ่งไม่เลือกว่าจะเป็นสนิดใด แม่แต่กับมนุษย์เอง ธรรมชาติก็ได้เกื้อหนุนมนุษย์เช่นกัน

แสงแดดของวันเริ่มแรงขึ้นเป็นลำดับ หลังจมอยู่กับการเก็บกู้เบ็ดเนิ่นนาน ชายชราก็หันหัวเรือมุ่งหน้ากลับมาตามทางเดิม ตอนไปกลับตอนกลับมาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตอนไปเรือวิ่งได้ช้า เพราะวิ่งทวนน้ำ แต่ตอนกลับเรือวิ่งได้เร็วขึ้น เพราะล่องลงมาตามน้ำ

เมื่อกลับมาถึงท่าน้ำ ชายชราก็จัดแจงผูกเรือกับเสาไม้ไผ่เสาเดิม เมื่อผูกเรือเสร็จ แมวสองตัวก็กระโดดขึ้นไปบนหัวเรือ จากนั้นมันก็ค่อยๆ เดินไปหาชายชรา เมื่อไปถึงชายชราก็หยิบกุ้งจากกระป๋องเอาวางให้มันกิน หลังกินหมด แมวทั้งสองตัวก็เดินกลับมาทางหัวเรืออีกครั้ง

หลังแมวทั้งสองตัวกระโดดลงจากเรือ ชายชราก็เดินมาทางหัวเรือแล้วนั่งลงใช้มือดึงเชือกผูกกระชังให้เข้ามาใกล้เรือ เมื่อกระชังมาถึงเรือ แกก็หยิบเอาปลาจากท้องเรือใส่ลงในกระชังแล้วปล่อยให้กระชังไหลกลับไปที่เดิม

ในการเอาเรือออกสู่แม่น้ำแต่ละครั้ง ชายชรามีเป้าหมายอะไรมากไปกว่าการหาปลาหรือไม่ คงไม่มีใครล่วงรู้ได้ บางทีในการออกหาปลาแต่ละครั้ง ชายชราอาจต้องการเพิ่มเติมจำนวนปลาให้มากขึ้นกว่าครั้งก่อน หรือบางทีชายชราอาจต้องการสร้างหลักไมล์ในการเดินทางไปบนแม่น้ำให้กับตัวเอง หรือบางทีชายชราอาจไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่านี้ นี่อาจเป็นการทำงานอย่างหนึ่งที่เคยทำอยู่ทุกวันก็เป็นได้ คำถามนี้ ชายชราคงจะเป็นคนคลี่คลายความสงสัยด้วยตัวแกเอง...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…