Skip to main content

สี่พันดอน: บ้านของคนและปลา


เมื่อเอ่ยถึงสี่พันดอนเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปเยือนคงจินตนาการถึงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปเยือนคงงุนงงไม่น้อยว่าหมายถึงอะไร คำว่า ‘สี่พันดอน’ เป็นชื่อเรียกเกาะ ดอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของประเทศลาว ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกเรียกขานว่า สี่พันดอน เพราะเต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่มีจำนวนมากมายเรียงรายอยู่ในแม่น้ำโขงที่มีความกว้างกว่า ๑๔ กิโลเมตร เกาะต่างๆ เริ่มขึ้นที่เมืองโขงและยาวลงไปจนถึงชายแดนลาว-กัมพูชาที่บ้านเวินคามกับเมืองสตรึงเตร็ง ในจำนวนเกาะที่มีอยู่มากมาย เกาะใหญ่ที่สุดชื่อ ‘ดอนโขง’ คำว่า ‘ดอน’ เป็นคำที่คนลาวใช้เรียกเกาะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง

คำว่า ‘คอน’ ในพจนานุกรมอีสาน ไทย อังกฤษโดย ดร. ปรีชา พิณทองตีพิมพ์เมื่อปี พ.. ๒๕๓๒ มีความหมายว่า “น.ร่องน้ำลึกที่น้ำตก แม่น้ำที่มีสันดอนสูง น้ำไหลไปเป็นร่องลึกเรียกว่า คอน ถ้าน้ำไหลไปสองร่องน้ำมีสันดอนอยู่ตรงกลางเรียก ‘สองคอน’ เช่น สองคอนในแม่น้ำโขง ดอนโขงเป็นที่ตั้งของเมืองโขง นอกจากจะเป็นดอนที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังมีดอนต่างๆ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญด้วย เช่น ดอนเดช ดอนคอน ดอนสะดำ ดอนสะโฮง

ในแต่ละดอนที่เกิดขึ้น บางดอนก็มีน้ำตกขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการยกตัวของเปลือกโลกที่ต่างระดับกัน น้ำตกบางแห่งมีความสูงถึง ๑๕ เมตร น้ำตกที่ขึ้นชื่อที่สุด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือน้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกที่ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นไนแองการ่าแห่งเอเชีย และน้ำตกสมพะมิด

นอกจากสถานที่ทั้งสองแห่งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ‘หลี่ผี’ ‘หลี่’ หมายถึงเครื่องมือหาปลาชนิดหนึ่งที่พบมากในภาคใต้ของลาวบริเวณสี่พันดอน ผีหมายถึงคำที่ชาวบ้านทั่วไปใช้เรียก คนตายหรื่อสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว ‘หลี่ผี’ ในความหายของคนท้องถิ่นจึงหมายถึงบริเวณหลี่ที่พบศพของคนตาย โดยจะพบมากในช่วงที่ลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงก่อนปี ๒๕๑๘ หลี่ผีประกอบไปด้วยฮูน้ำฮูเล็กฮูน้อยที่เกิดขึ้นในแต่ละดอน ฮูน้ำ ที่เกิดขึ้นมีความสำคัญกับคนท้องถิ่นในการใช้เป็นพื้นที่ใส่หลี่หาปลา และนอกจากนั้นฮูน้ำเหล่านี้ยังเป็นเส้นทางผ่านของปลาที่จะว่ายขึ้นไปยังพื้นที่ต่างๆ ในแม่น้ำโขง

การหาปลาด้วยวิธีการใส่หลี่ของคนท้องถิ่นจึงสัมพันธ์กับการอพยพของปลา โดยในอาณาบริเวณที่เรียกว่าหลี่ผีนั้นมีฮูน้ำทั้งหมด ๒๙ ฮู แต่บางฮูปลาก็ไม่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำที่ไหลเชียว และเป็นน้ำตกที่สูงชันขึ้นไปยังพื้นที่อื่นของสีพันดอนได้ เช่น ฮูน้ำคอนพะเพ็ง ฮูน้ำสมพะมิด แต่บางฮูก็จะมีน้ำเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น เช่น ฮูสะดำ ส่วนในบางฮูจะมีน้ำตลอดปี และไม่สูงชันปลาก็จะว่ายทวนน้ำอพยพขึ้นไปได้ เช่นที่ ฮูสะฮอง เป็นต้น

ด้วยความหลากหลายทางพันธุ์ปลาที่จับได้จากหลี่ รายได้ที่เกิดขึ้นจากปลาจึงแตกต่างกันออกไปตามแต่ชนิดพันธุ์ปลา และความต้องการของตลาด กล่าวได้ว่าราคาปลาคนหาปลาสามารถกำหนดความพอใจในราคาขายได้เอง นอกจากคนหาปลาจะเอาปลาไปขายเองแล้ว พ่อค้า แม่ค้าปลายังลงไปรับซื้อถึงหลี่ การรับซื้อก็เป็นการเหมาซื้อตลอดระยะเวลาของการทำหลี่

จากการเดินเตร็ดเตร่ในตลาดเมืองปากเซ และช่องเม็กพบว่า ปลาจำนวนมากที่เดินทางมาจากบ้านนากะสังถูกส่งไปขายตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งภายในในประเทศลาว และปลาบางชนิดมีปลายทางกระจัดกระจายไปสู่ที่อื่นๆ เช่น จังหวัดอุบลราชธานี และมีปลาบางชนิด เช่น ปลานาง ปลาเพี้ย ปลาเนื้ออ่อนชนิดอื่นๆ ปลายทางของมันอยู่ไกลถึงกรุงเทพมหานคร

ในการขายปลาจะมีทั้งการขายปลาสด ราคาก็จะแตกต่างกันออกไปไม่ได้มีราคาตายตัวแน่นอน นอกจากจะขายปลาสดแล้วยังมีการแปรรูปปลาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ออกมาขายด้วย เช่น ปลาแดก
-ปล้าร้าอัตราการขายจะอยู่ที่เทละประมาณ ๑๐๐,๐๐๐-๑๕๐,๐๐๐ กีบ ราคาปลาร้าก็จะแตกต่างกันออกไป เช่นปลาร้าปลาพอนเทละ ๑๕๐,๐๐๐ กีบ ขึ้นไป ราคาปลากะเตา (ปลาหลายชนิดตากแห้งรวมกัน) กิโลกรัมละ ๒๕,๐๐๐ กีบขึ้นไป ปลาย่างรมควันแยกขายแล้วแต่ละชนิดของปลา ปลาเกล็ดอยู่ที่กิโลกัรมละ ๒๐,๐๐๐ กีบ ปลาหนังอยู่ที่กิโลกรัมละ ๒๕,๐๐๐ กีบปลาส้มราคากิโลกรัมละ ๑๐,๐๐๐ กีบ ราคาขายเหล่านี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของตลาด เช่นที่บ้านนากระสังขายปลาพรกิโลกรัมละ ๑๕,๐๐๐กีบ ที่ตลาดปากเซจะขายอยู่ที่ ๒๕,๐๐๐ กีบต่อกิโลกรัมหรือมากกว่านั้น ราคาปลาจึงไม่สามารถกำหนดตายตัวได้

คนทำหลี่ผู้มีชีวิตอยู่บนนาน้ำ


เรือหาปลาลำเล็ก ๒ ลำพาเราออกเดินทางจากบ้านนากะสังในตอนบ่าย โดยมีเป้าหมายอยู่ที่คอนซวง ที่นั่นเราจะตามไปดูหลี่ที่เคยไปมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีก่อน และที่น่าตื่นเต้นคือวิถีชีวิตของคนทำหลี่ที่คอนซวงถูกถ่ายทอดออกมาผ่านโทนทัศน์ของไทยในรายการคนค้นคน เราจะได้พบคนต้นเรื่องที่คุ้นเคยกันอีกครั้ง

เรือค่อยๆ วิ่งลัดเลาะไปตามแม่น้ำ คนขับเรือกุมหางเสือเรือราวกับคนขับรถผู้ชำนาญทางกุมพวงมาลัยมั่นในมือ หลายคนเมื่อรู้ว่าเส้นทางที่จะไปนั้นน่าหวาดกลัวเพียงใด บางคนก็เริ่มนั่งนิ่งๆ อยู่บนเรือ คงเป็นโชคดีอยู่บ้างที่น้ำเริ่มขึ้นมาบ้าง การบังคับเรือจึงไม่ลำบากนัก ราว ๑ ชั่วโมงเรือก็พาเรามาถึงจุดที่ถือได้ว่าน่ากลัวที่สุด เพราะหากเกิดพลาดแม้แต่นิดเดียว เรือทั้งลำก็จะพุ่งลงเหวที่มีความสูงเท่าตึก ๒ ชั้น

เมื่อความหวาดกลัวเดินทางมาเคาะประตูหัวใจ การยึดกุมเอาแคมเรือด้วยมือทั้งสองข้างไว้มั่นจึงเกิดขึ้น ชั่วยามเช่นนี้แรงเต้นของหัวใจใครบางคนอาจเร็ว และถี่ขึ้น แต่พอเรือเงียบเสียงและจอดสงบนิ่งลง รอยยิ้มจึงปรากฏบนใบหน้าของคนขับเรือ และผู้โดยสาร ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเดินทางมายังคอนซวงแห่งนี้ถูกจำกัดโดยความยากในการขับเรือ คอนซวงจึงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง นอกจากคนที่รู้ใจกันจริงๆ เท่านั้น คนหาปลาที่ทำหลี่อยู่บนคอนซวงจึงจะยอมให้ขึ้นเรือมาด้วย

คอนซวงแห่งนี้เป็นหนึ่งในจำนวนคอนที่มีอยู่มากมายในเขตสี่พันดอน ในแต่ละคอนก็จะมีฮูที่ไม่สูงชัน ซึ่งเป็นพื้นที่วางเครื่องมือหาปลาอันสำคัญของคนท้องถิ่นที่เรียกว่า ‘ลวงหลี่’ ‘ลวง’ เป็นคำที่ชาวบ้านใช้เรียกพื้นที่หาปลา มีความสัมพันธ์กับเครื่องมือหาปลาแต่ละชนิด เช่น ลวงมอง ก็ใช้มองอย่างเดียว ลวงเบ็ดก็ใช้เบ็ดอย่างเดียว ลวงปลามีทั้งแบบกรรมสิทธิ์คนเดียว และกรรมสิทธิ์หน้าหมู่
(ส่วนรวม)’

เมื่อเราไปถึงคอนซวง อ้ายใหญ่ผู้เป็นเจ้าของหลี่ได้ชื่อว่าได้ปลาเยอะที่สุดก็ยิ้มต้อนรับ ก่อนจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหลี่ให้นักข่าวจากกรุงเทพฟัง อ้ายใหญ่เริ่มเล่าด้วยสำเนียงคนไทใต้ว่า ฮูน้ำในเขตนี้มีมาก หลี่ก็มีมาก บางฮูน้ำมีหลี่มากกว่า ๑๐ ลวงขึ้นไป ลวงหลี่นี่เป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่มาบุกเบิก ก็เหมือนคนทำนาบุกเบิกป่าโคกมาเป็นนา คนสมัยก่อนจะมาแสวงหาพื้นที่ในการทำหลี่โดยเลือกเอาฮูน้ำที่มีสภาพไม่สูงชันเป็นที่ทำหลี่ พอคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เสียชีวิต ลวงหลี่ก็จะตกมาเป็นมรดกของลูกหลานต่อไป บางคนที่ไม่ได้ทำก็ให้คนอื่นเช่าทำ ในการเช่าก็จะตกลงกันว่าจะจ่ายเป็นเงินหรือแบ่งปลา แต่ละคนเอาไปจัดการขายเอาเอง ลวงหลี่จะเป็นของใครของมัน คนอื่นไม่สามารถเข้ามาทำแทนได้ นอกจากเจ้าของจะขายสัมปทานให้เท่านั้น ในกรณีที่มีการขายสัมปทานจะเป็นการขายขาดไปเลย เช่น ตกลงกันว่าจะขาย ๓๐
,๐๐๐ บาท ถ้ามีคนมาซื้อ คนทำหลี่คนเก่าก็จะไม่ได้ทำอีกต่อไป แต่ก่อนทำหลี่ไม่ได้เสียภาษีให้รัฐ แต่จะมีการเก็บภาษีเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา อัตราภาษีก็เก็บอยู่ที่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐กีบต่อลวงหลี่หนึ่งที่

อ้ายใหญ่ยังเล่าเพิ่มเติมถึงการทำหลี่ให้ฟังว่า การทำหลี่จะเริ่มขึ้นในช่วงเดือน ๓
(มีนาคม)ไปจนถึงหลังช่วงปีใหม่ลาวที่ทำในช่วงนี้ เพราะน้ำน้อยสามารถทำหลี่ได้สะดวก การทำหลี่ก็จะเริ่มขึ้นโดยการไปตัดไม้เนื้อแข็งจากป่ามาทำขาหลี่ จากนั้นก็จะใช้วิธีการตอกไม้ลงไปในน้ำให้ลึกที่สุดเพื่อความแข็งแรง แล้วก็ผูกไม้ที่ได้มาเป็นแนวยาวไปตามน้ำกับขาหลี่ และนำหินมาวางเรียงรายกั้นเป็นกำแพง เพื่อกั้นให้ปลาขึ้นไปตามร่องน้ำที่มีอยู่ร่องเดียวด้านหน้าหลี่ การเรียงหินจะเรียงขึ้นให้สูงที่สุด จากนั้นก็จะเอาแพไม้ไผ่ และแตะที่สานแล้วมาวางทับลงไปบนขา และไม้ระแนงที่มัดเป็นคาน โดยการวางไม้จะให้ด้านหนึ่งลาดเอียงลง ส่วนอีกด้านหนึ่งจะทำให้สูงขึ้น กาทำหลี่ต้องทำให้แข็งแรง เพราะน้ำจะแรง ถ้าทำไม่ดีหลี่จะแตกได้

การทำหลี่เราต้องเลือกพื้นที่ตรงมันเป็นแก่งหินหรือไม่ก็มีหินเรียงเป็นแนวขวางลำน้ำ บางแห่งที่เป็นตาดก็ใช้ได้ ตามตาดจะมีวงัน้ำที่ปลามันจะว่ายขึ้นไปพักพาอาศัยก่อนจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปเรื่อยๆ ปลามันจะเข้าหลี่ เพราะเราทำร่องน้ำให้เหลือร่องเดียว พอน้ำเหลือร่องเดียวน้ำก็จะแรงปลาว่ายขึ้นไปลำบาก พอว่ายขึ้นไปไม่ได้น้ำก็จะตีกลับให้ปลามาค้างบนแตะเป็นแพที่เรามัดไว้กับระแนงอีกที่หนึ่ง

ในช่วงที่ทำหลี่จะเป็นช่วงที่ต้องเกณฑ์ญาติพี่น้องมาช่วยทำ บางครั้งก็จะมีการจ้างแรงงานในหมู่บ้าน แต่การจ้างจะไม่ได้จ้างเฉพาะมาทำหลี่อย่างเดียวจะจ้างมาเฝ้าหลี่และช่วยกันเก็บปลา รวมทั้งแปรรูปลา เช่น ทำปลาร้า ปลากะเต้า
(ปลาขนาดเล็กหลายชนิดตากแห้งรวมกัน) ถ้าแรงงานน้อยจะทำไม่ทัน เพราะในบางช่วงปลาจะขึ้นหลี่มาก ถ้าทำไม่ทันหลี่จะแตกได้ เพราะปลามันเยอะ มันหนัก การจ้างแรงงานนี่เราจะแบ่งเงินให้ตอนที่น้ำท่วมหลี่ และไม่ได้หาปลาอีก

ส่วนการหาปลาก็จะเริ่มลงไปเฝ้าหลี่ในปลายเดือน ๕
(เมษายน) จนถึงเดือน ๘ (สิงหาคม) หรือบางทีอันนี้แล้วแต่น้ำ ถ้าน้ำท่วมหลี่ก็พอดีน้ำในแม่น้ำโขงเป็นน้ำใหญ่ หลี่ก็จะใช้การไม่ได้ คนทำหลี่ก็จะกลับบ้านไปทำไร่ไถนา พอเราไม่ได้ใช้หลี่แล้ว คนอื่นก็จะมาหาปลาตรงหลี่เราได้ รายได้จากการขายปลานี่ก็ต้องพูดกันเป็นหลัก ๑๐-๒๐ ล้านกีบ หลี่นี่คนเฒ่าคนแก่บอกว่าเป็นนาน้ำ เพราะเรามีข้าวกินจากการทำหลี่

ก่อนสิ้นแสงแห่งชีวิตที่ดอนสะฮอง


รถโดยสารพาเราออกเดินทางจากดอนเดชในตอนเช้าโดยมีเป้าหมายอยู่ที่หัวดอนหรือบริเวณที่สิ้นสุดลงของทางรถไฟที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ร
.. ๑๑๒ (ช่วง พ..๒๔๒๙) สมัยฝรั่งเศสนักล่าอาณานิคมได้เดินทางมาสำรวจลุ่มแม่น้ำโขง การสำรวจในครั้งนั้นพบอุสรรคที่หนักหนาสำหรับการเดินเรือขนสินค้า เพราะตรงที่คอนพะเพ็งกับสมพะมิดมีน้ำตกขนาดใหญ่ที่เรือไม่สามารถเดินทางข้ามผ่านไปได้ เมื่อเห็นว่าแก่งหินเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสในยุคนั้นจึงตัดสินใจการสร้างท่าเรือ และทางรถไฟขึ้น เมื่อเรือแล่นผ่านมาถึงบริเวณสี่พันดอนก็จะนำเรือไปจอดที่หัวดอนคอนขนถ่ายสินค้าจากเรือมาขึ้นรถไฟที่มีเส้นทางตัดจากหัวดอนเดชไปท้ายคอนคอน ในการสำรวจครั้งนั้นฝรั่งเศสก็สามารถเอาชนะความท้าทายของธรรมชาติได้ ในยาวนี้ผ่านมาหลายปี สะพานอันเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างดอนเดชกับดอนคอนโดยมีทางรถไฟอยู่ตรงกลางจึงกลายเป็นอารยธรรมที่ผู้รุกรานทิ้งเอาไว้ให้ดูต่างหน้าเวลาคิดถึง

ขณะรถวิ่งไปบนทางรถไฟเก่าเมื่อผ่านจุดแวะเข้าไปชมสมพะมิดกลิ่นผักปู่ย่า
(ผักที่มีลักษณะคล้ายต้นไมยราบยักษ์ แต่มีสีแดง) ก็โชยเข้ามาปะทะจมูก อารมณ์นั้นหลายคนก็คิดถึงแกงหน่อไม้ขึ้นมาทันใด จนต้องตกลงกับคนขับรถว่าขากลับให้จอดรถเก็บผักนี้กลับบ้านพักด้วย บางคนว่าจะเอาผักนี้ไปกินกับก้อยปลา

เมื่อมาถึงท่าเทียบเรือ เพื่อนคนท้องถิ่นผู้เป็นคนนำทางก็ไปติดต่อเรือ เพื่อข้ามไปยังดอนสะฮอง ที่นั้นมีน้องสาวของเพื่อนคนท้องถิ่นรออยู่ การเดินทางในครั้งนี้ ถือว่าไม่ได้ออกนอกเส้นทางเสียทีเดียว เพราะดอนที่เราจะไปอาจไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว แต่ดอนนี้มีความสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของเขตสี่พันดอนในเรื่องปลา เพราะจากการสำรวจของ
Worldfish Centerit ระบุว่า ฮูสะฮองที่มีความยาว ๗ กิโลเมตร กว้าง ๒๐๐ เมตรเป็นฮูเดียวที่ปลาจากทางกัมพูชาจะสามารถขึ้นไปยังพื้นที่ต่างๆ ของสี่พันดอนได้ง่ายที่สุด เพราะฮูสะฮองไม่มีหน้าผา และไม่มีแก่งหินขนาดใหญ่

แต่เมื่อเราไปถึง และได้พูดคุยกันกับชาวบ้าน เราก็ได้พบความจริงบางอย่างว่า ในตอนนี้ปลาที่ว่ายทวนน้ำเข้ามาในฮูสะฮองนั้นมีน้อยเต็มที เพราะในช่วงที่ทำหลี่เสร็จก็พอดีเป็นช่วงที่บริษัทจากเวียดนามเข้ามาขุดเจาะพื้นที่เพื่อสำรวจในการก่อสร้างเขื่อน พอปลากำลังจะว่ายเข้ามาในฮูสะฮองแล้วมาเจอเสียงเครื่องขุดเจาะ และกลิ่นน้ำมัน ปลาก็ไม่เข้าหลี่ เมื่อปลาไม่เข้าหลี่นาน้ำที่เคยทำเงินให้หลักแสนปลาต่อปีรายได้ก็หายวับไปในอากาศ


ในตอนนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าเขื่อนกั้นฮูสะฮองจะถูกสร้างขึ้นมาเมื่อไหร่ แต่จากข้อมูลของ Worldfish Centerit ก็ได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่า ยังไม่เคยมีโครงการเขื่อนใดในโลกที่สามารถใช้มาตรการการลดผลกระทบด้านการประมงได้เป็นผลสำเร็จ


ก่อนจากลากันและกัน ใครบางคนในคณะเดินทางเลือกซื้อปลาเนื้ออ่อนย่างควันไฟหอมกรุ่นกลับมาทำต้มโคลงปลาเนื้ออ่อนยอดมะขามเป็นเมนูในตอนเย็น เมื่อได้รับรู้เรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเดินทางมาสู่ดินแดนแห่งบ้านปลาเมืองปลา ความทรงจำเกี่ยวกับลาวใต้ในครั้งนี้จึงเป็นความทรงจำที่เต็มไปด้วยความหม่นเหงาเศร้าซึม พอๆ กับความหม่นเศร้าของท้องฟ้าเวลาค่ำที่ดูอึมครึมด้วยความมืดดำ...

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…