Skip to main content
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ฆูณุงจไร เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยใหม่ เชื่อว่า เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของเผ่าพันธุ์ตน กล่าวกันว่า ถึงแม้ ชาวอูรักลาโว้ยจะเดินทางท่องไปในทะเลกว้าง จากอันดามันจรดช่องแคบมะละกา ไม่มีหลักแหล่งแห่งที่ที่แน่นอน แต่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ฆูณุงจไรได้เชื่อมเอาดวงวิญญาณแห่งความถวิลถึงกันและกันเอาไว้ ฆูณุงจไร ในความหมายนี้ คือ ยอดเขาบนเกาะแห่งหนึ่งในรัฐเคดาห์หรือเมืองไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมองเห็นได้ในระยะไกลจากท้องทะเล ก่อนจะอพยพมาตั้งถิ่นฐานบนดินแห้งในแถบอันดามัน หลังการแผ่ขยายอิทธิพลของศาสนาอิสลาม...โดยเฉพาะบนเกาะลันตาที่เคยได้ชื่อว่า เมืองหลวงของชาวน้ำน้ำทะเลแหวกเป็นสายเมื่อ Speed Boat ขนาดบรรทุก 30 คน เริ่มแผดคำรามเสียง หลังจากแวะรับเพื่อนร่วมทางอีกจำนวนหนึ่ง เราทุกคนตื่นเต้นที่ได้อยู่บนท้องน้ำสีเขียวและใต้ท้องฟ้าสีน้ำเงินมันน่าตื่นเต้นชะมัด การดำน้ำแบบ Snorkel เป็นทางเลือกง่ายๆ ที่ทำให้เราจมดิ่งไปกับโลกใต้ทะเลบริเวณหมู่เกาะรอกอยู่ห่างจากเกาะลันตา ๓๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดย Speed Boat ๔๕ นาที ในบางกรณี หากต้องการตั้งแคมป์บนเกาะก็สามารถติดต่อเรือหัวโทงของชาวบ้านได้เกาะรอกในและเกาะรอกนอก มีชายหาดยาวสีขาว (รับรองว่าขาว) น้ำทะเลสีครามสลับเนินเขาสีเขียวและตัวเงินตัวทอง นักดำน้ำจะได้แวะพักกินข้าวเที่ยงและนอนอาบแดดบนเกาะ Package นี้ในอัตรา 1,500 บาท/หัว แต่เพื่อนฝูงบนเกาะติดต่อให้เราได้ในอัตราหัวละ 1,000 บาท, Ha a Ha a“พี่ ไม่ดำน้ำหรือ” รุ่นน้องคนหนึ่งเอ่ยถาม ก่อนพยายามสวมหน้ากากดำน้ำ“เอ่อ ผมว่ายน้ำไม่เป็น” ผมยืนยัน“มีชูชีพนะพี่” รุ่นน้องยังรบเร้า“เออ มีชูชีพก็จม”…    ประวัติศาสตร์ของเกาะลันตาถูกบันทึกเอาไว้ 3 ช่วงเวลาก่อนปี 2500 เป็นช่วงเวลาของความสงบง่ายตามแบบชาวน้ำ หากจะมีการติดต่อค้าขายกับแผ่นดินใหญ่บ้างก็เป็นการติดต่อค้าขายทางเรือกับสิงค์โปร์หรือปีนัง ช่วง 2500-2530 เป็นช่วงกลางที่เกาะลันตามีการติดต่อกับแผ่นดินใหญ่มากขึ้น ทั้งตัดถนนภายในเกาะและทำแพขนานยนต์เพื่อเชื่อมเกาะ,และยุคปัจจุบันที่ธุรกิจท่องเที่ยวเฟื่องฟู โดยหน่วยงานราชการเป็นตัวเชื่อมโครงสร้างระบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ จากนั้นมา ชาวไทยใหม่(อูรักลาโว้ย) ที่บ้านสังกาอู้ บ้านหัวแหลมและบ้านในไร่-คลองดาว จึงเป็นผู้เฝ้ามองอย่างไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต...Same same but different เป็นบาร์ริมหาดคืนวันของการเฉลิมฉลองปีใหม่ เวทีดนตรีรูปโดมถูกก่อสร้างขึ้นอย่างละเมียดและมีรสนิยม ตัวเวทีหันหลังให้ชายหาดและท้องทะเลสีดำสนิท ท่ามกลางความมืดของกลางคืน แสงไฟนวลๆ จากบาร์อื่นๆ กระพริบเห็นเป็นจุดจุดอยู่ทั่วหาด นักแสวงสุขหลายคนทั้งชายหญิงยืนเคล้าคลอเคลีย โอนอ่อนไปตามจังหวะและเสียงดนตรี Reggae & blues ที่รุมเร้า ทว่านุ่มนวลนักท่องเที่ยวจากชาวเอเชียซดเบียร์สิงห์จากขวด พร้อมส่ายสะโพกซ้ายขวาเห็นเป็นเงาๆ อยู่หน้าเวทีใกล้กับหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งจูบกันอย่างดูดดื่มออกรสออกชาติ (เขาและเธอจูบกันอยู่อย่างนั้นทั้งคืน) ขณะหญิงไทยล่ำสันคนนั้นขึ้นเวทีโชว์พลังเสียงอย่างถึงอกถึงอารมณ์พวกเราเริ่มออกวิ่งเป็นวงกลม วนไปรอบๆ เวทีรูปโดม ราวกับลัทธิบูชาไฟของอินเดียนแดงบางเผ่าในอเมริกาใต้และป้องปากตะโกน Eivaaaaaa ...กลางคืนสำหรับนักแสวงสุขยังยืดยาวและไร้จุดจบ ,ไม่มีใครอยากให้มันจบชายหนุ่มผมหยิกหยอง ริมฝีปากหนา ตาโปน ผิวน้ำตาลเข้ม รูปร่างหนา ในเสื้อกางเกงลายดอกจากหมู่บ้านสังกาอู้หยิบเบียร์ให้แขกชาวเกาหลีคนนั้น ,เธอโปรยรอยยิ้มหยาดเยิ้มกลับไปให้เขา...สำหรับใครบางคน เกาะลันตา คือ จุดจบทางวัฒนธรรมชาวเลสำหรับใครอีกหลายคน เกาะลันตา คือ จุดเริ่มต้นของการแปลงวัฒนธรรมเป็นทุนสำหรับผม ..ผม HANG!!!...ขอบคุณความเอื้อเฟื้อของเพื่อนๆ ทุกคนบนเกาะลันตา น้อง,พี่เบียร์,นุช,ยันนี่,กร,บัง,สาวๆ แห่งร้านโทเก้ ดีไซน์และพี่โทนี่กะภรรยาครับ ถ่ายบริเวณบ้านหัวแหลม บนสะพานที่เป็นจุดชมวิว บ้านเรือนที่มองเห็นเป็นของชาวน้ำที่ปรับตัวเองเป็นร้านอาหารและเกสต์เฮ้าส์ ราคาแบ็กแพ็กเกอร์(คลิกดูภาพขนาดใหญ่) เปรียบเทียบเรือหัวโทงกับเรือใบชนิด 2 ใบเรือ เรือหัวโทง เครื่องมือยังชีพของชาวน้ำที่เป็นมากกว่าบ้าน ในอิริยาบถต่างๆ ทั้งหมดถ่ายที่บ้านหัวแหลม ถนนภายในเกาะ ชาวบ้านที่นี่ก็เหมือนกับชาวปักษ์ใต้ทั่วไปที่นิยมเลี้ยงนกหัวจุก ท้องฟ้า หาดทราย ชายทะเล ในมุมและเวลาต่างๆ ทั้ง 3 ภาพ กร ช่างภาพแห่งโทเก้ ดีไซน์ เป็นคนถ่าย ค่อยๆ ดูนะครับ สีสันสวยดี ส่วนภาพก่อนนี้ ไม่ได้มีเจตนาใดใดหรอกครับ เชื่อผมดิ !!
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้ประเภท : เรื่องสั้น    จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาครพิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุงวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ซึ่งคุ้นเคยกันดีในนามวรรณกรรมแนวสังคมเพื่อชีวิต        คลื่นทะเลใต้ เป็นหนังสือรวม ๑๒ เรื่องสั้นของนักเขียนภาคใต้ โดยทุกเรื่องที่นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มนี้ต่างก็มีดีกรีรางวัลรองรับทั้งสิ้น และมีถึง ๒ นักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ คือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และไพฑูรย์ ธัญญา  ขณะที่คำจำกัดความของ “นักเขียนใต้” ดังกล่าว ได้บอกเราว่านักเขียนทุกคนที่มีผลงานอยู่ในเล่ม คลื่นทะเลใต้ นี้ เป็นคนใต้โดยถิ่นกำเนิด แต่หากเราจะพิจารณาโดยตัดเอา “ความเป็นใต้” ในความหมายนั้นออกไป และมองอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น (แม้จะขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของคณะผู้จัดทำหรือบทความของ พิเชฐ แสงทอง ที่มุ่งให้ความรู้เชิงวิชาการในหัวข้อเรื่อง ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของนักเขียนใต้ เหล่านี้ออกไปเสีย )แล้วพิจารณาว่า คลื่นทะเลใต้ เป็นการรวบรวมเรื่องสั้นชั้นเลิศของยอดฝีมือเพื่อเป็นเกียรติยศแก่นักเขียนและผู้อ่าน จัดพิมพ์เพื่อเป็นกรณีให้ศึกษาด้านวรรณกรรม สังคม ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ สามารถอ้างอิงได้นั้น เป็นเรื่องน่ายกย่องยินดียิ่ง ทั้งนี้ นอกเหนือจากความเป็นภาคพื้นถิ่นจำเพาะทั้งจากนักเขียน บรรยากาศ ทัศนคติ เหล่านั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบที่จะนำไปสู่เนื้อหาอันเป็นสากล ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้เรื่องสั้นทั้ง ๑๒ เรื่องนั้น สามารถเรียกได้ว่าเป็นแนวเพื่อชีวิตดังที่เราคุ้นเคยทั้งสิ้น หากจะวกวนอยู่กับข้อจำกัดของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้น ออกจะเป็นการน่าเบื่อสักหน่อย เนื่องจากเราต่างก็รู้กันว่าวรรณกรรมแนวนี้มีข้อด้อยข้อเด่นอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงขอกล่าวถึงบางเรื่องที่น่าสนใจโดยพึ่งวิสัยอันเจ้ากี้เจ้าการของข้าพเจ้าสักนิด และหากบทความจะยาวเกินเวลาไปบ้าง จึงขออนุญาตแบ่งเป็น ๒ ตอน ๑. กรรมวิธีการปรุงสุนทรียภาพของนักเขียนวรรณกรรมเป็นกิจกรรมสังคมอย่างหนึ่ง มีข้อยกเว้นอันเป็นเหตุบังเอิญอยู่เช่น สมุดบันทึกประจำวันซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครเอาไปพิมพ์เผยแพร่ แต่วรรณกรรมโดยทั่วไปนั้นตั้งใจเขียนให้คนอ่าน แม้แต่เสียงของกวีที่รำพึงกับตัวเอง ก็หมายให้คนอื่นได้ยินด้วย ดังนั้นวรรณกรรมทุกเรื่องจึงเขียนขึ้นสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อจุดมุ่งหมายหนึ่งใด ๆ เราจะแสร้งละเลยเรื่องจำพวก วรรณกรรม “พูดเพื่อ” หรือ “พูดกับ” คนกลุ่มใด เพื่ออะไร เพราะแน่นอนว่าวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้นมักจะพูดเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชนชั้นที่ถูกกล่าวถึง แต่เราจะมาตั้งข้อสังเกตร่วมกันว่า ทำไมเรื่องสั้นวรรณกรรมแต่ละเรื่อง จึงต้องมี “บางอย่าง” เช่น สัญลักษณ์  บรรยากาศ ตัวละครบางตัว หรือบทสนทนาบางคำ ที่บางครั้งก็อาจจะ “ดูเหมือน” ไม่จำเป็นต่อเอกภาพของเรื่องเลยขอยกเอาเรื่องสั้น สะพานขาด ที่ได้รับรางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๓๒ ของนักเขียนผู้ล่วงลับ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มากล่าวถึงเป็นลำดับแรกในเล่ม คลื่นทะเลใต้สะพานขาด พูดถึงสมรภูมิความขัดแย้งที่แทรกซึมอยู่ในทุกองค์ประกอบของสังคม เป็นเรื่องของชายสองพี่น้อง ที่คนพี่เติบโตเป็นทหารของรัฐ ส่วนคนน้องเป็นทหารของรัฐฝ่ายตรงข้าม เรื่องถูกเล่าผ่านกระแสสำนึกของพี่ชายขณะออกสู่สมรภูมิ โดยแต่ละเรื่องย่อยที่เกี่ยวร้อยเข้ากับแกนของเรื่องต่างถูกกระตุ้นจากกลิ่น เสียง บรรยากาศรอบข้างของจังหวัดชายแดนใต้ วิธีการของกนกพงศ์คือการเลือกหยิบเอาบรรยากาศและเงื่อนไขอื่นที่ลดหลั่นกันเข้ามาเชื่อมต่อ จัดเรียงเข้ากับวิธีการนำเสนอแบบจี้จุดไปที่ความขัดแย้งของ ๒ ขั้วตรงข้ามตลอดทั้งเรื่อง โดยเน้นสัญลักษณ์คือ สะพาน เพื่อเชื่อมโยง ๒ ขั้วต่างเข้าไว้ด้วยกัน แต่ในเรื่องสะพานขาดนั้นกลับไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อ หากแต่ทำหน้าที่ตัดสายสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ขั้ว  ทั้งนี้ตลอดเรื่องกนกพงศ์พยายามใช้อุปมาโวหาร เปรียบเทียบอะไรก็ตามให้มองเห็นเป็น ๒ ขั้วจัดเจนมาก เพื่อสนองต่อนโยบายของความเป็นเอกภาพของเรื่อง ดังหน้า ๑๓๖เราอยู่ในหมู่บ้านอันสงบ มีทุ่งนากว้างไกลจรดขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกสำหรับพระอาทิตย์ขึ้น และจรดเทือกเขายาวเหยียดด้านทิศตะวันตกสำหรับพระอาทิตย์ลงนั่นก็ชัดเจน หรือการเปรียบเทียบกับเกมตำรวจจับผู้ร้าย นอกจากนี้ยังเลือกหยิบความทรงจำในวัยเด็กมาเล่าเพื่อเพิ่มแรงสะเทือนใจ เลือกการใช้กระแสสำนึกของคนเล่า (สรรพนามบุรุษที่ ๑ ) ทำให้เกิดสภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันนิด ๆ อีกด้วย             บรรยากาศของเรื่องมีรายละเอียดย่อยที่ลดหลั่นกันอีกมาก จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดกับจุดขัดแย้งในเรื่องที่ล้นเหลือ แม้กระทั่งผู้เขียนเองยังสารภาพออกมาตรง ๆ ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความขัดแย้ง  (จากหน้า ๑๔๐ )องค์ประกอบย่อยเหล่านี้ดูหลากหลายและขัดแย้งกันจนพรุนไปหมด แต่หากขาดการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว อาจดูเรื่องสั้นที่หละหลวมและล่มไม่เป็นท่า แต่กนกพงศ์สามารถคิดสร้างอย่างละเอียดลออและเข้มข้นยิ่ง สำหรับเรื่องสะพานขาดนี้เมื่อกนกพงศ์ปรุงและย่อยองค์ประกอบต่าง ๆ จนเสร็จสรรพแล้วป้อนเข้าปากผู้อ่านนั้น ผู้อ่านจึงแทบไม่ต้องเคี้ยวอีกเลย ก็เหมือนกับผู้อ่านเป็นผู้รับเสพแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะที่กนกพงศ์ได้ให้ความคาดหวังว่ารสสัมผัสจะยังติดตรึงอยู่กับผู้อ่านไปอีกนาน เพราะเขาไม่ได้ทำการพิพากษาเหตุการณ์ในเรื่องมากนักเพียงแต่ยกเอาเฉพาะเหตุการณ์มาให้ผู้อ่านทำหน้าที่พิพากษาเองเทียบเคียงกับเรื่อง โลกใบเล็กของซัลมาน  เรื่องสั้นรางวัลช่อการะเกด ๒๕๓๓  เป็นเรื่องสั้นที่เล่าอย่างนุ่มนวลมากขึ้นกว่า สะพานขาด โดยต้องยอมรับว่ากนกพงศ์ไม่ใช่นักเขียนที่จะมองผ่านแบบปราดเดียวแล้วสามารถมองเห็นวิธีคิดของเขาได้ปรุโปร่ง เนื่องจากเขารู้จักสิ่งผิดปกติของเรื่องสั้น สามารถจับคู่ขั้วความขัดแย้งได้อยู่มือ ทั้งเขายังตระหนักได้ถึงคำว่า ฉลาด ล้ำ การจงใจ เหตุผล ยัดเยียด  รุงรัง โง่ เขลา หรือการเสแสร้ง แกล้งโง่ อารมณ์ขัน ฝัน จริง ฯลฯ ทั้งมวลนี้ล้วนเป็นวิทยาการของการเขียนเรื่องสั้นของกนกพงศ์ทั้งสิ้น  เขารู้จักตัวเองและผลงานของตัวเองดีกว่านักเขียนหลายคน นั่นจึงทำให้เขารู้ว่าควรทำอย่างไร เพื่ออะไร และนั่นคือกนกพงศ์ นักเขียนผู้ล่วงลับ ผู้เคยกล่าวว่าสำหรับเขาวรรณกรรมเป็นศาสนา  ด้วยความนับถือยิ่งกับนักเขียนรางวัลซีไรต์อีกคน ไพฑูรย์ ธัญญา จากเรื่อง ปลาตะเพียน วรรณกรรมยกย่องประเภทเรื่องสั้น ปี ๒๕๓๔ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนักเขียนอีกคนที่รู้จักข้อดี ข้อเด่นของผลงานตัวเองและคนอื่น  เขารู้ว่าเรื่องสั้นจะแข้งกร้าว กระด้างไปอย่างไร และควรลด-เพิ่มอะไร ตรงไหน ปลาตะเพียน เป็นเรื่องสั้นที่แบ่งขั้วขัดแย้งเป็น ๒ ฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายขนบเก่าดั้งเดิมและฝ่ายโลกสมัยใหม่เน้นการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ ปฏิเสธของเก่าอย่างไสยศาสตร์อย่างไร้เหตุผล ซึ่งโดยวิธีคิดแบบนี้ก็ขัดแย้งกับตัววิธีแบบเป็นเหตุเป็นผลอย่างวิทยาศาสตร์เองด้วย  ทั้ง ๒ ขั้วขัดแย้งนี้ยังอิงกับสัญลักษณ์จากตัวละคร คือยายช้อยและน้องสาว ซึ่งก็คือ ๒ ขั้วตรงข้ามกัน    เนื้อหาของเรื่องเป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิด ๒ ขั้วที่สุดท้ายกลับสมานกันได้ด้วยสภาวะหนึ่ง โดยอาศัยความจำยอม และผ่อนปรนของแต่ละฝ่าย ซึ่งในเรื่องใช้ ปลาตะเพียน สัญลักษณ์แทนความทรงจำอันอบอุ่น ความรัก เข้ามาเป็นสื่อกลาง เป็นทั้งตัวแทนปัญหาและตัวคลายปัญหาลักษณะแบบมนุษยนิยมในเรื่องสั้นนี้ เน้นให้เห็นถึงพัฒนาการของทัศนะคติของตัวละครไปสู่จุดคลี่คลายในตอนจบของเรื่อง ซึ่งวิธีการของไพฑูรย์นี้เองที่ได้เปิดประตูวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตไปสู่โลกใหม่กับเนื้อหาเชิงศีลธรรมที่ว่า การยอมรับในความเป็นอื่น ไม่ใช่การหักล้างซึ่งกันและกัน จะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขโดยความต่างก็ยังคงดำรงอยู่  ขณะที่เรื่อง แข่งหนังตะลุง ของ ภิญโญ ศรีจำลอง ที่แบ่งเป็น ๒ ขั้วขัดแย้งในลักษณะเดียวกัน แต่ต่างเหตุการณ์และบรรยากาศของเรื่อง โดยแข่งหนังตะลุงเป็นเรื่องของนายหนังสองคณะที่แสดงประชันกัน และนายหนังของสองคณะก็ต่างกันตรงที่คนแรกเป็นตัวแทนของนายหนังรุ่นเก่า ใจนักเลง มากเมีย และดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ตรงข้ามกันนายหนังหนุ่มรุ่นใหม่ แต่สุดท้ายทั้งคู่ต่างก็ยอมรับในความเป็นอื่นของกัน เช่นเดียวกับเรื่องปลาตะเพียนกับเรื่อง คือชีวิต...และเลือดเนื้อ ของไพฑูรย์ เรื่องสั้นชนะเลิศในการประกวดเรื่องสั้นโครงการหอสมุดเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ) ปี ๒๕๒๖ ที่พูดถึงการยอมรับในความเป็นอื่น แต่เรื่องนี้เน้นการสร้างบรรยากาศให้เข้ามามีอิทธิพลเหนือแนวคิดแบบเพื่อชีวิต และไม่แบ่งขั้วขัดแย้งชัดเจน แต่สร้างให้คู่ปฏิปักษ์ต่างตกอยู่ในสภาวะดุจเดียวกัน เรื่องเล่าถึงแม่ผู้ท้องแก่กับลูกสาวตัวน้อยที่ต้องเผชิญชะตาลำพังในหนทางที่อัตคัดแสนเข็ญ เนื่องจากพ่อ,สามีทิ้งนางไปตั้งแต่เริ่มตั้งท้องใหม่ ๆ  หากจะนับว่าเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมก็ถูกต้อง แต่เป็นโศกนาฏกรรมที่มีความอิ่มเอมใจอันงดงาม เพราะจุดพลิกผันของเรื่องอยู่ที่ มีนางหมาแก่ขี้เรื้อนเข้ามาขโมยไข่ไก่ที่นางเลี้ยงไว้เก็บไข่ให้ลูกสาวตัวน้อยกิน เรื่องดำเนินไปถึงจุดคลี่คลายที่สองฝ่ายต่างเห็นใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละครคือ แม่ผู้ท้องแก่นั้น เปลี่ยนจากความเกลียดชังคั่งแค้นหมายเอาชีวิตหมาแม่ลูกอ่อนมาเป็นการให้อภัยและนางก็พบสุขใจด้วย ดังในตอนจบของเรื่อง  หน้า ๘๔นางหันไปสบตากับลูกน้อย ยิ้มอย่างมีความสุข รู้สึกอบอุ่นและมั่นใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน. แม้จะฟังดูห้วนและง่ายเกินไป แต่อย่างน้อยผู้อ่านก็จะได้เห็นแววของความสุขและรอยยิ้มเป็นครั้งแรกของเรื่อง ในรวมเรื่องสั้นคลื่นทะเลใต้เล่มนี้ แม้นจะรู้สึกได้ในแวบแรกว่าเป็นเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตทั้งสิ้น แต่ทุกเรื่องล้วนมีประตูบานหนึ่งที่จะผลักห้องของแนวเพื่อชีวิตออกไปสู่โลกภายนอก โลกเบื้องหน้าของประตูบานนี้จะแปลกตาเท่าที่เราคาดหวังหรือไม่ หากมีจังหวะเหมาะ ๆ ก็น่าจะหามาอ่าน แต่อย่าลืมว่า- -ยังมีเรื่องสั้นของนักเขียนยอดฝีมืออีกหลายคนที่จะนำมาบอกเล่าให้เห็น... ในตอนที่ ๒
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน“ทะแยมอญ” เป็นการละเล่นพื้นบ้านของมอญอย่างหนึ่ง สำหรับท่านที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน คงหลับตานึกภาพไม่ออก แต่อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า เป็นการแสดงที่ให้อารมณ์คล้ายๆ การแสดงลำตัดของไทย เป็นการร้องโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวี มีทั้งเรื่องธรรมและเกี้ยวพาราสีของนักแสดงชายหญิงประกอบวงมโหรีมอญ คนที่ฟังไม่ออกก็อาจเฉยๆ แต่หากเป็นคนมอญรุ่นที่หิ้วเชี่ยนหมากมานั่งฟังด้วยแล้วละก็ เป็นได้เข้าถึงอารมณ์เพลง ต้องลุกขึ้นร่ายรำตามลีลาของมโหรี หรือบางช่วงอาจเพลินคารมพ่อเพลงแม่เพลงที่โต้กลอนกันถึงพริกถึงขิง อาจต้องหัวเราะน้ำหมากกระเด็นไปหลายวาทีเดียวทะแยมอญบ้านเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ถ่ายเมื่อราวปี 2500
สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด ตัวใครตัวมัน การทำสิ่งใดโดยไม่ตามใคร“ฉลาม” เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ที่โปรยปกท้าทายคนที่ไม่เชื่อมั่นในความรักว่า “เรื่องรัก ที่จะกัดกินไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ” ตัวอักษรในหนังสือ165 หน้าถ่ายทอดเรื่องราวของ หญิงสาวชาวไทยที่ไม่ปลื้มกับชื่อเสียงเรียงนามของตัวเองนัก “น้ำใจ บุญบดินทร์” อายุเพียงยี่สิบปีเศษ หญิงสาวสุดเปรี้ยว แต่ในความเปรี้ยวของเธอนั้นเหมือนน้ำส้มสายชูมากกว่ามะนาวเพราะอะไรนะหรือ? ความเปรี้ยวที่เกิดในตัวเธอมันเกิดจากการแต้มแต่งชีวิตของเธอเองในขณะที่หัวใจและจิตวิญาณเธอยังสับสนกับความหมายของชีวิต เราจะรู้สึกทันที่ถึงความอ้างว่าง-เปล่าดายในลมหายใจของตัวละคร หลักๆ สองคน คือหญิงสาวกับชายหนุ่มนาม “กระถิก” ผู้อาศัยอยู่ในต่างแดนเหล้า-บุหรี่ -โคเคน-กัญชา นำมาซึ่งคราบน้ำตาของตัวละครทั้งสองฉันอ่านเรื่องนี้แล้วอดคิดตามไปด้วยไมได้ว่า ชีวิตฉัน ถึงจะข้องแวะสารเสพติดบ้างแต่ก็แค่นิดๆหน่อย พอที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เหตุผลหลักของฉันคือ ...ฉันจะไม่ยอมมีชีวิตอยู่อย่างเป็นทาสสิ่งใดฉันจะไม่ยอมอยู่อย่าง...คล้ายว่าต้องค่อยพึ่งพาสิ่งหนึ่งสิ่งนั้น หากไม่มีมัน ฉันจะทุรนทุราย นั่นคือ เหตุผลที่ฉันจะไม่ยอมให้ตัวเองเป็นเช่นนั้นเช่นเดียวกันกับ “น้ำใจ” และ“กระถิก” พวกเขาไม่ติดสารเสพติดเหล่านั้น แต่มีชีวิตอยู่เหมือนขาดแก่นแกนให้ยึดเหนี่ยว แม้กระทั้งความรักที่เกิดขึ้นก็ยังถูกปฎิเสธให้มันเติบโตอย่างที่มันควรจะเป็น ในความดิบ-เถื่อนและคำสบถหยาบคายต่าง ๆ ที่หลุดจากปากตัวเอกของเรื่องราวกับโลกทั้งโลกไม่มีความหมาย ภาพรูปแบบ ปัจเจกบุคคลอย่างชัดเจน “ตัวกู-อย่างยุ่งเรื่องของกู”ในสังคมที่ต้องเดินเบียดไหล่กับคนแปลกหน้าในท้องถนน เรามักโหยหาความเป็น “ส่วนตัว” แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการให้มีคน “ห่วงใย” แท้จริงแล้ว...เราจะยังดำเนินชีวิตอยู่โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้จริงหรือ?อ่านเพียงผิวเผิน ฉลามอาจไม่ต่างจากนิยายที่ว่าด้วยเรื่องเด็กสาวใจแตก กับวังวนของชีวิต แต่สิ่งที่ทำแตกต่างกว่านิยายเกลื่อนแผงคือการถามหาความหมายของชีวิตในตัวละคร และโดยเฉพาะเมื่อ “น้ำใจ” ต้องเปลี่ยนสถานภาพจากคนที่เป็นลูกมาเป็นรับบทแม่ แต่สิ่งที่บรรเทาและเยี่ยวหัวใจที่บาดเจ็บของ "น้ำใจ"คือความรัก ของ ผู้ซึ่งเธอเรียกว่า "แม่" น้ำใจ ที่กำลังจะเป็น "แม่" กับความรู้สึกสับสนว่าการเป็น "แม่" มันคืออะไร และบทบาท "แม่" ที่ต้องคอยดูแล "ลูก" ที่กำลังจะกลายเป็น "แม่"ฉันมองเห็นช่องว่างของสังคมที่ถ่างและกว้างสุดกว้างในขณะเดียวกันมันก็ใกล้แต่ใช้มือโอบกอด และสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนที่มีในซ่อนในตัวอักษรไม่ต่างจากความอ่อนโยนของแม่ของน้ำใจที่มีให้ลูกสาวผ่านท่าทีที่เย็นชา ราวกับไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อนของลูก ทว่าในความเป็นจริงมันตรงข้าม เธอแทบกลายเป็นคนเสียสติเมื่อลูกสาวได้รับอุบัติเหตุความรู้สึกของถิกที่มีต่อน้ำใจ ไม่ได้เด่นชัดพอให้ฉันประทับใจได้ แต่ในทางตรงข้ามทำให้ฉันเผลอยิ้มกับความอ่อนหวานของผู้ชายอ่อนโยนที่ใช้ถ้อยคำหยาบคายคนนี้ ทำให้เห็นว่า ความรัก เป็นได้มากกว่าทิ่คิด‘ในท้องน้ำที่สงบร่มเย็น เราคิดอย่างดีแล้วว่า หนทางข้างหน้าคือปะการังที่สวยงาม ไม่มีภยันตรายใด ๆ ปลาน้อยแหวกว่ายเล่นได้ ไม่มีพิษ เราเลือกที่จะดำน้ำลงไป กับคนที่เรารัก กับรอยยิ้มที่กำลังแค่เริ่มผลิ...แต่บางทีเราก็ลืมคิดไปว่า อะไรบางอย่างที่กำลังตามมาหรืออยู่ข้างหลังอาจจะเป็น ในสิ่งที่ไม่มีวันคาดถึง’ข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นเพราะเราได้มองเห็นจุดเจ็บที่ปวดร้าวตอนจบและหนทาง...ก่อนที่ความผิดพลาดจะมาเยือน
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางอีกครั้งหนึ่งหลังจากต้นปีผ่านมา...เป็นการเดินทางที่ไม่ยาวนานนักในสามจุดหมายคือเซินเจิ้น หนึ่งเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่ แวะฮ่องกงและกลับจากมาเก๊า แต่ก็มีความเหนื่อย เหน็บหนาวจากสภาพอากาศอันไม่คุ้นเคยของจุดหมายที่ว่าแต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าการเดินทางอันไม่คาดหมายว่าจะผ่านเข้ามาสู่ชีวิตรวดเร็วอย่างไม่ทันจะตั้งตัว จะเป็นการเดินทางอีกครั้งที่ ‘ช่วยชีวิต’ ผมเอาไว้................................................ที่ว่าการเดินทางช่วยชีวิตเอาไว้นั้น ไม่ได้หมายความว่าผมไปผ่านพ้นหรือผจญภัยกับสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแล้วเอาชีวิตรอดกลับมาได้ แต่หมายถึงว่าช่วงเวลาแห่งการเดินทางมันได้ช่วยให้ผมหลุดพ้นไปจากข่าวไร้สาระที่เกิดขึ้นในภาวะประจำวัน ที่หากยังอยู่เมืองไทยก็คงไม่แคล้วหรืออดไม่ได้ที่จะได้ยินหรือกรอกหูจนต้องถูกทับถมจากข่าวสารเยี่ยงนี้แม้ว่าจริงๆ จะไม่ได้ให้ความน่าสนใจกับข่าวสารที่เกิดขึ้นก็ตาม................................................“เมื่อสองคืนก่อนมีไฟไหม้ตึกตรงนี้ ไฟลุกท่วมด้านข้างเลยนะ แต่ข้างในไม่ไหม้เลย”  น้าแท็กซี่คันที่นั่งกลับมาจากสนามบินเปิดฉากการสนทนาขึ้นหลังจากก่นด่าเพื่อนร่วมเลนที่เบียดเสียดยื้อแย่งช่องจราจรและรถติดไฟแดงมาได้ร่วมสิบนาทีโดยไม่ขยับเขยื้อน“ไม่รู้มันเผาเอาประกันหรือเปล่า เพราะสร้างก็ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ก็หยั่งว่าแหละครับที่ตรงนี้มันโหงวเฮ้งไม่ดี เป็นที่สามแพร่ง ทำอะไรก็ไม่ขึ้น” น้าแกว่าของแกต่อทันใดนั้นเสียงวิทยุในรถแท็กซี่ก็ดังขึ้นเป็นรายการที่มีเสียงผู้ชายสนทนากันสองคนและเป็นรายการเกี่ยวกับข่าวผู้จัดคนแรกเล่าว่าตอนนี้หกพรรคการเมืองจับมือกันได้แล้วจะจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียง 315 เสียงโดยมีพรรคประชาธิปัตย์ถูกปล่อยให้เหลืออยู่พรรคเดียวต้องเป็นพรรคฝ่าค้านไปอีกข่าวหนึ่งเป็นการรายงานของผู้จัดรายการอีกคนหนึ่งว่าตอนนี้ได้มีสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่เกิดขึ้นและเริ่มเผยแพร่ภาพแล้ว เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่ไม่ให้มีโฆษณาแต่มีผู้อุปถัมภ์รายการได้ และสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่นี้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหลายวงการมาเป็นคณะผู้บริหาร ประกอบด้วย... จากทั้งหมดที่ได้ยินมาจะกล่าวได้หรือไม่ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นเป็นข่าวสาร ข่าวสารที่มีประโยชน์มีคุณค่าน่าบริโภค หรือว่าเป็นเพียงสิ่งที่ผ่านเข้ามาในหูในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งกินเวลาไม่ถึงสามสิบนาทีนับแต่รถติดไฟแดงจนแล่นถึงจุดหมาย................................................ผมถึงเรียกว่าการเดินทางครั้งนี้ช่วยชีวิตผมไว้ เพราะการห่างจากบ้านเกิดเมืองนอนไปชั่วเวลาหนึ่ง จะกี่มากน้อยก็ย่อมทำให้เราทนเรื่องบางเรื่องที่เคยทนไม่ได้ หรือได้ยินเรื่องบางเรื่องที่น่าจะเป็นสิ่งเก่าหรือเรื่องเก่าแต่เวลาที่แตกต่างออกไปแต่เวลาก็ทำให้มันดูเหมือนมีองค์ประกอบใหม่ ดูแปลกหูแปลกตาน่าสนใจน่ารับรู้ขึ้นทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วอาจจะคือเรื่องเก่าหรือสิ่งเก่าๆ ที่วนเวียนในกรอบของการรับรู้เดิมๆ การเดินทางแม้สักชั่วเวลาหนึ่งก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากจะรับรู้หรือสิ่งที่ผ่านเข้ามาสู่ประสาทสัมผัสก็คล้ายดูเป็นเรื่องใหม่หรือข่าวสารที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ทำให้ไม่น่าเบื่อหรือไม่รู้สึกว่าต้องถูกยัดเยียดหรือต้องทนรับฟังแต่อย่างใดการมีรัฐบาลใหม่ (จากนักการเมืองหน้าเดิมๆ วิธีการทำงานเดิมๆ หรือบรรยากาศของการยื้อแย่งแบ่งปันผลประโยชน์แบบเดิมๆ) หรือการมีสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ (แต่ไม่มีใครเชื่อมั่นว่าจะเป็นสถานีเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริงได้อย่างไรโดยไม่ใช่แหล่งทำมาหากินและการยัดเยียดจากสื่ออีกทางหนึ่ง) ฟังเหมือนเป็นบรรยากาศที่มีความหวังของคนที่ห่างบ้านห่างเมืองแล้วกลับมาสู่บรรยากาศของการรับรู้ข่าวสารต่างๆ อีกครั้ง เป็นเหมือนความเคลื่อนไหวที่ยังไม่แน่ใจว่าจะไปในทางดีหรือทางร้ายแต่มองในอีกมุมหนึ่งมันก็ช่างคล้ายรอยกระเพื่อมไหวของวงน้ำที่เกิดขึ้นในบ่อน้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งก่อนที่วงน้ำที่เคลื่อนไหวนั้นจะตีวงกว้างจางหายไปกับขอบบ่อแคบๆ อย่างรวดเร็วภายใต้บรรยากาศเก่าๆ เดิมๆ ของประเทศแห่งนี้
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’  ชื่อหนังสือ      :    วิมานมายา  The house of the sleeping beautiesประเภท         :    วรรณกรรมแปลจัดพิมพ์โดย    :    สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิมพ์ครั้งที่ ๑   :    มิถุนายน ๒๕๓๐ผู้เขียน          :    ยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้แปล           :    วันเพ็ญ บงกชสถิตย์   
สวนหนังสือ
‘นายยืนยง’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยผู้ประพันธ์ผู้แปล:::::เปโดร  ปาราโม ( PEDRO  PARAMO )วรรณกรรมแปลสำนักพิมพ์โพเอม่าฮวน รุลโฟราอูล  การวิจารณ์วรรณกรรมนั้น บ่อยครั้งมักพบว่าบทวิจารณ์ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านหรืออ่านวรรณกรรมเล่มนั้นแล้วได้เข้าใจถึงแก่นสาร สาระของเรื่องลึกซึ้งขึ้น แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่บทวิจารณ์ต้องมีคือ การชี้ให้เห็นหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจุดเด่นสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ของวรรณกรรมเล่มนั้น วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์ หลักเกณฑ์นี้เป็นข้อสำคัญหนึ่งที่ทำให้วินิจฉัยว่าวรรณกรรมแต่ละเรื่องมีคุณค่าเพียงใด และข้อสังเกตนี้เองที่เทียบเคียงให้เห็นถึงความสามารถของผู้ประพันธ์ขณะเดียวกัน การที่ผู้ประพันธ์จะนำพาผู้อ่านสัญจรไปในเรื่องราวนั้น ต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญหลายประการ และในวรรณกรรมแปลเรื่องนี้ ผู้อ่านจะได้พบกับความเป็นเอกภาพอย่างหนักแน่นที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่ละองค์ประกอบของนวนิยายไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ฉาก บรรยากาศ เนื้อหา สำนวนภาษา ทั้งหมดทั้งมวลได้ถูกหลอมรวมกันจนเป็นเนื้อเดียว ไม่อาจแยกแยะออกมาอย่างโดด ๆ ได้ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปหากจะจำแนกองค์ประกอบของวรรณกรรมประเภทนวนิยายในพื้นที่จำกัดนั้น เห็นว่าไม่สมควรยิ่งที่จะกล่าวถึงองค์ประกอบหลายข้ออย่างผิวเผิน จึงขอเลือกกล่าวถึงในข้อที่โดดเด่นสำคัญจะรัดกุมกว่า โดยเฉพาะนวนิยายแนวเมจิกเคิล เรียลลิสม์  เล่มกะทัดรัดจากเม็กซิโกของ ฮวน รุลโฟเล่มนี้ ซึ่งมีเนื้อหาให้กล่าวถึงอย่างไม่รู้จบ ลักษณะพิเศษของวรรณกรรมกลุ่มนี้คือให้ภาพเหนือจริงที่ยืนอยู่บนฐานของความเป็นจริง เป็นความพิศวงที่ก้าวเข้ามาสู่ใจผู้อ่านด้วยน้ำเสียงปกติสม่ำเสมอ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านจะได้เผชิญมาแล้วในวรรณกรรมเล่มอื่น และผู้ประพันธ์ท่านอื่น โดยเฉพาะ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่เรารู้จักกันดี เปโดร ปาราโม เป็นเรื่องราวธรรมดาของชายผู้หนึ่งที่ตัดสินใจยอมทำตามคำสัญญาที่ได้ให้ไว้กับแม่ก่อนที่แม่จะสิ้นลมหายใจตายไป เขาต้องไปตามหาพ่อ ที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตา ในเมืองที่เขาไม่เคยเหยียบย่างเข้าไป ชายที่เป็นพ่อของเขานั่นเองที่ชื่อ เปโดร ปาราโม ในเรื่องราวธรรมดานี่เองที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบอันซับซ้อน ลุ่มลึก ทั้งจากตัวละครที่แสนประหลาด ซึ่งแต่ละตัวละครนั้นเหมือนได้ถูกดูดกลืนรวมเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่ทารุณปานนรก  ยังเต็มไปด้วยนัยยะประหวัดที่เร้าให้ขบคิด บรรยากาศของเรื่องยิ่งชวนให้พิศวงงงงวยอย่างที่สุด โดยเฉพาะกับฉากของเรื่อง คือเมืองโกมาลา ที่ทิ้งน้ำหนักต่อเนื้อหาไว้ตลอดเรื่อง และเนื้อหาก็กล่าวถึงสภาวะจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ หลอมรวมกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และผู้คนในเมืองแห่งนี้ ได้แปรสภาพเป็นลักษณะนิสัย ทัศนคติ และท่าทีของตัวละคร ที่รุกเร้า คืบคลานเข้ามาอย่างแสนกระท่อนกระแท่น ดูจากประโยคแรกของผู้เป็นแม่ในขณะจวนสิ้นลมทำให้ภาพพจน์ของเปโดรผุดขึ้นเป็นครั้งแรก ในหน้า ๙ “ จงอย่าขอสิ่งใดจากเขา นอกจากส่วนที่เป็นของเรา สิ่งที่เขาควรให้แม่แต่ไม่เคยหยิบ    ยื่นให้...จงให้เขาตอบแทนเจ้า ลูกชาย  เพราะตลอดเดือนปีที่ผ่านมาเขาไม่เคยมีเราอยู่    ในห้วงคำนึงเลยสักนิด ”ภาพพจน์ดังกล่าวนี้เองที่ปลุกให้ผู้อ่านใคร่รู้ต่อไปว่า ใครคือเปโดร ปาราโมคนนั้น เขาเป็นคนประเภทไหน และเขาอยู่ที่นั่น โกมาลา ดินแดนที่ร้อนร้าว กระทั่งกลิ่นอากาศก็ยังทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในนรกตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้อ่านจะได้รู้จัก เปโดรคนนั้น ผ่านคำบอกเล่าแบบกระท่อนกระแท่น ไม่ปะติดปะต่อ และแสนจะกระพร่องกระแพร่ง จากการเล่าแบบสลับไปมา ไม่ต่อเนื่อง จากเหล่าดวงวิญญาณผู้น่าเวทนา จากชะตากรรมของพวกเขา ผู้เรียกร้องและรอคอยให้ใครสักคนผ่านมา แล้วสวดมนตร์ให้พวกเขาพ้นทุกข์ทรมานนี้ขณะเดียวกันกับที่ความจริงค่อย ๆ หลุดล่อนออกมาทีละแผ่นบาง ๆ ราวกับเป็นแผ่นผนังที่ทาสีไว้จนเก่าแก่ ต้องสัมผัสแรงลมและค่อยหลุดออก... ทำให้รู้สึกถึงความยากที่จะเชื่อมโยงคำบอกเล่าของแต่ละคน, แต่ละวิญญาณ เข้าเป็นภาพเต็มของเปโดรคนนั้น  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่านซ้ำหลายรอบ ทำให้เกิดคำถามว่า วรรณกรรมที่ดีนั้นจำเป็นต้องอ่านยากเสมอไปหรือ?ขณะที่ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ บอกว่า “ไม่มีหนังสือเล่มไหนมีค่าสำหรับการอ่าน หากตัวมันเองไม่มีค่าพอที่จะอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ”ความยากของเรื่องราวชวนให้พิศวง ไม่ต่อเนื่องของ เปโดรฯเล่มนี้ ไม่ใช่ความยากประการเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีบรรยากาศแปลกประหลาด ตัวละครพิลึกพิสดารนับไม่ถ้วน เหนืออื่นใด ต้องถือว่า ฮวน รุลโฟผู้ประพันธ์  ย่อมมีนัยยะพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะบอกเล่าแก่ผู้อ่าน โดยเฉพาะมูลเหตุของเรื่องเลวร้ายทั้งมวล อันบังเกิดจากความรักที่ใคร ๆ ต่างก็รู้จักความรักของชายชื่อ เปโดร ปาราโมเป็นความรักอันแสนหวานของวัยหนุ่มสาว และเขาได้ทำทุกวิถีทางเพื่อจะได้เธอมา ซึ่งผู้ประพันธ์ได้เล่าผ่านเสียงกระซิบกระซาบที่ฝังอยู่ในเมืองโกมาลา เพื่อบอกแก่ ฮวน ปรีเซียโดลูกชายผู้ออกตามหาพ่อของเขา เสียงแรกที่กล่าวถึงความรักนี้ มาถึงสัมผัสรู้สึกของเขา ในยามที่เหนื่อยล้าและยอมจำนน ขณะเดียวกันที่ในเรื่องบอกเล่านั้น อารมณ์ของเปโดร ปาราโม ชายผู้มีฐานะยากจน กลับดูรุนแรง ลุกโชนเร้าอารมณ์ ด้วยการบรรยายฉากที่อาศัยสัญลักษณ์ทางเพศที่ใช้กันในงานวรรณกรรม ดังหน้า ๑๙ น้ำหยดลงมาจากหลังคามุงกระเบื้องกำลังทำให้เกิดรูบนพื้นทรายที่ลานบ้านติ๋ง! ติ๋ง! แล้วก็อีกติ๋ง! ขณะที่หยดน้ำกระทบกับใบลอเริลซึ่งกำลังกระเพื่อมขึ้นลงในรอยแยก    ระหว่างกำแพงอิฐ พายุพัดผ่านไปแล้ว บัดนี้ลมอ่อน ๆ ที่พัดมาเป็นพัก ๆ ทำให้พุ่มต้นทับทิมสั่น     ปลดปล่อยละอองฝนลงมาหนาตา สาดพรมพื้นดินด้วยหยดเล็ก ๆ ซึ่งไร้ชีวิตชีวาก่อนจะดิ่งหาย   ลงไปในพื้นดิน ฯลฯ ...  เมื่อหมู่เมฆเคลื่อนหนีไป ดวงอาทิตย์สาดแสงลงมากระทบโขดหิน แผ่    รังสีสุกสว่างเหลือบคล้ายสายรุ้ง ดูดน้ำไปจากพื้นดินสะท้อนแสงวับวาวบนใบไม้ซึ่งกระเพื่อมไหว    เพราะสายลมแผ่ว.. การบรรยายถึงบรรยากาศเช่นนี้ถูกตรึงไว้ตลอดเรื่อง และสิ่งนี้เองที่ได้ผูกรัดผู้อ่านไว้กับเรื่องราวตรงหน้า จึงไม่สามารถละเลยที่จะกล่าวถึงจุดเด่นนี้ได้เลย แต่เพียงไม่กี่นาทีที่ผู้อ่านกำลังเคลิบเคลิ้มไปกับอารมณ์ของบรรยากาศนั้น เราก็จะถูกกระชากออกไปสู่อีกเรื่องราวหนึ่ง จากคำบอกเล่าของใครบางคนที่ไม่เคยมีแม้กระทั่งลางสังหรณ์ที่จะสะกิดเตือนผู้อ่านไว้ก่อนแม้แต่น้อย จากฉากข้างต้นนั่นเอง เพียงชั่วอึดใจที่ฮวน ปรีเซียโดเริ่มสัมผัสได้ถึงชีวิตของเปโดร ปาราโมพ่อที่เขาตามหานั้น เขาก็ได้รู้อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ อาบุนเดียว ชายผู้นำทางเขามายังโกมาลานั้น เสียชีวิตไปนานแล้วการเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตอันเกี่ยวกับเปโดร ปาราโมจากเหล่าดวงวิญญาณและเสียงกระซิบกระซาบที่ฝังอยู่ในซอกกำแพงหรือใต้หลุมฝังศพ ประกอบไปด้วยโศกนาฎกรรมในวันก่อน ๆ และบอกถึงลักษณะนิสัยอันเหี้ยมโหด เย็นชาของเปโดรไปพร้อมกัน การเล่าด้วยวิธีการนี้เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ใดกันเล่า หากฮวน รุลโฟจะไม่ได้ต้องการวางทัศนคติเกี่ยวกับความดี ความชั่ว ข้อเท็จจริง ผ่านจากทุกมุมมองโดยไม่ได้ก้าวเข้าไปพิพากษาการกระทำเหล่านั้นแม้แต่น้อย ด้วยทัศนคติดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ผู้ประพันธ์สามารถหลอมรวมทุกองค์ประกอบเข้าไว้เป็นเนื้อเอกภาพอันหนักแน่นดังได้กล่าวไว้ข้างต้น  หากยกตัวอย่างการบรรยายในหน้า ๒๐ ที่พรรณนาถึงอารมณ์เปโดรฉันคิดถึงเธอ ซูซานา คิดถึงเนินเขาสีเขียวชอุ่ม คิดถึงตอนที่เธอเล่นว่าวในฤดูที่มีลมแรง เราแทบ   ไม่ได้ยินสรรพเสียงแห่งชีวิตจากเมืองที่อยู่เบื้องล่าง เราอยู่สูงเหนือเนินเขา กำลังปล่อยเชือกให้    ออกมาสัมผัสแรงลม “ช่วยฉันที ซูซานา ”และมือที่อ่อนนุ่มจะบีบมือฉันไว้แน่น  “คลายเชือก    ออกไปมากกว่านี้สิ ”การบรรยายดังยกตัวอย่างมานี้ มีนัยยะในทางเพศรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันยังมีสัญลักษณ์ที่ทำให้รู้สึกร่วมไปได้หลายเรื่องกว่าความรัก  หรือในหน้า ๒๙วันที่เธอจากไป ฉันรู้ว่าไม่มีโอกาสได้พบเธออีกแล้ว เธอถูกแต้มแต่งด้วยแสงสีแดงจากดวง    อาทิตย์ยามบ่ายแก่ ๆ จากความสลัวที่ฉาบท้องฟ้าไว้ด้วยโลหิต ฯลฯนี่เป็นการบรรยายที่กระชับแต่เต็มไปด้วยนัยยะอีกเช่นกัน และจะได้พบบรรยายกาศเช่นนี้ตลอดเรื่อง หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในหน้า ๒๑สูงขึ้นไปเหนือม่านเมฆหลายร้อยเมตร สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปเหนือสรรพสิ่ง เธอคงกำลังซ่อนตัวอยู่    ตรงนั้นสินะ ซูซานา ซ่อนตัวในความไร้ขอบเขตของพระเจ้า เบื้องหลังการคุ้มครองของพระองค์     ที่ที่ฉันไม่สามารถแตะต้องหรือมองเห็นตัวเธอได้ และที่ที่คำพูดฉันไม่มีวันไปถึง  ลำพังความซับซ้อนของเรื่องเล่าทั้งหลายนั้น หากขาดซึ่งมนตร์เสน่ห์แบบเมจิกเคิล เรียลลิสม์ แล้ว ไหนเลยจะตรึงผู้อ่านไว้ได้ ในเรื่องนี้ยังมีจุดสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การใช้โวหารแบบบุคลาธิษฐาน เติมเข้ามาอีก ตลอดเรื่องทุกสรรพสิ่งดำเนินอยู่ราวกับมีลมหายใจ มีชีวิตจิตใจไม่ต่างจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นต้นมะลิ นกฮัมมิงเบิร์ด นกเลียนเสียง ประตู หน้าต่าง ดวงไฟ ท้องฟ้า ผืนดิน กำแพง ดวงดาว ม้า ลา  แส้ ฯลฯ ยกตัวอย่าง หน้า ๗๙ครั้นฟ้าสางเม็ดฝนกระหน่ำลงมารดแผ่นดิน เกิดเป็นเสียงดังผลุขณะพุ่งเข้าใส่ดินที่อ่อนยวบยาบ    บนร่องดิน นกเลียนเสียงตัวหนึ่งโฉบลงมาต่ำเหนือทุ่งหญ้าและร้องเสียงโหยหวน เลียนเสียงเด็ก    ร้องด้วยความทุกข์ใจ พอไกลออกไปได้หน่อยหนึ่งมันร้องอะไรบางอย่างออกมาฟังคล้ายเสียง    สะอึกสะอื้นด้วยความเหนื่อยล้า และไกลกว่านั้น ที่ซึ่งเส้นขอบฟ้าเริ่มมองเห็นได้อย่างชัดเจน มัน    สะอึกและหัวเราะร่วน ก่อนจะร้องโอดครวญอีกครั้ง  เป็นอีกตัวอย่างที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ทั้งบรรยากาศในท้องเรื่อง อารมณ์ผู้คน แม้แต่เด็กยังร้องด้วยความทุกข์ใจ หรือ หน้า ๘๐ ประตูบานใหญ่ในมีเดียลูนากรีดร้องเสียงแหลมลั่นขณะแกว่งเข้าออก เปียกปอนเพราะลมที่พัด    พาเอาความชุ่มชื่นมา ฯลฯ ทั้งหมดที่ได้กล่าวแล้วนั้น เป็นเพียงข้อสังเกตเล็กน้อย เพราะวรรณกรรมเล่มนี้เป็นความมหัศจรรย์อันละเอียดอ่อน ลุ่มลึก และสร้างแรงกระทบใจได้หลากหลาย ทั้งเศร้าโศก ขมขื่น เวทนาสงสาร ฉงนฉงาย สะอิดสะเอียน และอ่อนหวาน จะมีวรรณกรรมเล่มเล็กใดบ้างจะให้ความรู้สึกหลากหลายได้เช่นนี้บ้าง 
กิตติพันธ์ กันจินะ
มาจนถึงวันนี้ผมยังไม่ได้พาตัวและตาของตนไปดูภาพยนตร์เรื่อง "รักแห่งสยาม" เลย แม้ว่าจะมีเพื่อนๆ หลายคนได้เชื้อเชิญแจ้งแถลงชวนให้ไปดูหลายเวลา หลายคราก็ตาม ผมก็ยังไม่ได้ไปดูเสียทีโดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้เป็นคนปฏิเสธโรงภาพยนตร์นะครับ เพราะภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่จะทำให้ผมไปดูได้นั้น ต้องเป็นเรื่องที่ผมมีเพื่อนไปดูด้วย คือ ถ้าไปคนเดียวผมคงไม่ไปครับ เพราะไม่เคยดูหนังคนเดียว และยิ่งไม่รู้ว่าต้องซื้อตั๋ว ซื้ออะไรยังไงบ้าง เพราะปกติเวลาไปเพื่อนๆ จะเป็นคนซื้อตั๋วและขนมขบเคี้ยวเข้าไปให้สำหรับ "รักแห่งสยาม" ถือเป็นภาพยนตร์ที่มีผู้คนกล่าวถึงค่อนข้างมาก และกล่าวถึงในหลายแง่มุม เช่น เรื่องดังกล่าวนี้ส่อให้เห็นเรื่องวัยรุ่นรักเพศเดียวกัน บางคนมองว่าแสดงถึงความหวานแหววของวัยรุ่น หญิงชาย บางคนก็ชื่นชมว่าสะท้อนสัญลักษณ์เรื่องเพศในสังคมได้ดีทีเดียว บางคนมองว่าเป็นหนังหลอกเด็ก บางคนถึงกลับยกย่องให้เป็นหนังแห่งปี ฯลฯรักแห่งสยาม - ภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื้อเรื่องเป็นอย่างไร เรื่องราวในเรื่องดำเนินแบบไหน ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจะสามารถเล่าออกมาได้มากน้อยเพียงใด แต่หากใครที่อยากรู้ อยากดู ก็น่าจะลองเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์หรือไม่ก็รอให้แผ่นวิดีโอซีดีออกมาแล้วค่อยซื้อมาดูก็ได้ทั้งนี้ สิ่งที่ผมสนใจ คือ ชื่อภาพยนตร์ที่ว่า "รักแห่งสยาม" นั้น ดูเสมือนว่าไม่ใช่แค่เป็นภาพยนตร์ที่ดำเนินเนื้อเรื่องในแหล่งวัยรุ่นอย่างสยามสแควร์หรือเซนเตอร์พ้อยท์เท่านั้น หากยังสามารถอธิบายให้เห็นถึงความรักของชนสยามในอดีตได้อย่างน่าสนใจ อย่างในสังคมสยามอดีตที่ผ่านมา กรอบความคิดเรื่องเพศวิถีเป็นเรื่องที่มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด สิ่งที่เคยปรากฏในอดีตนั้น อาจารย์ปรานี วงษ์เทศ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ชี้ให้เห็นถึงความคิดเรื่องเพศวิถีในอดีตว่า "สังคมไทยในอดีตไม่เหมือนสังคมตะวันตก หรือสังคมอินเดีย ที่เน้นความแตกต่างของบทบาททางเพศและมีความเหลื่อมล้ำกันมาก โครงสร้างสังคมมีลักษณะเป็นแบบให้ความสำคัญกับแม่ ในฐานะศูนย์รวมของครอบครัวมาก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการปกครองที่ชายเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นลักษณะโครงสร้างสังคมในอดีตหรือในสังคมชนบท จึงมีลักษณะที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิง หรือผู้หญิงมีความสำคัญมากในครอบครัวและมีบทบาทสำคัญในชุมชนด้วย ไม่ใช่อย่างที่เห็นในปัจจุบันที่เป็นภาพของการพัฒนาที่เน้นสังคมแบบอุตสาหกรรมหรือทุนนิยมที่ให้การยกย่องเพศชายเป็นใหญ่ในการตัดสินชี้นำอำนาจ ควบคุมนโยบายต่างๆ ที่เน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยผู้ชาย ทำให้บทบาทของผู้หญิงลดน้อยหายไป"วิถีชีวิตทางเพศในสังคมสยาม เมื่ออดีต จึงให้ความสำคัญกับเพศหญิง หรือเพศแม่ ในฐานะศูนย์รวมของครอบครัวและสังคม การทำงานของผู้หญิง อาทิ งานบ้าน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเท่าเทียมกับงานของผู้ชาย อีกทั้งระบบเศรษฐกิจยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของที่ดินหรือทรัพย์สินอีกเช่นกัน ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศของสยามเมื่ออดีตนั้น อาจารย์มองว่า "สังคมแต่เดิม การมีเพศที่สามหรือเพศทางเลือกเป็นสิ่งที่มีและรับรู้กันอยู่ แม้อาจไม่ถึงกับชื่นชมยกย่อง หากแต่ก็อยู่ร่วมกันได้ในฐานะมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน สังคมก็ปล่อยให้ทำงานที่พวกเขาถนัด ไม่มีการกีดกัน หรือห้ามไปคบ คนที่เป็นกะเทยในหมู่บ้านอยากทำงานผู้หญิง ชุมชนก็ปล่อยให้ทำงานของผู้หญิงได้ หรือผู้หญิงที่ชอบทำงานของผู้ชายก็จะทำไป ไม่ได้คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ผิด การสลับบทบาททางเพศยังเห็นได้แม้กระทั่งในการเข้าทรง ผู้ชายบางคนเข้าทรงก็จะแต่งเป็นหญิง ผู้หญิงก็จะแต่งเป็นชาย เหมือนเช่นการปรับเปลี่ยนบทบาทในการทำงานในบ้านและนอกบ้านในสังคมชาวนาที่ทั้งหญิงชายทำแทนกันได้ เพราะฉะนั้นการปรับเปลี่ยนบทบาทจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้"(นอกจากนี้ในคัมภีร์โบราณที่ปรากฏในสังคมไทย อาทิ คัมภีร์ปฐมมูลมูลี ก็ยังกล่าวถึงว่า เพศมิได้มีแค่สองเพศ หากแต่มีเพศซึ่งไม่เป็นหญิงและไม่เป็นชายด้วยเช่นเดียวกัน)จากข้อมูลที่ได้รับฟัง ทำให้เห็นว่า รักแห่งสยาม เมื่อคราอดีตนั้นไม่ได้มองเพศแค่ชายกับหญิงเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรื่องเพศวิถีของคนมีความเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น คือมองแค่ว่ามีหญิงชาย มีความรักเฉพาะของคนรักต่างเพศเท่านั้น และมีกรอบกำหนดว่าชายหญิงควรปฏิบัติตัวอย่างไร ผู้ชายทาแป้ง แต่งหน้า ใส่เสื้อรัดรูป เดินจับมือกัน หรือจูบปากกัน - เป็นสิ่งที่คนรักต่างเพศ มองหรือรับไม่ได้เท่าใดนัก ยิ่งเมื่อพฤติกรรมทางเพศของคนรักเพศเดียวกันอย่างชายรักชายปรากฏออกมาผ่านภาพยนตร์เรื่อง "รักแห่งสยาม" แล้ว ยิ่งเป็นการท้าทายระบบความคิด วิถีปฏิบัติของคนในสังคมต่อความหลากหลายทางเพศครั้งหนึ่ง ผมเคยถูกคนที่เป็นชายรักชายเข้ามาจับมือและกอด ตอนนั้นผมรู้สึกแย่มาก บอกไม่ถูก รู้สึกว่าทำไมเขาต้องมาทำกับเราแบบนี้ด้วย แม้ว่าบางทีคนจะมองว่า ผมดูเหมือนชายรักชาย เพียงเพราะชอบทาแป้ง ไม่มีแฟน แต่ภาพที่ปรากฏทำให้ผมถูกมองเป็นชายรักชาย จนมีเกย์คนหนึ่งเข้ามาสวมกอดโดยที่ผมไม่ได้ยินยอมหรือยินดีเลยหลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านมาหลายเดือน ผมเริ่มมองชายรักชายหรือคนรักเพศเดียวกันในมุมที่เข้าใจ คือ เข้าใจวิถีชีวิตทางเพศ เข้าใจพฤติกรรมทางเพศ ผมมองว่าท้ายที่สุดแล้วเราควรมองคนๆ หนึ่งในฐานะที่เขาเป็น "คน" เหมือนเรา และเมื่อเป็นคนเหมือนกัน ไม่ว่า ใครจะใส่เสื้อผ้าแบบไหน แต่งหน้าตาอย่างไร รักเพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศ เราก็ไม่ควรมองว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนรักต่างเพศ หรือรักเพศเดียวกัน แต่เราควรเคารพ เชื่อมั่น ยอมรับ และเข้าใจ เขาในฐานะคนๆ หนึ่ง ทั้งนี้ คนกับคนก็ไม่ควรจะละเมิดสิทธิของคนอื่น ไม่ว่าคุณหรือผมหรือเราจะเป็นใคร เพศไหน นับถือศาสนาอะไร เชื้อชาติใด อายุเท่าไหร่ ก็ตามวันหนึ่ง ผมและเพื่อนนั่งคุยกันที่ร้านกาแฟ แล้วเพื่อนคนนี้ก็ถามผมว่า พี่ผู้ชายคนที่เขาแอบชอบนั้น เป็นชายรักชายหรือชายรักหญิง ผมยิ้มและตอบกลับไปว่า "เขาเป็นคน" "ถ้าเราจะรักใครสักคน มันจำเป็นด้วยเหรอที่จะเลือกรักว่าเขารักเพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศ ถ้าเราจะรักใครสักคน ก็น่าจะรักในสิ่งที่เป็นเขาและเป็นสิ่งที่เขาเป็น" ผมพูดประโยคนี้ทิ้งท้ายพลางหยิบโปสเตอร์หนังรักแห่งสยามขึ้นมา...
มูน
แสงแดดอ่อนๆ ในฤดูหนาว ที่ส่องเข้ามาอาบขนนุ่มละเอียดของแมวข้างหน้าต่าง ทำให้ฉันคิดถึงเด็กคนหนึ่งและความสุขที่ยังคงอุ่นอยู่ในใจเสมอมาหลังเรียนจบ ฉันทำงานพัฒนาชนบทอยู่ที่เมืองโคราช และได้พบกับจ่อย เด็กน้อยวัยสี่ขวบในศูนย์บริบาลเด็กขาดสารอาหารของโรงพยาบาลประจำอำเภอ จ่อยเคยเป็นเด็กขาดอาหารระดับรุนแรง หลังจากรับการรักษาฟื้นฟูจึงเริ่มเดินได้เมื่ออายุราวสามขวบ และเป็นเด็กที่ช่างจดจำอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถเรียกชื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกคนที่รู้จักได้ไม่พลาด ขอแค่ได้ฟังเสียง หรือใช้มือป้อมๆ ลูบคิ้วคางปากจมูกของคนนั้น หลังโรงพยาบาลเป็นทุ่งหญ้ากว้างๆ จำได้ถึงวันหนึ่งในฤดูหนาวที่ฉันว่างเว้นจากการทำงานในหมู่บ้าน และมีโอกาสจูงจ่อยออกไปเดินในแสงแดดอ่อนๆ “อุ่นไหมจ่อย ตากแดดแล้วอุ่นดีนะ แสงแดดมาจากดวงอาทิตย์ที่อยู่บนฟ้าโน่นแน่ะ” ฉันชวนคุยเรื่อยเปื่อย จ่อยแหงนหน้าส่ายไปมาเหมือนจะมองหาดวงอาทิตย์ แต่ภายใต้เปลือกตาที่เกือบปิดสนิทนั้นไม่มีดวงตามาตั้งแต่เกิด“แสงแดดเป็นยังไงคับ” อยู่ๆ เขาก็ถาม “แสงแดดเหรอ อืมม.. สีเหลือง อ๊ะ ไม่ใช่สิ สีทองต่างหาก แสงแดดสีทอง”“สีทองเป็นยังไงหลือคับ” เป็นคำถามที่ตอบยากจริงๆ  “ก็เป็นสีที่สวยมาก เป็นประกายสว่าง ทำให้เรามองเห็นทุกอย่างชัด เอ๊ยไม่ใช่” ฉันสะดุ้งเมื่อนึกได้ว่าเขามองไม่เห็น “คือ...เวลาเช้าๆ แสงแดดสีทองทำให้เรารู้สึกสดชื่น รู้สึกโล่ง สบายใจ เวลาเราหนาวๆ ก็มาตากแดด แล้วเราก็รู้สึกอุ่นๆ แบบนี้ไง เออ จะว่าไงดีหว่า” เป็นคำอธิบายที่ไม่เข้าท่าเอาซะเลย แต่จ่อยพูดขึ้นว่า“ลู้แล้วคับ สีทองอุ่นๆ” เขายิ้มแป้น  ฉันจูงมือน้อยๆ เดินไปอย่างช้าๆ จ่อยยื่นมือไประใบหญ้าเรียวๆ ที่ยื่นมาจากข้างทาง “หญ้า” เขาพูด “หญ้าสีเขียว” ฉันต่อโดยอัตโนมัติ ลืมนึกว่ากำลังคุยกับเด็กช่างซัก “สีเขียวเป็นยังไงหลือคับ” นั่นไง ว่าแล้วเชียว อีกครั้งที่คิดหนัก นั่นสิ สีเขียวเป็นยังไง อ่อนกว่าสีน้ำเงิน แต่เข้มกว่าสีเหลือง แล้วสีน้ำเงินกับสีเหลืองล่ะเป็นยังไง โอ๊ย อธิบายไม่ได้ คิดไม่ออก ฉันจึงเด็ดใบหญ้ามาให้เขาดม“สีเขียวกลิ่นแบบนี้ไงจ๊ะ”จ่อยทำจมูกฟุดฟิดแล้วร้อง “อื๋อ...” ก่อนจะถามต่ออย่างรวดเร็ว“แล้วสีทองกลิ่นยังไงคับ”“อืม กลิ่นยังไงเหรอ” ฉันกุมขมับ เพิ่งรู้ว่าการอธิบายมันยากจริงๆ “ก็มีหลายกลิ่นนะ อย่างกลิ่นสีทองของแสงแดด แล้วแต่ว่ามันส่องไปที่ไหน อย่างตอนนี้ แดดสีทองกำลังส่องทุ่งหญ้า ทำให้มีกลิ่นสดๆ หอมๆ ลองสูดกลิ่นดูนะ หายใจเข้ายาวๆ นะ ฮืดดด...หอม หอมจัง”“ฮืดดด...ฮืดดด...หอม หอมจัง” เขาทำตาม ยืดคอขึ้นลงอย่างน่ารักแมวตัวหนึ่งเดินออกมาจากโรงครัวของโรงพยาบาล มันส่ายหางอย่างอารมณ์ดีอยู่แถวๆ กอหญ้า คงกำลังมองหาตั๊กแตน  “แน่ะ แมว” ฉันบอกจ่อยแล้วร้องเรียก “เมี้ยว เมี้ยว เมี้ยว” มันหันขวับแล้ววิ่งหางชี้มาหาทันที คงจำได้ว่าคนนี้เองที่แบ่งกับข้าวให้กินบ่อยๆ มาถึงก็เอาหัวมาถูไถขาของฉัน ร้องเหมียวเสียงหวาน จ่อยนั่งลงเอื้อมมือไปตามเสียง ฉันจับมือเล็กป้อมให้ค่อยๆ ลูบไปทั่วตัวแมวเพื่อให้เขารู้จักรูปลักษณ์ของมัน เจ้าแมวอ้วนลงนอนพลิกคว่ำพลิกหงาย ครางเบาๆ ในลำคออย่างพอใจ“นิ่มจัง” จ่อยพูดและยิ้มอย่างชอบใจ ก่อนจะนึกได้แล้วถามว่า“แมวสีอะไลคับ” “แมวมีหลายสีจ้ะ แต่ตัวนี้มันเป็นแมวสามสี ขนของมันมีสีขาว สีส้ม กับสีดำ” ฉันเผลออธิบาย ลืมคิดว่าจะพูดถึงสีขาว สีส้มและสีดำอย่างไร แต่โชคดี (หรือเปล่านะ) ที่เขาไม่ถามเรื่องสี“แมวกลิ่นยังไงคับ” จ่อยสนใจเรื่องกลิ่น อาจเป็นเพราะเขาใช้จมูกได้ดี ในขณะที่ใช้ดวงตาไม่ได้“เออ กลิ่นยังไงเหรอ” ฉันอึ้ง ไม่เคยนึกถึงกลิ่นแมว ถ้ากลิ่นอึแมวละว่าไปอย่าง เคยหอมแก้มเจ้าสามสีครั้งหนึ่ง มีแต่กลิ่นปลาทู ส่วนตัวมันก็ เอ หอมก็ไม่ใช่ เหม็นก็ไม่เชิง จะว่ากลิ่นทะแม่งๆ ก็คงจะต้องอธิบายว่าทะแม่งคืออะไร “ลู้แล้วคับ” เสียงจ่อยดังแทรกความคิดของฉัน เขาลูบหลังที่ปกคลุมด้วยขนนุ่มของแมว ก้มลงไปซุก แล้วเงยใบหน้ากลมแป้นน่าเอ็นดูขึ้นมายิ้ม บอกว่า “ดีจังเลย”วันนั้น เราได้สัมผัสกับดอกหญ้าที่มีกลิ่นแสงแดด ได้ดมกลิ่นสะอาดของผ้าที่ซักตากแดดจนแห้งสนิท แล้วก็ได้แข่งกันสูดกลิ่นของสายลมรอบตัวที่ ฮืดดด...ฮืดดด...หอม หอมจัง ครั้งหนึ่งจ่อยถามว่า สายลมสีอะไร ฉันนึกไม่ทัน จึงบอกว่า ทุกสีในโลกรวมอยู่ด้วยกันหมด“ดีจังเลย” เขายิ้มอย่างมีความสุข ผ่านมาหลายปีแล้ว แสงแดดอุ่น และสายลมอ่อนของฤดูหนาว กับการลูบไล้ขนนุ่มนิ่มของแมวที่นอนขดอยู่บนตัก ยังคงทำให้ฉันได้อิ่มเอิบกับความสุขใจ ที่รู้จักหัดมองโลกมุมใหม่ผ่านหัวใจใสสว่างของเด็กชายผู้ไร้ดวงตาคนนั้นโลกที่มีหลายสิ่งสำคัญ แม้ไม่อาจมองเห็นด้วยตา
สวนหนังสือ
 ‘ นายยืนยง ’ ชื่อหนังสือประเภทจัดพิมพ์โดยพิมพ์ครั้งที่ ๑ผู้เขียน ผู้แปล  : ::::::เดวิด หนีสุดชีวิต   ( I am David )วรรณกรรมแปล   /  นวนิยายเดนมาร์ก สำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทีนกันยายน   พ.ศ.๒๕๔๙Anne Holmอัจฉรัตน์  ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของโลกในสภาวะต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจและธรรมชาติ มนุษยชาติต่างผ่านพ้นมาแล้วซึ่งวิกฤตนานัปการ แม้แต่ในนามของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ผงฝุ่นแห่งความทรงจำเลวร้ายทั้งมวล เหมือนได้ล่องลอยไปตกตะกอนอยู่ภายในใจผู้คน ครอบคลุมแทบทุกแนวเส้นละติจูด แม้นเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพียงไร แต่ตะกอนนั้นกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะในงานวรรณกรรม เดวิด หนีสุดชีวิต  ( I am David )  ก็เป็นวรรณกรรมอีกเล่มที่สะท้อนภาพสภาวะจิตใจของเดวิด เด็กชายวัย ๑๒ ขวบ ซึ่งได้บรรจุไว้ด้วยความหวาดกลัวจนหนักอึ้งนวนิยายสำหรับเด็กจากประเทศเดนมาร์กเล่มนี้ ได้สารภาพทัศนคติที่มีต่อผลพวงจากสงครามของ Anne Holm ผู้เขียน ผ่านเรื่องราวของเดวิด เด็กชายผู้ได้รับโอกาสจากผู้คุมให้ใช้เวลาเพียง ๓๐ วินาที หนีออกไปจากค่ายกักกันของนาซี โดยมีเข็มทิศ มีดพับ ขนมปังกระบอกน้ำ และสบู่ติดตัวไปด้วย ในความมืดของคืนนั้น เขาต้องวิ่งสุดแรงชีวิต รู้เพียงว่าต้องมุ่งหน้าสู่ทิศใต้เพื่อไปให้ถึงเมืองซาโลนีกา ขึ้นเรือไปอิตาลี เดินขึ้นเหนือต่อไปจนถึงปลายทางคือประเทศเดนมาร์ก ขณะที่อุปสรรคในการหนีครั้งนี้ ได้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่วินาทีที่เขาสงสัยในโอกาสที่ได้รับครั้งนี้เดวิด เด็กชายผู้เติบโตมาในค่ายกักกัน ผู้ไม่รู้จักเข็มทิศ ไม่รู้จักสีสันอื่นนอกจากสีเทาของเสื้อผ้า และสีฟ้าของท้องฟ้า ดำรงชีวิตอยู่อย่างสิ้นหวัง ลมหายใจเจือกลิ่นความตายอย่างคล้ายจะชาชิน เขาต้องไปถึงจุดหมายให้ได้ ขณะเดียวกันโลกภายนอกค่ายกักกันที่ไม่รู้จักเลยนั้นเป็นเพียงอุปสรรคภายนอก แต่อุปสรรคในใจที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว แปลกแยก เขาต้องก้าวข้ามให้พ้น โดยการดำเนินเรื่องเป็นการเคลื่อนไปเบื้องหน้าของสองสิ่งคือ ระยะทางในการเดินทางและการเรียนรู้โลกภายนอกค่ายกักกันของเดวิด แต่รายละเอียดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ สัญลักษณ์ในวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้แม้นแนวทางของเรื่องจะมีลักษณะของธรรมชาตินิยม Natrulism  เป็นแกน โดยเฉพาะการสร้างบุคลิกจำเพาะของตัวละคร คือ เดวิด ที่มีนิสัย ทัศนคติ มุมมองของเด็กที่แปลกแยกจากเด็กอื่น สืบเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตขึ้นมา ซึ่งที่นั่นสอนให้รู้จักชินกับการอย่างจำกัดจำเขี่ย ความหนาว หรือรู้จักระงับอารมณ์ฟุ้งซ่าน  และเอาชนะแม้กระทั่งความรู้สึกโหยหาอิสรภาพ  ขณะที่การหนีของเดวิดคือการไปให้พ้นจากเงื้อมมือของคนชั่วร้าย ความรุนแรง และความตาย เพื่อจะได้มีชีวิต เขารู้อย่างเดียวว่าต้องวิ่งไปเท่าที่ขาจะมีเรี่ยวแรง หนีให้พ้นจากความรู้สึกรุนแรงที่พร้อมจะกระชากเอาอิสรภาพและลมหายใจของเขาไปพร้อมกับการถูกตามจับของคนที่ให้โอกาสเขาหนีออกมา  ลักษณะธรรมชาตินิยมนั่นเองที่ประสานให้การตีความเชิงสัญลักษณ์ได้บังเกิดขึ้นในความคิดของผู้อ่าน เนื่องจากผู้เขียนได้พยายามเว้นวรรคอารมณ์ตื่นเต้น ลุ้นระทึกในการหนีของเดวิดด้วยการบรรยายถึงสภาพจิตใจของเขาในต่างเวลาและต่างสถานการณ์ สัญลักษณ์ที่สอดคล้องและเกี่ยวโยงกันนั้น อาจเลือกออกมาพิจารณาได้ ๓ ข้อใหญ่ ๆ เพราะถูกกล่าวถึงอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นกระทั่งจบเรื่อง ได้แก่( ๑ ) เข็มทิศ อันหมายถึง  โอกาส( ๒ ) โยฮันเนส เพื่อนที่เคยอยู่ในค่ายกักกัน อันหมายถึง ความทรงจำอันอบอุ่น หรืออาจจะเป็นจิตสำนึก( ๓ ) พระเจ้า อันหมายถึง ความหวัง อิสรภาพ  ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างเดวิดกับพระเจ้านั้น บางครั้งก็อาจเรียกว่าเป็นมิตรภาพได้ด้วย อาจกล่าวได้ว่าผู้เขียนพยายามวางทัศนคติต่อชีวิตไว้ โดยให้ความสำคัญกับ ๓ สิ่งนั้น คือ โอกาส ความทรงจำและความหวัง  โดยโอกาสนั้น ผู้อื่นอาจวางไว้ให้เราแล้วเพียงแต่สำคัญว่าเราจะเลือกใช้มันหรือไม่ ขณะที่บางครั้ง โอกาสก็มีน้อยเกินไป และไม่เคยอยู่กับเราได้ตลอดเวลา แม้จะต้องการมันมากเพียงไรก็ตาม เห็นได้จากเรื่องนี้ ในตอนที่เดวิดเผลอทำเข็มทิศตกทะเล แต่เขาก็สามารถเรียนรู้ที่จะเดินไปยังทิศทางที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องอาศัยเข็มทิศ โยฮันเนส เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่คงความสำคัญตั้งแต่ต้นจนจบ โดยโยฮันเนสเป็นชายชายฝรั่งเศสที่คอยให้ความรู้ มอบความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ (ผู้ใหญ่)ให้เดวิด หลายครั้งที่ความทรงจำระหว่างทั้งสองได้ช่วยเดวิดให้รอดจากภาวะฉุกเฉิน ทำให้ตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม  และสัญลักษณ์นี้ก็เชื่อมโยงไปถึงพระเจ้าด้วย เห็นได้จากหน้า ๔๒  – ๔๔ หลังจากเข็มทิศตกทะเลไปแล้ว  ...ยังไม่มีเข็มทิศอีกด้วย อิสรภาพเป็นสิ่งล้ำค่า และตอนนี้เขาไม่มีอะไรที่จะมาใช้ปกป้องอิสรภาพของเขาได้เลย . ..  (น.๔๒)... เดวิดจึงตัดสินใจว่าเขาต้องมีพระเจ้าสักองค์ที่จะช่วยเขาได้ แต่เขาจะเลือกพระเจ้าองค์ไหนกันเล่า การเลือกนับถือพระเจ้าให้ถูกองค์นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ... ฯลฯ เขาคิดถึงความทรงจำที่ผูกโยงโยฮันเนสไว้ว่า โยฮันเนสไม่ได้สอนเขาเรื่องพระเจ้าแต่เคยเล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่ชื่อเดวิด นึกได้ดังนั้น เขาจึงเลือกพระเจ้าองค์นี้พระองค์ให้ข้าได้ทอดกายลงบนทุ่งหญ้าเขียวขจี พระองค์นำข้ามาสู่สายน้ำนิ่งสงบ เดวิดรู้สึกได้ปลดปล่อยและเข้มแข็งขึ้นเหมือนกับเช้าวันที่เขารู้ว่าเขาเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เขายินดีที่ได้คิดถึงเรื่องพระเจ้าเพราะการนับถือพระผู้เป็นเจ้าคงจะดีกว่าการมีเข็มทิศเป็นไหน ๆ ...ถึงแม้คงจะดีกว่านี้แน่หากเขาสามารถเลือกได้ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน การตีความเชิงสัญลักษณ์เป็นเสน่ห์ดึงดูดประการหนึ่งที่จะทำให้ผู้อ่านได้ครุ่นคิดมากขึ้นจากการดำเนินเรื่องที่ชวนติดตาม เพราะการอ่านวรรณกรรมแนวธรรมชาตินิยมนั้น หากผู้เขียนมุ่งเน้นให้ในเค้าโครงของเรื่องจนมากเกินไป แรงกระทบใจที่มีต่ออารมณ์ ทัศนคติของผู้อ่านก็คงไม่ดำเนินต่อไปโดยที่เรื่องจบลงแล้ว ขณะเดียวกัน หากผู้เขียนจงใจมุ่งเน้นใส่สัญลักษณ์ไว้จนเลอะเทอะ ไม่ประสานกลมกลืนกับเนื้อหาของเรื่องแล้ว ก็เป็นการทำลายเสน่ห์ของเรื่องได้ แต่สำหรับ  เดวิด หนีสุดชีวิต นอกจากข้อสังเกตที่ได้กล่าวมาแล้ว วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ ไม่เพียงสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เท่านั้น กับผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน หากใครที่ให้ความสำคัญกับจุดหมายปลายทางของความสำเร็จเพียงประการเดียว โดยไม่ยอมเหลียวมองหรือให้ความสำคัญกับรายละเอียดระหว่างทางแล้ว บางที เดวิดอาจจะอยากบอกว่า การเรียนรู้ที่จะไปให้ถึงจุดหมาย เอาชนะปัญหากับทุกย่างก้าวที่ผ่านเผชิญ กับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทาง นั้นเองที่จะนำพาให้ถึงจุดหมาย.หมายเหตุ เดวิด หนีสุดชีวิต ได้รับรางวัล  First Prize for the Best Scandinavian Children ‘s Book 1963 และ ALA Notable Book Award 1965
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
มันเทศย่างร้อน ๆ ปอกเปลือกแล้วเห็นเนื้อสีเหลืองทอง เนื้อนุ่ม รสหวานอ่อนๆละมุนลิ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สาวชาวจีนประจำสถานทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ชักชวนให้ดิฉันซื้อกิน พร้อมทั้งอธิบายว่า ชาวจีนเรียกมันเทศว่า “ลูกทอง” เพราะเนื้อในที่สุกแล้วเป็นสีเหลืองอร่ามเหมือนทองคำ ทั้งยังมีสรรพคุณทางยาเป็นเลิศ เช่น ช่วยให้ระบายท้องได้ดี ทำให้ร่างกายอบอุ่น ในช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูของมันเทศ ชาวจีนจึงนิยมกินมันเทศย่างกันมาก เป็นความประทับใจของดิฉันในการไปประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรีอาเซียน Asia Pacific Forum of Parliamentarians on Population and Development (AFPPD) ในช่วงวันที่ 26 – 29 พฤศจิกายน 2550แม้ประเทศจีนจะเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัย หลังช่วงเปิดประเทศ นำโดยท่าน เติ้ง เสี่ยวผิง แต่ภูมิปัญญาด้านอาหารและสมุนไพรของจีน ยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งดิฉันจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไปย้อนกลับมามองพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยยุคนี้ ดิฉันสังเกตว่าเราละเลยอาหารและสมุนไพรอันทรงคุณค่าของไทยไปมาก เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง เผือก กล้วย ที่เคยทำกินที่บ้านหรือทำขาย ทั้ง ปิ้ง ต้ม แกง บวด เดี๋ยวนี้หายากยุคนี้คนไทยหันมากินอาหารแบบฝรั่ง คือ นิยมกินขนมอบ จำพวกเค้ก คุกกี้ ไพน์ ซึ่งต้องนำเข้าเครื่องมือ อุปกรณ์ แป้งข้าวสาลี และเครื่องปรุงต่าง ๆ ทำให้เสียทั้งดุลการค้าและสูญเสียภูมิปัญญาอย่างนึกไม่ถึงในขณะที่ชนชาติพันธุ์ในชนบทห่างไกล ยังรักษาภูมิปัญญาด้านอาหารและสมุนไพรได้ดี ดังข้อเขียนของคุณแมว  จันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง จากอุ้มผาง เชิญอ่านได้แล้วค่ะกระแสสังคมโลกโดยเฉพาะในซีกตะวันตก ที่ได้ชื่อว่ามีความเจริญทางวัตถุถึงขีดสุด วิทยาการความก้าวหน้าทางการแพทย์ การผลิตยาและเวชภัณฑ์ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้คนจำนวนมากเริ่มหันกลับมาสู่การดูแลสุขภาพตนเองด้วยวิธีทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคนค่อนข้างมีความรู้ที่กลับมาใส่ใจสุขภาพโดยอาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เคยมีอยู่มากมายในอดีต แต่ถูกหลงลืม ละทิ้งและถูกแทนที่ด้วยความเจริญทางการแพทย์แผนใหม่ที่พึ่งพายาซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและสังเคราะห์ทางเคมี ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากมายการดูแลสุขภาพที่ไม่ส่งผลต่อเนื่องกับร่างกายประการหนึ่ง คือ การใช้สมุนไพรในการป้องกันและรักษาโรค ซึ่งนับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งของคนไทยที่มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะกับการเจริญเติบโตของพรรณพืชที่มีคุณค่า ให้ประโยชน์ทางด้านเป็นยารักษาโรคหลากหลายชนิดและมีปริมาณมากมายวิถีชีวิตคนไทยในอดีต สมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญ โดยเฉพาะในสังคมชนบท รวมทั้งสังคมชนเผ่าจึงมีการพึ่งพาตัวเองในเรื่องการรักษาโรคสูงมาก ผู้คนในสมัยนั้นมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมุนไพรแทบทุกคนหมอยาสมุนไพรเป็นผู้มีบทบาทสูงในสังคม ได้รับการยกย่องเพราะนอกจากคุณสมบัติที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาอย่างเชี่ยวชาญแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมในการรักษาผู้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย การจะฝึกฝนตนเองให้ชำนาญในการใช้สมุนไพรต้องฝากเนื้อฝากตัวกับหมอยาสมุนไพร เรียนรู้ด้วยความอดทน พากเพียรพยายามอยู่นาน เนื่องจากการศึกษาในสมัยก่อนมักเป็นลักษณะปากต่อปาก ไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ความรู้เรื่องสมุนไพรหลายเรื่องจึงสูญหายไปกับกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรายาลึกลับหลายอย่างที่มีสูตรเฉพาะ ที่เรียกกันว่า “ยาผีบอก” ต่อมาเมื่อวงการแพทย์ของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก การรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วยและดูแลสุขภาพยามปกติ ถูกยกให้เป็นภาระของหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีบริการตั้งแต่ระดับหมู่บ้านที่มี อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) ประจำอยู่เพื่อทำหน้าที่สำรวจข้อมูลสาธารณสุข ป้องกันโรค เช่น ไข้เลือดออกโดยกำจัดยุงลาย ให้ไอโอดีนป้องกันโรคคอพอกและดูแลอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น ระดับตำบลมีสถานีอนามัยประจำตำบล คอยดูแลความเจ็บไข้ที่ไม่รุนแรงมากนัก กรณีที่อาการค่อนข้างหนักจะส่งต่อไปยัง โรงพยาบาลประจำอำเภอและจังหวัดเป็นลำดับไปเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัยตำบลแม่จัน ที่ดูแลครอบคลุมบ้านทีจอชีซึ่งเป็นหมู่บ้านนำร่องของโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาปกาเกอญอในผืนป่าอุ้มผาง ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ให้บริการซึ่งเป็นชาวปกาเกอญอทั้งหมดว่า โรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุมาจากความอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต ไม่ปรากฏในชุมชน รวมทั้งโรคมะเร็ง ทั้งนี้มาจากอาหารการกินที่โดยมากชาวบ้านจะบริโภคอาหารจากธรรมชาติ กินตามฤดูกาล และมักจะเป็นอาหารจำพวกพืชผักพื้นบ้านมากกว่าเนื้อสัตว์ ประกอบกับการใช้ชีวิตที่ไม่หยุดนิ่ง ทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ โดยเฉพาะงานในไร่ในนาที่อาศัยแรงงาน จึงทำให้คนปกาเกอญอแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ โรคที่พบมากมักมาจากยุงเป็นพาหะ เช่น มาเลเรีย ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคผิวหนัง ผื่นคันต่าง ๆ ในพื้นที่ตำบลแม่จันยังพบลักษณะเฉพาะที่พิเศษแตกต่างไปจากปกาเกอญอหลายพื้นที่ คือ ประมาณปี พ.ศ. 2513 มีการเข้ามาตั้งฐานที่มั่นของ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ที่บ้านแม่จันทะ แผ่ขยายแนวคิดมายังหมู่บ้านรอบ ๆ สมัยนั้นตำบลแม่จันถูกระบุเป็นพื้นที่สีแดง นอกจากระบบแนวคิด การทำนารวม การต่อต้านรัฐบาล พคท. ยังฝึกให้ชาวปกาเกอญอให้สามารถดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเองและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ แกนนำในหมู่บ้านทีจอชี 2-3 คนที่เข้าร่วมเป็นแนวร่วมหรือเป็นสหายครั้งนั้น สามารถใช้การฝังเข็มรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้จากการเก็บข้อมูลงานสมุนไพรของหมู่บ้านนำร่อง พบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้สมุนไพรในการรักษาโรค มักเป็นผู้ที่มีอายุเลยวัยกลางคนขึ้นไป ส่วนคนวัยหนุ่มสาวลงมามักใช้ยาเคมีและการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เกือบทุกคนมีความรู้พื้นฐานง่าย ๆ ว่า สมุนไพรชนิดใดมีสรรพคุณอย่างไรในการรักษา ความรู้เรื่องอาหารการกินที่ส่งผลดีต่อสุขภาพหรือใช้ในการรักษา ถูกบอกกล่าวต่อ ๆ กันมา เช่น ในแต่ละปี ชาวบ้านจะต้องกินปลาไหลต้มกับมะเฟืองอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อขับนิ่วที่อาจเกาะอยู่ในไตส่วนของบุคคลที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรในชุมชน โดยมากจะเป็นคนอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป ซึ่งจะทราบชื่อภาษาปกาเกอญอ ส่วนที่ใช้ วิธีการใช้ สรรพคุณและสามารถปรุงยาจากสมุนไพรรักษาโรคที่พบบ่อย ๆ มีอาการไม่รุนแรงได้ รวมทั้งทราบแหล่งที่พบพืชสมุนไพรในป่ารอบ ๆ หมู่บ้าน แต่ในจำนวนผู้รู้ทั้งหมดของบ้านทีจอชี ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญถึงขั้นเป็นหมอยาสมุนไพรรักษาทุกโรคประจำหมู่บ้าน แกนนำอาวุโสบอกว่า หมอยาสมุนไพรที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บ้านกล้อทอ (ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร)กิจกรรมการสำรวจสมุนไพรจากผืนป่ารอบหมู่บ้านทีจอชี จึงประกอบไปด้วยผู้รู้เรื่องสมุนไพร แกนนำชาวบ้าน และตัวแทนเยาวชน เน้นการค้นหาพืชสมุนไพรที่ยังคงมีการใช้และหายาก เพื่อนำมาทดลองเพาะในแปลงทดลอง ระหว่างการเดินสำรวจ ผู้รู้เรื่องสมุนไพรจะคอยอธิบายชื่อ ส่วนที่ใช้ และสรรพคุณให้กับเยาวชนที่ทำหน้าที่จดบันทึก มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในทีมสำรวจ รวมทั้งสาธิตการใช้สมุนไพรจริง เช่น เครือจอลอดิเดอ มีลักษณะเป็นเถาวัลย์ ที่เมื่อตัดเป็นท่อน จะมีน้ำสะอาดใช้ล้างตา หยอดแก้ตาเจ็บตาอักเสบได้ จุดอ่อนของการสำรวจครั้งนี้ คือ ชาวบ้านรู้จักแต่ชื่อภาษาปกาเกอญอของสมุนไพร จึงวางแผนสืบเสาะหาหนังสือพืชสมุนไพร แล้วนำมาเปรียบเทียบชื่อและสรรพคุณที่รู้จักกันทั่วไปในภายหลังจากการสำรวจและนำตัวอย่างสมุนไพรชนิดที่หายากมาทดลองเพาะในแปลง เพื่อใช้ดูแลรักษาคนในชุมชนยามเจ็บป่วยเบื้องต้นได้แล้ว พบว่า ยังมีพื้นที่เหลืออีกเป็นจำนวนมาก จึงมีการหารือกัน แกนนำที่เคยเป็นสหาย รับอาสาที่จะติดต่อประสานกับอดีตสหายที่เคยเข้าป่าด้วยกัน ปัจจุบันเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อขอคำปรึกษา หากชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันปลูกสมุนไพรเพื่อจำหน่าย สหายจากเพชรบูรณ์เห็นด้วย พร้อมทั้งแนะนำให้ปลูกพืชที่ให้น้ำมัน เช่น ตะไคร้หอม มิ้น และสนับสนุนโดยการให้เครื่องมือสำหรับการกลั่นเอาน้ำมันจากพืชสมุนไพร อันเป็นการเพิ่มมูลค่ามากกว่าการจำหน่ายพืชสด ๆ การรวมกลุ่มเพื่อทดลองทำธุรกิจชุมชนเล็ก ๆ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนของหมู่บ้านเพราะแกนนำต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า หากส่งเสริมให้เยาวชนนรุ่นหนุ่มสาวสามารถสร้างรายได้เพียงพอกับการใช้จ่าย จะทำให้พวกเขาไม่ต้องดิ้นรนออกจากหมู่บ้านเข้าทำงานในเมืองใหญ่และกลายเป็นแรงงานราคาถูก หารายได้ไม่พอใช้จนสร้างปัญหาต่าง ๆ เช่น อาชญากรรม ยาเสพติดให้กับสังคม ส่วนในฤดูกาลผลิต  ชุมชนก็จะได้ไม่ขาดแคลนแรงงานของคนหนุ่มสาวเหมือนกับชุมชนชนบทของคนพื้นราบหลายแห่งในปัจจุบันชาวบ้านทีจอชีที่รวมกลุ่มกัน เริ่มต้นทำธุรกิจชุมชนวางแผนจะพัฒนาคุณภาพ ความหลากหลายของสมุนไพรและรูปแบบผลิตภัณฑ์ ให้สามารถเป็นงานที่มั่นคง รายได้นอกฤดูกาลผลิตอย่างเพียงพอ เพราะมีความเชื่อว่า หากคนในครอบครัวปกาเกอญออยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ว่าจะพานพบกับอุปสรรคใด ๆ ทุกคนจะช่วยกันฟันฝ่าจนสามารถผ่านพ้นไปได้ และเมื่อครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ชุมชนรวมถึงสังคมที่อยู่รายรอบก็จะมีความสงบและศานติสุขไปด้วยเช่นกัน... 
Music
"ไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาว ทุกคนล้วนมีชีวิตเฉกเช่นเดียวกัน ไม่มีชีวิตของใครที่มีค่ามากกว่าของใคร ท่านทั้งหลาย...ประโยคสุดท้ายในเพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน ไม่ได้มีความหมายแบบนี้หรอกหรือ"