Skip to main content
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
สัปดาห์นี้คุณเตือนใจติดภารกิจไม่สามารถเขียนเรื่องลงได้  จึงได้มอบหมายให้ดิฉันจันทราภา (นนทวาสี) จินดาทอง ถ่ายทอดอีกหนึ่งเรื่องราว ซึ่งสอดคล้องกับห้วงเวลาของเทศกาลเข้าพรรษา ความเรียบง่ายแต่งดงามของวิถีชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล เชิญติดตามอ่านค่ะตั้งแต่ตอนที่ยังท้องอยู่ ดิฉันและพ่อของลูกมีความคิดเห็นตรงกันในการอยากให้ลูกเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนา ดังนั้น ทุกวันพระเราจึงพากันเข้าวัด ตักบาตร ฟังเทศน์อย่างสม่ำเสมอ แต่พอคลอดน้องต้นหนาว ด้วยภาวะที่เพิ่งมีลูกคนแรก ทุกอย่างดูวุ่นวายไปหมด กิจวัตรการตักบาตรทุกวันพระจึงเป็นอันงดไปโดยปริยายกระทั่งต้นหนาวเติบโตขึ้นตามลำดับ จนอายุครบ 10 เดือนซึ่งเป็นวัยที่พอจะฟังพ่อแม่พูดรู้ความ พวกเราจึงรื้อฟื้นการตักบาตรทุกวันพระโดยพ่วงเอาลูกชายไปด้วย ตอนนี้ต้นหนาวสามารถกราบพระสามครั้ง แตะมือพ่อตอนตักบาตร และกราบคนเฒ่าคนแก่ผู้ถือศีล 8 และมานอนค้างที่วัดได้แล้ว สังเกตว่าลูกจะดีใจและตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ร่วมทำบุญวันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2550 วัดอุ้มผางได้กำหนดให้มีงานตานก๋วยสลากตามฮีต (จารีต) ของวัดทั่วไปในภาคเหนือที่ยึดเอาเดือน ๑๒ เหนือ ( คือเดือน ๑๐ ใต้ เดือนกันยายน ) และสิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ ( เดือน ๑๑ ใต้ ) เป็นช่วงทำบุญสลากภัตรหรือตานก๋วยสลาก ดิฉันจึงตั้งใจพาต้นหนาวไปร่วมงานด้วย งานตานก๋วยสลากเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2550 ซึ่งเรียกว่า “วันดา” ที่ทุกบ้านจะตระเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ไทยทาน พวกผู้ชายก็จะจัดการจักตอกสาน “ ก๋วย ” ( ตระกร้า ) ไว้หลาย ๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูก ทางฝ่ายหญิงก็จะจัดเตรียมห่อของ กระจุก กระจิก เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมต้ม และ อาหาร เช่น ห่อหมก ( ทางเหนือเรียกว่าห่อนึ่ง ) ชิ้นปิ้ง ( เนื้อทอด ) เนื้อเค็ม ซึ่งบางครั้งก็จะทำอาหารที่ผู้ล่วงลับไปโปรดปรานเป็นพิเศษและเราต้องการจะตานก๋วยสลากไปหา เพื่อให้ได้รับส่วนบุญนั้น ๆ นอกจากนี้ จะมีพวกหมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข ผลไม้ต่าง ๆ เครื่องใช้สอยต่าง ๆ สิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วยซึ่งกรุด้วยใบตอง กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษสีต่าง ๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่าง ๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้ว ก็จะเอา “ ยอด ” คือ สตางค์ หรือ ธนบัตร ผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ “ ยอด ” ที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าเท่าใด แล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธาจะอำนวยให้ก๋วยสลากมีสองแบบ คือ สลากน้อย คือ สลากกระชุเล็ก และ สลากก๋วยใหญ่ คือ สลากโชค สลากก๋วยเล็ก ใช้ถวายอุทิศแด่ผู้ตาย หรือทำบุญเพื่อเป็นกุศลในภายภาคหน้า ส่วน สลากก๋วยใหญ่ใช้ถวายเป็นมหากุศลสำหรับบุคคลผู้มีกำลังศรัทธา และร่ำรวยเงินทอง หรือศรัทธาหลาย ๆ คนที่มีความต้องการจะทำบุญร่วมกันช่วยกันแต่งดาให้เป็นสลากก๋วยใหญ่ ทำถวายเพื่อเป็นพลวปัจจัยให้มีบุญกุศลมากขึ้นเช้าวันรุ่งขึ้นในวันตานสลาก เขาก็ใช้เด็กลูกหลานเอาเสื่อไปปูที่ลานวัด หรือตามศาลาและเอา “ก๋วยสลาก” ไปวางเรียงไว้เป็นแถว ๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะจัดเตรียมขัน ( พาน ) ไปวัดกันเป็นกลุ่ม บ้างก็จูงมือลูกหลานไปด้วย ส่วนพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็ไปเหมือนกัน ส่วนมากไปกันเกือบหมดทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานสลากภัตรนี้มีอนิสงฆ์มาก และจะได้ช่วยกันเอา “ ก๋วยสลาก ” ไปถวายพระในเวลามีการเรียก “ เส้นสลาก ” “ เส้นสลาก ” ที่กล่าวนี้ ผู้เป็นเจ้าของ “ ก๋วยสลาก ” จะต้องเอาใบลานหรือกระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาว ๆ จารึกชื่อเจ้าของไว้และบอกด้วยว่า อุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง คำจารึกในเส้นสลากนั้นจะเขียนดังนี้  “ สุทินฺนํ วตเมทานํ สลากภัตตทานํ อาสวคฺ คยวหํ นิพฺพาน ปจฺจโยโหตุ ข้าพเจ้า............................................พร้อมด้วย.................................................ได้พร้อมกันจัดหามายัง สลากภัตรทานกัณฑ์นี้ เพื่อน้อมถวายแด่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานี้ และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่................................................................... ขอให้ได้รับสลากภัตรทานนี้ สมความปรารถนาในสัมปรายภพเบื้องหน้าโน้นด้วยเทอญฯ” “ เส้นสลาก ” ที่กล่าวนี้จะต้องเขียนไว้ให้ครบจำนวนก๋วยสลาก เมื่อชาวบ้านนำเอาก๋วยสลากไปที่วัดแล้ว ก็จะเอาสลากไปรวมกันไว้ที่หน้าพระประธานในวิหาร ซึ่งผู้รวบรวมสลากมักจะเป็น มัคทายก หรือที่เรียกกันว่า “ อาจารย์ ” รวบรวมได้เท่าไร ก็จะเอาจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ นั้น หารจำนวนสลาก และหักเหลือไว้ส่วนหนึ่งเป็นส่วนของ “ พระเจ้า ” ( คำว่า พระเจ้า เมืองเหนือหมายถึง พระพุทธรูปเช่น พระเจ้าเก้าตื้อ พระเจ้าทองทิพย์ ฯลฯ )ในส่วนของก๋วยสลากที่พระภิกษุแต่ละรูปได้รับ ยอดอาจจะนำมารวมกันไว้หรือแบ่งปันไปตามจำนวนพระ เณรในแต่ละวัดก็แล้วแต่ ส่วนที่ตกอยู่ที่พระเจ้า ยอดจะเป็นเงินกองกลางสำหรับใช้จ่ายในกิจของวัดต่อไป พิธีการในงานตานก๋วยสลากของวัดอุ้มผาง เริ่มต้นเกือบ 11 โมงเช้า ที่มีการจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์จากวัดและสำนักสงฆ์ต่าง ๆ ที่ได้รับนิมนต์ให้มาร่วมงานนี้ทั้งหมดประมาณ 70 กว่ารูป ในส่วนของอาหารได้รับความอนุเคราะห์จากบรรดาญาติโยมร่วมทำบุญคนละอย่างสองอย่าง ขณะที่พระฉันภัตตาหารเพลบนศาลา บริเวณเต้นท์ด้านล่างมีการตั้งโรงทานแจกจ่ายอาหารให้กับฆราวาสที่พากันมาร่วมงาน ทั้งคนในตำบลอุ้มผาง หมู่บ้านอื่น ๆ พี่น้อง ปกาเกอญอ พี่น้องจากพม่า ให้อิ่มหนำกันทั่วหน้าระหว่างที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารและฆราวาสรับประทานอาหารอยู่นั้น มีการบรรเลงเพลงโดยวงสะล้อซอซึงขับกล่อมให้ความสำราญ แต่ที่ดิฉันประทับใจมาก คือ ช่างฟ้อน (นางรำ) ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีอายุพอสมควร พากันฟ้อนรำด้วยท่วงท่าสบาย ๆ การเปลี่ยนท่ารำคอยทำตามหญิงที่เป็นผู้นำ เรียกว่าไม่ต้องซ้อมล่วงหน้า อีกทั้งเครื่องแต่งกายของพวกเธอก็แต่งตามสะดวกของใครของมัน ไม่จำเป็นต้องตัดให้เหมือน ๆ กัน อันเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ พอเปลี่ยนทำนองเพลงให้เร็วขึ้น บรรดาผู้มาร่วมงานหลายคนนึกสนุกการร่วมรำจนกลายเป็นวงใหญ่ ต้นหนาวยืนดูอยู่ก็พลอยขยับไม้ขยับมือรำไปกับเขาด้วย ล่วงเลยมาจนถึงช่วงบ่าย พิธีกรรมทางสงฆ์จึงเริ่มขึ้น โดยการสวดมนต์ ไหว้พระ ฟังเทศน์ มัคทายกบอกเล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญของงานตานก๋วยสลาก หลังจากนั้นพระภิกษุสามเณรได้รับส่วนแบ่งเส้นสลากแล้ว ก็จะไปยึดเอาชัยภูมิแห่งหนึ่งในวัด ทั้งบนศาลา ข้างศาลา ใต้ต้นไม้ ภายในเต้นท์ เพื่อจัดการออกสลาก ความชุลมุนและสนุกสนานจากเสียงตะโกนโหวกเหวกของลูกศิษย์(ขะโยม)แต่ละวัดที่ขานชื่อในเส้นสลาก ญาติโยม ทั้งพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ เฒ่าชะแรแก่ชรา ไม่ว่าเด็กน้อยหรือหนุ่มใหญ่ ก็จะหิ้ว “ ก๋วยสลาก ” ออกตามเส้นกันขวักไขว่ เพื่อตามหาว่าสลากของตนไปตกอยู่กับวัดหรือสำนักสงฆ์ใด บรรดาหนุ่ม ๆ ถือโอกาสเรียกคะแนนนิยมด้วยการช่วยสาว ๆ   ตามหาเส้นสลาก  เมื่อพบเส้นสลากของตนแล้ว ก็จะเอา “ ก๋วยสลาก ” ไปถวายพระ พระก็จะช่วยอ่านข้อความในเส้นสลากให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง แล้วรับเอา “ ก๋วยสลาก ” และกล่าวอนุโมทนาให้พร แล้วก็คืนสลากนั้นให้เจ้าของสลากไปเจ้าของสลากก็นำเอาเส้นสลากนั้นไปรวมไว้ในวิหาร เมื่อเสร็จแล้ว “ แก่วัด ” หรือมัคทายก ก็จะเอาเส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้งเสีย แม้จะดูโกลาหลแต่ทุกคนก็มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ดูอิ่มเอิบในบุญจากการตานก๋วยสลาก เพราะนานปีถึงจะมีการ “ กิ๋นก๋วย ” สักครั้ง บางวัด ๓ ปี จะมีการตานก๋วยสลากนี้สักครั้งหนึ่งโดยมากยามที่วัดมีงานบุญ เรามักพบผู้มาร่วมงานอยู่ในอาการมึนเมา หลายครั้งมีการนำสุราเข้ามาดื่มในวัด จนเกิดปัญหาทะเลาะวิวาท ชกต่อย ทำร้ายกัน แต่งานตานก๋วยสลากที่วัดอุ้มผาง ไม่ปรากฏการดื่มสุราในงาน จากการสอบถามได้ความว่า หลวงพ่อเจ้าอาวาส (พระสมุห์จรินทร์ กัลยาโน) ไม่อนุญาตให้นำสุราเข้ามาดื่มภายในบริเวณวัด ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นที่รู้กันทั่วทั้งอำเภออุ้มผางว่า วัดอุ้มผางมีพระสงฆ์ที่ค่อนข้างเคร่งครัดในการปฏิบัติเพราะเป็นสาขาของวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรีประมาณบ่ายสามโมงกว่า ๆ งานตานก๋วยสลากของวัดอุ้มผางก็สิ้นสุดลง พระสงฆ์และญาติโยมแต่ละวัดพากันเดินทางกลับ ช่วงเวลาหลังจากนี้เป็นของศรัทธาแต่ละวัดที่กลับไปแกะก๋วยสลาก ในส่วนของยอดที่เป็นเงินจะมอบให้เป็นกองทุนส่วนกลางของวัดหรือแบ่งกันระหว่างพระสงฆ์ สามเณรก็แล้วแต่ ขณะที่ข้าวของในก๋วยทั้งของสดและของแห้งจะแจกจ่ายกันทังเด็กวัด ญาติโยม เด็ก ๆ จะตั้งตารอคอยเพื่อกินขนมในก๋วยสลากดิฉันรู้สึกทึ่ง และนึกชื่นชมอยู่ในใจเป็นอย่างยิ่งกับภูมิปัญญาของคนโบราณที่คิดค้นการทำบุญสลากภัตรหรือตานก๋วยสลาก ที่สอดแทรกการสอนให้พุทธศาสนิกชนปล่อยวางการเลือกทำบุญกับเฉพาะพระที่ตนเคารพนับถือ อย่างน้อยในช่วงเวลาสั้น ๆ ของแต่ละปีที่ทุกคนจะตั้งอกตั้งใจตกแต่งก๋วยสลากของตนอย่างดีเพื่ออุทิศให้กับผู้ล่วงลับไป อีกทั้งต้องนำไปถวายกับพระสงฆ์ที่จับได้เส้นสลากโดยไม่เฉพาะเจาะจง นับเป็นความล้ำลึกที่สามารถสั่งสอนผู้คนโดยการปฏิบัติที่ดูจะได้ผลมากกว่าการเทศนาสั่งสอนหรือบอกกล่าวด้วยคำพูดมากมายนัก เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์Tuenjai_d@yahoo.com
สวนหนังสือ
โดย นายยืนยงเรื่อง สายรุ้ง รุ่งเยือน    สำนักพิมพ์  เคล็ดไทยผู้แต่ง ณรงค์ยุทธ  โคตรคำ ประเภท กวีนิพนธ์ฟ้าครึ้มอยู่อย่างนี้สักสองสามวันได้ เมฆขมุกขมัวเกาะกันเคว้งคว้าง พากันลอยล่องไปตามแรงลม   …ลมเย็นต้องผิวเนื้อสัมผัส รู้สึกได้ถึงลมหนาวอันสะท้านใจ  โอหนอ... ลมหนาวแรกของปลายมิถุนายน  โอหนอ... กวีนิพนธ์ถ้าเอ่ยชื่อ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ กับลมหนาวแสนประหลาดของเดือนมิถุนายน  ชื่อนี้คงไม่คุ้นหู ไม่ว่าในกลุ่มแขนงใด ๆ แต่การที่หนังสือกวีนิพนธ์ ชื่อ สายรุ้ง รุ่งเยือน มีประโยคเปิดหน้าปกว่า  รวมบทกวีคัดสรรเล่มแรกของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ นั้น  ค่อนข้างจะมีนัยยะโน้มไปทางที่ หนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้ มีลักษณะจำเพาะ เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของผู้เขียนกับผลงานกวีนิพนธ์ของเขาเอง  และเฉพาะอย่างยิ่งในบทนำจากผู้เขียน ที่ได้ลงท้ายว่า เป็นความจำเป็นสำหรับเวลาอันเป็นธรรม ด้วยความสังวรยิ่ง .เหล่านี้  ล้วนเป็นรสสัมผัสอันเปรียบได้กับลมหนาวแรกของปี ที่พัดแผ่วในช่วงปลายเดือนมิถุนายน  เป็นรสสัมผัสอันประหลาดล้ำ...ลมหนาวในแดดเทาอมฟ้า เหมือนละอองแห่งชีวิตที่ถูกล้อมโอบด้วยความรู้สึก...ในหมู่ไม้พันธุ์ ยืนต้น หรือทอดยอด ออกดอกพวงระย้า ช่างดูสงบ อ่อนหวาน อย่างมีนัยยะเกี่ยวถึงทรรศนะของสังคมมนุษย์ ในยุคปัจจุบัน ดังเช่น  ภุชงคประยาตฉันท์  ชื่อบทว่า  เด็ดยอดแม่ดอกตำลึง ที่ณรงค์ยุทธได้ปลุกชีวิตของยอดเครือตำลึง พืชพันธุ์สามัญริมรั้ว ให้ตื่นฟื้น งามขึ้นในหัวใจของฉันจาก         สไบบางเสบียงรุด        ระรื่นดุจประมาณถึง    ขจียอดคะเนพึง            ผะดาแดดตะวันวาย  ฯลฯ     ( หน้า ๑๐๖ )สำหรับ ณรงค์ยุทธ เขียนบทนี้ออกมาเหมือนจะสะท้อนทรรศนะที่จัดวางอยู่ในคำฉันท์และตัวตนของเขา  เขียนออกมาจากสภาวะของเถาเครือตำลึง ที่ทนแล้ง อิ่มฝน และรอคอยที่จะชูยอดใบแห่งชีวิต   นี่คือ ประการแรกที่ตัวตนกับผลงานร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันสายรุ้ง รุ่งเยือน ไม่เพียงเขียนถึงพืชพันธุ์รูปธรรม เช่น กระถิน ตำลึง เท่านั้น ณรงค์ยุทธ ยังเขียนถึงพืชพันธุ์นามธรรมที่แตกผลิอยู่ในดวงใจของเขาด้วย และถือเป็นความโดดเด่นสำคัญของหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้  นี่คือ กวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์ที่พื้นหลักเป็นโคลงสี่สุภาพ ดั่งลมหนาวในแดดสายปลายมิถุนายน แดดอุ่นและลมหนาวของยามสาย เป็นปรากฎการณ์ของลมฟ้อากาศที่เกี่ยวเนื่องกับอนุภาคละเอียดอ่อนในวันคืน ณรงค์ยุทธ เขียนโคลงสี่สุภาพอย่างกวีฝึกหัดพึงกระทำ และยิ่งอ่านจะยิ่งรับรู้ร่วมไปกับเขาเลยทีเดียวว่า แบบฝึกหัดการเขียนโคลงสี่สุภาพนั้น เป็นแบบฝึกเล่มหนาเทียบเท่าวงศ์อายุของผู้เขียนนั่นเทียวใน สายรุ้ง รุ่งเยือน จะสัมผัสรู้ถึงรอยก้าวย่างของการฝึกเพียร เคี่ยวเค้น อย่างหนักหน่วง  หากสังเกตตรงท้ายบท จะมีข้อความบอกถึงห้วงเวลาที่เขียน ทำให้มองได้ถึงพัฒนาการของผู้เขียนได้ในด้านหนึ่งด้วย  ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้ก้าวย่างที่กินเวลายาวนาน ทำให้มองเห็นถึงกลเม็ดในคำโคลง อย่างเช่นบท มืดมิด(จิตใจ) บทนี้เป็นตัวอย่างการเขียนโคลงสี่สุภาพแบบเอกเจ็ดโทสี่  ไม่มีกลเม็ดใดมากกว่าลักษณะการบังคับคำ ตำแหน่งเสียง  แต่การจัดวางรูปคำที่ให้ความรู้สึกมากกว่าการจัดเรียงคำ ดังบาทแรกนี้        เวลาช่างเหว่ว้า            เวลา  ฯลฯ ( หน้า ๘๐ ) ถือเป็นสำนวนโคลงที่หาได้ยากในมือของกวีฝึกหัด หรือ อีกตัวอย่าง บท  คลื่นชีวิต        เหลียวฝีพายต่างจ้ำ        ห่างทุกข์        สรรเสพสำราญสุข        เสกได้        คลุกเศร้าผ่านเคล้าทุกข์        คราครอบ        กางกรอบฝ่าคลื่นให้        เคลื่อนร้างลับหาย    (หน้า ๘๕ ) เป็นบทอุปมาชีวิตกับการพายเรือ ซึ่งให้ได้มากกว่าความไพเราะของคำโคลง  เพราะให้ทั้งภาพจินตนาการในความคิดและมีคติธรรมแฝงอยู่    ลองดู บท  ปัจเจกปัจจุบัน         ปัจจุบันปัจเจกชั้น        ชนเหวย        งกเงี่ยนงกงมเงย        งอกแง้ม    ฯลฯ   ( หน้า ๖๘ )เป็นการแสดงออกถึงทักษะอีกขั้นหนึ่งที่ได้มาจากการฝึกฝน โดยอาศัยลักษณะสัมผัสพยัญชนะเดียวทั้งบาท  เป็นอีกกลเม็ดของคำโคลง  กระโดดข้ามมาถึง   บท  ห้วงฝัน, ฝั่งขวัญเอย            หงายเฉียบเลียบค่ายครื้น        เงียบฉาย        ร่างสอบสั้นยาวสาย        รอบข้าง        อาจโอ้ อก อด อาย        โอกาส        การณ์ทื่อวางถือบ้าง        ถ่างบื้อคือฐาน   ฯลฯ    ( หน้า ๙๔ ) ในคำที่ขีดเส้นใต้  ผู้เขียนได้ใช้การผวนคำ แล้วจัดวาง คล้ายกลบทแบบอย่างโบราณ ทำให้อ่านสนุกและดูเหมือนผู้เขียนได้ผ่านมาอีกขั้น   และล่วงไปถึงการเล่นกลบท หงษ์ทองลีลา  เช่น บท ข้าพเจ้ายังรู้จักโลกสังคมน้อยนัก         ให้บุพกาลร่ำร้าง            ใจถึง        โลกกระพริบดาวดึงส์        ดื่มร้อย        ให้ผลัดส่องกระซิบพึง        พาเยี่ยม        โลกออกตกเหนือน้อย        นิ่งหน้าทิศทาง   ฯลฯ    ( หน้า ๔๙ ) หรือกลบทครอบจักรวาล  เช่น บท     จากภวังค์ไป – กลับ, พลบโลก        หวังสุญญา...ว่างแร้น        โลกหวัง        ฟื้นตื่นเช้าสายดัง        เท่าฟื้น        โลกจินตพลบภวังค์        กอบโลก        ถือระยะย่ำย้ำพื้น        วาดถือ   ฯลฯ          ( หน้า ๙๘ ) จุดเด่นของโคลงสี่สุภาพของณรงค์ยุทธนี้  สังเกตได้ชัดคือ การเลือกใช้คำโดด ซึ่งแปลกต่างจากคำโคลงที่คุ้นเคย คือนิยมใช้คำสมาส สนธิ หรือคำผสม  แต่ขณะเดียวกัน จุดเด่นที่มากเกินไป  เป็นธรรมชาติที่ทำให้บางครั้ง ก็อาจเป็นข้อด้อยได้เช่นเดียวกัน  ด้วยธรรมชาติของคำโดดแล้ว   เมื่อวางเรียงกัน อาจทำให้อ่านเข้าใจได้ยาก เพราะต้องมีคำเชื่อม  ต้องอาศัยการสร้างความคุ้นเคยขึ้นใหม่ในวงการอ่าน  แม้เสน่ห์ของการเลือกใช้คำโดดในกวีนิพนธ์ของณรงค์ยุทธ จะเป็นรสคำที่แปลกไปบ้าง แต่การเลือกใช้อุปมาโวหาร ผสมเข้ามา ก็ช่วยเสริมเนื้อหาให้เต็มแน่นด้วย นอกจากนั้น ยังมีการใช้สัญลักษณ์ที่ไม่คุ้นเคยอีกด้วย   เช่น  บท  จากภวังค์ไป – กลับ, พลบโลก    สูง – ต่ำ, ทางแอ่นเกี้ยว        กราดแกร็น    สูง – ต่ำ, ยูงรำแพน        กรีดเยื้อง    สูง – ต่ำ, หากหื่นแหน        แหวกเหยียบ    สูง – ต่ำ, ผูกพลั้งเปลื้อง        ปรับหมุน         ฯลฯ   (หน้า ๙๘) การเทียบสัญลักษณ์ของนกยูง และท่าทางการเคลื่อนไหวของมัน จะสะท้อนให้ผู้อ่านนึกถึงสิ่งใด โดยปกติ นกยูง จะมีนัยยะถึงความสูงส่ง สง่างาม แต่การเลือกใช้คำเกี่ยวข้อง เช่น  หากหื่นแหน นั้นดูขัดแย้ง แต่หากอ่านสืบเนื่องทั้งบทนี้แล้ว  จะเห็นได้ว่าเป็นการเลือกใช้คำเพื่อต้องการจะเสียดสี เยาะหยันนกยูง หรือนัยยะแฝงที่ผู้เขียนนั่นเองนอกเหนือจากสัญลักษณ์แล้ว  จุดเด่นที่ต้องกล่าวถึงคือ  วิธีการเรียงร้อยหรือ กลวิธีการประพันธ์ กวีนิพนธ์เล่มนี้  ผู้เขียนได้จารึกถึงความรู้สึก นึก คิด ของตัวผู้เขียนเอง ผ่านเกณฑ์ของฉันทลักษณ์ ซึ่งถือว่าเป็นอารยธรรมของภาษาไทย ทั้งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และร่าย แม้กระทั่งบทกวีไร้ฉันทลักษณ์  โดยอาศัยการสร้างวลีใหม่ ที่ตรึงใจผู้อ่านได้   เช่น  บท  แลดอกมะลิพันธุ์ ข้าฯ ฝันถึง    อารมณ์ร่วงต่อพื้น    เตรียมพาน     หรือ    หวั่นน้อยใจพรั่นท้อ    พวงขาว           ( หน้า ๒๗ ) และยังมีอีกหลายบทหลายบาท  ที่ผู้เขียนได้เรียงร้อยไว้ต่ออารมณ์สัมผัสของผู้อ่าน  ซึ่งจะได้ทั้งความรู้สึกแปลก ร่วมสมัย และสะเทือนใจเศร้าโศกร่วมไปกับเขาด้วย  โดยสรุปแล้ว  สายรุ้ง  รุ่งเยือน เปรียบได้ดั่งทัศนียภาพอันแปลกตาสำหรับผู้อ่านในยุคสมัย  แต่เนื้อหาที่เขาบอกเล่า  กลับเป็นเรื่องราวที่หลายคนอาจคุ้นเคย เคยรู้สึกอย่างนั้น  จนต้องกล่าวว่า  ณรงค์ยุทธ เขียนออกมาทดแทนอารมณ์ ความรู้สึก แทนใจของผู้คนในยุคแห่งปัจเจกชนอันหม่นมัว ซับซ้อน เต็มไปด้วยความหวั่นระแวง ได้อย่างละเอียดลออและประณีตทีเดียว   เนื่องด้วยถ้อยคำของเขา เรียงร้อยออกมาได้หมดจิตหมดใจ ซึ่งสะท้อนได้ว่า เขามีภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารโดยแท้ เนื้อหาโดยหลักใหญ่ที่ถ่ายทอด หรือแฝงเร้นอยู่ในกวีนิพนธ์เล่มนี้ มักมุ่งเน้นไปที่ตัวบุคคลหรือปัจเจกชนในสังคม  ซึ่งคล้ายกับมีวิถีชีวิตที่ด้านชากับความน่ารังเกียจ อันปรากฏจนดาษดื่นในความเป็นจริง  โดยเขาไม่ได้จำกัดตัวเองให้อยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ความน่ารังเกียจเหล่านั้น หรือ ด่าทอชนชั้นนายทุนตามแบบฉบับของกวีนิพนธ์เพื่อชีวิตทั่วไป แต่เขาจำใจกะเทาะเปลือกอันหนาเทอะทะของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามในสังคม ทั้งในนามของบุคคลและกลุ่มก้อนของชนชั้นต่าง ๆ ทั้งนี้ จุดหมายหรือความใฝ่ฝันของเขา ที่ปรากฏอยู่ในหลายบทนั้น น่ามุ่งให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างรู้สึกที่จะมีน้ำใจให้กัน  มองเห็นความสำคัญกับคนอื่น  ดูเขาจะเน้นเรื่องความจริงใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากทีเดียว  ดังบทไร้ฉันทลักษณ์   ชื่อ แรงโน้มถ่วงของมิตรภาพ  ( หน้า ๔๒ )ที่กล่าวถึงความรับผิดชอบระหว่างชีวิตต่อชีวิต  อารมณ์ต่ออารมณ์  ซึ่งกันและกัน   หรือ  จากปกหลังของเล่ม  ที่เขียนว่า     จารจรดสายเรื่อรุ้ง        รุ่งเยือน    อาจสั่งฝนสืบเตือน        ต่อกล้า    ยามลมแดดแกร่งเหมือน        มามอบ    แด่มิ่งขวัญจักรวาลฟ้า        แผ่นหล้าอเนกอนันต์. หนังสือกวีนิพนธ์ “สายรุ้ง รุ่งเยือน” ของ ณรงค์ยุทธ โคตรคำ ออกมาในช่วงเวลาที่หน้าสื่อสิ่งพิมพ์ พยายามบอกกันว่า กวีตายแล้ว  พร้อมกับฤดูลมฝนอันแปลกต่อความรู้สึกผู้คน ไม่เท่านั้น โดยเนื้อหาของกวีนิพนธ์ โดยรูปแบบฉันทลักษณ์ในเล่ม ก็ถือได้ว่า สร้างปรากฏการณ์ให้แก่ยุคสมัยได้มาก  เนื่องจาก สำนักพิมพ์ทุกวันนี้  หาจะพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ได้ยากเหลือเกิน แต่สำหรับเขาแล้ว ถือว่าสำนักพิมพ์เคล็ดไทยได้ให้โอกาสอันสง่างามแก่เขา ซึ่งเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ได้ว่า กวีนิพนธ์ที่เปี่ยมคุณภาพนั้น ไม่เคยพ้นหาย หรือ ตายไปจากสังคมมนุษย์  เท่ากับว่าเป็นการสร้างแรงกำลังใจสำหรับคนรุ่นใหม่  ที่มุ่งมั่นฝันใฝ่จะก้าวเข้ามาในถนนสายกวีนิพนธ์  เพื่อสืบต่อช่วงซึ่งกันและกัน.
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ด้วยความประทับใจจากการไปศึกษาดูงานต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อครั้งที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ดิฉันจึงร้อยเรียงเล่าสู่ท่านผู้อ่านในคอลัมน์ “วิถีไทย” ในสยามรัฐรายวันเมื่อเริ่มแรก แล้วย้ายมาเป็นคอลัมน์ในสยามรัฐรายสัปดาห์ ด้วยความเมตตาของบรรณาธิการ และพี่ชัชวาล คงอุดมผู้อ่านหลายท่านกรุณาชี้แนะว่าน่าจะรวมเล่มสักครั้งซึ่ง คุณอาทร เตชะธาดา แห่งประพันธ์สาส์น ยินดีเป็นเจ้าภาพพิมพ์และจัดจำหน่าย  น้องน้ำหวาน (ปิยวรรณ  แก้วศรี)  ก็เห็นดีเห็นงามว่าจะรับเป็นบรรณาธิการและจัดรูปเล่มให้ เพื่อสร้างผลงานหนังสือในโอกาสที่ดิฉันมีอายุ 55 ปี ซึ่งหนังสือได้ช่วยกันตั้งหลายชื่อ เช่น “อนุสติบนบาทวิถีโลก” ซึ่งคุณเล็ก (พรศักดิ์ สุคงคารัตนกุล) แห่งกลุ่มรุ้งอ้วนตั้งให้ แต่ถูกติงว่าชื่อหนักไปทางธรรมะ และต้องแปลอีกครั้งจึงจะเข้าใจ จนมาลงตัวที่ชื่อ “เตือนใจ ตอนไปนอก” ตั้งโดยคุณสมเกียรติ์ ไตรทิพยากร  ซึ่งมี ๒ ความหมาย คือ เตือนจิต เตือนใจ ให้มีสติ รู้ตัว ทั่วพร้อมในช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านเกิดเมืองนอน กับความหมายเล่าเรื่องของ ครูแดง เตือนใจ ในโอกาสที่ได้ไปเรียนรู้เมืองนอกน้ำหวานเป็นผู้เลือกรูปทั้งหมดซึ่งถ่ายโดยมือกล้องสมัครเล่นหลายท่าน เช่น อาจารย์จอน  อึ้งภากรณ์ ขอขอบคุณตากล้องผู้กรุณาเอื้อเฟื้อภาพเป็นอย่างยิ่งแม้อาจไม่ได้เอ่ยชื่อของท่านหนังสือได้วางจำหน่ายในช่วงเวลาที่เป็นสิริมงคล คือช่วงเข้าพรรษา ซึ่งน้ำหวานไปพบที่ร้านนายอินทร์ เชียงราย จึงซื้อมาฝากพี่แดงด้วยความตื่นเต้นดีใจว่า หนังสือออกแล้ว หลังจากรอคอยกระบวนการพิมพ์และจัดจำหน่ายมาหลายเดือนการวางแผนงานเปิดตัวหนังสือจึงเริ่มขึ้น คุณอาทร นัดมาปรึกษากันที่รัฐสภา ผู้ร่วมคิดประกอบด้วย ผู้แทนของร้านหนังสือ B2S ในเครือ Central คุณดาว พิมพ์พร  สุขใจ ผู้ช่วยคนเก่งของดิฉันเอง ผู้แทนฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคุณอาทร และคุณรสนา โตสิตระกูล ผู้เขียนหนังสือ “เดี่ยวไมโครโฟนหญิง” ซึ่งจะเปิดตัวหนังสือคู่กัน ในชื่องานว่า “ผู้หญิง ๒ คน กับหนังสือ ๒ เล่ม” เริ่มที่ประธานเปิดงาน ทั้งรสนาและดิฉันเห็นตรงกันว่าควรเป็นคุณหญิงอัมพร มีศุข ซึ่งเป็นที่เคารพรักของเราทั้งสองท่านเป็นแรงบันดาลใจของดิฉันตลอดมาในฐานะอธิบดีหญิงคนแรกของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญระดับสากล เช่น เป็นประธานเครือข่ายผู้หญิงกับสิ่งแวดล้อมระดับโลก เป็นประธานนักสังคมสงเคราะห์สากล  ปัจจุบันท่านเป็นรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยวัยแปดสิบกว่าปีที่ยังกระฉับกระเฉงทั้งสุขภาพใจ สุขภาพกาย และปัญญาที่เฉียบแหลมต่อมาคือพิธีกรผู้นำการเสวนา ดิฉันชื่นชมคุณไก่ มีสุข แจ้งมีสุข ตั้งแต่ครั้งที่เธอกรุณามาช่วยเป็นพิธีกรให้ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย ร่วมกับทีมงานผู้หญิงถึงผู้หญิง ทีวีช่อง 3 เธอมีรอยยิ้มแจ่มใสสมชื่อ และนามสกุล ซึ่งย้ำความ “มีสุข” ทั้งใจและกายของเธอ ทั้งเธอยังมีจิตใจช่วยเหลือผู้ทำงานสาธารณะประโยชน์ด้วย พิธีกรชายผู้มีจิตใจ “แทนคุณ” ต่อสังคมตลอดมา คือ แทนคุณ จิตต์อิสระ ซึ่งกรุณาช่วยงานของคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน ฯ ของวุฒิสภา และสนช. อย่างสม่ำเสมอ ด้วยจิตที่ประกอบด้วยธรรมะเมื่อทั้ง ๒ ท่าน พร้อมใจกันตอบรับเป็นพิธีกรดำเนินการเสวนา คณะผู้เตรียมงานจึงปลื้มใจยิ่งนักเพื่อให้งานมีสีสันของวัฒนธรรมชนชาติพันธุ์แห่งดอยสูง ซึ่งดิฉันได้ใช้ชีวิตทำงานมา 33 ปีแล้ว โดยตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา (พชภ.) เมื่อ พ.ศ. 2529 แม้เงินทุนจะขัดสน ลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่คณะเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ทำงานด้วยใจรัก ด้วยชีวิตพอเพียงอย่างต่อเนื่อง ดิฉันจึงตั้งใจมอบเงินค่าลิขสิทธิ์หนังสือ “เตือนใจ ตอนไปนอก” ให้พชภ. ทุกครั้งที่มีการจัดพิมพ์ คุณจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ ผู้จัดการมูลนิธิพชภ. จึงนำการแสดงทางวัฒนธรรมของกลุ่ม “เยาวชนคนรักศิลป์ถิ่นภูเขา” เพื่อเปิดตัวพชภ. และขอบคุณผู้มาร่วมกับทุกท่าน การเชิญแขกมาเป็นเกียรติในงาน ดิฉันระลึกถึงกัลยาณมิตรผู้มีพระคุณหลายฝ่ายทั้งสมาชิกวุฒิสภาผู้เคยร่วมงานกัน สนช.ร่วมปัจจุบัน พี่น้องร่วมราชสกุล กุญชร ณ อยุธยา และผู้มีพระคุณของพชภ. จึงส่งบัตรเชิญไป 20 – 30 ใบ เสียดายที่หลายท่านติดภารกิจจึงไม่ได้มา เช่น พี่ชัชวาล คงอุดม , พี่ปี๋ ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เป็นต้น สื่อมวลชนมีความสำคัญมากที่จะสื่อสารต่อสังคมในวงกว้าง ดิฉันกับทีมประชาสัมพันธ์ของ B2S และประพันธ์สาส์น พยายามช่วยกันขอความร่วมมือด้วยความเกรงใจ เมื่อวันเปิดตัวหนังสือมาถึง วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2550 คือวันดี งานเปิดตัวหนังสือ “เตือนใจ ตอนไปนอก” กับ “เดี่ยวไมโครโฟนหญิง” ที่ร้านหนังสือ B2S เซ็นทรัลเวิลด์ คุณรสนา โตสิตระกูล มาถึงตั้งแต่บายสามโมง ตามที่คุณอาทร เตชะธาดานัดหมาย ดิฉันไปถึง 4 โมงกว่า พบดอกกล้วยไม้สีเหลืองสวยงามใส่กระเช้ามาทั้งรากต้น ใบ ดอก พร้อมนามบัตรของคุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานสื่อในเครือหนังสือ “รักลูก” ให้ผู้แทนแจ้งว่าเสียดายที่มาไม่ได้เพราะป่วยกะทันหันกระเช้ากล้วยไม้หลากสีของคุณสุทธิธรรม  จิราธิวัฒน์ สนช. ผู้เป็นเจ้าของ B2S  และเครือ Central มาแทนตัว ซึ่งติดภารกิจไปต่างประเทศ (ดิฉันมาทราบภายหลังว่าคุณสุทธิธรรม เป็นคนรักดอกไม้ ไปอยู่ที่ไหนก็ชอบปลูกดอกไม้ ต้นไม้ให้โลกสดใส สวยงาม) เป็น ๒ กระเช้า ที่ตั้งไว้รับแขกผู้มาร่วมงานให้สดชื่นกัลยาณมิตรผู้มาให้กำลังใจเริ่มทยอยมา เริ่มด้วยคุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ กรรมการผู้เริ่มก่อตั้งมูลนิธิพชภ. , พี่เปี๊ยก (พลตำรวจตรี วีรวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา) พี่ชายร่วมบิดาของดิฉัน , พี่หมอมาลินี สุขเวชชวรกิจ  อดีตสว.นครสวรรค์ ผู้ที่ดิฉันเคารพรักดุจพี่น้องร่วมอุทร มาพร้อมกับพี่ลักษณ์น้องสาว , ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ อดีต สว.กทม. เพื่อนซี้ของครูแดง อยู่ในภาพปกหน้า ปกหลัง ของหนังสือ “เตือนใจ ตอนไปนอก” เดินคู่กับครูแดง สนช.รุ่นปัจจุบันที่ให้เกียรติมาในงานคือ พลเรือเอกประเสริฐ บุญทรง , ดร.ทวี สุรฤทธิกุล ทั้งสองท่านอยู่ในคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณตรวจรายงานการประชุมและติดตามมติการประชุม ซึ่งประชุมสัปดาห์ละ 3 วันรวด จึงสนิทสนมกลมเกลียวกันมากลูกชายบวร ดีเทศน์ ก็มาให้กำลังใจคุณแม่ด้วย โดยมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รีบต่อรถไฟฟ้ามาลงที่สยามกว่าจะหาร้าน B2S เจอก็เล่นเอาเหงื่อตกครูจุ จุฑามาศ ราชประสิทธิ์ ฝ่ารถติดในกรุงเทพฯ พาเยาวชน “ชมรมคนรักศิลป์ถิ่นภูเขา” เข้ามาที่งานตอนห้าโมงกว่า แล้วเริ่มแสดงดนตรีของชาวอาข่า ลีซู และชาติพันธุ์ต่าง ๆ เรียกสื่อมวลชนและคนดูให้เข้ามานั่งชมเพราะความบริสุทธิ์ น่ารัก ของทุกคน และเสียงเพลงที่ไพเราะ โดยอาหลูู ศิษย์รุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. 2516  เป็นผู้เป่าแคนลีซอ ตามคำขอของครูแดงท่านประธานเปิดงาน (คุณหญิงอัมพร มีศุข) ได้กรุณากล่าวเปิดงานด้วยบุคลิกที่ดูสง่างาม และอบอุ่นด้วยความเมตตา ท่านเริ่มว่าในชีวิตคนเรามีสิ่งที่ต้องทำ และอยากทำ ซึ่งทั้งรสนา และดิฉันโชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้มากกว่าที่ต้องทำคุณหญิงดีใจที่ผู้รักการอ่านจะมีหนังสือที่น่าอ่านเพิ่มขึ้นอีก 2 เล่ม ท่านขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนส่งเสริมการอ่านให้เป็นนิสัยของคนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มากขึ้นเสร็จพิธีเปิดอันน่าประทับใจแล้ว เป็นช่วงเวลาเสวนา “ผู้หญิงสองคนกับหนังสือสองเล่ม” ซึ่งคุณไก่ มีสุข แจ้งมีสุข และคุณ ตี้ แทนคุณ จิตต์อิสระ ทำหน้าที่คู่กันอย่างได้อรรถรสทำให้บรรยากาศเสวนาเป็นกันเอง มิตรรักแฟนเพลงจึงได้ชมความสามารถของพิธีกรยอดนิยมทั้ง ๒ คน อย่างใกล้ชิดและเต็มอิ่มตลอดเวลา ๑ ชั่วโมงเศษคุณรสนา กับดิฉันถูกถามว่าเรา ๒ คนมีอะไรที่เหมือนกัน จึงมาออกหนังสือโดยสำนักพิมพ์ WOMAN PUBLISHING ในเครือประพันธ์สาส์นร่วมกัน ดิฉันตอบว่า คุณรสนา เป็นผู้ที่ดึงดิฉันจากบนดอยมาเป็นปาฐกของมูลนิธิโกมล คีมทอง เมื่อ พ.ศ. 2528 เป็นแรงบันดาลเรื่องสุขภาพบนฐานภูมิปัญญาไทย จากนิตยสาร “สมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง” ซึ่งเธอส่งให้ดิฉันได้อ่านเป็นประจำ รวมทั้งหนังสือ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” ที่คุณรสนาเป็นผู้แปลในแนวเกษตรธรรมชาติ จุดร่วมของเราจึงเป็นเรื่องของธรรมชาติ และธรรมะ ซึ่งคุณรสนาได้แปลหนังสือของท่านติช นัท ฮันท์ หลายเล่ม เพื่อการเจริญสติในชีวิตประจำวันของคนในยุคโลกาภิวัตน์เดือนนี้มีงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ “ ระหว่างวันที่ 17 – 28 ตุลาคม 2550 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งหนังสือ “เตือนใจ ตอนไปนอก” กับ “เดี่ยวไมโครโฟนหญิง” จะวางจำหน่ายที่ร้านประพันธ์สาส์นด้วยค่ะขอเชิญผู้อ่านทุกท่านไปอุดหนุน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุนให้มูลนิธิพชภ. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ได้ทำงานเพื่อสังคมที่ดีงามและเป็นธรรมต่อไปค่ะ
new media watch
เรื่องหุ้น ธุรกิจ เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ และเรื่องเงินๆ ทองๆ อาจเป็นยาขมสำหรับคนไม่ชอบตัวเลขหรือไม่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านนี้ แต่ถ้าเข้าไปที่ http://1001ii.wordpress.com อาจเปลี่ยนใจไปเลย เพราะจะได้อะไรดีๆ เป็นอาหารสมองกลับมาให้คิดต่อกันอีกเพียบจากที่จั่วหัวว่าเป็น 'บล็อกเล็กๆ ว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ' ตามด้วยพื้นที่โฆษณาหนังสือ (เผื่อใครสนใจจะไปซื้อหามาอ่าน) แต่บทความของ 'นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์' เจ้าของผลงานหนังสือเศรษฐศาสตร์อ่าน (เข้าใจ) ง่ายหลายต่อหลายเล่ม ถูกโพสต์ให้อ่านกันฟรีๆ ในบล็อกแห่งนี้ แม้ว่าจะอุดมไปด้วยศัพท์เทคนิค อาทิ Short Call Options, Externality, Purchasing-Power Parity ฯลฯ ก็อย่าเพิ่งถอดใจ ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ เล็มไปทีละนิดจะพบว่า เรื่องเศรษฐศาสตร์ร้อยแปดพันเก้าเหล่านี้ น่าสนใจและใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิดถ้าใครอยากรู้ว่า 'โทรศัพท์กับโลกร้อน' เกี่ยวกับภาวะgศรษฐกิจอย่างไร, ราคา Big Mac จากทั่วโลกบอกอะไรให้ผู้บริโภครู้บ้าง หรือแม้กระทั่งว่า ชายลึกลับผู้ไม่ต้องออกไปทำงานทุกวันคนนั้นประกอบอาชีพอะไร คลิกเข้าไปอ่านบล็อกช่างคิดแห่งนี้ รับรองไม่ผิดหวัง!
Hit & Run
พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ 26 กันยายน 2550ย่านพระเจดีย์สุเล, กรุงย่างกุ้ง   ภาพที่เห็นคือ...ประชาชนหลายพันคนออกมายืนเต็มถนนย่านพระเจดีย์สุเล ซึ่งเป็นย่านกลางเมือง โดยไม่ไกลนักมีกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าตั้งแถวอยู่เบื้องหน้า ป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้พระเจดีย์แห่งนี้"เราต้องการประชาธิปไตย" ชายวัยกลางคนผู้หนึ่งกล่าว"รัฐบาลนี้อันตรายโคตรๆ" ชายอีกคนหนึ่งกล่าวประชาชนส่วนหนึ่ง พยายามต่อสู้กับทหาร ทหารที่มีทั้งโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา กระทั่งปืน โดยประชาชนพยายามขว้างอิฐ ขว้างหิน เข้าใส่แถวแนวของทหารพวกนั้นก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกทุบเป็นก้อนย่อมๆก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ถูกขว้างสุดแรงเกิด ใส่แถวแนวทหารก้อนแล้ว ก้อนเล่า ... ทำได้เพียงตกแทบปลายตีน คงเพียงสร้างความรำคาญให้ทหารราบทหารเลวเหล่านั้น หาได้ระคายเคืองต่อระบอบทหารไม่!ชายหนุ่มคนหนึ่งจึงละความพยายามจากการขว้างปาก้อนหิน เปลี่ยนเป็นยืนหันหลังให้แถวแนวของทหาร ... แล้วถลกโสร่งของตัวเองขึ้น!!! ... ก่อนสะบัดตูดให้แถวแนวทหารเหล่านั้นเช่นเคย ... หาได้ระคายเคืองต่อแถวแนวทหารเหล่านั้นไม่ คงได้เพียงความสะใจปลอบประโลมชายหนุ่มคนนั้น และผู้ยืนปรบมือเชียร์"เราขอประกาศห้ามรวมตัวกันมากกว่า 5 คน ขอให้กลับบ้านใครบ้านมันภายใน 10 นาที" เสียงจากรถขยายเสียงของทหารพม่า เตือนผู้ชุมนุมแถวแนวทหารเหล่านั้น กระชับขึ้น มุ่งตรงมายังประชาชน พวกเขาใช้ไม้กระบอง ตีโล่เป็นจังหวะ ตุบ ตุบ ตุบ ... .... .... ใกล้เข้ามาเรื่อยๆประชาชนทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า ขว้างปาอิฐเข้าใส่ป้อมตำรวจเล็กๆ แถวนั้นภาพที่เห็นคือชายสอง-สามคน ลองขว้างก้อนหินใส่แถวแนวทหารที่กำลังตบเท้าใกล้เข้ามาๆขวางได้เพียงสอง-สามก้อน เสียงปืนนัดแรกก็ดังขึ้น ผู้คนหนีกระจายเสียงปืนนัดต่อไปดังขึ้น นัดแล้ว นัดเล่าวิ่ง วิ่ง วิ่ง วิ่ง และวิ่ง ผู้คนวิ่งอย่างไม่คิดชีวิตบิน บิน บิน บิน และบิน อุปมาดั่งพิราบเหล่านั้น บินเพื่อเอาชีวิตรอด บินเพื่อฝันถึงประชาธิปไตยบทใหม่ในพม่า ซึ่งคงเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้สักวันแต่ไม่ทันที่จะได้อย่างใจหวัง พิราบถูกยิงปีกหักร่วงลงมา จบชีวิตเสรี ณ ตรงนั้น ย่านพระเจดีย์สุเล! 000 26 กันยายน 2550วัดพระมหาเจดีย์ชเวดากอง, กรุงย่างกุ้ง    ภาพที่เห็นคือ...พระสงฆ์และประชาชนหลายร้อยคน ตั้งแถวประจันหน้ากับปลายทหารซึ่งอยู่ตรงหน้า ซึ่งปลายกระบอกปืนนั้นหันมาทางพระสงฆ์และประชาชนเหล่านั้น ...พระสงฆ์นั่งลง และไหว้ทหารเหล่านั้น พระสงฆ์บางรูปก็ประกาศด้วยโทรโข่งร้องขอสันติภาพแต่ไม่เป็นผล ทหารตบเท้าเข้าหาพระสงฆ์และประชาชนเหล่านั้น จากนั้น ... เสียงกระบองทุบตีผู้คน ดังไปทั่วบริเวณชายคนหนึ่งถูกทหารไม่ต่ำกว่าสองนาย ทั้งถีบทั้งตีด้วยกระบอง ก่อนที่ทหารนายหนึ่งจะถีบสุดแรงตีนจนชายคนนั้นคว่ำลง แล้วทหารก็เหยียบหลังของเขาเอาไว้ทั้งพระทั้งคน ถ้าโชคดีไม่ถูกทหารยื้อยุดฉุดลากขึ้นรถบรรทุกเสียก่อน ก็หนีอย่างไม่คิดชีวิตด้วยการปีนกำแพงวัด แล้วเข้าไปหลบในเขตอภัยทานนั้นเมื่อหลบได้แล้ว พระเณรบางรูปก็หาทางตอบแทน ด้วยการขว้างก้อนหินเข้าใส่ทหารเหล่านั้น ซึ่งก็ทำให้ทหารถอยไม่เป็นกระบวนชั่วขณะหนึ่ง แต่แล้วทหารเหล่านั้นก็โต้กลับด้วยแก๊สน้ำตา และระดมขว้างก้อนหินกลับคืนขบวนพระสงฆ์และประชาชนแตกกระจัดกระจายอีกครั้งหนึ่ง 000  ภาพที่เห็นคือ...ผู้ประท้วงหายไปจากท้องถนน เหลือแต่ทหารพร้อมปืนประจำกาย ประจำการอยู่เต็มจุดสำคัญๆ ในกรุงย่างกุ้ง"การประท้วงจบแล้วหรือ หรือมันจะเกิดขึ้นอีก?" คำถามลอยมาตามกระแสลม"ประชาชนไม่ชอบรัฐบาล แต่เราไม่มีกำลัง เราไม่มีอาวุธ ... เราจึงไม่มีอิสรภาพ" คนขับรถประจำทางในกรุงย่างกุ้งกล่าว"ทหารเป็นนักฆ่า พวกเขาฆ่าพระ ช่างโหดร้ายนัก แย่มาก แย่ที่สุดในโลก" ชายอีกคนที่กำลังกินดื่มอยู่ใต้แผงขายอาหารริมทางกล่าว"เราไม่ลืมเด็ดขาด และเราจะไม่ยอมแพ้" เขากล่าว 000นายโทนี่ เบิร์ทลีย์ ภาพที่เห็นทั้งหลายนั้น...เป็นผลงานถ่ายทำของ นายโทนี่ เบิร์ทลีย์ (Tony Birthly) เพื่อเป็นสารคดี Inside Myanmar: The Crackdown ให้กับสำนักข่าวอัลจาซีรา โดยออกอากาศครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมาสำหรับสารคดีดังกล่าว เขาใช้เวลากว่าสองสัปดาห์ในพม่า เพื่อบันทึกภาพการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารพม่า โดยเขาเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศเพียงไม่กี่คน ที่รายงานข่าวผ่านกล้องที่เขาซ่อนเอาไว้ ท่ามกลางการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลทหารพม่าสิ่งที่ติดตาผมก็คือ ความพยายามของประชาชนพม่าที่ต่อสู้กับเผด็จการโดยใช้สันติวิธีมาตลอด กระทั่งเมื่อคู่ต่อสู้ตรงหน้าถือปืน และมุ่งเอาชีวิตประชาชน พวกเขาความพยายามอย่างยิ่งยวดที่สุด ที่เขาจะต้านทานทหารเหล่านั้นเอาไว้ ก็เพียงแค่เศษอิฐ เศษหิน ซึ่งอำนาจทำลายล้างย่อมเทียบไม่ติดกับ รัฐบาลทหารที่เพียบพร้อมด้วยแสนยานุภาพและครองเมืองมายาวนานเกือบ 50 ปีแต่เพียงแค่ก้อนหินของประชาชน รัฐบาลทหารพม่า (รวมถึงรัฐบาลทหารที่ไหนก็ตามในโลก) ก็มีข้ออ้างเพียงพอแล้ว ที่จะปราบปรามประชาชนของตนเอง โดยอ้างผ่านกระบอกเสียงของรัฐบาล ทั้งสถานีโทรทัศน์ MRTV หรือหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ว่า ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงก่อน และนี่แค่เป็นการเตือน!!นี่เองสะท้อนว่า รัฐบาลเผด็จการไม่ว่าที่ใดในโลก แค่ประชาชนถือก้อนอิฐ พวกเขาก็เห็นเป็น ‘ศัตรูของชาติ' ซึ่งพวกเขาต้องกวาดล้างให้สิ้นด้วยแสนยานุภาพที่เขามีเราจึงไม่อาจไว้ใจคณะลิเกเผด็จการชุดไหนได้เลย การปล่อยให้เผด็จการเป็นเจ้า การใช้วิธีนอกกฎหมายด้วยหวังขจัดวิกฤตการเมือง จึงเป็นการตัดสินใจที่ผิด ประชาชนพม่าซึ่งประสบเคราะห์กรรมกับรัฐบาลทหารมาตั้งแต่ พ.ศ.2505 กระทั่งปัจจุบัน เป็นตัวอย่างอันดี สำหรับประเทศไทย ที่หลายหน้าหลายตา ยอมปูทางให้คณะนายทหารเข้ามาครองเมือง พากันตบเท้าเข้าบ้านหลายเสาของใครบางคนก่อนวันรัฐประหารไม่กี่วันซึ่งการแก้วิกฤตการเมืองเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะคิดผิด แต่ได้ทำให้ประชาชนร่วมชาติพลอยตกหล่ม ถอยหลังลงคลอง ด้วยการนำพาของ ‘คณะลิเกเผด็จการ' มาปีกว่าอีกด้วย และไม่แน่ว่ามีเลือกตั้งแล้ว พวกเขาจะไม่ยอมลงโรงไปง่ายๆการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จึงเป็นการดูถูกจาบจ้วงล่วงเกินประชาชนร่วมชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน!!เราไม่ควรแม้แต่จะปูทางให้คณะลิเกเผด็จการ ‘คมช.' ยึดอำนาจด้วยซ้ำ ไม่ใช่เขาขอปล้นประชาธิปไตย 1 ปี ก็โร่หอบลูกจูงหลานไปมอบข้าวมอบน้ำ จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้เสียข้าวสุกสิ้นดี เพราะเกิน 1 ปีมา 1 เดือนกับอีกสองวันแล้ว แทนที่พวกจะสำนึกว่าหมดเวลา แล้ว พวกก็ยังลั่นว่าจะสืบทอดอำนาจ ‘ด้วยคุณธรรม'!!ก้อนอิฐเท่านั้นที่เหมาะกับคณะลิเกเผด็จการพวกนั้นพระเอกลิเก คณะลิเก ผู้ทรงคุณธรรมทั้งหลาย ... รับก้อนอิฐ ก้อนหิน สักก้อนสองก้อนไหมขอรับ ที่มาของฉากในเรื่อง และภาพประกอบบทความInside Myanmar: The Crackdown, Aljazeera, OCTOBER 09, 2007, http://english.aljazeera.net/NR/exeres/A0A81AA6-DACD-4913-AB67-AA8602962EAB.htm ชมสารคดีได้ที่นี่:Inside Myanmar: The Crackdown โดย Aljazeeraตอนที่ 1 ความยาว 12.45 นาที Inside Myanmar: The Crackdown โดย Aljazeeraตอนที่ 2 ความยาว 10.07 นาที   ข้อมูลประกอบเพิ่มเติมชมคลิปวิดีโอพระสงฆ์-ประชาชนประท้วงกลางกรุงย่างกุ้ง 26 ก.ย. ก่อนถูกทหารพม่าปราบ, ประชาไท, 27 ก.ย. 2550 http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9690&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai Nine killed as Myanmar junta cracks down on protests, AFP, Sep 26, 2007http://afp.google.com/article/ALeqM5jkMCKEq7yPbP20x3UjDZH9DbaJIQ Politics of Burma, From Wikipedia, the free encyclopediahttp://en.wikipedia.org/wiki/Politics_of_Burma
แพร จารุ
เรื่องขยะ ๆ มันโดนใจใครต่อใครหลายคน หลังจากที่เขียนเรื่อง แปดสิบบาทกับผู้ชายริมทางรถไฟ และในเรื่องมีขยะ ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ปรเมศวร์ กาแก้ว
แม่ของบอยออกไปนาตั้งแต่เช้า พร้อมกับที่พ่อกับแม่ของผมกลับบ้านไปพอดี  เมื่อคืนเรานอนกันที่บ้านของบอยจึงมีเรื่องเล่าสู่กันฟังมากมาย  บ่าวกับผมเล่าเรื่องของเล่นสนุกๆ ให้บอยฟัง โดยเฉพาะเรื่องวีดีโอเกม คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต บอยนั่งฟังตาโตเป็นไข่ห่าน  ผมกับบ่าวก็สนุกกับเรื่องราวกลาง
เจนจิรา สุ
12 กันยายน 2550 และแล้วก็มาถึงวันที่ทุกคนรอคอย เมื่อวันที่ย้ายต้องเลื่อนออกมาจากกำหนดเดิมอีกสองวัน แสงแดดดูเหมือนจะเป็นใจสาดส่องให้ถนนเส้นทางสายห้วยเดื่อ- ห้วยปูแกงที่เคยชื้นแฉะและเป็นหลุมบ่อจากน้ำฝนแห้งสนิท
ชิ สุวิชาน
บุ เต่อ โดะ นะ แล บุ เออบุ ลอ บ ะ เลอ ต่า อะ เออชะตา วาสนาช่างรันทดต้องเผชิญแต่สิ่งลำเค็ญ
กวีประชาไท
ภาพจาก: forum.serithai.net/index.php?topic=17348.msg2  
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
คืนและวันที่ดูแปลกหน้า แม้สบายๆ แต่ก็เปี่ยมด้วยความมุ่งหวังบางอย่าง หลายสิ่งที่ได้พบเห็นเติมเต็มความรู้สึกที่ได้รับจากการเดินทาง จากดินแดนเหนือสุดของเวียดนามประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้เรากำลังไต่ตามแผ่นดินแคบๆ ที่เลียบท้องทะเลมาถึงเมืองมรดกโลกลือชื่ออย่าง  ‘ฮอยอัน’  และในระหว่างเส้นทางอันยา