Skip to main content

“ฉันจะต้องไม่พิการ”
ฉันคำรามหนักแน่นอยู่ในใจ ในคืนวันหนึ่ง เมื่อนอนอยู่ในท่าทีเอาขาขวาพาดไว้บนกำแพง เพื่อดัดขาไล่ความเมื่อยล้า จากงานหนัก

จากวันนั้น อะไรก็ตามที่ทำให้เข่าของฉันเจ็บน้อยลง ฉันจะทำทันที เริ่มจากการค้นหาวิธีแก้ไข ควบคู่ไปกับการยอมรับความเจ็บปวดของขาข้างขวาว่าเป็นคู่แท้ของชีวิต

ปีแรก ฉันเดินกะเผลกแบบคนขาเป๋ เพราะขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย และยังไม่มีพละกำลัง เวลาเดินจึงเห็นว่าตัวเอียงมาก เป็นที่เวทนาตัวเองยามคนจ้องมอง ทำให้ฉันเข้าใจหัวอกคนพิการมากขึ้น

แต่แล้ววันหนึ่ง เหมือนพระมาโปรด ฉันกลับมากรุงเทพฯ แล้วไปเยี่ยมเพื่อนๆที่มหาวิทยาลัย ขณะนั่งอยู่ริมสนามฟุตบอล มองคนอื่นๆเล่นกิฬา อย่างเสียดาย ห่อเหี่ยวในหัวใจ

พี่บลู นักฮอกกี้ทีมชาติ หันมาเห็น จึงหยุดวิ่ง แล้วเดินมาหาฉัน เมื่อเขารู้ว่าฉันขาหัก เขาจึงเปิดขาข้างหักให้ฉันดู มันมีร่องรอยคล้ายๆของฉัน
“อย่าไปเชื่อหมอนะน้อง หมอก็ห้ามพี่เล่นกิฬาแรงๆ แต่พี่ไม่เชื่อ ในที่สุดพี่ก็กลับมาลงทีมชาติได้เหมือนเดิม”

คำของพี่บลู กังวานอยู่ในความทรงจำ คู่ขนานไปกับคำของหมอ หากไม่ใช่พี่บลู ฉันคงไม่เชื่อ แต่เพราะเขาเป็นนักกิฬา และเป็นนักกิฬาที่เอาจริงเอาจังมากกว่าฉัน ฉันจึงต้องเชื่อและเริ่มมีความหวังว่าจะเอาชนะความพิการได้

อีกสิ่งหนึ่งที่พี่บลูมอบให้ เมื่อรู้ว่าฉันท้อแท้ถึงขนาดเข้าไปอยู่ในวัดปฏิบัติธรรมเพื่อลดความเศร้าโศกมาระยะหนึ่งแล้ว พี่บลูหัวเราะฮึ ฮึ เหมือนฉันเป็นเด็กน้อย
“จะอยู่ในวัดหรือนอกวัดก็ต้องมีสติ การมีสติเหมือนการขับรถ ประคองพวงมาลัยไปให้สบายๆ พี่เรียนรู้การมีสติจากการขับรถ อย่าให้ตัวเองเครียดกับอะไรๆ ก็ใช้ได้แล้ว”

สองสิ่งที่ฉันได้มา มีคุณค่ามหาศาล โดยที่พี่บลูอาจไม่รู้ เพราะนับแต่นั้น ฉันไม่ได้เจอกับพี่บลูอีกเลย

แต่ความหวาดหวั่นยังมีอยู่ ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไรหากเดินไม่ได้ หรือต้องเดินขาเดียวพร้อมไม้ค้ำยัน แต่ที่แย่กว่านั้นคือตอนนี้ ฉันจะต้องมีคนช่วยนวดขาให้ทุกคืนก่อนนอน จึงจะนอนหลับได้ เมื่อไม่มีใครนวดให้ฉันต้องเรียนรู้การนวดตัวเอง

เหมือนโชคช่วยอีกหน ในปีที่สี่ของการบาดเจ็บ งานที่เข้ามาให้เลือกในขณะนั้นคือ โครงการศึกษาวิจัย และสร้างเครือข่ายหมอยาพื้นบ้าน ฉันรับทำงานทันที มันช่างสอดคล้องกับปัญหาของฉัน เหมือนฟ้าประทานมาทีเดียว

ฉันตระเวนเก็บข้อมูล สัมภาษณ์หมอยาสมุนไพร หมอนวดพื้นบ้าน และหมอตำแย ในภาคอีสานหลายจังหวัด มีโอกาสเรียนรู้เคล็ดวิชานวดของแต่ละหมอ และได้สูตรยาสมุนไพร หลายขนาน

ตอนนั้น ฉันคิดว่า เราเริ่มทำงานช้าไป ในราวๆ ปี พ.ศ. 2531 บางหมู่บ้านเมื่อฉันไปถึง คำตอบที่ได้คือ หมอยาเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อปีที่แล้ว เหลือแต่ห่อยา “ฮากไม้” ไว้ให้ลูกหลานดูต่างหน้า หรือบางรายชราภาพมากจนไม่สามารถรักษาใครได้อีก แต่ก็ยังโชคดี ที่ยังเหลือหมอยาเก่งๆ ให้ฉันได้พบ จนกระทั่งเกิดเป็นเครือข่ายหมอพื้นบ้านขึ้นในที่สุด

กลุ่มหมอยา มีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่คนหนุ่มสาว และได้เดินป่าศึกษาสมุนไพรหลายครั้ง

บางครั้งพ่อใหญ่สม พ่อหมอใหญ่แห่งอำเภอพล พาฉันเดินลุยตามป่าโคกเป็นวันๆ เพื่อรู้จักกับต้นยาและสรรพคุณยา แม้แข้งขาของฉันจะโอดโอยฉันก็ไม่ย่อท้อ ด้วยความอยากรู้

ฉันได้รับการถ่ายทอดวิชาแบบวิถีโบราณอย่างน่าภูมิใจ แต่บางวิชาต้องใช้คาถา ฉันไม่กล้าที่จะรับเพราะพ่อหมอบอกว่า ต้องมีข้อปฏิบัติ ที่ทางอีสานเรียกว่า “คะลำ” หรือข้อห้าม สำหรับคนที่จะใช้คาถานั้น เช่น ห้ามนั่งบนกี่ทอผ้า ห้ามนั่งหัวบันได ห้ามลอดราวตากผ้า หรืออื่นๆ อีก ...ฉันพิจารณาตัวเองแล้ว คงรับมาปฏิบัติไม่ได้ จึงไม่ได้มาสักคาถาเดียว

เรื่องคาถา น่าเชื่อถือไม่น้อย เพราะเจอกับตัวเอง

ครั้งหนึ่ง ตอนไปช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าว ฉันถูกแมลงป่อง ต่อยที่ปลายนิ้ว หมอเป่ามาเป่าให้เพี้ยงเดียว หายเป็นปลิดทิ้ง ฉันเชื่ออย่างไม่สงสัย เพราะว่ามันหายปวดในบัดดล (ไม่กล้าถามว่าคาถาอะไร กลัวความเจ็บปวดจะกลับมา)

การทำงานกับหมอพื้นบ้านฉันมีความสุขมาก ได้ความรู้ ได้รับความเอ็นดูจากพ่อหมอแม่หมอ และที่สำคัญเหนืออื่นใด เขาไม่รำคาญยามฉันขอร้องให้ช่วยนวดขาที่แสนจะเจ็บปวดของฉัน จนฉันรู้ว่าวิธีการนวดของแต่ละคน ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ข้อดีของคนที่ใกล้พิการ คือความต้องการจะหาย ฉันจึงกระหายที่จะเรียนรู้วิชานวด และในที่สุดฉันก็ทำได้...ฉันเป็นหมอนวด ที่รู้จักภาวะความเจ็บปวดของคนประเภทเดียวกับฉัน ฉันรู้ว่าลักษณะกล้ามเนื้อแบบนี้ สภาพเอ็นและกระดูกอย่างนี้ ควรจะนวดอย่างไร

ฉันนวดให้คนอื่นได้ แต่ฉันก็ยังเจ็บปวดขาอยู่ดี

ผ่านมาหลายปี ฉันได้วิชามากขึ้น ทั้งการนวด การอบสมุนไพร การทำยาหม่อง การทำน้ำมันนวดชนิดพิเศษ โดยเอาความต้องการของเองเป็นที่ตั้ง ฉันได้ใช้สิ่งเหล่านี้มาเพื่อการดูแลตัวเอง คิดว่า ถ้าฉันจะกลายเป็นคนพิการ แต่ฉันก็ยังทำอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพของตัวเองและคนอื่นๆ

การเป็นหมอนวดที่ทำอย่างไม่หวังผลตอบแทนทางการเงิน กลับทำให้ฉันมีเงิน

การเป็นคนที่รู้จักสมุนไพร ทำให้ฉันมีความสุข ที่ได้อยู่กับต้นไม้อย่างรู้จักคุณค่าของเขามากกว่าแค่เป็นต้นไม้ต้นหนึ่ง

การปลูกสมุนไพรและเฝ้าดูเขาเติบโตเป็นสมบัติของโลก ฉันว่าแค่นี้ก็น่าจะพอสำหรับคนอย่างฉัน

ทุกวันนี้ เวลาใครถามว่า เรียนวิชาเหล่านี้มาจากไหน ฉันจะบอกว่า “เรียนจากหมอพื้นบ้านภาคอีสาน” เพราะที่ฉันเรียนรู้ไม่ใช่แค่วิชาหมอ แต่ฉันได้เรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมของความเป็นหมอพื้นบ้าน ที่มีค่าครูค่าคายในการรักษาเพียงไม่กี่บาท แต่หมอได้รับการดูแลเรื่องอื่นๆ เช่น ช่วยงานในไร่นา บ้างก็แบ่งข้าวปลาอาหารมาให้หมอตลอดปี

เมื่อมีพิธีไหว้ครู จะเห็นผู้คนจากทั่วสารทิศมารวมกัน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเก่งกาจของหมอคนนั้น ดังนั้น ในชีวิตฉัน อีกหนึ่งคนที่จะต้องจารึกชื่อไว้ ในนามของผู้มีบุญคุณ ในการเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ คือ คุณยงยุทธ ตรีนุชกร หัวหน้าโครงการ ที่เป็นทั้งอาจารย์และเพื่อนร่วมงานของฉันตลอดสองปีเต็ม (ซึ่งปัจจุบันนี้ ฉันได้ข่าวว่ากำลังอยู่กับโรคร้ายอย่างมีความสุข บนเทือกเขาภูพาน)
มีวิชาในการดูแลตัวเอง แต่ก็ใช่ว่าจะรอดพ้นไปจากความเจ็บปวด เพียงแต่ยามก่อนนอน ฉันสามารถนวดขา กดขา หรือทำโยคะ เพื่อจัดการกล่อมเจ้าความเจ็บให้อ่อนแรงลงไปบ้าง

อาการเจ็บแบบฉัน เป็นเจ็บที่น่าประหลาด เพราะเวลากลางวันเคลื่อนไหวมากๆ จะไม่ค่อยรู้สึก แต่พอล้มตัวลงนอน มันจะจู่โจมเข้ามาเป็นอาการเจ็บแปลบๆวิ่งพล่านขึ้นลงไปทั้งขา สลับปวดหนึบๆในข้อเข่า ขยับเข่าจะดังกึกกัก เอ็นเส้นที่เจ็บล้ามากที่สุดคือเส้นที่พาดผ่านรอยแผลจากที่กระดูกทิ่มออกมา ฉันรู้สึกเหมือนเอ็นเส้นนี้มันอยู่ผิดที่ผิดทางยากที่จะมีหมอนวดมือดีมาคุ้ยกลับได้ หรือว่ามันเป็นเส้นประสาทที่ถูกกระทบกระเทือนจนพิการไปแล้วก็ได้ ฉันจึงได้แต่เอาไม้แหลมๆกดแรงๆ กระตุ้นให้ประสาททำงาน จนเจ็บจี๊ดอย่างสะใจ จึงปล่อยออกเป็นอันว่าต้องใช้วิธี เกลือจิ้มเกลือ เจ็บสู้เจ็บ จึงจะได้นอนหลับ

ผ่านมาห้าปี ความรู้สึกวิตกว่าอาจจะเป็นคนพิการลดน้อยลง แต่ยังรู้สึกถึงอาการเสื่อมของข้อเข่าที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

ฉันจึงมองหาวิธีจัดการกับมันใหม่....อย่างสนุกในอารมณ์

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล