Skip to main content

หลังคอนเสริตจบลงที่นิวยอร์ก เราเดินทางกลับสแครนตันในคืนนั้นเลย กว่าจะได้นอนก็ปาเข้าไปตีสี่ ทำให้หลังจากถึงที่นอนไม่เกินห้านาที เสียงกรนจากรอบข้างเริ่มดังขึ้น เหมือนมีการเปิดคอนเสริตประสานเสียง มีทั้งเสียงเบส เทนเนอร์ อัลโต โซปราโน ครบครัน กว่าผมจะหลับได้เล่นเอาฟังจนอิ่ม

ตื่นมาอีกทีได้เวลาอาหารเที่ยง ตอนบ่ายล้อเริ่มหมุนสู่เมือง Ithaca จุดหมายอยู่ที่ Ithaca state theater เป็นการประเดิมเล่นในโรงละครแห่งแรกในอเมริกา เวลาเปิดประตูทุ่มหนึ่ง ผู้ชมเริ่มเข้ามาทั้งคนไทยและฝรั่งสัดส่วนไม่แตกต่างกัน มีผมดำ ผมขาว ผมบรอนซ์ สลับกันไป

 

วันนี้ได้มีโอกาสปล่อยเพลง “แบแล” ร่วมกับวง นอกจากเล่นเพลง “ทีเบ ก่อเบ” ที่ร่วมกับพี่ทอด์ดและเพลงอื่นๆที่แจมกับคนอื่น บรรยากาศสนุกสนานดีทั้งคนฟังและคนเล่น

 

รู้สึกอย่างไรกับการได้มาเล่นคอนเสริตที่อเมริกา?” พี่ทอด์ด ถามผมบนเวที

ดีใจครับ ในฐานะคนชนเผ่าคนหนึ่งที่ได้มีพื้นที่ในการบอกเล่าเรื่องราว วัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์สู่ดินแดนอื่น แต่สิ่งที่ผมตั้งใจคือ อยากมาพบมาเจอกับพี่น้องปกาเกอะญอที่มาอยู่ในอเมริกาครับ” ผมตอบเขา

 

หลังจบคอนเสริตมีคณะคนไทยพาเราไปทานอาหารรอบดึก เจอคนลาว และคนเขมรในร้าน มีคนแนะนำว่า เขาถูกส่งมาให้มาอยู่ประเทศที่สาม เนื่องจากประเทศมีสงครามภายในประเทศ มันไม่ต่างจากคนปกาเกอะญอในรัฐกะเหรี่ยงเลย

 

รู้จักคนปกาเกอะญอที่มาประเทศที่สามเหมือนคุณไหม?” ผมถามเขาทั้งสอง

ปกาเกอะญอ ไม่มีนะ” เขาตอบแบบงง ในชื่อของเผ่าผม เหมือนเขาไม่เคยได้ยิน เคยรู้จัก

คาเรน คาเรน คุณรู้จักไหม?” ผมเซ้าซี้เขาต่อ

คาเรนที่มาจากประเทศพม่าเหรอ? เค้าไม่ได้มาจากประเทศไทยนะ” เขาบอกผม

นั่นแหละ เค้ามาจากเรฟฟูจี” ผมบอกเขา

ใช่ เค้ามาจากเรฟฟูจี เราเล่นตะกร้อด้วยกันทุกเย็น ถ้าผมรู้ผมชวนเขามาได้ ผมก็มาจากเรฟฟูจีที่ชายแดนไทยเขมร สมัยเขมรแดงปกครองประเทศ” เขาบอกผมด้วยรอยยิ้ม แต่นั่นหมายถึงผมคลาดจากการได้เจอคนปกาเกอะญอในเมือง Ithaca

 

ออกจาก เมือง Ithaca กลับไปนอนที่สแครนตัน เพราะตอนบ่ายในวันรุ่งขึ้นต้องเล่นที่เมืองสแครนตัน เวลา 11 โมงเช้าเราถึงเวที เป็นงานออกบูธประจำปีของโบสถ์คาทอลิก มีการขายอาหาร หนังสือ ซีดีเพลง เราเริ่มตั้งเครื่องเสียง เวทีไม่ธรรมดา เป็นรถสิบล้อเปิดฝาข้างแล้วดัดแปลงเป็นเวทีแสดงดนตรี แต่เนื่องจากเครื่องดนตรีของเรามีมากกว่าที่ เวทีกระบะสิบล้อจะรองรับได้

 

โกละ คู่หูของเตหน่ากู ถูกตั้งไว้ข้างหน้ากระบะรถสิบล้อ เพราะมันต้องการพื้นที่ส่วนตัวพอสมควร ในขณะที่เตหน่ากูอยู่บนเวทีกระบะรถสิบ หลังลองเครื่องดนตรีและเครื่องเสียงเสร็จ ออกไปเดินเที่ยวชมบูธต่างๆ พร้อมมองหาอาหารเที่ยงภายในตัว

 

บ่ายโมง แม้อากาศจะร้อนแต่ศรัทธาของบาทหลวงและโบสถ์ก็หลั่งไหลกันมาไม่น้อย เตหน่ากูได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่อย่างที่เคยทำมา เช่นเดียวกับโกละ สังเกตได้จากหลังจบคอนเสริตมีคนเข้ามาทักทายทำความรู้จักกับโกละไม่น้อยทีเดียว ดูเหมือนจะมากกว่าเตหน่ากูด้วยซ้ำในรอบนี้

 

หลังจากนั้นเดินทางต่อเพื่อไปเล่นที่ Thai Thani Resort บรรยากาศเป็นแบบครอบครัวหลายครอบครัว ตั้งแต่ ยาย พ่อ แม่ ลูก ปู่ หลาน จึงมีการเริ่มต้นด้วยดนตรีและบทเพลงเบาๆ เตหน่ากูได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ก่อนสามเพลงเช่นเคย หลังจากนั้นวงเต็มจึงเริ่มบรรเลงต่อ จนกระทั่งคอนเสริตได้จบลง กลายเป็นบรรยากาศการทักทายพูดคุยระหว่างคนเล่นดนตรีกับผู้ชม

 

Joe ผู้ชายร่างบึก อาชีพเป็นผู้ออกแบบการวางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในบริษัทขนาดใหญ่ เดินเข้ามาหาผม ก่อนถอนหายใจยาว

ผมขอสารภาพว่า ผมไม่ได้ตั้งใจมาเพื่อมาดูคุณ ไม่ได้มาเพื่อมาฟังดนตรีของคุณเลย แต่คุณทำให้น้ำตาผมไหลเมือฟังเสียงเพลง เสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรีคุณ” เขาพูดกับผมด้วยดวงตาที่แดงนิดๆ แต่ผมไม่แน่ใจว่าตาเขาแดงจากการร้องไห้เนื่องจากซึ้งที่ฟังเพลงหรือตาเขาแดงเพราะฤทธิ์เบียร์กันแน่

 

ไม่ใช่ของผมครับ ทั้งหมดเป็นผลผลิตที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเผ่าพันธุ์ผมครับ” ผมบอกเขา

รักษาเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมของคุณไว้ มันสวยงามและมีคุณค่าเกินกว่าจะยอมให้มือใครมาทำลาย” เขาพูดพร้อมกับตบไหล่ผมและบีบแบบเขย่านิดๆ

ผมพยายามอยู่ครับ แต่ผมทำคนเดียวไม่ได้ครับ มีปัจจัย มีเงื่อนไขอีกแยะครับ ที่ต้องมาเกี่ยวข้อง คนในชนเผ่าผมเองจำนวนไม่น้อยที่พยายามทำมัน” ผมบอกเขา

ใช่...ไม่ง่ายหรอก แต่คุณต้องทำ ผมเชื่อว่าโลกกำลังจะหันมาและจะเฝ้าดูเผ่าพันธุ์ของคุณ” เขาบอกด้วยรอยยิ้ม

โลกจะหันมาดูหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่วันนี้อย่างน้อยคุณหันมามอง ผมก็รู้สึกดีแล้วครับ” ผมส่งคำพูดและรอยยิ้มตอบเขา

 


บรรเลงบนเวทีกระบะรถ
10 ล้อ

 


โกละร่วมบรรเลง

 

 

 


เตหน่ากู กำลังทำหน้าที่
Thai Thani Resort

 

 

 


ลีลาของโหวต จากแม่น้ำโขง

 

 


Joe (
คนขวาสุด) ผู้ออกแบบการวางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในบริษัทขนาดใหญ่

 

 

บล็อกของ ชิ สุวิชาน

ชิ สุวิชาน
รุ่งเช้าวันที่ 10 กันยาฯ ทีมทั้งหมดเริ่มซ้อมเพื่อทบทวนกระบวนท่าฟ้อน ท่ารำ ท่วงท่าทำนอง จังหวะจะโคน ก่อนตระเวนออกศึก การซ้อมเริ่มต้นด้วยเพลงในอัลบั้มหิมพานต์ 2nd World ของพี่ทอด์ด ทองดี ต่อด้วยเพลงของ ซอ สมาชิกวง the sis ตามด้วยเพลงของลานนา คัมมินส์ รวมทั้งเพลงของมือระนาดและมือโปงลาง หมอแคน จนมาปิดท้ายที่เพลงของผม
ชิ สุวิชาน
บรรยากาศจากเทือกเขาสแครนตัน   หลังจากที่นักดนตรี นักร้อง นักรำมาถึงกันครบองค์ทั้งหมดแล้ว จึงเริ่มมีการแกะกล่องสัมภาระที่ขนเครื่องดนตรีและเครื่องไม้เครื่องมือประกอบการแสดงที่มาจากเมืองไทย ผมเริ่มแกะพลาสติกกันกระแทกที่ห่อเตหน่ากูไว้ เตหน่ากูได้โผล่ออกมารับแสงรับลมอีกครั้ง
ชิ สุวิชาน
รุ่งเช้าตื่นมา อากาศเย็นค่อนไปถึงหนาว ในขณะที่คณะที่มาด้วยกันยังนอนหลบกันอย่างเมามันจากอาการเพลียเพราะการเดินทาง ผมเดินลงไปในห้องครัวเผื่อเจออะไรที่ทานได้บ้าง หน้าห้องครัวเจ้าของบ้านได้ติดรูปคนในครอบครัว รูปลูกชายสองคน ที่ผมแปลกใจคือมีรูปหนึ่งที่ไม่ใช่รูปของผู้ชาย เป็นรูปคล้ายนางฟ้ามีข้อความเขียนว่า “Bless this home”  ทำให้นึกถึงบ้านคนไทยที่มีการเขียนหน้าบ้านต่างๆหลายอย่างเช่น “มั่งมีศรีสุข” บ้าง “บ้านนี้อยู่แล้วรวย” บ้าง
ชิ สุวิชาน
การรอคอยที่ไทเปสิ้นสุดลง เมื่อประตูสู่นิวยอร์กได้เปิดออกให้ผู้โดยสารเดินเข้าไปในเครื่องบิน ระยะทางกว่าสิบสี่ชั่วโมง ผมอยู่กับเพลง World Music ซึ่งเป็นเมนูที่มีให้เลือกจากสายการบิน บางเพลงมีเสียงระนาด ขลุ่ย และมีจังหวะหมอลำปะปนด้วยได้กลิ่นไอดนตรีไทยเป็นอย่างสูง ผมจึงยกหูฟังให้พี่สานุ นักดนตรีและโปรดิวเซอร์จากกรุงเทพฟัง เขาฟันธงเลยว่าเสียงทั้งหมดเป็นการ Samp มาทั้งนั้น ไม่ใช่เสียงจริงดั้งเดิมที่คนเล่นมา แต่ถึงอย่างไรก็เป็นการฆ่าความน่าเบื่อของการอยู่บนเครื่องเป็นเวลานานได้เป็นอย่างดี  
ชิ สุวิชาน
ก่อนเดินทางมีการแถลงข่าวที่กรุงเทพ มีผู้สนับสนุนทั้งกระทรวงการต่างประเทศและบริษัทบุญรอดฯมาร่วม หลังงานแถลงข่าวมีการสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนที่มาในงาน
ชิ สุวิชาน
ความจริงแล้วผมมีกำหนดการนัดสัมภาษณ์ขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปประเทศอเมริกาในวันที่ 2 กันยายน 2552 ขณะที่กำหนดการในการเดินทางไปประเทศดังกล่าวคือเช้าวันที่ 3 กันยายน 2552 หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ แผนกำหนดการเดินทางอาจมีปัญหาได้ ฉะนั้นทางบริษัท ลาเวลล์ เอนเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งเป็นผู้ประสานและเป็นผู้อำนวยการการเดินทางในครั้งนี้ ได้ขอทำเรื่องเร่งรัดการสัมภาษณ์ให้เกิดขึ้นก่อนการสัมภาษณ์เดิม
ชิ สุวิชาน
  บรรยากาศงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คำรบที่สาม เป็นไปอย่างเรียบง่ายเล็กๆ กะทัดรัด ตามประเด็นหัวข้อที่นำเอาเรื่องของ "การจัดการทรัพยากรบนพื้นที่สูงในรูปแบบโฉนดชุมชน" ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้อาวุโสชนเผ่าทางภาคเหนือต่างมากันอย่างครบครันเช่นเดิม
ชิ สุวิชาน
เขาเดินลงไปท้ายหมู่บ้าน พร้อมกับบทเพลง" อย่าให้น้ำตาไหลริน"ของ ฉ่า เก โดะ ที  แม่จ๋า อย่าปล่อยให้น้ำตาได้มีโอกาสไหล            บัดนี้อายุลูกครบ สิบหกบริบูรณ์แล้วดั่งกฎของชายชาติทหารทุกประทศมี                  ลูกต้องทำหน้าที่เพื่อการปฏิวัติพ่อได้สละชีพจนแม่เลี้ยงลูกอย่างกำพร้า             อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่ลำเค็ญ แม่ทนถึงคราวลูกชายคนโตต้องไปทำหน้าที่ต่อ     …
ชิ สุวิชาน
สงครามตามชายแดนไทย-พม่าริมแม่น้ำเมยได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง ทางการพม่าออกมาปฏิเสธไม่มีส่วนกับสงครามที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยบอกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชนเผ่ากะเหรี่ยงด้วยกันเอง คือระหว่างกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) ผลของการสู้รบทำให้ประชาชนชาวกะเหรี่ยงด้วยกันเองที่อยู่ในพื้นที่การสู้รบ ต้องหนีภัยจากการสู้รบ หลายชุมชนต้องฝ่าเสียงกระสุนปืน หลายชุมชนต้องฝ่าดงและเสียงระเบิด ในขณะที่เดินฝ่าความตายเพื่อหนีตายนั้น ต้องทำด้วยความเงียบ ความรวดเร็ว ต้องเก็บแม้กระทั่งเสียงร้องไห้
ชิ สุวิชาน
เพลงต่อเพลง ถูกเล่น ถูกร้อง ถูกเล่า ถูกถ่ายทอดออกมาล้วนมีที่มาที่ไปไม่แตกต่างจากเจตนารมณ์ของพ้อเหล่ป่าที่ทำตอนที่ยังชีวิตอยู่ เวลาผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง อาจารย์ลีซะกับพี่นนท์ก็โยนเวทีมาให้ผม ขณะที่ผมกำลังอยู่ในอาการสับสนเพราะไม่รู้จะเล่นเพลงอะไรดี สิ่งที่เตรียมเล่นเตรียมพูดในขณะที่เดินทาง เล่นไม่ได้พูดไม่ได้ มันเป็นประเด็นเปราะบางสำหรับพื้นที่นี้ งานนี้อีกครั้งหนึ่ง!
ชิ สุวิชาน
จังหวะที่ผมลุกขึ้นและตามเจ้าของบ้านเพื่อไปกินข้าว สายตาผมแวบไปมองเห็นผู้เฒ่าคนหนึ่งเหมือนคุ้นเคยกันมานาน ทั้งที่ผมไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน เขาก็จ้องหน้าผมเหมือนรู้จักมักคุ้นกับผมเป็นอย่างดี  "โพโดะ (หลาน) คืนนี้มีการขับธาไหม?" เขาถามผมเหมือนรู้ว่าใจผมต้องการอะไร แต่สีหน้าเขาเหมือนแสดงอาการไม่มั่นใจในบางอย่างออกมา"โอ้โห ต้องมีซิ" ผมตอบโดยไม่ต้องเดาว่าเขาคือโมะโชะคนหนึ่งแน่นอน
ชิ สุวิชาน
ทุกครั้งที่เดินทางผ่านหมู่บ้านแม่แฮใต้ ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม ไม่มีครั้งไหนที่เลยผ่านร้านขายของชำเล็กๆริมทาง ที่มีผู้เฒ่าปากแดงด้วยน้ำหมากนั่งเฝ้าอยู่ มีของที่จำเป็นพื้นฐานสำหรับชีวิตคนภูขายซึ่งมักเป็นอาหารแห้ง ขนมขบเคี้ยวและยารักษาโรคเบื้องต้น  แต่ร้านขายของชำเล็กๆ ถึงเล็กมากแห่งนี้มีมากกว่านั้น มีเรื่องเล่าให้หัวเราะ ให้อมยิ้ม ให้ขบคิด และมีบทธาให้เก็บเกี่ยวมากมาย