Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กัลกัตตาเป็นเมืองหลวงสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (มันยิ้มเห็นลิ้น “คิดว่านะ”)อาคารร้านตลาดหรือ Shopping Center ยังคงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมยุโรป ประเมินได้ว่า นับตั้งแต่คานธีปลดปล่อยอินเดีย “มันก็ยังอยู่อย่างนั้น ทรุดโทรมไปตามเวลาอย่างขาดการดูแล”ยามเช้า “ชั้นตั้งนาฬิกาปลุกออกไปเดินถนนตั้งแต่ 7 โมงเช้า” บนถนนย่านตลาดสด เวลาเหมือนหยุดนิ่ง เงียบสงบ ยามเช้าที่ไหนก็สวยใสอย่างนี้เสมอ ถนนลาดหินเหมือนจัตุรัสกลางในหนังสือวรรณกรรมอังกฤษ“ถนนลาดหินเหมือนฉากหนังหยองขวัญเรื่อง Jack the Ripper มากกว่าว่ะ”อืม .. หน้าโรงแรม ริมถนนตรงข้ามข้างคันโยกน้ำสาธารณะ เด็กน้อยคนนึงกำลังอาบน้ำ สีฟัน “ชั้นพยายามโฟกัส” ขณะวัดแสง เด็กน้อยรีบหลบหลังคันโยก (ทั้งที่ไม่มิด) หุบยิ้ม จ้องเขม็ง เดินหนีใกล้ๆ กัน มีผู้หญิงในชุดส่าหรีมอมอคนหนึ่งคุ้ยกองขยะ ...ร้านน้ำชาเป็นสภาของผู้ชายที่จะมานั่งเต๊ะจุ๊ยพูดคุยและอ่านหนังสือพิมพ์ จิบชานมสีน้ำตาลอ่อนๆ ในถ้วยดินเผา ดื่มหมดโยนถ้วยดินเผาลงพื้น กินแล้วโยนลงพื้น กินแล้วก็โยน จนมันบอกว่า เศษถ้วยดินเผาเกลื่อนถนนอีกฟากหนุ่มรถเข็นขายน้ำมะนาวกำลังผสมน้ำสีตุ่นๆ กับมะนาวสด จนไม่รู้ว่า กินไปแล้วท้องเสียเพราะมะนาวสดหรือน้ำสีตุ่น ลานกว้างหน้า Shopping Center กลายเป็นที่นอนของคนเร่ร่อน ไร้บ้านจำนวนมาก บางคนหรูหรามีเตียงเหล็กสานนอนเบียดกันและกัน ฝ่าเท้าดำปี๋ ขาก่ายเกยกันสองสามคน บางคนคุดคู้ใต้ผ้าห่มบางๆ เกลื่อนกลาดอยู่กลางลานเวลาดูเหมือนหยุดนิ่ง ยามเช้าที่ไหนในโลกมักสวยงามอย่างนี้เสมอ “ภาพอย่างนี้มีให้เห็นได้ทั่วไป เหมือนภาพ abstract ที่ไม่อาจบรรยาย” มันว่าห่างออกไปอีกบล็อกจะเป็นย่านตลาดสดเพิ่มดีกรีความจอแจที่คุ้นเคย คนขนไก่มัดขาไก่เอาไว้กับแฮนด์รถจักรยานเข็นไปส่งที่ตลาดสด ไก่นับร้อยชีวิตถูกแบ่งเป็น 4 พวง บนแฮนด์สองข้างและท้ายที่นั่งอีกสองข้างห้อยปุเลงๆ ไปบนถนนหินเหมือนกับฉากหนังสยองขวัญ Jack the Ripperผู้ชายเดินทูนของบนหัว บิดก้นไปมาขยับขาไวๆ เหมือนกับนักกีฬาเดินทน เดินกันให้ควั่ก เข็มนาฬิกาแห่งวันเริ่มทำงานอีกครั้งเมืองแห่งอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ ขณะที่ทัชมาฮาล คือ สถาปัตยกรรม อันน่าอัศจรรย์ใจหรือความเป็นเมืองแห่ง IT อย่างบังกาลอว์ อินเดียไม่ใช่ประเทศยากจนหรือประเทศโลกที่สาม เป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามประชาชนอินเดีย ยากจนคนกว่าครึ่งของมหานครกัลกัตตา ไม่เร่ร่อนไร้บ้านก็อยู่ในชุมชนที่เรียกได้ว่า สลัม“นั่นแหละ คือ อินเดีย”“เพื่อน (อินเดีย) ชั้นบอกมาว่ะ ส่วนอีกคนถามว่า ท้องเสียหรือของหายหรือเปล่า” เพื่อนผมหัวเราะขื่นๆหรือว่า นี่มันเป็นเรื่องปกติในทุกมหานครของโลก (การค้าเสรี) ...กิจกรรมยามเช้าเวลาที่หยุดนิ่งของคุณลุงเหมือนกับฉากหลัง คือ อาคารทรงยุโรปจากยุคอาณานิคมคุณลุงบนรถลาก กำลังรอผู้โดยสารร้านน้ำชาก่อนจะกลายสภาพเป็นสภากาแฟสำหรับผู้ชายไก่!ลานข้างตลาดขายปลา สีแดงธงรูปค้อนเคียวเธอกำลังเก็บกระดาษกิจวัตรประจำวันริมฟุตบาธ ก่อนจะออกไปทำงานคฤหาสน์บนลานหน้า Shopping Center
ภู เชียงดาว
ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับเมือง หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มานานหลายปี ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้- -อาจเป็นเพราะระยะหลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแปลกและป่วย บางครั้งคล้ายยินเสียงจากข้างในกำลังบอกอะไรบางอย่าง ราวกับจะบอกว่า... ‘ที่สุดแล้ว,ชีวิตต้องกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา’ แหละนั่น ทำให้ผมเริ่มวางแผนกลับไปใช้ชีวิตในสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากที่ปล่อยให้สวนรกร้างว่างเปล่ามานานเต็มทีจริงสิ, ผมปล่อยให้ต้นไม้ในสวนรกเรื้อและโตขึ้นตามลำพัง ไร้การดูแลเอาใจใส่ ไม่มีเวลารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย คงเหมือนกับชีวิตตัวเองกระมัง ที่ต้องมาอยู่กับเมือง มัวแต่ไขว่คว้าบางสิ่ง แต่ละทิ้งอะไรหลายอย่าง ผูกพันกับเทคโนโลยี กับการงานที่เร็วและเร่ง จนทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นช่างรกรุงรังเสียเหลือเกิน เหนื่อยและล้า กระทั่งชีวิตชำรุด ผุกร่อน ต้องเข้าโรงซ่อมหลายต่อหลายครั้งพักหลังมานี้ ผมจึงรู้สึกโหยหาและผูกพันกับสวนบนเนินเขามากขึ้น หลังจากเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาได้เริ่มลงหลักปักฐานปลูกบ้านไม้หลังเล็กๆ ในสวน ผมเทียวขึ้นเทียวล่องอยู่อย่างนั้น อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง, เฝ้าดูสล่ากับเพื่อนบ้านช่วยกันขุดหลุม ลงเสา ขึ้นโครง มุงหลังคา ทำห้องน้ำ ห้องครัว หน้าต่าง ประตู ปูพื้นฝา ระเบียง ฯลฯครั้นเข้าหน้าฝน กลับบ้านสวนครั้งใด ผมมักหิ้วกล้าไม้ใส่รถขนขึ้นไปปลูกแทบทุกครั้ง อย่างน้อยก็สองสามอย่าง เผลอไม่นาน สวนผมกลายเป็นสวนผสมผสานไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อเดินสำรวจ ลูบคลำต้นไม้ใบไม้ในสวนทีละต้นๆ จึงรู้ว่ามีต้นไม้ที่ผมลงมือปลูกเอาไว้มีทั้งหมดมากกว่ายี่สิบชนิด รวมกว่าสี่ร้อยต้น ในเนื้อที่ราวห้าไร่ ล่าสุด, ผมมีโอกาสเดินทางไปหมู่บ้านก็อตป่าบง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากบ้านเกิด เป็นชุมชนชนเผ่าลาหู่ที่ผมรู้สึกผูกพันมานาน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทำงานเป็นครูดอยอยู่แถบถิ่นนี้ พอลงจากรถ ผมก็สัมผัสได้ถึงธรรมชาติ ความรัก ความเรียบง่าย และไมตรีจิตของพี่น้องชนเผ่าเมื่อทุกคนต่างเดินเข้ามาจับมือ ยกมือไหว้ทักทาย พร้อมเชื้อเชิญขึ้นบ้าน ล้อมวงพูดคุย จิบน้ำชา ถกถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของกันและกันหลังจากนั้น 'ป๊ะป่า' ชาวบ้านที่ผมคุ้นเคย ชวนเข้าไปดูแปลงเพาะกล้ากาแฟในหุบเขา ขณะที่เราเคลื่อนไหวไปเบื้องหน้า...ผมชอบภาพผ่านสองข้างทาง อากาศสะอาด แดดส่องผ่านหุบห้วย ขุนเขาสลับทับซ้อน ไร่ข้าว ถั่วลิสง ถั่วแป๋ ขึ้นแซมเต็มผืนดินที่ว่าง งามฝักข้าวโพดเหลืองแก่คาต้นรอการเก็บเกี่ยว แหล่ะนั่น ต้นกาแฟแทรกตัวอยู่ใต้ร่มเงามะม่วงสูงใหญ่ผมชอบความสดเขียวมันวับของใบกาแฟ พร้อมลูกดกสีเขียวแดงเต็มกิ่งก้าน ป๊ะป่า กับภรรยามีความสุขเริงร่ากับกล้ากาแฟที่เพาะไว้“รู้มั้ย กลายเป็นว่า ปลูกกาแฟนั้นดูแลง่ายกว่าปลูกข้าวโพดเสียอีก ปลูกทิ้งไว้ใต้ต้นลำไย มะม่วง สองปีก็เก็บหน่วยขายได้ ถึงเวลามีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านเมล็ดกาแฟสด ลูกสีแดง ตอนนี้ ราคาตกประมาณ 12-15 บาทต่อกิโล...” ป๊ะป่า บอกเล่าให้ฟังในขณะที่ ‘สุรเดช’ สมาชิก อบต.ปิงโค้ง ลูกหลานของป๊ะป่า บอกว่า เขาเอากล้าที่ป๊ะป่าไปปลูกใต้สวนมะม่วงเพียงห้าสิบต้น ปล่อยทิ้งไว้สองปีจนสูงท่วมหัว ล่าสุดเขาเก็บเมล็ดกาแฟขายได้เงินสี่ห้าพันบาท“ตอนนี้ ทางนายกฯพิพัฒน์พงศ์ เดชา นายก อบต.ปิงโค้ง ได้ส่งเสริมให้ป๊ะป่าเพาะกล้าแจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้ปลูกกันตามไร่ตามสวน ซึ่งต่อไปอาจเป็นอีกอาชีพหนึ่งของชาวบ้านแถวนี้ และกำลังคิดกันว่าทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมถึงขึ้นคิดจะสร้างแบรนด์เนมให้กับตำบลปิงโค้ง..และแพ็คใส่ถุงเป็นกาแฟบดขายได้ในอนาคต”‘สุรเดช’ พาชื่นชมสวนกาแฟใต้ร่มเงามะม่วงเราช่วยกันขนกล้ากาแฟในแปลงเพาะ ใส่ในกระบะหลังของรถขับเคลื่อนสี่ล้อคันเล็กจนเต็มล้น“เอาไปลองปลูกในสวน แล้วรอเก็บหน่วยอีกสองปีข้างหน้าเน้อ...” นานแล้ว ที่ผมไม่ได้ยินน้ำเสียงของการให้ด้วยความเต็มใจ “ชีวิตผมไม่ต้องรวย แค่พออยู่ได้ มีเหลือก็แบ่งปัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้วล่ะ...” ป๊ะป่า เอ่ยออกมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี“อ่อบูอื่อย่าๆ...” ผมกล่าวขอบคุณป๊ะป่า ด้วยภาษาลาหู่ เป็นกล่าวคำขอบคุณด้วยความรู้สึกศรัทธาและชื่นชมในวิถีชนเผ่า จริงสิ, ชีวิตแค่พออยู่พอกิน อยู่กับดิน น้ำ ฟ้า ป่าไม้ อากาศ ขุนเขา ฯลฯ เพียงเท่านี้ชีวิตก็รุ่มรวยแล้ว มาถึงตอนนี้ทำให้ผมนึกไปถึงภาพไร่กาแฟ ของ 'ไอแซค ไดนีเสน' ในหนังสือ 'Out of Africa' ที่ 'สุริยฉัตร ชัยมงคล' แปลเอาไว้อย่างงามและมีชีวิตชีวา“...เราไม่มีวันรวยขึ้นมาได้จากการทำไร่.แต่การปลูกกาแฟนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่รั้งตัวคุณเอาไว้และไม่ยอมปล่อย, มีอะไรบางอย่างต้องเกี่ยวกับมันเสมอ”ผมล่ำลาชาวบ้าน ก่อนขับรถขนกล้ากาแฟกลับไปสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดผมทันที จากบ่ายจนเย็นย่ำ ที่ผมทำงานในสวนโดยมิยอมหยุดพัก เม็ดเหงื่อผุดพรายเต็มใบหน้า ไหลซึมเสื้อผ้าจนเปียกชื้นเย็น ก้มๆ เงยๆ อยู่อย่างนั้น จับจอบขุดหลุมไปตามหว่างร่มเงาของมะม่วง ลำไย ฉีกถุงเพาะกล้ากาแฟ ค่อยๆ หย่อนลงในหลุม พลิกดินกลบ จากหลุมนี้ ไปหลุมนั้น...นานนับนาน ขณะที่ผมปลูกกาแฟไปรอบบ้านปีกไม้ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ผมครุ่นนึกไปถึงการเติบใหญ่ของกาแฟในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และนึกไปถึง 'ไอแซค ไดนีเสน' อีกครั้ง, ที่เธอบอกเล่าให้เห็นสีสันความจริงที่คล้ายกับว่ากำลังเคลื่อนไหวไปมาอยู่เบื้องหน้าอย่างไรอย่างนั้น...“...การปลูกกาแฟนั้นเป็นงานยาวนาน, มันไม่เป็นผลอย่างที่วาดไว้เสียทั้งหมด, เมื่อคุณยังอายุน้อย, เปี่ยมด้วยความหวัง, ภายใต้สายฝนที่ถะถั่งลงมา, คุณประคองหีบต้นกล้ากาแฟที่เขียววะวับออกจากเรือนเพาะชำ, และพร้อมพรักด้วยบรรดาชาวไร่มืออาชีพกลางทุ่ง, เฝ้าดูต้นกล้าที่ลงสู่หลุมเรียงรายเป็นแถวอย่างมีระเบียบบนพื้นดินเปียกฉ่ำซึ่งมันจะงอกงามขึ้น กินเวลาสี่หรือห้าปี กว่ามันจะเติบโตได้ที่ และในช่วงนั้นก็อาจจะเกิดแล้งฝน หรือโรคพืช, และเจ้าวัชพืชพื้นเมืองก็จะพากันงอกพรึ่บขึ้นมาเต็มไร่”กระนั้น, ผมก็ลงมือปลูกกาแฟไปแล้วกว่าสองร้อยต้นในสวนบนเนินเขา และอดจินตนาการไปถึงภาพความงามของดอกกาแฟสีขาวกำลังเบ่งบาน พร้อมโชยกลิ่นหอม เหมือนกับที่เธอบอกว่า “ดอกกาแฟนั้นมีกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆ” และผมอยากจะต่อถ้อยคำของเธออีกว่า...ชีวิตชาวไร่ชาวสวนก็คงเหมือนกับดอกกาแฟนั่นแหละ…ที่มีทั้งกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆซึ่งผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ครับ. หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ “คนคือการเดินทาง” เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2550 และผู้เขียนนำมาเพิ่มเติมและเรียบเรียงใหม่
ชนกลุ่มน้อย
เพลงรบต่อเนื่องกันมาถึงบันไดขั้นสุดท้าย  ยังมีบันไดอีกหลายขั้นทอดไป  และยังมีบันไดขั้นใหม่ๆทอดข้ามไปมา  ข้ามพรมแดนแปลกหน้าหากันและกัน  ไม่ว่าเพลงจะเกิดขึ้นในถ้ำ  เกิดในศูนย์ลี้ภัย  เกิดตามป่า  เกิดในเมือง  เพลงยังมีชีวิตเดินทางไปตามหาคนฟังต่อไปยามเพลงเดินไปตามไร่ข้าว  ห้างไร่  ออกตามหาคนฟัง  ผมไม่นึกว่าภาพนั้นจะกลายเป็นเรื่องราวอื่นไปได้มากกว่านั้น  คนเกี่ยวข้าวหยุดพัก  ตีวงล้อมเข้ามา  นั่งฟังเพลงคนหนุ่มที่ใช้เวลากับการเล่นเพลง  แต่งเพลง  ร้องฟังกันเองในแค้มป์ผู้ลี้ภัย  เหมือนโลกไม่เคยเห็น  โลกไม่เคยรับรู้ออกเดินไปร้องเพลงกันในถ้ำ เสียงปืนที่คำรามอยู่อีกฟากยอดเขา  เด็กหนุ่มกำลังแต่งเพลง  เขาเขียนเพลงที่สั่นใจคนหนุ่มให้ออกไปรบ ...คงเป็นฉากฝันไป  ฉากฝันไปจริงๆ  หลายครั้งที่ผมไปอยู่ร่วมวงเพลงในไร่ข้าว  รวงข้าวคงไม่อยากรักนวลสงวนตัว  โยกรวงไปตามเพลง  รวงข้าวฟังเพลง  แต่เนื้อหาเพลงนั้น  เล่าถึงเด็กๆที่นอนฟังเสียงปืนทั้งคืน  ชีวิตที่อยู่ด้วยความหวาดหวั่น  เสียงเพลงจริงจังเหลือเกิน  มันเป็นเสียงของการมองโลกอย่างมีความหวัง  มองโลกในแง่ดีผ่านชีวิตอันโหดร้าย ปลุกปลอบ  ให้รู้สึกถึงกำลังใจเพลงริมตะเข็บชายแดน  ยังทำหน้าที่นั้น  ผมเชื่ออย่างนั้น  คนสร้างเพลงปรารถนาจะให้ก๊อปปี้ไปฟังกันเยอะๆโดยปราศจากราคาที่ทางที่อยู่ที่ยืนของเพลงบนความยากลำบาก  ต่อสู้ ดิ้นรน  พลัดพราก  สูญเสีย  ขมขื่น  ถึงกระนั้น  เพลงยังกังวานขึ้นมาด้วยความหวังเสมอ ผมเขียนถึงเพลงรบบนแผ่นดินตะวันตก  คารวะบทเพลงเหล่านั้น  คนสร้างเพลงเหล่านั้น  บทเพลงที่ไม่มีทางจะพลิกผันกลายเป็นอื่นไปมากกว่าเพลงร้องปลอบตัวเอง  เผ่าพันธุ์ตัวเอง  เป็นฝุ่นลมในคืนดำมืด  เป็นเสียงร้องที่ไม่ปรารถนาน้ำตาจากใครอื่นแต่ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่ง  รั้วกั้นขวางความเกลียดชังกันระหว่างเผ่าพันธุ์จะพังลง  แล้วเพลงที่เกิดจากพลังต่อสู้ดิ้นรน  จะกังวานไปทั่วแผ่นดินนั้น   แผ่นดินประเทศพม่า    มีโอกาสเหมาะเมื่อไหร่  หรือมีอื่นใดเติมเข้ามา  ผมคงได้กลับไปเขียนถึงอีกครั้ง             *** ปล. เพลงของเหล่อวา  มีอันต้องยกรอไว้ก่อน  มาถึงมือเมื่อไหร่  คงได้นำมาเขียนเพิ่มเติม
แสงพูไช อินทะวีคำ
มีหลายอย่างที่สะท้อนออกมาให้เราได้เห็นและคิด เมื่อมองเห็นภาพโดยรวมที่ว่า- -ทำไมนักเขียนถึงกำเนิดขึ้นในระยะที่ประเทศชาติทำการปฏิวัติชาติประชาธิปไตย? นักเขียนปฏิวัติมีจุดยืนของตัวเองอย่างไร เพื่อเขียนบทประพันธ์ของตน? นักประพันธ์ปฏิวัติมองเห็นข้อบกพร่องอะไรบ้างของระบบล่าอาณานิคมแบบเก่าและใหม่?  พวกเขาใช้หลักการประพันธ์อย่างไรเพื่อให้คนอ่านได้มองเห็นความสมจริงของเรื่อง?  นักประพันธ์ปฏิวัติมีความต้องการให้เข้าใจการปฏิวัติอย่างไรและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งต่อระบบจักรววตินิยม? คำถามเหล่านี้ตั้งขึ้นเพื่อการหาคำตอบว่า นักประพันธ์มีจุดยืนของตนอย่างไรเพื่อการเขียน!นักประพันธ์ปฏิวัติลาวกำเนิดขึ้นเกือบพร้อมๆ กับการปฏิวัติลาว เป็นสื่อแบบหนึ่งในการรับใช้ให้แก่การโฆษณา แนวทางก็คือระบอบการเมืองของการปฏิวัติลาวตั้งแต่แรกเริ่ม พร้อมๆ กับการโฆษณาด้านต่างๆเพื่อรับใช้การปฏิวัติลาวในช่วงนั้นๆ จริงๆ แล้ว เราก็เข้าใจกันแล้วว่า ‘วรรณกรรม วรรณคดีไม่มีชนชั้น วรรณกรรม วรรณคดีมีความเป็นเสรีในตัวของมันอยู่แล้ว’ แต่วรรณคดีจะถูกชนชั้นนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือของตน เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่การปฏิวัติชาติประชาธิปไตยประชาชนลาวในระยะนั้นได้นำเอาวรรณคดีมารับใช้ในแนวทางก็คือนโยบายของตน โดยมีวัตถุประสงค์ต่อต้านกับระบอบการเมืองเก่า หรือชนชั้นปกครองเก่านักประพันธ์ปฏิวัติในระยะนั้น ได้มีความพยายามเลือกเอากาละโอกาสที่ดีงามเช่นนั้น โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามกับการปฏิวัติ โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ของกำลังศัตรู นักประพันธ์ก็สามารถยกขึ้นมาเพื่อเขียนโจมตีอย่างเห็นภาพได้ชัดเจนว่า ‘ในระบอบสังคมเก่านั้น บรรดาเจ้าใหญ่นายโต ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนเวลาใด ต่างก็เอาเปรียบผู้คนทั่วไป ข่มขู่ขู่เข็ญประชาชน หรือ แม้แต่การมีเมียน้อยของเจ้านายในระบอบเก่าก็ยกขื้นมาพูดกันในเรื่อง โดยมีนายเหนือหัวคือ อเมริกา เป็นผู้อุปถัมภ์ เมื่ออ่านบทเรื่องแล้วก็เข้าใจว่า นักประพันธ์ปฏิวัติมีความเข้าใจว่า มีเพียงการปฏิวัติเท่านั้นที่จะชักนำความศิวิไลซ์มาสู่พี่น้องชาติพันธุ์ลาวทั้งประเทศ’ในบทวรรณคดีปฏิวัติลาวที่ได้เสนอไปแล้ว มีบางเรื่องก็ประกอบสิ่งที่เหลือเชื่อ คืออาจเกินความเป็นจริงบ้าง แต่ที่สำคัญก็คือ นักประพันธ์ สามารถสะท้อนมุมเล็กๆ ที่บางครั้งหรือหลายครั้งคนทั่วไปมองไม่เห็น นำมาเขียนขึ้นให้น่าอ่าน น่าสนใจเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราๆ จึงสามารถมองเห็นว่า การนำเอาวรรณคดีมารับใช้ให้กับการปฏิวัติลาว จึงมีควาหมายสำคัญยิ่งนัก ข่าวการรบกันของกำลังปฏิวัติและกำลังฝ่ายตรงกันข้าม จึงเป็นไปว่ากำลังปฏิวัติได้รับชัยชนะเกือบทุกครั้ง มีบางเรื่องก็เกินจริงอย่าง “ข้าวห่อใบตองจับศัตรู”   เพราะมันไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ใครจะไม่รู้จักข้าวห่อใบตอง? แต่อีกทางหนึ่งก็ไม่เกินไป เพราะว่าเวลาประชิดเอาปานนั้นคงไม่มีใครคิดว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะเสี่ยงตายถึงขั้นใช้ข้าวห่อใบตองทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องนี้  50-50 ทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้นักประพันธ์ปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นในห้วงเวลาใดต่างก็มีความพยายามสูงมาก ในการสร้างภาพให้ผู้คนเข้าใจว่า การปฏิวัติประชาชน เพื่อประชาชน เพื่อให้หลุดพ้นจากการกดขี่ข่มขู่ของต่างชาติ นั่นคือความคิดส่วนหนึ่งของนักประพันธ์ปฏิวัติ !หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ลงตีพิมพ์ครั้งแรกที่ หนังสือพิมพ์เวียงจันท์ใหม่ วันที่ 5/3/2005
กวีประชาไท
 Photo from: http://www.flickr.com/photos/naixn/624130172/  ...คลื่นที่ซัดเข้าสาดฝั่งแรงโถมถั่งทุ่มเทอยู่ถี่ถี่ระลอกแล้วระลอกเล่ากี่นานปีกัดกลืนผืนปฐพีอยู่มิคลายกร่อนโขดหินที่ยืนแกร่งอย่างเกรี้ยวกราดเกลียวคลื่นเหมือนอาฆาตดังมาดหมาย –ซัดโขดหินโซทรุดหลุดลงทลายซบแทบเท้าสุดท้ายแห่งสายน้ำ...ต่างแนวทรายชายหาดทุกหนแห่งล้มลมล้อคลื่นแรงระเรื่อยร่ำคล้ายจะถูกดูดกลืน – คลื่นเคี่ยวกรำสยบยอมต่อกระทำของทะเลต่อกระทำของทะเลที่ชวนทะเลาะกลืนรอยทรายหลังเซาะล้อคลื่นเห่ยังคงทรายหลังคลื่นเข้าโถมเทคงรายอยู่ริมทะเลเรียงเต็มลาน ...แด่ทรายทุกเม็ดที่โล้คลื่นมรสุมอย่างกล้าหาญไหมฟ้าสาเกตุนคร - ร้อยเอ็ด
กิตติพันธ์ กันจินะ
 ลมฟ้าอากาศเริ่มเปลี่ยนแปรไปตามสภาพ ฝนตกเพิ่งหยุดได้ไม่นาน ลมหนาวเยือนมาพัดผ่านท้องทุ่งจนต้นข้าวโยกเอียง บ้างล้ม บางตั้งตระหง่าน ตอนเช้าๆ อากาศแถวบ้านผม, จังหวัดเชียงราย อำเภอพาน ตำบลแม่อ้อ บ้านแม่แก้วเหนือ อากาศเริ่มหนาวเย็นขึ้นทุกขณะ ชีวิตของผมทุกวันนี้ไม่เหมือนห้าเดือนก่อนที่ผ่านมา เพราะต้องย้ายสำมะโนครัวจากเชียงใหม่ กลับมาอยู่บ้านที่เชียงราย ซึ่งตลอดระยะเวลาสี่ปีที่อยู่เชียงใหม่ ผมได้พบเจอเรื่องราวหลายเรื่อง ทั้งการงาน ความรัก ชีวิต ความสัมพันธ์ เพื่อน ฯลฯ ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกับตอนที่อยู่บ้านที่เชียงรายอย่างมากสภาพอากาศ ความสงบ การดำเนินชีวิต สามอย่างเบื้องต้นคือความต่างที่ได้เห็นและสัมผัส เปรียบเทียบกับสองจังหวัดนี้ -ไม่มีเสียงเพลง แสงสี ยามค่ำคืน ที่เชียงราย หากมีเพียงท้องทุ่ง ลมเย็น กลิ่นรวงข้าว ดาวสีขาว พระจันทร์นวลเหลือง บางวันมีหิ่งห้อยตัวน้อยๆ บินมาเยี่ยมเยียน สลับกับเสียงของจิ้งหรีด เรไร ร้องไปมาชีวิตในเชียงใหม่ ไม่ได้ค่อยได้สัมผัส บรรยากาศแบบเชียงรายเท่าไหร่หรอกครับ วันหนึ่งๆ มีเพียงแต่ทำงาน หรือเที่ยวไปตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะผับ เธค - เรื่องยาวๆ ที่ชื่อ "บัวสีเทา" ก็เป็นผลอย่างหนึ่งที่ผมได้นำเรื่องจริง มาเขียนผสมกับงานแต่งอีกนิดน้อย เพื่อให้เรื่องราวเข้าถึงคนได้ง่ายอีกนิด เพราะหากจะเอาข้อมูลดิบๆ วิชาการมาให้ใครอ่าน คงจะยากต่อความเข้าใจสักนิด ซึ่งจริงๆ แล้ว บัวสีเทา เป็นเรื่องราวมาจากการศึกษาวิถีชีวิต องค์ความรู้ ของเพื่อนๆ ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มที่คนเรียกว่า "แก๊ง" ซึ่งทาง วิทยาลัยการจัดการทางสังคมหรือ วจส. สนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินงานอย่างที่บอกไว้ครับ ว่าเดิมทีก็ผมเพียงแค่จะทำงานแบบเก็บข้อมูลมาเขียนๆ แล้วก็จบ แต่พอทำไปทำมา ก็ได้เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ พี่น้อง - การทำงานเลยกลายเป็นการใช้ชีวิตไปโดยปริยายและเป็นไปโดยผมไม่มีความสงสัยในความเปลี่ยนแปลงเลยแม้แต่น้อย ที่ผ่านมา ผมได้ใช้เวลาเขียนบัวสีเทานานหลายเดือน และผมเองก็ไม่เคยได้เขียนเรื่องราวอะไรยาวขนาดนี้ เรื่องนี้จึงถือเป็นเรื่องยาวเรื่องแรกที่ผมได้เขียน - เขียนมาจากความรู้สึกและเนื้อหาจากงานบางส่วนที่มี เลยออกมาเป็นอย่างที่หลายๆ คนได้อ่านกันมาอย่างยาวยืดนั้นแหล่ะครับอันที่จริงแล้วช่วงระหว่างที่ทยอยนำ "บัวสีเทา" ขึ้นประชาไทนั้น ได้มีหลายเรื่องเข้ามาในชีวิต เข้ามากระทบมากมาย ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กแก๊ง หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ของเยาวชนที่สังคมวิพากษ์ ทั้งเด็กที่แต่งตัวโป๊ เด็กที่ไม่ใส่กางเกงใน เรื่องถุงยางอนามัย เรื่องการศึกษา การเมือง ฯลฯ - หลายเรื่องผมพยายามคิดและวิเคราะห์ว่าจะแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างไร แต่พอพื้นที่ "หนุ่มสาวสมัยนี้" แห่งนี้ ได้เป็นที่สถิตของบัวสีเทาเสียแล้ว จึงทำให้ผมไม่ได้เขียนเรื่องร้อนๆ ที่เป็นประเด็นทางสังคม ทีนี้พอไม่ได้เขียนก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่า บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องตอบโต้ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมก็ได้ บางเรื่องเป็นสิ่งที่เราได้เฝ้ามองปรากฏการณ์นั้นให้ผ่านไป ตามเงื่อนไขของเวลา เพราะมันก็เปลี่ยนไป เมื่อได้เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้ว เรื่องนั้นๆ ก็จบลง จางหายไป เป็นไปตามหลักอนิจจัง หากเราดูให้ดีแล้ว การได้นิ่งไม่ตอบโต้ก็เหมือนเป็นการ "ฟังเสียงข้างใน" ของตัวเอง และก็ได้เห็นคนที่ต้องทุกข์กับปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งผมมองว่าคนที่ทุกข์ใจนั้น หาใช่เยาวชนหรือคนหนุ่มสาว หากแต่เป็น ผู้ใหญ่เสียมากกว่า ที่ออกมาเต้นผาง ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์เด็กๆ ด้วยความคิดของผู้ใหญ่ บางครั้งเป็นคำเตือนที่มีความหมาย บางครั้งเป็นคำด่า สบถที่รุนแรง แต่ก็ถือเป็น "ความหวังดี" ของผู้ใหญ่ที่มีต่อวัยรุ่นและสังคมแต่คิดดูให้ดีแล้วความหวังดีนั้น อาจกลายเป็นการทำลายคุณค่าในชีวิตของวัยรุ่นหลายคนเลยก็ได้ผมไม่รู้ว่า พวกเรา, วัยรุ่นหลายคน จะอยู่กันอย่างไร ในสภาพที่สังคมและผู้ใหญ่ มองพวกเราด้วยสายตาและท่าทีหรือความไม่เข้าใจแบบนี้ และนั่นไม่แปลกหรอกครับที่คนรุ่นผมหลายคนจะมองผู้ใหญ่แบบตัดสิน แบบที่ไม่เข้าใจ เหมือนกัน เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการพื้นที่ของตนเอง ทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นจึงไม่น่าแปลกเท่าใด ที่ผู้ใหญ่จะเป็นทุกข์มากกว่าวัยรุ่น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงวัยรุ่นน่าจะเป็นทุกข์หรือมองเห็นทุกข์ได้มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องเพราะ "ที่ปลดทุกข์" ของวัยรุ่นมีมากกว่าผู้ใหญ่ไงครับ ไม่ว่าจะเป็นผับ เธค อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ นิตยสารต่างๆ ล้วนกลายเป็นแหล่งสร้างสุข สร้างพื้นที่ทางสังคม พื้นที่ตัวตนของพวกเรามากกว่าสังคมจริงๆ แห่งนี้ ที่ผู้ใหญ่ปกครอง สังคมที่วัยรุ่นออกแบบจึงเป็นสังคมที่ไม่เป็นทุกข์ มีแต่ความเข้าใจและยอมรับซึ่งกัน และข้อสังเกตของผมก็คือเป็น "สังคมสีเทา" ที่ไม่มีขาวดำ ไม่มีการตัดสิน ตีตรา คนอื่นด้วยมาตรฐานความดีงามตามบรรทัดฐานสังคมที่คนส่วนใหญ่มีและกำหนดกันขึ้นมาสังคมของผู้ใหญ่ มีแต่ความทุกข์ มีขาว ดำ ไม่มีการให้โอกาส ไม่มีความสมานฉันท์ ไร้ซึ่งความเมตตา ต่อกัน เพราะผู้ใหญ่สมัยนี้ลืมรากเหง้าของตัวเอง ไม่เท่าทันสังคมโลกาภิวัตน์ และน่าสงสารยิ่งนักที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งของชนชั้นปกครอง จนซึมเข้ากับตัวเองทุกอนูความรู้สึกที่กล่าวมานี้เพราะผมสงสาร, ทั้งผู้ใหญ่และก็ตัวเองด้วย, ชีวิต คนเรายิ่งมีแต่ทุกข์ ทุกชั่วโมงยาม มีเรื่องราวมากมายให้ได้ค้นพบ มีหลายวิธีที่จะทำให้คนได้รับความสุขที่แท้จริง แต่คนกลับมองไม่เห็น หรือไม่ค่อยได้แสวงหาเท่าใดนัก หรือนั้น อาจเป็นเพราะเราเกิดมาในสังคมขาว-ดำ เกิดมาในสังคมที่อ่อนแอ เยี่ยงสังคมแห่งนี้!?อย่างไรก็ตาม, อีกเรื่องที่ผมพบกับตนเอง ในช่วงหลังๆ มานี้ คือผมไม่ค่อยอยากรับรู้เรื่องราวทางสังคมนี้เท่าไหร่เลย ผมเสมือนกลายเป็นคนเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ อันเนื่องเพราะสองข้างทางบ้านผมนั้นมีแต่ไร่กับนาจริงๆ ผมจึงพบว่าอันที่จริงแล้ว "สังคมขาวดำ" ที่เรารับรู้หรือรู้สึกอยู่นี้ มันไม่ได้มีอยู่จริงเลย เพราะเราเพียงแต่ "ถูกทำ" ให้เข้าใจว่า สังคมนี้เป็นแบบนี้อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งแท้แล้ว สังคมย่อยๆ อีกหลายแห่งมีความหลากหลายที่แตกต่างกัน และไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ หรือสีเทาๆ เท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายแบบ หลายแง่มุมให้สัมผัสและเรียนรู้เพียงแต่ว่าเราไม่ได้เข้าถึงแบบอื่นๆ เท่านั้นเอง เพราะสังคมที่เราอยู่แห่งนี้ ไม่มีพื้นที่ให้ความแตกต่างอื่นๆ ได้มีพื้นที่ของตัวเองเลยแม้แต่นิด เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงไม่แปลกที่วัยรุ่นสีเทาๆ จะถูกมองไม่ดีจากคนในสังคมสีขาว-ดำ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว สิ่งที่น่าจะทำได้ ต่อเรื่องสังคมขาวดำ หรือเทา ก็คือ นั่งเงียบๆ ฟังเสียงข้างในของตัวเอง รู้จักตัวเองให้มากขึ้น และยอมรับกับสภาวะจิตใจของเราที่เกิดขึ้นในแต่ละชั่วขณะ หรืออาจหาที่เงียบๆ สงบๆ ลมเย็นๆ อากาศดีๆ นอนหลับให้เต็มอิ่มเพื่อไปสู่พื้นที่ดีๆ มีความสุขในความฝัน ก่อนที่จะตื่นขึ้นมาอีกครา เพื่อพบกับ "ความจริง" อันแสนจะปวดหัว.....
นาโก๊ะลี
วันแต่ละวัน ซึ่งก็คือตลอดเวลาของชีวิต  มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการสื่อสาร  มีบ้างหรอกวิธี หรือเครื่องมือสื่อสารที่สามารถตัดต่อ เรียบเรียงโดยผ่านการใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ด้วยเหตุด้วยผลว่าจะได้หรือเสีย ดีหรือร้าย  ในแง่นี้ก็อาจจะว่าเฉพาะไปที่การเขียน  ซึ่งมันเป็นการสื่อสารที่ค่อนข้างช้า  ความช้านี่เองที่ทำให้สามารถกลั่นกรองเรื่องราวเนื้อหานั้นๆ  แต่การสื่อสารที่รวดเร็ว ว่าก็คือการสนทนานั้นมันเป็นการสื่อสารทันใด  มันจึงทำให้กรองได้น้อย  มีบ้างหรอกความพยายามที่จะ ‘คิดก่อนพูด’ แต่มันก็ไม่ได้ใช้ได้ทุกครั้ง  ยิ่งขณะภาวะที่ความคิดคับแคบด้วยแล้ว  ถ้อยคำก็ยิ่งเป็นสื่อที่ออกมาจากภายในโดยตรง  อย่างดีที่สุดก็ผ่านการตรวจสอบจากข้อมูลความรู้เดิม ความทรงจำเดิม ทั้งหมดนั้นความหมายของมันก็คือ ถ้อยคำได้ฉายภาพจากภายในของผู้คนออกมานั่นเองดูเหมือนว่าโบราณ  ถ้อยคำของโบราณฉายภาพชัดเจนทั้งศิลปะ วัฒนธรรม ความเชื่อของมนุษย์  บางทีมันมาในรูปของนิทานปรัมปรา  มาในภาษิตคำคม เรื่องเล่า หรือตำนานผ่านภาษาที่เรียบง่าย  เรื่องราวเหล่านั้นเคลื่อนไหว ดำรงอยู่ในสนามปัญญาร่วมของมนุษยชาติ  ทั้งหมดนั้นมันจึงเปี่ยมความหมาย  หรืออาจเป็นนิรันดร์ ดังเช่น ณ ยุคสมัยเวลานี้ เรายังได้ยินได้ฟังถ้อยคำโบราณ อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชน  เรื่องราวเหล่านั้นเองที่มันบ่งบอกอุปนิสัยของชนนั้นๆ  และเมื่อเราฟังคำโบราณของหลายเผ่าชนเราย่อมพบว่า  คำของโบราณนั้นสืบต่อมาแต่คำของธรรมชาติ  ด้วยมักมีเรื่องราวของหลายชนเผ่าที่ไกลโพ้น ฟังคล้ายเป็นเรื่องราวเดียวกันอย่างไม่น่าเชื่อนั่นเองทั้งหมดนี้ คล้ายว่ามนุษย์มิอาจปิดบังซ่อนเร้นภาพ หรือสภาวะภายในของตนได้  ด้วยว่ามันปรากฏเด่นชัดอยู่ในถ้อยคำ  เช่นนั้นเอง เมื่อยามที่เราได้ฟังคำโกหกพกลม เพ้อเจ้อ ของผู้คน  เราย่อมรู้ได้ไม่ยากเย็นถึงความจริงที่ซ่อนอยู่หลังคำโอ่อวดนั้น  เพราะวิญญาณของเขาฉายชัดอยู่ในถ้อยคำนั้นแล้ว หรือแม้กระทั่งความจริงของชีวิตที่ผู้คนกล่าวออกมา  เราย่อมมองเห็นตัวตน และโลกภายในของเขาได้ชัดเจน   เช่นนี้เองที่เราย่อมเชื่อได้ไม่มาก็น้อยว่า  ที่สุดแล้วมนุษย์ไม่สามารถหลอกลวงผู้อื่นได้ เพราะชีวิตของเขาคือภาพสะท้อนตัวตนภายในของเขา  หากจะมีใครที่มนุษย์พอจะหลอกได้บ้างก็คือ ตัวเอง  กระนั้นหากสืบสาวให้ลึกลงไปกว่านั้น  จิตไร้สำนึกของตัวเองก็ไม่ได้ถูกหลอกอยู่นั่นเอง  ........ถ้อยคำคือหนทาง....มันเป็นหนทางสายสำคัญในวิถีชีวิต  มันนำเราไปสู่ความงาม ความจริง  การเรียนรู้  บางถ้อยคำคือดอกไม้ที่มีหยดน้ำค้างต้องแสงตะวันเปล่งประกายเช้า  บางถ้อยคำอาจเป็นเศษขยะเน่าเหม็นริมทาง  เช่นนั้นเอง ในกระบวนการเรียนรู้ เราจึงไม่อาจละเลยถ้อยคำ  ด้วยว่าเราไม่อาจเพียงชื่นชมดอกไม้โดยแกล้งทำเป็นไม่เห็นกองขยะ หากแต่เราต้องรู้ว่ากองขยะเน่าเหม็นนั้นก็อาจเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ เพื่อได้ออกดอกส่งกลิ่นหอม ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นวิถีแห่งถ้อยคำ นั่นก็เป็นได้....
สวนหนังสือ
โดย ‘นายยืนยง’ชื่อหนังสือ :    ไตร่ตรองมองหลักประเภท :                บทความพุทธปรัชญา     จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์ศยามพิมพ์ครั้งที่ ๒ :    กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๓  :  แก้ไขปรับปรุงผู้เขียน :    เขมานันทะบรรณาธิการ :    นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ในกระแสนิยมปัจจุบัน  แม้พุทธศาสนาจะอยู่ในรูปสภาพที่เป็นกิจการค้าความเชื่อมากมายเพียงไร  และคงไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีตรายี่ห้อใดบ้าง  ไม่ว่าจะลุ่มลึกหรือตื้นเขินตามกรอบทัศนคติของใคร แต่แก่นแท้ของพุทธศาสนาอันเป็นประตูสู่การบรรลุถึงโลกุตรธรรมนั้น ยังเป็นหลักของความสมบูรณ์แห่งทัศนะอยู่เป็นปกติหากเคยศึกษาหลักธรรรมะเราจะพบว่า  ความรู้สึกนึกคิดและสภาวะแห่งจิตจะเกิดปรากฏการณ์แห่งความสงสัย ใคร่จะได้คำอธิบาย  หรือเต็มไปด้วยปริศนา ด้วยหลักธรรมหรือพุทธปรัชญานั้น เป็นศาสตร์อันละเอียดลึกซึ้ง และเป็นนามธรรมยิ่ง       บทความว่าด้วยศาสนาและปรัชญา  เล่ม ไตร่ตรองมองหลัก ที่เขียนโดย ท่านอาจารย์เขมานันทะ เล่มนี้  ได้บรรยายด้วยภาษาอันเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก  ประกอบด้วยบทความเกี่ยวกับ       (๑) สาระสำคัญแห่งวัชรยานตันตระ       (๒) ข้อพินิจไตร่ตรอง  ต่อความมีอยู่และไม่มีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ   (๓) เหนือคิดคำนึง(๔) พรหมจรรย์และฐานแห่งการภาวนา(๕) โศลกคำสอนมหามุทราของติโลปะในบทความแรกอันเกี่ยวกับวัชรยาน  หรือญาณสายฟ้าแลบที่เรารู้จัก  เป็นบทบรรยายแก่นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาศาสนาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา  ซึ่งท่านอาจารย์เขมานันทะอธิบายถึงแก่นแท้ของวัชรยาน  โดยเปรียบเทียบเนื้อหาสาระกับนิกายเซน ให้ข้อสังเกตในด้านของลักษณะทางภูมิศาสตร์อันเป็นสถานที่กำเนิดความเชื่อ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงรูปลักษณะทางวัฒนธรรมในแหล่งกำเนิดความเชื่อนั้นด้วย ลักษณะการวิเคราะห์ ถอดความจากสัญลักษณ์ในเชิงปรัชญาที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมนั้น  เป็นแนวทางที่ท่านอาจารย์เขมานันทะมีความถนัดอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการถอดความจากสัญลักษณ์จากวรรณคดีหรือวรรณกรรม   ดังในคำนำของ นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้  ได้กล่าวยกย่องท่านเป็น เอตทัคคะท่านหนึ่งทางด้านสามารถไขความสัญลักษณ์ ที่ปรากฎอยู่ในงาน ศาสนศิลป์  ท่านอาจารย์เขมานันทะ  อธิบายรากฐานของวัชรยานโดยพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งปรากฏอยู่ในศาสนศิลป์ของชาวธิเบต  โดยท่านได้ทบทวนเพื่อเชื่อมโยงถึงยุคทองของศาสนาในชมพูทวีป ว่าด้วยยุคอุปนิษัท หรือศาสนาพราหมณ์ ที่อธิบายปรากฏการณ์ของโลก ชีวิต จักรวาล นั้นว่าเป็นอันเดียวกัน ตัวเรานั้นเป็นสิ่งเดียวกับจักรวาลทั้งหมด ขณะเดียวกัน ท่านได้ยกภาษิตของจางจื้อ ที่ว่า“  ฟ้าดินกับอั๊วเป็นอันเดียวกัน  สรรพสิ่งทั้งหมดกับอั๊วเป็นหนึ่งเดียว ”   (น.๑๔)      ครั้นแล้วก็เปรียบเทียบเข้ากับวรรณคดีอย่าง  รามเกียรติ์หรือ  รามายณะ  มหาภารตะ ที่มีโครงสร้างสำคัญว่าด้วยการสู้รบของฝ่ายธรรมะคือพระราม กับฝ่ายอธรรมคือทศกัณฐ์    หรือที่ท่านว่า สัจจะซึ่งสังหารมายาภาพ  เปรียบได้กับวัชรยาน ซึ่งคือเครื่องตัดอวิชชา  ถือเป็นแนวคิดเชิงสัญลักษณ์ ตรงกับนัยของศาสนาพราหมณ์ว่า อาตมันนั้นแท้จริงคือปรมาตมัน  กิเลสตัณหาต่าง ๆ ล้วนเป็นคุณะ(Value )ของเทพ(Divine) อันซ่อนเร้น แทนด้วยสัญลักษณ์ของรากษส (พวกยักษ์มาร) (น.๑๔)   ท่านอธิบายว่า  ชีวิตเป็นการสู้รบกันระหว่างรากษสและเทพ  เพทเป็นคุณสมบัติเบื้องสูง รากษสเป็นคุณสมบัติซ่อนเร้น  เพื่อปูพื้นฐานในการทำความเข้าใจวัชรยาน โดยภาพรวมแล้ว  บทความเล่มนี้ มีลักษณะเด่นในด้านการยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ท่านอาจารย์เขมานันทะใช้ภูมิความรู้ความเข้าใจเพื่ออธิบายเชื่อมโยงองค์ความรู้หลายสาขาผนวกเข้าเป็นแนวทางที่จะเข้าถึงหลักพุทธปรัชญา  นอกจากนี้การยกตัวอย่างเพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน มีผลดีให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะในบท เหนือคิดคำนึง (น.๔๙)  ได้ยกตัวอย่างโศลกธรรม  เพื่อการเปรียบเทียบสภาพธรรมทางใจ แสดงให้เห็นถึงความมีอยู่ และไม่มีอยู่  ได้อย่างชัดเจน ดังโศลกของเว่ยหล่าง (น.๕๕) “  ไม่มีต้นโพธิ    ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสว่างเมื่อทุกสิ่งว่างไร้ฝุ่นจะปรากฏได้ที่ไหน  ” กิเลสอันถูกเปรียบด้วยฝุ่นละออง  กายซึ่งเปรียบด้วยต้นโพธิอันไร้แก่น และจิตใจอันเปรียบด้วยกระจกเงาที่เจ้าของหมั่นขยันเช็ดให้สะอาด  ดังโศลกธรรมของชินเชาที่ว่า“  กายของเราคือต้นโพธิและใจของเราคือกระจกเงาอันใสเราเช็ดมันอย่างระวังตั้งใจในทุก  ๆ โมงยามทั้งไม่ยอมให้ฝุ่นธุลีปรากฏขึ้นได้  ”จากโศลกทั้งสองนั้น  มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด  ในเมื่อชินเชายังยืนอยู่ในความมีกาย  อันเปรียบด้วยต้นโพธิ และความมีอยู่ แห่งใจอันเปรียบด้วยกระจกและความมีอยู่ของกิเลส คือฝุ่นธุลี อันตนต้องเช็ดถูอย่างระวังในทุก ๆ ชั่วโมง  แสดงถึงการปฏิบัติธรรมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสับสน ตอกย้ำความคิดรวบยอดว่ามีตัวตน และมีศูนย์กลางของการกระทำ ...  ฯลฯ  ดังนั้น  การได้อ่านหนังสือพุทธปรัชญาเล่ม ไตร่ตรองมองหลัก นี้  เสมือนหนึ่งได้อ่านหนังสือหลายต่อหลายเล่มโดยผ่านการสรุปตีความจากท่านอาจารย์เขมานันทะ เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา แต่ขณะเดียวกัน  การศึกษาโดยเลินเล่อหรือละเลยต่อแก่นแท้ของการศึกษาแล้ว (ไม่ว่าจะโน้มเอียงไปตามสัมมาทิฎฐิหรือมิจฉาทิฎฐิ)  ย่อมอาจเป็นจุดเริ่มต้นอันสับสน  ซับซ้อน ซึ่งอาจไม่มีวันเยียวยาแก้ไขได้แม้นลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ดังเช่นการศึกษาวัชรยาน ที่ท่านอาจารย์เขมานันทะได้กล่าวไว้ว่าวัชรยานนี้เหมือนเหล้า   เหลาแรง ๆ นี่แหละครับ  ถ้าใครคอไม่แข็งก็จะหัวทิ่มแล้วก็เกิดโทษอาเจียนออกมา  (น.๑๗)   นั่นคงบอกได้ว่าการศึกษาให้เข้าถึงนั้น  ต้องรากฐานของเราต้องพอเพียงด้วย.
เตือนใจ ดีเทศน์ กุญชร ณ อยุธยา
ปลายเดือนตุลาเวียนมาหา               ฝนหายจากฟ้า อากาศเย็นใส เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวสบายใจ               ข้าวไร่เหลืองอร่ามงามตา ทุ่งนาเชิงเขาพริ้วไสว พี่น้องปกาเกอญอร่วมแรงใจ               เกี่ยวข้าวไร่ พร้อมพรัก สามัคคี พืชพันธุ์หลากหลายปลูกไว้               ในไร่ข้าวมีถั่ว พืช ผัก ทุกสิ่งศรี งา พริก มะเขือ แตง ผัก เผือก มัน สุดแสนดี               เกษตรอินทรีย์ไร้สารพิษ คนปลอดภัยวันนี้คณะกรรมาธิการจากสภา ฯ               จะมาฟังความเห็นอย่างถ้วนถี่ “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. .........” น่ายินดี               คุ้มครองพื้นที่ลาดชันเสี่ยงพังทลาย พื้นที่ใช้สารเคมีเกิดปนเปื้อน               ไม่แชเชือนประกาศควบคุมไว้ให้ได้ ผู้กระทำความเสียหายต้องชดใช้               พื้นสภาพดินให้กลับเหมือนเดิมชาวปกาเกอญอแม่ฮ่องสอน               ใจรุมร้อน นอนไม่หลับทุกข์เหลือที่ไร่หมุนเวียนทำกันมานับร้อยปี               กฎหมายนี้จะเอาผิดเราหรือไรที่โรงแรมอิมพีเรียล ธารา               บ่ายวันศุกร์ ชาวบ้านรุกคณะกรรมาธิการตอบให้ได้ แม่ฮ่องสอนเป็นป่าดอยทุกแห่งไป               ตั้งหมู่บ้าน นา สวน ไร่ ผิดทั้งเพหากรัฐมุ่งแต่กฎหมาย               ทุก ๆ วัน จับชาวบ้านได้ไม่มีที่หนี งานวิจัยภูมิปัญญาชาวบ้านยืนยันได้ดี               ไร่หมุนเวียนถูกวิธีป่าฟื้นเร็วตัดต้นไม้สูงถึงเอว รากไม่ตาย               ใช้ปีเดียวก็ย้าย เวียนไปอีกที่ปลูกพืชผสมในไร่ข้าวบรรดามี               สุขภาพดี พันธุ์พื้นเมือง เพียบโภชนาสารเคมีไม่ใช้ ดินไม่เสีย               ลูกไม้มียั้วเยี้ย ขึ้นทึบแน่นเก้ง หมูป่าชอบมาอยู่ในเขตแดน               สุขใจแสน ไร่หมุนเวียน นิรันดร์กาลเขียนกลอนพาไปได้หลายย่อหน้าด้วยความประทับใจในการเดินทางไปฟังความเห็นประชาชนของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. ........” ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยนายอดิศักดิ์  ศรีสรรพกิจ ประธาน  พลเอกสุรินทร์  พิกุลทอง รองประธานฯ นายโสภณ ชมชาญ ผู้เชี่ยวชาญอดีตข้าราชการกรมพัฒนาที่ดิน และดิฉัน รวมเป็นกรรมาธิการ 4 คนคุณบุญยืน คงเพชรศักดิ์ ประธาน กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน) ภาคเหนือ กรุณาประสานงานให้มีเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนต่อสาระของ “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. ....” และพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง กรุณาประสานกับนายไชยา  ประหยัดทรัพย์ นายกอบต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อพาคณะกรรมาธิการไปดูพื้นที่ไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นระบบเกษตรจากภูมิปัญญาที่สั่งสมมากว่าร้อยปีของชาวปกาเกอญอคณะกรรมาธิการเดินทางจากกรุงเทพฯ เช้าวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2550 ต่อเครื่องบินการบินไทยจากชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอน เวลา 10.05 น. ผ่านเทือกเขาสลับซับซ้อนที่ปกคลุมด้วยผืนป่าเขียวขจี ใช้เวลาแค่ 25 นาทีก็ถึงแม่ฮ่องสอนช่วงเวลารับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน ตัวแทนชาวบ้าน และ องค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือแสดงความห่วงใยว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนปกคลุมภูเขาและป่าไม้จำนวน90% ที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้านจึงถือว่าอยู่ในเขตอนุรักษ์ทั้งป่าสงวน อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตต้นน้ำทั้งนั้น หากเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ชาวบ้านก็ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายได้ทุกวันประชากรแม่ฮ่องสอนประกอบด้วยคนเชื้อสายไทยใหญ่ และชนชาติพันธุ์ ซึ่งชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) มีมากที่สุด มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง พึ่งตัวเองทำการเกษตรแบบยังชีพ ที่เหลือจึงขาย อยู่ห่างไกลการคมนาคม การติดต่อสื่อสารทำได้ยาก ผู้คนจึงรักษาธรรมชาติและดำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้ดี เป็นจุดแข็งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่จังหวัด แนวทางที่ชุมชนชนชาติพันธุ์อนุรักษ์ธรรมชาติ คือ ใช้พิธีบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำเพื่อรักษาป่าและพันธุ์ปลา กำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จัดระบบควบคุมไฟป่า ทำแนวกันไฟรอบที่ทำกิน รอบหมู่บ้าน เพื่อไม่ให้ไฟไหม้ลุกลาม ใช้มาตรการบังคับทางสังคม ไม่พูด ไม่ร่วมกิจกรรมกับคนทำผิดกฎกติกา รวมทั้ง อบต.เข้ามาหนุนช่วยโดยสร้างข้อบัญญัติท้องถิ่น จัดเวทีปรึกษาหารือ สร้างเครือข่ายอนุรักษ์ส่งเสริมอาชีพที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ เช่นการเลี้ยงวัว ควาย การทอผ้าสีธรรมชาติ การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ผืนป่าที่ตำบลห้วยปูลิงจึงสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าหายากมาอยู่อาศัย เช่น ช้างป่า นกเงือก เลียงผาผู้เสนอความเห็นทุกคนพูดตรงกันว่าระบบไร่หมุนเวียนทำมากว่า 200 ปี แล้วมีหลักฐานยืนยันงานวิจัยของ ดร.อานันท์  กาญจนพันธุ์ (ซึ่งนายเดโช ไชยทัพ ได้มอบให้ประธานกรรมาธิการนำมาใช้อ้างอิง) ขอให้ระบุในกฎหมายว่าหากชุมชนทำเกษตรแบบไร่เวียน ซึ่งพิสูจน์ได้ มีมาตรการอนุรักษ์ ไม่ก่อปัญหาดินเสื่อม การชะล้างพังทลาย ทั้งยังช่วยฟื้นสภาพป่าให้สมบูรณ์ได้โดยเร็ว ถือว่าไม่เป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้คุ้มครองตามพระราชบัญญัติที่ดินที่ประชุมเสนอให้กฎหมายเข้มงวดกับการใช้พื้นที่แปลงใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยขาดมาตรการการอนุรักษ์ ซึ่งมักมีนายทุนหรือบริษัทยักษ์ใหญ่สนับสนุนทำให้ดินเสื่อมโทรม ชะล้างพังทลาย จนเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยส่วนการใช้สารเคมีจนเกิดปัญหาการปนเปื้อน กลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม รัฐควรคุมที่ต้นเหตุ คือ การควบคุมการนำเข้า การขายและการใช้สารเคมีให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ไม่ควรเข้มงวดกับเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นปลายเหตุ ข้อเสนอในมาตราที่ว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารของกระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิแค่ 3 คน ที่ประชาชนเสนอให้มีตัวแทนภาคประชาชนเพิ่มขึ้นทั้งระดับชาติ และระดับจังหวัดเมื่อได้เข้าไปศึกษาความเป็นจริงที่ตำบลห้วยปูลิง คณะกรรมาธิการได้ฟังข้อมูลจากนายก อบต. ห้วยปูลิง นายไชยา ประหยัดทรัพย์ ว่า ชาวปกาเกอญอบ้านหนองขาว  ซึ่งประสบความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทั้งหมู่บ้าน ทำ HOME STAY มีระบบคัดเลือกผู้มาเยือนโดยนักท่องเที่ยวต้องแสดงความจำนงล่วงหน้าว่าสนใจด้านไหน ถ้าต้องการมาลองยาเสพติด หรือสนใจในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางของหมู่บ้าน ก็จะไม่รับ ในฤดูเกษตร นักท่องเที่ยวจะได้ไปร่วมปลูกข้าว ลงนาเกี่ยวข้าวด้วย เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริงโดยตรง ที่แปลงไร่หมุนเวียนของหมู่บ้านห้วยฮี้  นายก อบต. และผู้ใหญ่บ้านชี้ให้ดูของจริงว่าไร่หมุนเว้นไว้ ฟื้นสภาพป่าให้อุดมสมบูรณ์ได้เร็ว เพราะต้นใหม่จะแตกขึ้นมารองต้นเดิม ที่ถูกตัดสูงราวเอว เมื่อต้นเดิมผุพังไป ต้นไม้ก็งอกงามขึ้นมาทดแทนในไร่ข้าวปลูกพืชผสมผสานถึง 40 อย่าง เช่น ต้นกระเจี๊ยบแดง ที่เอามาต้มเป็นน้ำกระเจี๊ยบเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ กำลังออกดอกสีนวลใส งากำลังออกดอกขาว และติดฝัก  แตงลูกเล็ก ๆ เท่าลูกฝรั่งกำลังสุก  มันพื้นเมืองหัวฝังอยู่ใต้ดิน เถาเลื้อยขึ้นไต่ตอไม้ มันสำปะหลัง พริกกำลังสุกเป็นสีเหลือง ส้ม แดง บวบลูกเล็ก ฟักทอง ผักอีหลืน (คล้ายกะเพรา) ถั่วฝักสั้น ถั่วแปป ฯลฯ  สารพัดอย่างเรียกชื่อไม่ถูก เมื่อศึกษาไร่หมุนเวียนเข้าใจดีแล้ว ก็มาทานข้าวกลางวันที่บ้านของรองนายกอบต. (นายทองเปลว  ทวิชากรสีทอง) กลุ่มหญิงแม่เรือนนุ่งซิ่นกับเสื้อที่ทอเองสีสวยสด ช่วยกันยกอาหารมาให้ มีน้ำพริกกะเหรี่ยง ข้าวเบ๊อะ (ข้าวเคี่ยวจนเปื่อยใส่ผักชนิดต่าง ๆ กับเนื้อไก่หรือเนื้อหมู) ผัดผักรวมหลายชนิด ลาบหมูหมกไฟ กินกับข้าวไร่ห่อใบตอง อร่อยจนลืมอิ่ม เสียดายที่เป็นข้าวขาว ไม่ใช่ข้าวไร่ที่ตำครกกระเดื่อง ซึ่งจะมีรสชาดดีกว่าภาชนะใส่น้ำชาทำจากกระบอกไม้ไผ่เหลาให้หมดเสี้ยน กลิ่นไม้ไผ่ทำให้รสน้ำชาหอมชื่นใจมากขึ้น ภรรยาผู้ใหญ่บ้านมอบเสื้อทอที่ย้อมสีธรรมชาติให้ดิฉัน 1 ตัว ส่วนผู้ใหญ่บ้านมอบให้พลเอกสุรินทร์  พิกุลทอง ในฐานะที่ได้มาช่วยแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้ในนามกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นที่ประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับชาวบ้านชวนไปที่โบสถ์คริสต์ เพื่อรับฟังความเห็นต่อ “ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. .........” อีกครั้ง มีทั้งพ่อเฒ่า แม่เฒ่า พ่อเรือน แม่เรือน เด็กและวัยรุ่นพากันมาเต็มห้องได้เสนอให้คณะกรรมาธิการเพิ่มเนื้อหาของกฎหมายให้คุ้มครองระบบไร่หมุนเวียน และวิถีชีวิตที่อนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อชาวบ้านจะได้หมดห่วงกังวล และนอนหลับได้ทุกคืน คณะเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน โดยหัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือนายถาวร  มีชัย ผู้อำนวยการเขต 6 คือ นายสวัสดี บุญชี และผู้แทนจากส่วนกลาง ได้นำคณะกรรมาธิการ ฯ ไปดูโครงการนำร่องพัฒนาที่ดินตามแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงที่บ้านดอยคู ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม 2550 จุดแรกดูระบบวิธีพืช คือปลูกหญ้าแฝกเพื่อชะลอการชะล้างดิน โดยปลูกเป็นแถบตามแนวระดับ และใช้ระบบน้ำฉีดกระจายทั่วพื้นที่เจ้าของแปลงปลูกกระเทียม สลับกับถั่วเหลือง มีรายได้ดี โดยต้องคอยดูแลให้แถวหญ้าแฝกอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ให้น้ำสม่ำเสมอ และปลูกซ่อมให้มีความถี่พอเหมาะไม่เปิดช่องให้น้ำเซาะ ชะล้างหน้าดินได้อีกจุดหนึ่งเป็นแปลงปลูกปอเทือง และถั่วพร้า เพื่อบำรุงดิน ปกคลุมดิน และเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ขาย ร่วมกับวิธีขุดร่องน้ำรอบแนวภูเขาเป็นช่วง ๆ เพื่อชะลอความแรงของน้ำฝน และเพื่อกักตะกอนดิน โดยจ้างแรงงานชาวบ้านเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ และสั่งสมความเข้าใจมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำผ่านการลงมือทำงานโดยตรงปอเทืองทั้งแปลงใหญ่กำลังออกดอก ดอกกำลังทยอยบานเป็นสีเหลืองรับกับสีของท้องฟ้า หัวหน้านิพนธ์  ชัยอนันต์ เล่าว่า เวลาดอกบานเต็มทุ่งจะสวยไม่แพ้ทุ่งบัวตอง นักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายรูป ส่วนถั่วพร้ำแตกพุ่มงามทั้งแปลง กำลังออกช่อดอกสีม่วง สวยไปอีกแบบพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดินฉบับนี้มีหลักการมุ่งให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้รับผิดชอบให้การพัฒนาที่ดิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้มาตรการด้านกฎหมายเสริมการปฏิบัติงานด้านวิชาการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และเป็นการคุ้มครองประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ที่ดิน โดยกำหนดการวางแผนการใช้ที่ดิน และกำหนดบริเวณการใช้ที่ดินตามความเหมาะสมของที่ดิน และจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายและดินถล่มในที่มีผู้ครอบครองได้ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกรรมาธิการวิสามัญ ดิฉันชื่นชมในเจตนารมณ์ของร่างพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. ........ ขอให้พระราชบัญญัตินี้ได้รับการสนับสนุนจากสนช. และประชาชน ให้ผ่านวาระ 1-2-3 ได้โดยสะดวก เพื่อพัฒนาที่ดินและทรัพยากรน้ำ ป่า ให้คืนสู่ความสมบูรณ์ และสมดุลโดยเร็ว
Hit & Run
  ตติกานต์ เดชชพงศ  เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสได้ไปดูฉากโหดๆ อาทิ หัวขาดกระเด็น เลือดสาดกระจาย กระสุนเจาะกระโหลกเลือดกระฉูด ในหนังไทย (ทุ่มทุนสร้างกว่า 80 ล้านบาท!) เรื่อง ‘โอปปาติก'  รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่าหนังเรื่องนี้รอดพ้นเงื้อมมือกองเซ็นเซอร์ผู้เคร่งครัดมาได้ยังไง?เพราะด้วยการทำงานของหน่วยงานเดียวกันนี้ ทำให้หนังเรื่องหนึ่งถูกห้ามฉาย เพราะมีฉากพระสงฆ์เล่นกีตาร์, และฉากนายแพทย์บอกเล่าว่าตนก็มีึความรู้สึกทางเพศ แม้แต่ฉากเด็กผู้หญิงอาบน้ำ (ซึ่งเป็นเพียงตัวการ์ตูนญี่ปุ่น) ก็ยังถูกเซ็นเซอร์มาแล้ว ด้วยข้อหา ‘ทำให้เสื่อมเสียศีลธรรมอันดี' แต่โอปปาติกเป็นหนัง ‘เหนือจริง' ห่อหุ้มด้วยเปลือกบางๆ ของแนวคิดพุทธศาสนา ว่าด้วยการเกิด-การตาย โดยมีการนำวิธีจำแนกการเกิด 4 ประเภทของสัตว์โลกมาอธิบายว่า ‘โอปปาติก' คือสิ่งมีชีวิต (มีดวงจิต) ที่เกิดแล้วโตทันที ซึ่งในหนังตั้งเงื่อนไขว่า โอปปาติกคือมนุษย์ที่ฆ่าตัวตาย แต่ดวงจิตหรือวิญญาณไม่หลุดพ้นไปจากโลก และกลับจุติขึ้นใหม่ในรูปอื่น พร้อมกับแต่งเติม ‘พรสวรรค์' ของโอปปาติกแต่ละตนให้แตกต่างกันไป เพื่อให้หนังมีรสชาติมากขึ้น ภายใต้พล็อตที่ผูกเอาไว้หลวมๆ ว่าโอปปาติกตนหนึ่งต้องการอำนาจพิเศษเหนือใคร จึงให้ลูกน้องไปตามล่าโอปปาติกตนอื่นๆ ให้มาติดกับ เพื่อที่จะได้แย่งชิงพลังอำนาจของผู้อื่นมาเป็นของตัวเองแต่ตัวละครที่น่าสนใจและเป็นตัวดำเนินเรื่องในโอปปาติก กลับกลายเป็น ‘มนุษย์' คนหนึ่งซึ่งทำงานด้วยความจงรักภักดีแบบถวายหัวให้กับโอปปาติกซึ่งมีตบะแก่กล้าบารมีสูงส่ง และมีบุญคุณต่อกันมาตั้งแต่ปางไหนก็ไม่รู้ มนุษย์รายนี้เกลียดชังใครก็ตามที่ไม่เห็นคุณค่าของชีวิต เขาก็เลยเกลียดคนที่ฆ่าตัวตาย แม้ว่าส่าเหตุส่วนหนึ่งที่คนฆ่าตัวตายจะมาจากการยุแหย่โดยโอปปาติกที่เป็น ‘เจ้านาย' ของตัวเองก็ตามทีและเพื่อทำงานให้กับ ‘เจ้านาย' ผู้มีบุญคุณ มนุษย์รายเดียวกันนี้ก็ส่งลูกน้อง (ที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน) ไปต่อสู้กับโอปปาติกที่เป็นอมตะ เพื่อให้ภารกิจของ ‘นาย' สิ้นสุด หรือถ้าจะพูดว่า มนุษย์ในเรื่องนี้ไม่เห็นคุณค่าของมนุษย์ด้วยกัน-ก็น่าจะใช่ เขาจึงพร้อมที่จะสละชีวิตลูกน้องจำนวนมาก เพื่อความพอใจสูงสุดของเจ้านายมากกว่า ในความเคลื่อนไหวของหนัง ภาพมืดหม่นของชีวิตที่วนเวียนกับความรุนแรงของการเข่นฆ่าและการค้นหาทางเพิ่มพูนพลังอำนาจ (รวมถึงฉากแหวะๆ เช่น การใช้กริชแทงทะลุหัวกะโหลก หรือไม่ก็แทงคอทะลุเลือดพุ่ง) อาจทำให้คนดูหลายคนรู้สึกเหมือนอยากจะอาเจียน แต่เพียงแค่บอกว่า นี่เป็นการนำ ‘พุทธปรัชญา' มาตีแผ่ หนังเรื่องนี้ก็สามารถออกฉายได้เต็มๆ โดยไม่ถูกตัดทอนอะไร แสดงให้เห็นถึงความลักลั่นเรื่อง ‘การกำหนดมาตรฐาน' ของผู้มีอำนาจในการเซ็นเซอร์ (อย่างเห็นได้ชัด)เพราะในเวลาเดียวกันกับที่หนังพยายามบอกว่า ‘การฆ่าตัวตายเป็นบาปที่ไม่อาจหลุดพ้น' ตัวละคร (ทั้งที่เป็นภูตผีและที่เป็นคน) ล้วนเอาเป็นเอาตายกับการฆ่าล้างโคตรกันไม่หยุดหย่อน เพราะเห็นว่า ‘ชีวิตอื่นๆ' ไม่มีความหมายเท่าชีวิตของคนที่ตัวเองเชิดชูในทางกลับกัน เมื่อความบัดซบในชีวิตทำให้ใครบางคนต้องเลือก ‘ความตาย' เป็นคำตอบสุดท้ายเขาคนนั้นอาจตายเพื่อเป็นแสงสว่างให้กับโลกมืดของโอปปาติกที่เวียนว่ายไม่ยอมไปผุดไปเกิดเสียทีก็เป็นได้ถึงแม้ว่านี่จะเป็นหนังแอ๊กชั่นที่มีคนวิจารณ์ว่าออกจะขาดๆ เกินๆ และบกพร่องเรื่องความสมจริงไปบ้าง แต่ในทัศนะส่วนตัวแล้ว ‘โอปปาติก' ถือว่าเป็น ‘หนังสะท้อนสังคม' ที่ทำให้ฉุกคิดเรื่องอะไรหลายๆ อย่างได้มากที่สุด ณ ตอนนี้!...ในวาระครบรอบ 1 ปี (กับอีก 3 วัน) การจากไปของ ‘นวมทอง ไพรวัลย์'...  
new media watch
  ใครที่เป็นแฟนประจำนิตยสาร ‘สารคดี' ย่อมรู้ว่า ‘วัน ตัน' เป็นนามปากกาของ บก.วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ - ผู้เป็นทั้งนักคิด นักเขียน และคนทำหนังสือผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ของไทยนอกเหนือจากบทบาทการเป็นนักคิดนักเขียน วันชัยยังเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นนักเคลื่อนไหวด้านกิจกรรมเพื่อสังคมอีกนับไม่ถ้วน บท บก.ของวันชัย จึงเป็นสิ่งที่หนอนหนังสือ ‘ต้องอ่าน' พอๆ กับคอลัมน์ที่ ‘วัน ตัน' เขียนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกสีเขียวใบนี้ แง่มุมดีๆ และความคิดที่ชวนให้เก็บไปต่อยอด มักมีที่มาจากงานเขียนหลายๆ ชิ้นบนพื้นที่หน้ากระดาษที่ว่ามาแล้วทั้งสิ้น ตอนนี้สารคดีเปิดพื้นที่ ‘บล็อก' ให้กับสมาชิกและคนในกอง บก.แล้ว นักเล่นเน็ตจึงมีโอกาสได้อ่านงานของวันชัย และวัน ตัน ได้ง่ายดายและรวดเร็วขึ้น เท่านั้นยังไม่พอ บล็อก http://www.sarakadee.com/blog/oneton/ ของวันชัย ไม่ใช่แค่สถานที่เก็บงานเขียนในสารคดีเท่านั้น แต่เป็นแหล่งรวมความคิดเห็นที่น่าสนใจของวันชัยในแง่ต่างๆ เพื่อให้คนที่สนใจตามอ่านกันได้ โดยไม่้ต้องใช้เวลาไปกับการเสาะแสวงหาผลงานของวันชัยจากหลายๆ ที่ ล่าสุด บก.วันชัย พูดถึงพลังงานนิวเคลียร์, สถานการณ์ในพม่า และ ‘ตลกร้าย' เรื่องเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นด้วยบอกได้คำเดียวว่า ‘ไม่น่าพลาด'  
การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์
“น้ำใจให้น้องปิ่น” เด็กหญิงพิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ทุกคนในครอบครัวยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีเสมอ อ่านเรื่องของน้องปิ่นกับแม่ได้ที่นี่ สนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือตามกำลังศรัทธาได้ที่หมายเลขบัญชี 05-3405-20-093267-0น.ส.สีไวย คำดา เพื่อ ด.ญ.วรัญญา ฟินิวัตร์ ธ ออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “สมทบทุนค่าอาหารและรักษาพยาบาลหมาแมวพิการ ป่วยไข้ ถูกทอดทิ้ง ตามกำลังศรัทธา”เลขที่บัญชี 1210101483 น.ส. นันท์ธนัตถ์ จิตประภัสสร ธ กรุงไทย สาขาบางบัวทอง หรือจะส่งเป็นอาหารหมาแมวก็ได้ค่ะ ที่97 หมู่ 2 บ้านหนองคาง ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 72240 วันอมาวสี ประจำเดือนพฤศจิกายนนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายนนะคะ

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม