ออกจากพิพิธภัณฑ์ Alamo เราออกเดินทางต่อไปยัง Austin ระหว่างทางแวะทานข้าวที่ร้านอาหารไทย ผมไม่ทิ้งโอกาสที่จะถามหาคนในเผ่าพันธุ์ของผม
\\/--break--\>
“ยู เป็น Karen เหรอ ที่ร้านเรามีคนครัวคนหนึ่งเป็น Karen มาจากพม่า ไม่รู้ว่าเป็นพวกเดียวกับ ยู หรือเปล่า พูดภาษากันรู้เรื่องหรือเปล่า?” เจ้าของร้านบอกผม
“น่าจะรู้เรื่องครับ ผมขอคุยกับเขาหน่อยได้ไหมครับ?” ผมขอเจ้าของร้านด้วยความรู้สึกที่ตื่นเต้น
“ได้ น้องๆ ไปเรียก มู ในห้องครัวหน่อย” เจ้าของร้านเรียกใช้เด็กเสริฟให้ไปเรียกคนครัวปกาเกอะญอ
ทันที่ที่เจอหน้าเขา ผมรู้ทันทีว่าเขาเป็นปกาเกอะญอแน่นอน นัยน์ตาของเขาก็เหมือนจะรู้ว่าผมเป็นคนปกาเกอะญอเช่นกัน เขาเดินส่งยิ้มให้ผมมาแต่ไกล
“โอะ มึ โช เปอ” เขายื่นมือมาทักทายผม เขามาอยู่ได้เพียง 4 เดือนเลยยังไม่มีเครือข่ายกับคนปกาเกอะญอที่มาก่อนหน้า ทั้งที่อยู่ในรัฐเดียวกันและเมืองอื่นๆ เขามาจากศูนย์อพยพแม่หละ นับเป็นการเจอคนปกาเกอะญอคนแรกของผมในอเมริกา ก่อนเขาจะขอตัวกลับเข้าครัวเพื่อทำงานต่อ เนื่องจากเขาสังเกตถึงสายตาของเจ้าของร้านที่มองมาทางเราถี่ขึ้น อาจเป็นเพราะเราใช้เวลาในการคุยกันนานจนเสียเวลาทำมาหากินของเจ้าของร้าน
บ่ายสามกว่าๆ เราเข้าไปที่ร้าน Ruta Maya ซึ่งเป็นร้านเวิลด์มิวสิคที่เน้นคนที่มีบทเพลงและแนวเพลงที่แตกต่างจากคนอื่นมาแสดงในร้าน วันนี้ได้ข่าวว่า จะมีวงจากศรีลังกามาด้วย ในร้านตกแต่งโปสเตอร์งานต่างๆ ที่มีคนมาเล่นในร้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากหลายที่หลากสีสัน ผมมองดูรอบๆ ร้านพร้อมกับติดตั้งโกละ และเครื่องเสียงของวง
ทุ่มเศษๆ คอนเสิร์ตเริ่มขึ้น พี่ทอด์ดขึ้นไปแนะนำตนเองและคณะที่มาจากประเทศไทย จากนั้นชวนทุกท่านเดินทางไปทางเหนือของประเทศไทย เดินทางต่อจากเชียงใหม่ขึ้นภูเขามุ่งสู่หมู่บ้านปกาเกอะญอ เตหน่ากูทำหน้าที่ในการบอกเล่าเรื่องราวของตนเองและคนชนเผ่าในประเทศไทย 4 เพลงจากนั้นลูกสาวแม่น้ำปิง ลานนา ขึ้นมาสมทบอีก 3 บทเพลง แล้วเราจึงพากันล่องใต้กับ ซอ เดอะซิส ที่แยกหาดใหญ่ แยกแห่งวัฒนธรรมและดนตรีที่หลากหลาย ก่อนที่จะมุ่งสู่แดนอีสานจนถึงแม่น้ำโขง
พี่น้องจากศรีลังกามาเคาะประตู เพื่อร่วมเข้ามาในสวนแห่งสีสันดนตรี เสียงร้องที่ทรงพลังของเขาทำให้ทุกหูในร้านปิดรับฟังเสียงอื่นและเปิดพื้นที่ให้คลื่นเสียงของเขาเข้าไปแบบเต็มๆ ก่อนที่เขาจะถูกชวนไปสัมผัสบรรยากาศคลื่นเสียงหมอลำของแม่น้ำโขง และสุดท้ายเรากลับมารวมกันด้วยท่วงทำนองร้องบรรเลงของอัฟริกัน
ผมลงจากเวที ผมแปลกใจมากที่ โจ วิศวกรผู้ออกแบบการวางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เดินมาหาผม เขาบอกผมเพียงสั้นๆ
“ผมมาตามเสียงเพลงและเสียงดนตรีของคุณ” เขาจับมือผมด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ก่อนเขาจะบอกว่าพรุ่งนี้เขาต้องบินกลับไปทำงานแต่เช้า ผมพูดอะไรไม่ออก
หลังจากนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาคุยกับผม
“ฉันไม่รู้จัก ปกาเกอะญอ ไม่รู้จัก คาเรน ฉันรู้จักแต่อองซาน ซู ยี” เขาบอกพร้อมกับคุยถึงความเห็นของเขาที่เห็นใจพลเมืองชาวพม่า และเขาปรารถนาที่จะเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นที่ประเทศพม่า ก่อนเขาจะไปหยิบซีดีของผม แล้วชูขึ้นมาให้ผมเห็น
“ฉันซื้อของคุณแล้วนะ” ผมยิ้มตอบเขา ก่อนเขาจะออกจากร้าน แล้วพวกเราก็เก็บของกันเพื่อเคลื่อนย้ายต่อ
คืนนี้ไปนอนกันที่บ้านคนไทย พวกเรามีกัน 20 กว่าคน แม้บ้านจะหลังใหญ่มีหลายห้อง แต่ก็ไม่สามารถมีพื้นที่นอนสำหรับรองรับเราได้ทั้งหมด เป็นหน้าที่ของผู้ชายที่ต้องจำลองพื้นที่ว่างที่มีอยู่เป็นห้องนอนชั่วคราว
น้องๆ นักเต้น 4 คนใช้ตู้เก็บรองเท้าเป็นที่นอน ไทด์มือเบสชาวฮอลแลนด์ใช้ตู้เสื้อผ้าเป็นที่นอน เจ้าของบ้านและพี่ทอด์ดใช้โซฟา เป็นเตียงนอน ผมและภรรยาใช้พื้นที่ใต้โต๊ะคอมพิวเตอร์เป็นที่นอน ต้องช่วยกันประหยัดที่เนื่องจากมันมีจำกัด เราเลยนอนกอดกันแน่น แม้อากาศที่อเมริกาเริ่มหนาวแล้ว แต่การนอนใต้โต๊ะคอมฯ และกอดกันแน่นจนขยับลำบากแบบนั้น ทำให้รู้สึกร้อนขึ้นมาทันที แต่ด้วยความเพลียก็ไม่มีอะไรหยุดยั้งความง่วงได้
รุ่งเช้า กว่าที่ทุกคนจะอาบน้ำกันครบ เกือบเที่ยงแล้ว โปรแกรมที่เราต้องเล่นคือบ่ายสองถึงห้าโมงเย็น นักดนตรีจึงมุ่งหน้าสู่เวทีเพื่อติดตั้งเครื่องเสียงและลองเสียง เวทีเป็นสวนสาธารณะมีคนเดินผ่อนคลายในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
เมื่อลองเสียงเสร็จสรรพ ข้าวกล่องจากทีมงานจึงตามมา ฟัดข้าวกล่องเต็มอิ่มก่อนขึ้นเวที เช่นเคยเวทีถูกเปิดด้วยบทเพลงจากชนเผ่าแห่งขุนเขา
“รอบนี้หลายเพลงหน่อยนะ เนื่องจากเราต้องเล่นตั้ง 3 ชั่วโมง” พี่ทอด์ดบอกผม
เตหน่ากูบรรเลงไปเพลงแล้วเพลงเล่า มีคนเดินไปเดินมาประปราย ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง บางคนจะฟังแต่ถูกลูกดึงแขนไปที่อื่นจึงจากไป อีกคนจะฟังแต่ถูกแดดไล่ จึงหนีไป หลายคนเดินผ่าน จบเพลงหนึ่งก็เดินต่อ มิใช่เพียงเตหน่ากูเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้ ช่วงของวงใหญ่ก็เป็นเช่นนี้ จนคอนเสิร์ตเล่นไปเกือบ 2 ชั่วโมง พี่ทอด์ด จึงประกาศของพักการแสดงไว้ขณะหนึ่งก่อน แล้วจะกลับมารอบสอง
ช่วงระหว่างพัก ทั้งนักร้องนักดนตรีต่างเรียกอารมณ์ด้วยการซดเบียร์กันเป็นว่าเล่น
“เดี๋ยว ชิ ขึ้นก่อนอีกซัก 3 เพลงนะ” พี่ทอด์ดบอกผม ผมจึงเปิดหัวรอบสองด้วยเพลง แบแล เนื่องจากมีจังหวะเร็วหน่อย ก่อนตามด้วยเพลงนก และเพลง ดูดูเล แต่บรรยากาศก็ไม่ต่างจากรอบแรก คอนเสิร์ตจบลงด้วยความเหนื่อยเนื่องจากต้องเข็นพลังในการแสดงมากกว่าทุกครั้ง
หลังจากจบการแสดงที่สวนสาธารณะ 5 โมง เรารีบเก็บของเพื่อไปเล่นต่ออีกที่ ณ ร้านอาหารไทยในเมืองเดียวกัน คนไทยเริ่มทยอยกันเข้ามา อาหารแบบบุฟเฟ่ต์ถูกตั้งไว้สำหรับลูกค้าและนักดนตรีในที่เดียวกัน หลังจากเสริมพลังด้วยอาหารไทยแล้ว เริ่มตั้งเครื่องเสียง เนื่องจากเป็นร้านอาหารไม่ใช่ผับ ไม่ใช่บาร์ จึงไม่มีเวที ทำให้ต้องจัดเครื่องเสียงชุดเล็ก กลองมีเพียงสแนร์ที่ถูกติดตั้ง ส่วนกระเดื่องใช้กลองยาวแทน แต่สำหรับเตหน่ากูไม่มีปัญหา
ปัญหามีเพียงจุดเดียวคือ เสียงเพลงและเสียงดนตรีมันเบากว่าเสียงคุยกันของคนในร้าน พี่ทอด์ดแนะนำ เตหน่ากูและที่มาของเขา แต่คนไทยในอเมริกาเหมือนรู้จักคนชนเผ่าเลย
“แม้วใช่ไหม” คนหนึ่งถาม บางทีผมรู้สึกว่าคนในเมืองไทยเริ่มรู้ความเป็นคนชนเผ่ามากขึ้น ที่อเมริกาน่าจะเป็นแบบนั้น แต่มันคนละเรื่องเลย เขายังมองทุกคนเป็นแม้วหมด บางคนยังมองทุกชนเผ่าเป็นกะเหรี่ยงหมด รวมทั้งดนตรีชนเผ่าเองไม่สามารถแหวกเข้าไปหาพื้นที่ในอารมณ์เขาเท่าใดนัก
หลังจากที่ผมร่วมล่องใต้กับไปหาดใหญ่กับวงเดอะซิสแล้ว ผมจึงหลบไปนั่งพักหลังห้องเก็บของด้วยความเพลีย จนเผลอหลับไป ตื่นมาอีกที ตอนที่ ลานนา เปิดประตูเพื่อมาใส่เสื้อตัวใหม่
“แอะ อ้ายชิ อู้งานก๋า ลบมาอยู่นี่ น้อ บ่ยอมขึ้นไปเล่นเพลงสุดท้ายตวยกั๋นน้อ” ลานนาหันมาแซวผม
“ผม ฮู้สึก เพลีย เลยงิบ ลับไปเลย” ผมตอบลานนา
“นาทั้งเพลีย ทั้งเมา ดื่มแล้วมันจ้วยกระตุ้นได้หน้อยนึ่ง แต่ซะกำก็จะง่วงขนาด แต่ก่ดี จะได้หลับแบบสนิท สลบสลายไปเลย” และก็จริงอย่างที่ลานนาบอก หลังจากเก็บของขึ้นรถ กลับมาที่นอนที่เดิม แม้จะนอนใต้โต๊ะคอมฯ นอนในตู้เก็บรองเท้า นอนในตู้เสื้อผ้า นอนบนโซฟาหรือใต้โชฟา กลับมาถึงไม่มีใครอาบน้ำ ทิ้งตัวทอดกาย ไม่เกินยี่สิบนาที ผมไม่รับรู้แล้วว่าอะไรเกิดขึ้นในบ้าน เสียงกรนไม่สามารถรบกวนผมได้
บรรเลงที่ Ruta Maya
ศิลปิน จากศรีลังกา
บนเวทีสวนสาธารณะ ในเมือง Austin, Taxas