คืนนี้เป็นอีกคืนหนึ่งที่คนฟังเพลงเป็นคนไทย แต่ที่พิเศษกว่าที่อื่นเนื่องจากคนไทยเป็นคนจัดงานกันเอง เป็นการจัดงาน ”Thai Festival in Texas” ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการจัดปีละครั้ง ทุกๆปีจะจัดในเดือนเมษายน แต่ปีนี้มาจัดกันในเดือนกันยายนเนื่องจากต้องการให้กิจการทัวร์ ของ Himmapan 2nd world เป็นจุดเด่นของงานในปีนี้ ภายในงานมีการขายอาหาร เสื้อผ้า ของไทย มีการจัดซุ้มนวดแผนไทยมาบริการ
บรรยากาศตอนนี้ดูไม่ต่างจากอยู่เมืองไทยเท่าไหร่ เพราะในงานมีคนไทยประมาณร้อยละ 98 ส่วนที่เหลือปะปนกันไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสามี ภรรยา หรือเพื่อนสนิทของคนไทยที่มาร่วมงาน
ระหว่างที่คนกำลังทยอยกันเข้ามาในห้องที่มีการจัดแสดงคอนเสิร์ต ผมสังเกตเห็นเสื้อปกาเกอะญอตัวหนึ่งเคลื่อนตัวท่ามกลางฝูงชนเข้ามาในงาน ผมอดตื้นตันไม่ได้ที่เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าว ผมเพ่งมองอย่างไม่ละสายตา แม้คนใส่เสื้อปกาเกอะญอจะไม่ใช่คนปกาเกอะญอก็ตาม
ทันทีที่เห็นผมเสื้อปกาเกอะญอโบกมือและแหวกฝูงชนตรงมาที่ผม
“ผมมาเป็นกำลังใจคุณ หลังจากที่คุณออกจากโรงเรียน ทางคณะครูมานั่งคุยกันถึงความเป็นไปได้ในโครงการแลกเปลี่ยนครูจากศูนย์ผู้ลี้ภัยจากการสู้รบที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย กับครูในโรงเรียนของเรา ที่ผ่านมาพวกเราคิดกันมาตลอดแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เราไม่รู้จะประสานงานไปที่ใคร เมื่อเราเจอคุณ ทำให้เราเริ่มมีความหวัง เราอาจต้องรบกวนช่วยประสานงานให้เรากับทางศูนย์ฯที่เมืองไทยหน่อย เรามีแผนที่จะไปเยี่ยมศูนย์ที่เมืองไทย อาจต้องรบกวนคุณช่วยพาไป” ครูชาวสเปนที่สอนในโรงเรียนผู้อพยพมาประเทศที่สามบอกผม
“มีผู้ปกครองเด็กปกาเกอะญอมอบเสื้อให้ผมตอนเปิดเทอม ผมไม่เคยใส่เลย ครั้งนี้มาฟังเพลงปกาเกอะญอก็เลยอยากใส่เสื้อปกาเกอะญอ เพื่อให้คุณรู้ว่ามาเป็นกำลังใจให้คุณโดยเฉพาะ” เขาพูดพร้อมกับหัวเราะและจับดูเสื้อของตนเอง
งานเริ่มด้วยเพลงชาติไทยต่อด้วยการแสดงเปิดของลูกหลานไทย นอกจากการแสดงจากไทยแล้ว มีการแสดงกระทบไม่ไผ่จากมองโกเลีย และมีการแสดงระบำฮาวายจากกลุ่มแม่บ้านเจ้าถิ่นด้วย จากนั้นได้เวลาเตหน่ากูทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวตนเองให้คนไทยฟังอีกครั้ง
คีย์บอร์ดของ พี่สานุ วรรณพร ทำหน้าที่เป็นเพื่อนของเตหน่ากูในการบรรเลงครั้งนี้ 4 เพลง หลังจากนั้นเตหน่ากูได้ร่วมกับวงใหญ่บรรเลงต่อจากภาคเหนือ ขยับสู่แดนใต้ ย้อนมาที่ภาคกลาง และปิดท้ายที่แม่น้ำโขง แบบแม่โขงบลูส์
หลังจบคอนเสิร์ต บรรยากาศรีบเร่งมาเยือนอีกครั้ง นักดนตรี นักเต้นและทีมงานทุกคนต่างรู้หน้าที่ดี ทุกคนเก็บอาวุธของตนเองและส่วนประกอบขึ้นรถเพื่อเดินทางต่อ คืนนี้ไม่มีเวลาพักต้องเดินทางต่อเลย เป้าหมายอยู่ที่รัฐอีลีนอย เมืองชิคาโก ระยะกว่าพันไมล์ ใช้เวลาขับรถกว่า 20 โมง เวลาแสดงคือคืนพรุ่งนี้เวลาทุ่มตรง
เพื่อความปลอดภัยในการเตรียมตัวจึงมีการแบ่งคณะออกเป็น 2 ทีม ทีมแรกคือนักดนตรีสากลให้เดินทางโดยเครื่องบินเพื่อไปติดตั้งดนตรีและเครื่องเสียงก่อน ส่วนนักเต้นและนักดนตรีพื้นบ้านให้เดินทางโดยรถ และเนื่องจากระยะทางในการเดินทางยาวและรีบเร่ง ผมจึงถูกบังคับให้นอนก่อนในช่วงกลางคืน
“คืนนี้คุณไม่มีสิทธิ์ทำอะไรนอกจากนอนและนอนเท่านั้น พรุ่งนี้เก้าโมงคุณเปลี่ยนหน้าที่เป็นคนขับและผมจะทำหน้าที่นอนแทนคุณพรุ่งนี้” พี่ทอด์ดบอกผมพร้อมกับให้ทีมงานเตรียมที่นอนบนม้านั่งยาวในรถตู้
ก่อนออกมีคนไทยวัยดึกคนหนึ่งเดินมาหา
“คืนนี้ไปนอนบ้านผม ไม่ต้องไปนอนที่อื่น” เขาบอกผม
“ไม่ได้ครับคืนนี้เดินทางไปชิคาโกเลยครับ” ผมปฏิเสธคำชวนอย่างรู้สึกเกรงใจ
“นั่งเครื่องไปพรุ่งนี้ก็ได้ ประมาณ 3 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว ผมอยากให้ไปนอนที่บ้านเพราะเมื่อก่อนผมเคยไปเป็นครูที่หมู่บ้านปกาเกอะญอที่อำเภอแม่แจ่ม” เขาพูดจบพร้อมกับเอ่ยชื่อคนปกาเกอะญอที่เขารู้จัก รวมไปถึงพ่อของผมด้วย และเขายังพูดภาษาปกาเกอะญอได้อีกหลายประโยค
“ขอบคุณมากครับ แต่ผมต้องช่วยพี่ทอด์ดขับรถครับ จึงต้องเดินทางไปพร้อมกัน” ผมปฏิเสธเขาอีกครั้งด้วยความที่ต่างคนต่างเสียดาย อยากสานสัมพันธ์ต่อให้ยาวกว่านั้น แต่ต้องเก็บพับโอกาสนั้นไว้เพื่อเดินทางต่อยังจุดหมายที่ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าให้แล้ว
เสื้อปกาเกอะญอแทรกตัวท่ามกลางฝูงชน
คนใส่ไม่ใช่คนปกาเกอะญอ
รำกระทบไม้ไผ่จากมองโกเลีย
ระบำฮาวาย