Skip to main content

“ผมมีเพื่อนปกาเกอะญอมาด้วยคนหนึ่ง” ผมบอกกับคนดู
ผมได้ไปพบ และได้ไปฟัง เพลงที่เขาร้อง ณ ริมฝั่งสาละวิน ทำให้ผมเกิดความประทับใจในท่วงทำนองและความหมายของบทเพลงรวมทั้งตัวเขาด้วย

ผมทราบมาว่าตอนนี้เขาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่  ผมจึงไม่พลาดโอกาสทีจะชักชวนเขามาร่วม บอกเล่าเรื่องราวของชนเผ่า ผ่านบทเพลงที่ผมประทับใจ ซึ่งแรก ๆ นั้น เขาแบ่งรับ แบ่งสู้  ที่จะตอบรับการชักชวนชองผม แต่ผมก็ชักแม่น้ำทั้งห้า จนเขาหมดหนทางปฏิเสธ

“ผมไม่คุ้นเคยกับการร้องเพลงต่อหน้าคนมาก ๆ นะ” เขาออกตัวกับผมก่อนวันงาน แต่เมื่อถึงวันงานเขาก็ไม่ทำให้ผมผิดหวัง เขาเดินออกมาแบบเกร็งๆ และประหม่าอย่างเห็นได้ชัด เขาจะยืนตรงก็ไม่ใช่ จะยืนเท้าเอวก็ไม่เชิง

“ตอนขึ้นต้นช่วยร้องนำให้หน่อยนะ ผมไม่มั่นใจ ผมกลัวขึ้นไม่ถูก” เขากระซิบข้างผมก่อนจะร้องเพลง ผมพยักหน้าตอบและยิ้ม ๆ เพื่อให้เขารู้สึกอุ่นใจขึ้น ผมบีบแขนเขา เพื่อให้เขาหายเกร็ง เขาหันกลับมายิ้มแบบเกร็ง ๆ อยู่เหมือนเดิม  

เมื่อผมเริ่มบรรเลงเตหน่า เขาเริ่มทำหน้าเครียดทันที เขาพยายามฟังเตหน่าของผม และพยายามดูหน้าของผม เผื่อผมจะส่งสัญญาณให้ขึ้นต้นร้องเพลง  และแล้วเขาก็เริ่มต้นร้องพลาดจนได้ แต่ผมส่งสัญญาณให้เขาเดินหน้าร้องต่อไป  เขาไม่ลังเลอีกแล้ว เขาเปล่งเสียงร้องต่อแบบสั่น ๆ นิดหน่อย

ฤดูกาลแห่งความร้อนแล้ง ได้สิ้นสุดลงแล้ว
ฤดูกาลแห่งสายฝนจะเริ่มต้นแล้ว
ลมฝน เริ่มมาทักทายยอดใบไม้ของต้นไม้สูง
ไข่ในรังนกเริ่มแตกและออกลูก
ฝูงเขียดร้องระงมไปทั่วทุ่งนาในยามค่ำคืน
เชือกเริ่มมาร้อยที่จมูก
ฤดูกาลแห่งการทำงานได้เริ่มต้นอีกครา
กลางแดด กลางฝน ต้องตามเชือกที่เขาจูง
เมื่อยขา เล็บแตก ก็ต้องทน
ท้องหิว แต่งานยังไม่เสร็จก็ต้องทน
อยากจะบอกความต้องการให้เขารู้แต่พูดไม่ได้

เกิดมาชาตินี้มีแต่กรรม
ต้องทนทุกข์เข็ญทรมาน
ทั้งดิน ทั้งโคลน ต้องลากดึง
เพื่อคนอื่นได้มีกิน เราต้องทำ

ฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลงแล้ว
ฤดูกาลแห่งการดื่มกินฉลองได้เริ่มต้น
ลมหนาวได้พัดมาหนาวเย็นถึงกระดูก
ต้องเข้าป่าเพื่อหญ้าลำพังตามประสา
ลืมแล้วผู้ไถคราดยามต้นฤดู
ชาติหน้าเรามาสลับเปลี่ยนสภาพกันบ้าง
แล้วจะเข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร?

เขาร้องเพลงจบ เขาหันมายิ้มให้ผมพร้อมเหงื่อบนใบหน้า  
“ขอเป็นกำลังใจด้วยเสียงตบมือให้เพื่อนผมหน่อยครับ” ผมพูดจบ เสียงตบมือดังลั่นห้อง เขาก้มหัวแทนคำขอบคุณและเดินลงไปอย่างเงียบๆ

ผมยังคงต้องทำหน้าที่ต่อ ณ ที่ว่างข้างหน้าแห่งนั้น โดยยังคงมีผู้ช่วยของผมและเพื่อนนักดนตรีจากออสเตรเลียร่วมทำหน้าที่

แบแล บทเพลงที่ให้พลิกฟื้นแผ่นดินถิ่นเกิด เขามีข้าวกิน เราก็มีข้าวกิน อร่อยแน่ๆ หากได้อยู่ได้กินได้ทำในถิ่นกำเนิด  แม่ผู้ยังคงทำหน้าที่ผลิตวัฒนธรรมสู่ลูกหลานให้กลับมาสู่เหย้า  และการกลับมาของฟักสีเขียวกับไก่สีขาวบนขันตกเดียวกัน  โลกต้องการการปลอบประโลมให้หยุดร้องไห้

“ผมมีพีชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาจากริมทะเลสาบสงขลา จนมาพบเจอเรื่องราวของธรรมชาติและคนบนภูเขา วันนี้อยากให้เขามาเล่าเรื่องราวอีกมุมหนึ่งในการเดินทางให้พวกเราฟัง” ผมพูดจบทุกสายตาต่างมองไปที่ผู้ชายร่างโย่งที่กำลังลุกขึ้นมาเก้งก้างกว่าคนใต้ทั่วไป

เขาเดินขึ้นมานิ่งๆ ช้าๆ แต่มั่นคงในจังหวะเดิน  ยิ้มนิ่มๆ พูดเบาๆ
“เพลงสัตว์ป่านะ” เขาหันมาถามผมเพื่อความแน่ใจ

เขาเคยบอกกับผมว่าเพลงนี้เขาเขียนร่วมกับอาจารย์ลีซะ  ขุนพลเพลงปกาเกอะญอรุ่นใหญ่อีกคนหนึ่ง

“แม้เนื้อเพลงจะพูดถึงสัตว์ป่า แต่มันทำให้เห็นมนุษย์อยู่ในนั้น การล่ากันในสังคมมนุษย์ มันเกิดขึ้นจริง อยากบอกว่าหยุดได้แล้ว” เขาเคยบอกผม แล้วมันก็ติดอยู่ในหัวของผมตลอดเรื่อยมา ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมนำเพลงนี้มาขับร้องร่วมกับเขาในครั้งนี้และต่อไปอีกหลายๆ ครั้ง (ถ้าเขายินยอมเล่นด้วย)

*อีเก้ง ร้องในลำห้วย  หวลให้นึกถึงโลกป่า
โด เก่อ โอ(นกฮูก) ร้องยามค่ำคืน
อย่าไปล่า อย่าฆ่ามันเลย
....................................
ปล่อยให้มันเป็นอยู่อย่างนั้น
มันจะได้ใช้ชีวิตในโลกป่าเขา

* บางส่วนของเพลงสัตว์ป่า จากอัลบั้ม คนภูดอย / ศิลปินลีซะและสุวิชานนท์


บล็อกของ ชิ สุวิชาน

ชิ สุวิชาน
รุ่งเช้าวันที่ 10 กันยาฯ ทีมทั้งหมดเริ่มซ้อมเพื่อทบทวนกระบวนท่าฟ้อน ท่ารำ ท่วงท่าทำนอง จังหวะจะโคน ก่อนตระเวนออกศึก การซ้อมเริ่มต้นด้วยเพลงในอัลบั้มหิมพานต์ 2nd World ของพี่ทอด์ด ทองดี ต่อด้วยเพลงของ ซอ สมาชิกวง the sis ตามด้วยเพลงของลานนา คัมมินส์ รวมทั้งเพลงของมือระนาดและมือโปงลาง หมอแคน จนมาปิดท้ายที่เพลงของผม
ชิ สุวิชาน
บรรยากาศจากเทือกเขาสแครนตัน   หลังจากที่นักดนตรี นักร้อง นักรำมาถึงกันครบองค์ทั้งหมดแล้ว จึงเริ่มมีการแกะกล่องสัมภาระที่ขนเครื่องดนตรีและเครื่องไม้เครื่องมือประกอบการแสดงที่มาจากเมืองไทย ผมเริ่มแกะพลาสติกกันกระแทกที่ห่อเตหน่ากูไว้ เตหน่ากูได้โผล่ออกมารับแสงรับลมอีกครั้ง
ชิ สุวิชาน
รุ่งเช้าตื่นมา อากาศเย็นค่อนไปถึงหนาว ในขณะที่คณะที่มาด้วยกันยังนอนหลบกันอย่างเมามันจากอาการเพลียเพราะการเดินทาง ผมเดินลงไปในห้องครัวเผื่อเจออะไรที่ทานได้บ้าง หน้าห้องครัวเจ้าของบ้านได้ติดรูปคนในครอบครัว รูปลูกชายสองคน ที่ผมแปลกใจคือมีรูปหนึ่งที่ไม่ใช่รูปของผู้ชาย เป็นรูปคล้ายนางฟ้ามีข้อความเขียนว่า “Bless this home”  ทำให้นึกถึงบ้านคนไทยที่มีการเขียนหน้าบ้านต่างๆหลายอย่างเช่น “มั่งมีศรีสุข” บ้าง “บ้านนี้อยู่แล้วรวย” บ้าง
ชิ สุวิชาน
การรอคอยที่ไทเปสิ้นสุดลง เมื่อประตูสู่นิวยอร์กได้เปิดออกให้ผู้โดยสารเดินเข้าไปในเครื่องบิน ระยะทางกว่าสิบสี่ชั่วโมง ผมอยู่กับเพลง World Music ซึ่งเป็นเมนูที่มีให้เลือกจากสายการบิน บางเพลงมีเสียงระนาด ขลุ่ย และมีจังหวะหมอลำปะปนด้วยได้กลิ่นไอดนตรีไทยเป็นอย่างสูง ผมจึงยกหูฟังให้พี่สานุ นักดนตรีและโปรดิวเซอร์จากกรุงเทพฟัง เขาฟันธงเลยว่าเสียงทั้งหมดเป็นการ Samp มาทั้งนั้น ไม่ใช่เสียงจริงดั้งเดิมที่คนเล่นมา แต่ถึงอย่างไรก็เป็นการฆ่าความน่าเบื่อของการอยู่บนเครื่องเป็นเวลานานได้เป็นอย่างดี  
ชิ สุวิชาน
ก่อนเดินทางมีการแถลงข่าวที่กรุงเทพ มีผู้สนับสนุนทั้งกระทรวงการต่างประเทศและบริษัทบุญรอดฯมาร่วม หลังงานแถลงข่าวมีการสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนที่มาในงาน
ชิ สุวิชาน
ความจริงแล้วผมมีกำหนดการนัดสัมภาษณ์ขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปประเทศอเมริกาในวันที่ 2 กันยายน 2552 ขณะที่กำหนดการในการเดินทางไปประเทศดังกล่าวคือเช้าวันที่ 3 กันยายน 2552 หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ แผนกำหนดการเดินทางอาจมีปัญหาได้ ฉะนั้นทางบริษัท ลาเวลล์ เอนเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งเป็นผู้ประสานและเป็นผู้อำนวยการการเดินทางในครั้งนี้ ได้ขอทำเรื่องเร่งรัดการสัมภาษณ์ให้เกิดขึ้นก่อนการสัมภาษณ์เดิม
ชิ สุวิชาน
  บรรยากาศงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คำรบที่สาม เป็นไปอย่างเรียบง่ายเล็กๆ กะทัดรัด ตามประเด็นหัวข้อที่นำเอาเรื่องของ "การจัดการทรัพยากรบนพื้นที่สูงในรูปแบบโฉนดชุมชน" ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้อาวุโสชนเผ่าทางภาคเหนือต่างมากันอย่างครบครันเช่นเดิม
ชิ สุวิชาน
เขาเดินลงไปท้ายหมู่บ้าน พร้อมกับบทเพลง" อย่าให้น้ำตาไหลริน"ของ ฉ่า เก โดะ ที  แม่จ๋า อย่าปล่อยให้น้ำตาได้มีโอกาสไหล            บัดนี้อายุลูกครบ สิบหกบริบูรณ์แล้วดั่งกฎของชายชาติทหารทุกประทศมี                  ลูกต้องทำหน้าที่เพื่อการปฏิวัติพ่อได้สละชีพจนแม่เลี้ยงลูกอย่างกำพร้า             อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่ลำเค็ญ แม่ทนถึงคราวลูกชายคนโตต้องไปทำหน้าที่ต่อ     …
ชิ สุวิชาน
สงครามตามชายแดนไทย-พม่าริมแม่น้ำเมยได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง ทางการพม่าออกมาปฏิเสธไม่มีส่วนกับสงครามที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยบอกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชนเผ่ากะเหรี่ยงด้วยกันเอง คือระหว่างกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) ผลของการสู้รบทำให้ประชาชนชาวกะเหรี่ยงด้วยกันเองที่อยู่ในพื้นที่การสู้รบ ต้องหนีภัยจากการสู้รบ หลายชุมชนต้องฝ่าเสียงกระสุนปืน หลายชุมชนต้องฝ่าดงและเสียงระเบิด ในขณะที่เดินฝ่าความตายเพื่อหนีตายนั้น ต้องทำด้วยความเงียบ ความรวดเร็ว ต้องเก็บแม้กระทั่งเสียงร้องไห้
ชิ สุวิชาน
เพลงต่อเพลง ถูกเล่น ถูกร้อง ถูกเล่า ถูกถ่ายทอดออกมาล้วนมีที่มาที่ไปไม่แตกต่างจากเจตนารมณ์ของพ้อเหล่ป่าที่ทำตอนที่ยังชีวิตอยู่ เวลาผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง อาจารย์ลีซะกับพี่นนท์ก็โยนเวทีมาให้ผม ขณะที่ผมกำลังอยู่ในอาการสับสนเพราะไม่รู้จะเล่นเพลงอะไรดี สิ่งที่เตรียมเล่นเตรียมพูดในขณะที่เดินทาง เล่นไม่ได้พูดไม่ได้ มันเป็นประเด็นเปราะบางสำหรับพื้นที่นี้ งานนี้อีกครั้งหนึ่ง!
ชิ สุวิชาน
จังหวะที่ผมลุกขึ้นและตามเจ้าของบ้านเพื่อไปกินข้าว สายตาผมแวบไปมองเห็นผู้เฒ่าคนหนึ่งเหมือนคุ้นเคยกันมานาน ทั้งที่ผมไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน เขาก็จ้องหน้าผมเหมือนรู้จักมักคุ้นกับผมเป็นอย่างดี  "โพโดะ (หลาน) คืนนี้มีการขับธาไหม?" เขาถามผมเหมือนรู้ว่าใจผมต้องการอะไร แต่สีหน้าเขาเหมือนแสดงอาการไม่มั่นใจในบางอย่างออกมา"โอ้โห ต้องมีซิ" ผมตอบโดยไม่ต้องเดาว่าเขาคือโมะโชะคนหนึ่งแน่นอน
ชิ สุวิชาน
ทุกครั้งที่เดินทางผ่านหมู่บ้านแม่แฮใต้ ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม ไม่มีครั้งไหนที่เลยผ่านร้านขายของชำเล็กๆริมทาง ที่มีผู้เฒ่าปากแดงด้วยน้ำหมากนั่งเฝ้าอยู่ มีของที่จำเป็นพื้นฐานสำหรับชีวิตคนภูขายซึ่งมักเป็นอาหารแห้ง ขนมขบเคี้ยวและยารักษาโรคเบื้องต้น  แต่ร้านขายของชำเล็กๆ ถึงเล็กมากแห่งนี้มีมากกว่านั้น มีเรื่องเล่าให้หัวเราะ ให้อมยิ้ม ให้ขบคิด และมีบทธาให้เก็บเกี่ยวมากมาย