Skip to main content

 
 

1.

ถ้าคุณไม่เข้าไปค้นหา  คุณก็จะไม่พบ
ถ้าคุณไม่เดินทางเข้าไปเยือน
คุณก็ไม่มีโอกาสรับรู้ถึงความเงียบสงบ
และคุณก็จะไม่รู้เลยว่าในหุบเขาลึกอันรกครึ้มด้วยดงป่าหนาทึบนั้น
มีชุมชน มีผู้คนซ่อนตัว อาศัยอยู่มานานนับหลายร้อยปีมาแล้ว
ไม่แน่...หากมีนักมานุษยวิทยาหรือนักโบราณคดีไปสืบค้นหาร่องรอยอย่างถี่ถ้วน
หมู่บ้านแห่งนี้อาจมีอายุยาวนานนับพันปีก็เป็นไปได้
และถ้าคุณไม่เดินทางเข้าไปอยู่ร่วม สัมผัส จับมือเขา กินข้าวร่วมขันโตกเดียวกันกับเขา
จิบน้ำชา  และล้อมวงสนทนากัน พูดคุยด้วยหัวใจเปิดกว้างอย่างเป็นธรรม
คุณก็จะไม่มีโอกาสรู้หรอกว่า ผู้คนที่นั่นเขาอยู่ร่วมกับผืนดินผืนป่าและสายน้ำกันอย่างไร
อย่างสมบูรณ์ สอดคล้อง เกื้อหนุนกันเป็นหนึ่งเดียว
แน่ละ ถ้าคุณไม่เข้าไปค้นหา คุณก็จะไม่มีวันค้นพบ...
อีกทั้งคุณอาจมีความคิดเหมือนๆ กับเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการบางคน
หรือชนชั้นกลางบางกลุ่ม พวกเขาล้วนยืนอยู่บนหอคอย ผูกเน็คไทแช่ตัวอยู่ห้องแอร์
แล้วพร่ำบ่นต่อว่า ถากถางอยู่ย้ำๆ ว่า...คนอยู่กับป่าไม่ได้ คนอยู่ที่ไหน ป่าถูกทำลายหมด
ยิ่งเป็นชาวเขาแล้ว  ยิ่งไปกันใหญ่ ตัวการทำลายป่า
และที่สำคัญ...มีทางออกทางเดียวเท่านั้น คือต้องเอาคนออกจากป่า!?
จริงสิ  คุณอาจไม่รู้สึกรู้สาอะไร
และคุณคงมิอาจล่วงรู้ได้ว่า  คำพูด ความคิดของคุณนั้น
มันไปกระทบกระเทือนหัวจิตหัวใจของผู้คนในหุบเขานั้น
ให้เจ็บปวดรวดร้าวเพียงใด. 
 

2.

ผมกลับไปอ่านบทความของ ดร.ท่านนั้นอีกครั้ง...
เพียงแค่ถ้อยคำเกริ่นนำ  ทำให้หลายคนสัมผัสได้ว่า  เป็นน้ำเสียงของความหมิ่นแคลนในความเป็นชนเผ่าอย่าง   เห็นได้ชัด

...ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวว่ารัฐบาลจะออก ‘โฉนดชุมชน’ ผมเห็นว่าแนวคิดนี้เป็นเรื่องวิบัติที่จะสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติในอนาคต เปรียบเสมือนการออกโฉนดชนเผ่าแบบประเทศด้อยพัฒนา ทั้งที่ประเทศไทยก็มีโฉนดที่ดินให้บุคคลและนิติบุคคลถือครองมานับร้อยปีอยู่แล้ว และถือเป็นการแก้ปัญหาผิดจุดเป็นอย่างยิ่ง...

ดร.ท่านนั้น จะเน้นคำว่า ชนเผ่า โฉนดชนเผ่า ชาวเขา...ออกมาย้ำๆ

...กรณีชาวเขา ที่มักนำมาอ้างว่าไม่ได้ทำลายป่าจากการปลูกไร่เลื่อนลอย (หมุนเวียน) นั้น คงเป็นชาวเขากลุ่มเล็ก ๆ แต่เดี๋ยวนี้ชาวเขามีมากมาย ป่าไม้คงไม่พอให้พวกเขาหาเลี้ยงชีพ คนชาวเขาจำนวนมากก็ทำงานในเมือง เช่นคนชนบททั่วไป ชาวเขาที่หาของป่า จับสัตว์ป่ามาขาย ควรหรือที่จะทำเช่นนี้ และนี่หรือคือคนที่จะพิทักษ์ป่า บางทีการจ้างให้พวกเขอยู่เฉย ๆ ไม่ให้บุกรุกป่า และทำหน้าที่ช่วยรักษาป่า ยังดีกว่าปล่อยให้พวกเขาบุกรุกป่าเช่นนี้…

3.
 

พูดถึงเรื่อง  ไร่หมุนเวียน – ไร่เลื่อนลอย ทำให้ผมหยิบรายงานวิจัยโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง‘ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน : สถานภาพและการเปลี่ยนแปลง’ โดย‘ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์’หัวหน้าโครงการฯ มาทบทวนอ่านอีกครั้ง

ในรายงานชิ้นนี้ พยายามอธิบายให้ชัดๆ เหมือนกับต้องการตะโกนออกมาดังๆ ว่า หน่วยงานรัฐและสังคมยังมีความเข้าใจผิด ต่อระบบไร่หมุนเวียนหลายประการ สรุปได้ดังนี้  

หนึ่ง การทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่การตัดไม้ทำลายป่า แต่เป็นเกษตรกรรมบนพื้นฐานขององค์ความรู้พื้นบ้าน มีเป้าหมายเพื่อการปลูกการปลูกพืชอาหารยังชีพเป็นหลัก มีรูปแบบที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ผลกระทบจึงแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ ด้วย         

สอง เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมการใช้พื้นที่ป่าในรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งการทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ เช่นการปลูกไม้ดอกและพืชผักเมืองหนาว การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ การทำไร่หมุนเวียนส่งผลต่อระบบนิเวศน้อยกว่าอย่างมาก ทั้งนี้ผลกระทบดังกล่าวได้แก่การสูญเสียพื้นที่ป่าอย่างถาวร การชะล้างพังทลายของหน้าดิน การเกิดสารพิษตกค้างในดิน น้ำ อากาศ เป็นต้น           

และ ประเด็นสุดท้าย คือ พื้นที่ไร่หมุนเวียน(รวมทั้งพื้นที่ไร่เก่าที่ปล่อยทิ้งไว้ให้พักตัว)มีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ในชุมชนที่ทำการศึกษา เช่น ป่าชุมชน ที่อยู่อาศัย รวมทั้งป่าอนุรักษ์ที่ชุมชนกำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่ป่าถาวร ซึ่งจะไม่มีการเข้าไปแผ้วถางทำกินเด็ดขาด เว้นแต่การเก็บหาผลิตผลมาใช้ประโยชน์ ภายใต้กฎป่าชุมชนเท่านั้น 
  


  

4.

เราลองมาฟังมุมมองคำพูดของชาวบ้าน  ชนเผ่า ที่หลายคนยังมองว่าคือตัวการทำลายป่ากันดีกว่า  นี่คือคำสนทนาระหว่างเรา (ผมและคณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย) กับคุณชัยประเสริฐ โพคะ ตัวแทนชาวบ้านชนเผ่าปว่าเก่อญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

“มาถึงตอนนี้ระบบไร่หมุนเวียนยังจะเป็นคำตอบสุดท้ายอยู่มั้ย อะไรจะเป็นหลักประกันว่าจะยังคงอยู่ต่อไป” 
“ผมเชื่อว่าขึ้นอยู่กับการสืบทอด คนเรานี่สืบทอดรุ่นต่อรุ่น และหมู่บ้านนี้สืบทอดกันมาได้สี่ชั่วอายุคนแล้ว แต่ก็ยังมีคนบอกมาเรื่อยๆ ว่าทำไร่หมุนเวียนไม่ดี อยู่กับป่า ป่าเสียหาย กระแสตัวนี้ก็จะมาเรื่อยๆ เคยมีการวิจัยไร่หมุนเวียน ผลการวิจัยก็ออกมาว่าไร่หมุนเวียนอยู่กับป่าได้ พอมาเดี๋ยวนี้ก็มาบอกอีกแล้วว่าทำไร่หมุนเวียนได้ แต่ห้ามเผา เพราะมันก็จะเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนอีก”  

“แล้วมันทำให้โลกร้อนจริงหรือเปล่าละ...” เราแหย่ถาม
 
“นี่รู้มั้ยตอนนี้ผมกับชาวบ้านกำลังทำงานวิจัยภาวะโลกร้อนด้วยนะ” เขาบอกกับเรา 
“ทำอย่างไงหรือ”
“เราก็ทำวิจัยกันว่า ปีที่เราทำไร่หมุนเวียนมีกี่แปลง แปลงที่เปิดพื้นที่มีเท่าไหร่ แปลงที่เราเผามันจะมีคาร์บอนได้กี่กิโล แล้ว 7 แปลงที่ปล่อยไว้นี่มันจะดูดคาร์บอนได้เท่าไหร่ แล้วป่าที่เราดูแลในชุมชนหนึ่งหมื่นไร่นั้นมันจะดูดคาร์บอนได้เท่าไหร่ เราต้องตอบคำถามให้กับสังคมให้ได้ เพราะว่าทุกอย่างมันเป็นการเรียนรู้”  

“แล้วมองปัญหาโลกร้อนอย่างไรบ้าง”
 
“เรื่องโลกร้อนนี่เราหยุดไม่ได้แน่นอน เพราะมันสะสมมาเป็นหมื่นๆ ปี แต่เราจะทำอย่างไรไม่ให้เพิ่มมากกว่านี้ ถ้าบอกว่าโลกร้อน ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกันหมด แต่เราต้องช่วยกันว่าจะลดได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรที่จะไม่เพิ่มระดับ หนึ่ง พวกเราต้องทำลายน้อยลงมาได้ไหม ปลูกเพิ่มขึ้นได้ไหม อีกอย่างคือเราทำให้เสียน้อยลงนิดหนึ่งได้ไหม เขาเรียกว่ารอยเท้านิเวศน์ เกี่ยวกับเรื่องการบริโภคทรัพยากรมากน้อยแค่ไหน”  

“ในขณะที่สังคมเมืองบอกว่าคนดอยใช้ทรัพยากรเปลืองกว่า แต่คนบนดอยก็บอกว่าคนที่อยู่ในเมืองต่างหากที่ใช้ทรัพยากรเปลืองกว่าคนที่อยู่ในป่า”
 
“ผมว่าแน่นอน เพราะคุณขับรถไปคันหนึ่งมันลากป่าเข้าไปหลายร้อยไร่ต่อคน สตาร์ทที มันก็ดูดคาร์บอนแล้ว แค่เราสตาร์ทรถคันหนึ่งมันก็ต้องอาศัยป่าแล้ว เราดูแลป่า เราก็ต้องให้คนเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ด้วย ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา คนจะไม่เข้าใจคนที่อยู่กับป่า เราอยากบอกว่า เราไม่ใช่เป็นเจ้าของป่า เราเป็นแค่ยามเฝ้าป่าเท่านั้น”  

“ช่วยอธิบายชัดๆ อีกทีได้มั้ยว่ามีเกณฑ์การประเมินอย่างไรว่าชุมชนจะช่วยสร้างการดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ยังไง”
 
“คือมันเป็นวิชาการนิดหนึ่ง เพราะว่าชาวบ้านอาศัยนักวิชาการมาร่วมด้วย พอดีมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอีกหลายมหาวิทยาลัยที่มาร่วมกันทำงานวิจัย ภายใต้ชื่อโครงการไร่หมุนเวียน แต่วิจัยกรณีเรื่องโลกร้อน ว่าปีหนึ่งมีการปล่อยคาร์บอนได้เท่าไหร่ เราดูดคาร์บอนได้เท่าไหร่ ไม่ใช่เฉพาะไร่อย่างเดียว รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นสวนชา ที่นา รวมไปถึงการวิจัยในพื้นที่ที่ปลูกข้าวโพด การทำนาใส่สารเคมี ก็ทำเป็น 3-4 ช่วง ตอนนี้อยู่ในช่วงเก็บข้อมูลเพิ่งเริ่มต้นปีแรกอยู่...” 

“ทำวิจัยละเอียดมากมั้ย” 
“ก็มีทั้งการขุดดินไปชั่ง สมมติว่า ขุดดินหนึ่งเมตร เอาไปชั่งว่ามีกี่กิโล มันดูดความชื้นได้เท่าไหร่ ดูดคาร์บอนได้เท่าไหร่ เอาไปตากแห้งเหลือกี่กิโล เอาไปเผาให้หมดเหลือกี่กิโล เผาเสร็จเท่าไหร่ก็ปล่อยคาร์บอนได้เท่านั้น” 

เราพูดคุยกันอย่างออกรส  ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง ผลผลิตจากป่า ชา สมุนไพร หน่อไม้ น้ำผึ้ง ไร่หมุนเวียน กระทั่งมาถึงเรื่องโลกร้อน 
แน่นอนว่า ยิ่งฟังยิ่งสนุก ยิ่งได้ความรู้ใหม่ๆ  จากเขามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมแอบชื่นชมในภูมิปัญญาของเขามานาน ว่าเขาเป็นคนที่อยู่กับป่าคนหนึ่ง ที่สามารถ นำเอาประสบการณ์การเรียนรู้มาปรับใช้ในวิถีชุมชนของเขาได้อย่างน่าทึ่ง 

“เดี๋ยวนี้ฝรั่งเขาทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง คน เขาบอกว่าคนในอเมริกาเกิดมา 7 วัน เท่ากับชุมชนในป่าปีหนึ่ง” เขาบอกกับเรา ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แต่ว่าหลายคนฟังแล้วยังงงๆ
 
“คือคนอเมริกาเกิดมา 7 วัน คลอดปุ๊บต้องใช้ออกซิเจนใช่มั้ย ออกซิเจนก็มาจากป่า เปิดแอร์ก็มาจากป่า แล้วให้หมอดูแล ค่าจ้างของหมอก็มาจากป่า คนที่ดูแลรายได้มาจากสิ่งแวดล้อมหมดเลย 7 วันใช้ออกซิเจนกี่กิโล แอร์เท่าไหร่ ไฟเท่าไหร่ คิดแค่ 7 วัน เท่ากับชุมชนที่อยู่ป่าทั้งชุมชน 1 ปี นี่เป็นงานวิจัยพี่น้องที่เป็นฝรั่ง นักวิจัยมาจากสหรัฐฯ มาจากฟินแลนด์ มาร่วมคิดแล้ววิจัยร่วมกัน ซึ่งเป็นจริง ยืนยันได้”  

เขาอธิบายให้เห็นภาพ ว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด  และทำให้เรารับรู้ได้ว่า  ในขณะคนเมืองใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมากเท่าไร ชาวบ้านที่อยู่กับป่าจะต้องใช้แรงและพลังมหาศาลมากเพียงใดในการดูแลป่าให้คงอยู่เพื่อสร้างออกซิเจนให้กับคนเมือง
 

“การที่มีนักวิชาการทำวิจัยชิ้นนี้ ทำให้พวกเราชาวบ้านมีกำลังใจ ถือว่าเป็นกำลังใจให้กับชุมชนที่อยู่กับป่า ที่ช่วยกันดูแลป่านั้นมีความสุข เพราะผมถือว่างานอะไรทุกอย่างที่ทำให้ชุมชนมีกำลังที่จะต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้นได้ พวกเราก็มีกำลังใจที่จะดูแลสิ่งเหล่านั้นได้…” เขากล่าวทิ้งท้ายให้เราได้ฉุกคิด
 

ครับ, นี่คือบทสนทนา  คือถ้อยคำ ความคิดของ คุณชัยประเสริฐ โพคะ ตัวแทนชาวบ้านปว่าเก่อญอบ้านห้วยหินลาดใน  ที่เหมือนจะพยายามสื่อสารแลกเปลี่ยนกับเรา เพื่อหวังว่าจะสื่อสารผ่านไปยังคนเมืองข้างล่าง ว่าชาวบ้าน คนที่อยู่กับป่า กำลังทำเพื่อสิ่งใด และเขาทำเพื่อใคร!?
 
 
ในขณะที่ยังมีใครอีกหลายคน พยายามมองโลก มองธรรมชาติแบบแบ่งแยก. 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ผมรู้ว่าสี่ห้าปีมานี้ ผมเขียนบทกวีได้ไม่กี่ชิ้น อาจเป็นเพราะต้องอยู่กับโลกข่าวสารที่จำเป็นต้องเร่งและเร็ว หรืออาจเป็นเพราะว่ามีบางสิ่งบางอย่างบดบัง จนหลงลืมมองสิ่งที่รอบข้าง มองเห็นอะไรพร่ามัวไปหมด หรือว่าเรากำลังหลงลืมความจริง...ผมเฝ้าถามตัวเอง...  อย่างไรก็ตามเถอะ...มาถึงตอนนี้ ผมกำลังพยายามฝึกใช้ชีวิต ให้อยู่กับความฝันและความจริงไปพร้อมๆ กัน ช่วงนี้ หลังพักจากงานสวน ผมจึงมีเวลาอยู่กับความเงียบลำพัง เพ่งมองภายในและสิ่งรายรอบมากยิ่งขี้น และผมเริ่มบันทึกบทกวีแคนโต้เหมือนสายน้ำ หลั่งไหล อย่างต่อเนื่อง ทุกวันๆ ตามดวงตาที่เห็น ตามหัวใจได้สัมผัสต้อง บ่อยครั้งมันมากระทบทันใด ไม่รู้ตัว…
ภู เชียงดาว
เกือบสามเดือนแล้วที่ผมพาตัวเองกลับมาอยู่ในหุบเขาบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่จึงขลุกอยู่แต่ในสวน ไม่ค่อยได้เดินทางไปไหนไกล แต่ผมกลับไม่รู้สึกว่าเหงาหรือห่างไกลกับผู้คนเลย เพราะในแต่ละเดือนมักมีมิ่งมิตรเดินทางมาเยี่ยมเยือนหากันตลอด  และทำให้ผมรู้อีกอย่างหนึ่งว่า...บางทีการอยู่นิ่งก็หมายถึงการเดินทาง ใช่ ผมหมายถึงว่า ในขณะที่ผมอยู่ในสวน หากยังมีผู้คนเดินทางแวะเวียนมาหา และที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ผมยังมองเห็นเมล็ดพันธุ์เดินทางมายังสวนอย่างต่อเนื่อง “ผมเอาเมล็ดพันธุ์มาฝาก...” นักเดินทางคนหนึ่งเดินทางไกลมาจากสงขลา ล้วงเอาเมล็ดพันธุ์ที่ใส่ไว้ในกล่องฟิล์มยื่นให้ ขณะผมกำลังง่วนทำงานอยู่ในสวน
ภู เชียงดาว
หลังดินดำน้ำชุ่ม เขาหยิบเมล็ดพันธุ์หลากหลายมากองวางไว้ตรงหน้า มีทั้งเมล็ดผักกาดดอยที่พ่อนำมาให้ เมล็ดฟักทองที่พี่สาวฝากมา นั่นเมล็ดแตงกวา เมล็ดหัวผักกาด ถั่วพุ่ม ผักบุ้ง บวบหอม ผักชี ฯลฯ เขาค่อยๆ ทำไปช้าๆ ไม่เร่งรีบ ทั้งหว่านทั้งหยอดไปทั่วแปลง เสร็จแล้วเดินไปหอบใบหญ้าแฝกที่ตัดกองไว้ตามคันขอบรอบบ้านปีกไม้มาปูบนแปลงผักแทนฟางข้าว ให้ความชุ่มชื้นแก่ดินหลังจากนั้น เขามองไปรอบๆ แปลงริมรั้วยังมีพื้นที่ว่าง เขาเดินไปถอนกล้าตำลึง ผักปลัง ผักเชียงดา มะเขือ พริก อัญชัน ตะไคร้ ขิง ข่า กระเพรา โหระพา สาระแหน่ ฯลฯ มาปลูกเสริม หยิบลูกมะเขือเครือ(ที่หลายคนเรียกกันว่าฟักแม้วหรือซาโยเต้)…
ภู เชียงดาว
ในช่วงสองเดือน ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เกือบทุกเสาร์-อาทิตย์ เขาใช้เวลาเทียวขึ้นเทียวล่องระหว่างเมืองกับสวนในหุบเขาบ้านเกิด เพื่อวางแผนลงมือทำสวนผักหลังบ้าน แน่นอน- -เพราะเขาบอกกับตัวเองย้ำๆ ว่าหากคิดจะพามนุษย์เงินเดือน กลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีฐานที่มั่น และมีผักไม้ไซร้เครือเตรียมไว้ให้พร้อม ให้พออยู่พอกินเสียก่อน ใช่ เขาหมายถึงการสร้างฐานความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวหลังบ้าน   หลายคนอาจบอกว่า งานทำสวนนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เหมือนกับงานสาขาอาชีพอื่น แต่ก็อีกนั่นแหละ เขากลับมองว่า งานสวนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย…
ภู เชียงดาว
1. ในชีวิตคนเรานั้นคงเคยตั้งคำถามที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก คำถามคลาสสิกหนึ่งนั้นคือ...“คนเราต้องการอะไรในชีวิต!?...” คำตอบส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นต้องการปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ...อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หากปัจจุบัน ‘เงิน’ กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของคนเรา แน่นอน, เมื่อเอาเงินเป็นตัวกำหนดชะตากรรม,ชีวิต จึงทำให้ทุกคนต้องดิ้นรนเพียงเพื่อให้ได้มาทุกสิ่งทุกอย่าง จนทำให้ชีวิตหลายชีวิตนั้นขวนขวายทำงานกันอย่างหน่วงหนัก ‘การงาน’ ได้กระชากลากเหวี่ยงเรากระเด็นกระดอนไปไกลและไกล ให้ออกไปเดินบนถนนของความโลภ ไปสู่เมืองของความอยาก ไปสู่กงล้อของการไขว่คว้าที่หมุนวนอยู่ไม่รู้จบ…
ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ฟ้าเริ่มครึ้มมัวหม่นเมฆฝน ข้ายืนจดจ้องฝูงมดดำเคลื่อนขบวนมหึมา ไต่ไปบนปีกไม้ไปหารวงรังแตนเกาะริมขอบหน้าต่างบ้านปีกไม้ หมู่มดยื้อแย่งขนไข่แตนกันออกจากรัง อย่างต่อเนื่อง ขณะฝูงแตนบินว่อนไปมาด้วยสัญชาติญาณ คงตระหนกตกใจระคนโกรธขึ้งเคียดแค้น แต่มิอาจทำอะไรพวกมันได้ เหล่าฝูงมดอาศัยพลพรรคนับพันนับหมื่นชีวิต ใช้ความได้เปรียบเข้าปล้นรังไข่พวกมันไปหมดสิ้น ไม่นาน ขบวนมดจำนวนมหาศาลก็ถอยทัพกลับไป ฝูงแตนไม่รู้หายไปไหน เหลือเพียงรังแตนที่กลวง ว่างเปล่า
ภู เชียงดาว
ในที่สุด, ผมก็พาตัวเองกลับคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากโชคชะตาชักชวนชีวิตลงไปอยู่ในโลกของเมืองตั้งหลายขวบปี การกลับบ้านครั้งนี้ ผมกะเอาไว้ว่า จะขอกลับไปพำนักอย่างถาวร หลังจากชีวิตเกือบค่อนนั้นระหกระเหินเดินทางไปหลายหนแห่ง ผ่านทุ่งนา ภูเขา แม่น้ำ ทางป่า ถนนเมือง... จนทำให้บ้านเกิดนั้นเป็นเพียงคนรู้จักที่ไม่คุ้นเคย เป็นเหมือนโรงเตี๊ยมพักผ่อนชั่วคราวก่อนออกเดินทางไกล อย่างไรก็ตามได้อะไรมากและหลากหลาย... สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาสู่,ชีวิตการกลับบ้านเกิดหนนี้, เหมือนกับว่าไปเริ่มสู่จุดเริ่มต้นและก่อเกิด ผมบอกกับหลายคนว่ากำลังเกิดใหม่เป็นหนที่สามจากบ้านเกิด เข้ามาเรียนในเวียง…
ภู เชียงดาว
‘ลุ่มน้ำแม่ป๋าม’ ถือว่าเป็นลุ่มน้ำสาขาหลักที่สำคัญของแม่น้ำปิงอีกสายหนึ่งของอำเภอเชียงดาว ที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย เมื่อย้อนทวนขึ้นไปบนความสลับซับซ้อนของต้นกำเนิดน้ำแม่ป๋าม หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ตาน้ำ จะพบว่าอยู่บริเวณชุมชนบ้านแม่ปาคี ต.สันทราย ของ อ.พร้าว ก่อนจะลัดเลาะไหลอ้อมตีนดอยผาแดง ลงสู่หุบห้วยบริเวณบ้านป่าตึงงาม โดยมีสายน้ำย่อยอีกสายหนึ่ง คือน้ำแม่ป๋อย ได้ไหลมารวมกับน้ำแม่ป๋ามตรงสบน้ำบ้านออน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว นอกจากนั้นยังมีลำน้ำแม่มาดอีกสายหนึ่ง ซึ่งมีขุนน้ำอยู่บริเวณป่าเชิงดอยบ้านปางโม่ ก็ได้ไหลมาสมทบกับน้ำแม่ป๋าม แล้วค่อยไหลผ่านหมู่บ้านแม่ป๋าม…
ภู เชียงดาว
มองไปในความกว้างและเวิ้งว้าง ทำให้ผมอดครุ่นคิดไปลึกและไกล และพลอยให้อดนึกหวั่นไหวไม่ได้ หากภูเขา ทุ่งนาทุ่งไร่ สายน้ำ และวิถีชีวิตในหมู่บ้านเกิดของผมต้องเปลี่ยนไป เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติเข้ามาเยือน
ภู เชียงดาว
‘…เรารู้ซึ้งถึงสิ่งนี้ โลกนี้มิใช่ของมนุษย์ มนุษย์ต่างหากที่เป็นสมบัติของโลก สิ่งนี้เรารู้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันเหมือนดังสายเลือดในครอบครัวเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นแก่โลก ย่อมเกิดขึ้นแก่บุตรธิดาของโลกด้วย มนุษย์ไม่ใช่ผู้สานทอใยแห่งชีวิต เขาเป็นเพียงเส้นใยหนึ่งในนั้น สิ่งใดก็ตามที่เขาทำต่อข่ายใยนั้น ก็เท่ากับกระทำต่อตนเอง...’จดหมายโต้ตอบของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงที่ซีแอตเติ้ลจากหนังสือ ‘ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป’วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : แปล และเรียบเรียง
ภู เชียงดาว
  ผมยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้าน จ้องมองภาพเคลื่อนไหวไปเบื้องหน้า... เป็นภาพที่คุ้นเคยที่ยังคงสวยสด งดงาม และเรียบง่ายในความรู้สึกผม ภาพชาวนาในท้องทุ่ง ภาพหุบเขาผาแดงที่มีป่าไม้กับลำน้ำแม่ป๋ามไหลผ่านคดโค้งเลียบเลาะระหว่างตีนดอยกับทุ่งนา ก่อนรี่ไหลลงไปสู่ลำน้ำปิง แม่น้ำในใจคนล้านนามานานนักนาน
ภู เชียงดาว
(1)ดอกฝนหล่นโปรยมาทายทักแล้ว,ในห้วงต้นฤดูหอมกลิ่นดินกลิ่นป่าอวลตรลบไปทั่วทุกหนแห่งหัวใจหลายดวงชื่นสดในชีวิตวิถีถูกปลุกฟื้นตื่นให้เริ่มต้นใหม่อีกคราครั้ง…ตีนเปลือยย่ำไปบนดินนุ่มชุ่มชื้น,เช้าวันใหม่ไต่ตามสันดอย ไปในไร่ด้วยกันนะน้องสาวผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน  ช่วยกันทำงานๆพี่ใช้เสียมลำไม้ไผ่กระทุ้งดิน  น้องหยิบเมล็ดข้าวหยอดใส่หลุมไม่เร่งรีบ ไม่บ่นท้อ ในความเหน็ดหน่ายเสร็จงานเราผ่อนคลาย  เอนกายผ่อนพักใต้เงาไม้ใหญ่แล้วพี่จะกล่อมให้, ด้วยเพลงพื้นบ้านโบราณขับขาน