Skip to main content

20080327 ภาพประกอบ 1

พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้น

ในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน ทั้ง ๒ คนเป็นล่ามแปลภาษาของกันและกัน ถัดจากพวกเราไปเป็นหญิงชราวัย ๖๓ หญิงชรามีหน้าที่พายเรือ การพายเรือของหญิงชราแปลกแปร่งไปจากที่เคยเห็น เพราะแกใช้ตีนทั้งสองข้างในการถีบไม้พายที่ผูกติดเอาไว้กับกราบเรือ คงไม่ผิดแปลกอันใดที่จะกล่าวว่า เรือมุ่งไปข้างหน้าด้วยแรงเฉื่อยของตีนคน

ผมเก็บความสงสัยเอาไว้ไม่อยู่จึงตัดสินใจถามผ่านล่ามว่าด้วยเหตุผลกลใด หญิงชราจึงใช้ตีนทั้งสองข้างพายเรือ คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ ตีนมีแรงมากกว่ามือ และมือก็ต้องเอาไว้ใช้เก็บกู้กุบ (เครื่องมือหาปลาชนิดหนึ่ง) ที่จมอยู่ในน้ำ

ขณะเราลอยเรืออยู่เหนือสายน้ำ เวลาก็ล่วงเลยไปเกือบบ่าย ๒ แต่บนฟ้าเฆมยังคงมืดครึ้ม และฝนก็ยังโปรยสายลงมาบางเบา ในม่านฝน เรือบรรทุกทรายลำใหญ่หลายลำกำลังเร่งเครื่องเพื่อทวนน้ำขึ้นไปทางตอนเหนือของแม่น้ำ ในเรือลำใหญ่บรรทุกทรายจนปริ่มกราบเรือ ทรายจากริมฝั่งแม่น้ำถูกนำไปใช้ในกิจการก่อสร้าง เมื่อเรือลำใหญ่วิ่งผ่าน ชายชราก็จะโยนก้อนหินลงน้ำ นัยว่าเพื่อถ่วงเรือเอาไว้

20080227 ภาพประกอบ 2

หลายปีมาแล้วที่เรือใหญ่วิ่งเต็มแม่น้ำ แต่เรือลำเล็กเช่นเรือหาปลาของพ่อเฒ่ากลับค่อยๆ หายไปจากแม่น้ำ คล้ายว่าคลื่นจากเรือใหญ่ได้โถมซัดคนหาปลาเช่นพ่อเฒ่าคนแล้วคนเล่าให้กลับคืนสู่ฝั่ง

ย้อนหลังไปเมื่อ ๕๑ ปีก่อน เรือใหญ่เล่านี้ยังไม่มีมากมาย แต่ผิดกับเรือหาปลาลำเล็ก เมื่อ ๕๑ ปีก่อนเรือหาปลาเหล่านี้มีมากจนเต็มแม่น้ำ หลังจากนโยบายของรัฐที่ให้คนน้ำคืนฝั่ง เพื่อลงหลักปักฐานสร้างชีวิต เรือลำเล็กก็ค่อยๆ หายไป แต่นั่นใช่ว่าจะเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ผู้คน และเรือลำเล็กหายไปจากแม่น้ำเกือบหมด สิ่งที่ทำให้ผู้คนบนเรือลำเล็กหายไปจนเกือบหมดคือคลื่นของความเปลี่ยนแปลงอันมาพร้อมกับผู้คนที่มากขึ้นนั่นเอง

เมื่อ ๕๑ ปีก่อน และก่อนหน้านั้นไปอีกหลายปี พ่อเฒ่าฟาน ดิน กันยังเป็นหนุ่มแข็งแรงใช้ตีนพายเรือขึ้นเหนือล่องใต้ไปตามแม่น้ำมาแล้วชั่วเจ็ดย่านน้ำ จะมีบ้างในบ้างปีที่ต้องจอดเรือลอยลำหลบหลีกกระสุนปืนของสงคราม หลังสงครามยุติพ่อเฒ่าก็เอาตีนพายเรือต่อไป

พ่อเฒ่าเล่าให้ผมฟังว่า ในชั่วกว่า ๖๐ ปีของชีวิต พ่อเฒ่าต้องเผชิญเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่พ่อเฒ่าก็ผ่านมันมาได้ แต่กับการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดนี่เองที่พ่อเฒ่าต้องเพ่งพินิจถึงมันด้วยความหวาดกลัว

แต่พ่อเฒ่าก็ยังใจดีบอกว่า “แล้วเราก็จะผ่านมันไปได้”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดขึ้นกับพ่อเฒ่าเพียงอย่างเดียว แต่มันเกิดขึ้นกับแม่น้ำที่พ่อเฒ่าได้อาศัยพึ่งพามาเกือบทั้งชีวิต

พ่อเฒ่าเล่าให้ฟังว่า หลังจากประเทศเดินทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ดีมากขึ้น ผู้คนในประเทศก็เริ่มสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนของตัวเอง แต่คนในหมู่บ้านทีรอานไม่ได้เป็นอย่างนั้น พวกเรายังอาศัยอยู่ในเรือ และล่องเรือไปตามแม่น้ำแดงเพื่อหาปลา เราไม่เคยอยู่บนฝั่ง แต่พอทางรัฐให้ขึ้นไปอยู่บนฝั่งโดยการให้เราซื้อที่ดิน เพื่อปลูกสร้าง และทำมาหากิน พวกเราก็ไม่สนที่จะทำ เพราะต่างคิดว่าหาปลาอย่างเดียวก็อยู่ได้ อยู่ในน้ำก็ได้ไม่ต้องขึ้นฝั่ง ภายหลังเมื่อเขื่อนหัวบินถูกสร้างบนแม่น้ำในปี ๑๙๗๘ แล้วเสร็จและทำการกักเก็บน้ำในปี ๑๙๘๕ ระบบนิเวศของแม่น้ำก็เปลี่ยนแปลงไป น้ำน้อยลงกว่าเดิม คนหาปลาที่เร่ร่อนบนเรือหาปลา มีเรือเป็นบ้าน มีน้ำเป็นที่ดิน เกือบ ๓๐๐ คนที่หาปลาเป็นอาชีพก็หาปลาได้น้อยลง สาเหตุที่หาปลาได้น้อยลง เพราะคนบางกลุ่มที่ไม่ใช่คนหาปลาเป็นอาชีพก็นำเครื่องมือที่ทำลายล้างมาใช้ในแม่น้ำ เช่น นำไฟฟ้ามาช๊อตปลา เมื่อปลาถูกช๊อตมันก็เป็นหมันขยายพันธุ์ไม่ดีอีกต่อไป เมื่อปลาขยายพันธ์ไม่ได้ ปลาที่เคยมีในแม่น้ำก็ลดจำนวนลงด้วย อีกทั้งน้ำในแม่น้ำก็ตื้นเขิน เพราะเขากักน้ำไว้ในเขื่อน และมีการดูดทรายริมฝั่ง ทั้ง ๒-๓ อย่างที่กล่าวมาล้วนส่งผลโดยตรงต่อคนหาปลา

คนหาปลาหลายคนหาปลาไม่ได้ก็ขึ้นไปอยู่บนฝั่ง แต่ขึ้นไปก็ไม่มีที่ดินทำกินก็ต้องไปรับจ้างในเมือง ครอบครัวที่เคยอยู่กันพร้อมหน้าก็ค่อยแตกกระจายกันไป ถึงวันไหว้ผีบรรพบุรุษบางคนก็ไม่ได้กลับมาไหว้ เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง

เมื่อพูดคุยกันอยู่นาน พ่อเฒ่าก็หันหน้ากลับดูกุบที่ใส่เอาไว้ พ่อเฒ่ายกกุบครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สิ่งที่พ่อเฒ่าและเราผู้ผ่านทางมาได้รับรู้คือในกุบว่างเปล่า ไม่มีปลาแม้แต่ตัวเดียว แต่ความพยายามของพ่อเฒ่าที่รู้ทางหนีที่ไล่ แกจึงใส่กุบไว้เกือบ ๓๐ อัน ในที่สุดก็มีปลามาถูกกุบทั้ง ๓๐ อันอยู่ ๓ ตัว ‘ปลา ๓ ตัวรวมกันได้ไม่ถึงกิโลไม่มีคนซื้อหรอก เอากลับบ้านไปทำกินดีกว่า’ พ่อเฒ่ากล่าวออกมาหลังเบนหัวเรือกลับคืนสู่ฝั่ง หลังจอดเรือส่งผู้ผ่านทางมาที่ริมฝั่งเรียบร้อย ก่อนจากกันพ่อเฒ่าก็ตะโกนบอกเราว่า โชคไม่ดีนักวันนี้ไม่ได้ เอาไว้ถ้ามาวันหน้าจะเอาปลาตัวใหญ่ขึ้นมาโชว์ให้ดู

ในรอยทางของคนผู้มีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำอย่างแท้จริง ไม่มีใครเลยที่คิดจะทำลายแม่น้ำ เพราะหากเขาทำลายแม่น้ำไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็เหมือนกับว่า เขาค่อยๆ ตัดเฉือนเนื้อของตัวเองออกไปทีละนิดทีละนิด แล้วเราผู้ไม่มีวิถีชีวิตอยู่กับแม่น้ำอย่างจริงจัง เราจะไม่ใส่ใจดูแลแม่น้ำ เพื่อคนหาปลาผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำอย่างจริงจังกระนั้นหรือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะให้พันธสัญญาต่อกันว่า จากนี้ต่อไปคนหาปลาผู้มีชีวิตอยู่ด้วยการลอยเรือไปบนคลื่นความเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงเพียงลำพัง เราจะร่วมเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงนั้น และร่วมกันทำความเปลี่ยนแปลงนั้นให้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนแปลงไปในทางด้านที่ดี และแม่น้ำต้องเป็น ‘แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย’

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…